10 ปี พฤษภา 53: ศาลทหารและการเอาผิด “ผู้ปฏิบัติการ” ที่ไปไม่ถึงไหน

19 พฤษภาคมของทุกปีกลายเป็นวันและเดือนสำคัญทางการเมืองและประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นวันสุดท้ายของการสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อ “คนเสื้อแดง” ในปี 2553 ซึ่งมีผู้บาดเจ็บไม่น้อยกว่า 2,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 94 ราย 

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา โศกนาฏกรรมทางการเมืองดังกล่าวยังไม่มีใครที่ต้องรับผิดชอบ โดยเฉพาะ ‘ผู้สั่งการ’ หรือรัฐบาลที่นำโดย ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น หรือศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ที่นำโดย ‘สุเทพ เทือกสุบรรณ’ รองนายกฯ ที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ศอฉ. รวมถึงผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น อย่าง ‘พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา’ ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติว่าไม่พบข้อเท็จจริงว่าผู้สั่งการได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งดูจะขัดแย้งกับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการตายของคนจำนวนมาก

49911798668_0d12afc6dd_o

ในด้านการเอาผิด ‘ผู้ปฏิบัติการ’ ก็ไม่มีความคืบหน้า แม้ว่ามีหลักฐานคำให้การ ผลการชันสูตรและการไต่สวนการตายที่ระบุว่าผู้เสียชีวิตหลายรายเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของทหาร แต่ทว่าอัยการทหารก็มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ทำให้เกิดคำถามสำคัญต่อกระบวนการยุติธรรมสำหรับทหาร หรือ “ศาลทหาร” ว่ามีความถูกต้องเที่ยงธรรมมากแค่ไหน

ผลไต่สวนการตายอย่างน้อย 18 ศพ เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ทหาร

จากการรวบรวมข้อมูลของสำนักข่าวประชาไท พบว่า ในช่วงปี 2555 ถึง 2558 ศาลทยอยออกคำสั่งในการไต่สวนการตายของผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมรวม 33 ราย โดยศาลมีคำสั่งว่า กระสุนมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่หรือทหาร 18 ราย แม้ว่ารายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) และคำชี้แจงของ ศอฉ. จะระบุว่า เป็นการตอบโต้การใช้ความรุนแรงของผู้ชุมนุมที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม “ชายชุดดำ” แต่ทว่าข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวนการตายกลับพบว่าคนเหล่านี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงใดๆ

ยกตัวอย่างเช่น ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ อายุ 12 ปี ศาลไต่สวนการตายแล้วพบว่า เขาเสียชีวิตจากบาดแผลกระสุนปืนความเร็วสูงที่ทะลุหลัง โดยลูกกระสุนปืนยิงจากอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทหารที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ หรือกรณีผู้เสียชีวิต 6 รายในวัดปทุมวนารามราชวรวิหารที่เคยประกาศเป็น ‘เขตอภัยทาน’ หากผู้ชุมนุมหรือทหารเข้ามาก็ขอให้ปลดอาวุธให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย แต่ทว่าก็ยังมีการใช้อาวุธโจมตีผู้คนในวัดปทุมวนาราม แม้แต่เต็นท์พยาบาลที่อยู่หน้าวัดปทุมฯ ก็ยังถูกยิง

1 ใน 6 ของผู้เสียชีวิตในวัด คือ กมนเกด อัคฮาด อาสาพยาบาลที่เสียชีวิตในวัดปทุมฯ ผลชันสูตรพบว่า เธอมีบาดแผลถูกยิงทะลุผิวหนังมากถึง 11 แห่ง เธอเสียชีวิตอยู่ในเต็นท์พยาบาลที่มีสัญลักษณ์กาชาด และผลการไต่สวนการตายของศาลก็ชี้ชัดว่า ความตายเกิดจากกระสุนของทหารบนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส และ ‘ไม่มีชายชุดดำ’ ในที่เกิดเหตุ

ผ่านมา 10 ปี คดีสะดุดเพราะเทคนิกฎหมาย

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมามีความพยายามจากบรรดาญาติของผู้เสียชีวิตในการดำเนินการเอาผิดกับผู้สั่งการ โดยเฉพาะ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ นายกฯ ในขณะนั้น และ ‘สุเทพ เทือกสุบรรณ’ รองนายกฯ และผู้อำนวยการ ศอฉ. แต่คดีดังกล่าวก็ต้องจบลงด้วย ‘เทคนิกทางกฎหมาย’ โดยศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ต่างพิพากษาไปในทิศทางเดียวกันว่า ให้ “ยกฟ้อง” เนื่องจากเห็นว่า เป็นการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งราชการด้วย เป็นการกระทำกรรมเดียวที่ควรพิจารณาไปในวาระเดียว ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีอำนาจไต่สวน

ต่อมาในปี 2558 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติยกคำร้องความผิดของอภิสิทธิ์ สุเทพ โดยระบุว่า ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานยังรับฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และในปี 2560 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติยกคำร้องอีกครั้ง จากการมีการขอให้รื้อฟื้นคดีสลายการชุมนุม ปี 2553 โดยอ้างว่าพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนไม่เพียงพอ ทั้งที่ผลการไต่สวนการตายของผู้เสียชีวิตรายหลายสะท้อนปัญหาการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ

ทั้งนี้ ต้องบันทึกไว้ด้วยว่า ในคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่มีมติยกคำร้องในครั้งแรก มีถึง 5 คนที่ได้รับการต่ออายุจากคำสั่งหัวหน้า คสช. และปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. ชุดดังกล่าวยังได้รับตำแหน่งในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่แต่งตั้งโดย คสช. ส่วนคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหม่ที่ถูกแต่งตั้งมาแทนกรรมการที่อยู่ครบวาระแล้วก็ล้วนถูกคัดเลือกและเห็นชอบโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งแต่งตั้งโดย คสช. ก่อนจะมีมติยกคำร้องพิจารณาความผิดคดีสลายการชุมนุมใน ปี 2560

เมื่อการเอาผิดผู้สั่งการเริ่มเลือนราง ความหวังสุดท้ายของผู้สูญเสียคือการเอาผิด “ผู้ปฏิบัติการ” หรือเจ้าหน้าที่ทหารที่มีส่วนในการทำให้เกิดผู้เสียชีวิต แต่ผลของคดีก็ต้อง ‘สะดุด’ จาก ‘เทคนิกกฎหมาย’ เช่นเดียวกัน โดยศาลอาญามีคำสั่งไม่รับฟ้องคดีฆ่าคนตายของเจ้าหน้าที่ทหาร ให้เหตุผลว่า คดีดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจศาลอาญา เนื่องจากตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธรรมนูญศาลทหาร มาตรา 16 กำหนดให้นายทหารชั้นสัญญาบัตร นายทหารชั้นประทวน พลทหารกองประจำการ บุคคลที่รับราชการทหาร นักเรียนทหาร ทหารกองเกิน และพลเรือนที่สังกัดอยู่ในราชการทหาร เมื่อกระทำผิดต้องขึ้นศาลทหาร

อย่างไรก็ตาม ยังเป็นที่ถกเถียงว่าคดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจศาลทหารจริงหรือไม่ เนื่องจาก พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร มาตรา 14 กำหนดว่าหากทหารกับบุคคลที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารกระทำผิดร่วมกันก็ไม่ต้องขึ้นศาลทหาร ดังนั้น หากอภิสิทธิ์และสุเทพมีส่วนร่วมในการสั่งการอันเป็นผลให้มีผู้เสียชีวิต คดีดังกล่าวก็อาจจะอยู่ในเขตอำนาจศาลอาญา

ที่ผ่านมา แม้จะมีการฟ้องคดีในศาลทหารแต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าในการเอาผิด ยกตัวอย่าง คดี ‘กมนเกด อัคฮาด‘ ที่อัยการทหารมีคำสั่งไม่ฟ้องทหารทั้ง 8 คนที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของ น.ส.กมนเกด เพราะไม่มีประจักษ์พยาน พยานพฤติเหตุแวดล้อม หรือพยานหลักฐานอื่นใดที่ยืนยันได้ว่าผู้ต้องหาทั้ง 8 คนกระทำผิด 

พะเยาว์ อัคฮาด แม่ของกมนเกด มีความเห็นแย้งต่อคำสั่งดังกล่าว โดยระบุว่าคดีดังกล่าวมีทั้งคลิปวิดีโอ ภาพถ่าย ทั้งพยานหลักฐานปลอกกระสุนและหัวกระสุนที่ฝังอยู่ที่ศพผู้เสียชีวิตก็เป็นชนิดเดียวกับที่นายทหารทั้ง 8 คนใช้ และทั้ง 8 คน เคยให้ปากคำด้วยตัวเองต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ว่า ทุกคนอยู่บนรางรถไฟฟ้าในวันดังกล่าวจริง และก็ยอมรับว่าได้ยิงเข้าไปในวัดจริง

โครงสร้างศาลทหารไม่เป็นอิสระ

ในคดีเอาผิดผู้ปฏิบัติการหรือเจ้าหน้าที่ทหาร มีจุดน่าสนใจในแง่ของกระบวนการยุติธรรมสำหรับทหาร เนื่องจากทหารมีศาลเฉพาะของตัวเอง นั่นคือ ศาลทหาร ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า กระบวนการยุติธรรมลายพรางเช่นนี้จะเป็น “สิทธิพิเศษ” สำหรับกองทัพหรือไม่ เนื่องจากโครงสร้างของศาลทหารไม่ได้เป็นอิสระตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ

ตาม พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร มาตรา 5 ระบุว่า ศาลทหารอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงกลาโหม และมาตรา 10 และมาตรา 30 ระบุว่า อำนาจในการแต่งตั้ง ถอดถอนตุลาการศาลทหารเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหรือผู้บังคับบัญชา ดังนั้น หน่วยงานของศาลทหารจึงมีสถานะเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายบริหาร มิได้แยกขาดออกจากกันเหมือนศาลยุติธรรมปกติ การที่รัฐมนตรีหรือผู้บังคับบัญชายังสามารถให้คุณให้โทษต่อตุลาการศาลทหารได้เท่ากับว่าผู้พิพากษาศาลทหารมิได้เป็นอิสระอย่างที่ควรจะเป็นตามหลักการ

และในมาตรา 12 กำหนดให้การแต่งตั้งอัยการทหารเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

พล.ต.ธานินทร์ ทุนทุสวัสดิ์ อดีตตุลาการพระธรรมนูญหัวหน้าคณะฝ่ายศาลทหารสูงสุด เคยให้สัมภาษณ์ในลักษณะยอมรับว่า กรมพระธรรมนูญเป็นส่วนราชการขึ้นตรงต่อสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมก็ขึ้นตรงต่อกระทรวงกลาโหม ดังนั้น กรมพระธรรมนูญเป็นส่วนราชการขึ้นตรงต่อกระทรวงกลาโหม ส่วนนี้จะมีพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบกระทรวงกลาโหมรองรับอยู่

ด้วยกระบวนการยุติธรรมลักษณะนี้ จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจว่าเหตุใดความยุติธรรมในคดีฆ่าคนตายกว่า 94 ศพ จึงไม่ได้ข้อยุติและไม่มีผู้ใดต้องรับผิดชอบ เพราะกลไกและโครงสร้างทางการเมืองที่มีอยู่ต่างหนุนเสริมให้เกิดวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด