เปิดค่าตอบแทนแบบใหม่ คกก.จัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และ คกก.ปฏิรูปประเทศ

5 พฤษภาคม 2563 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามผลการประชุมของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2563 ที่ให้เพิ่มค่าตอบแทนของคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ขึ้นจากเดิมร้อยละ 20 โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • ค่าตอบแทนประธานคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 12,000 บาท/เดือน (จากเดิมเบี้ยประชุมครั้งละ 10,000 บาท)
  • ค่าตอบแทนคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 9,600 บาท/เดือน (จากเดิมเบี้ยประชุมครั้งละ 8,000 บาท)
  • ค่าตอบแทนประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 9,000 บาท/เดือน (จากเดิมเบี้ยประชุมครั้งละ 7,500 บาท)
  • ค่าตอบแทนคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 7,200 บาท/เดือน (จากเดิมเบี้ยประชุมครั้งละ 6,000 บาท)  

นอกจากนี้ ยังให้มีค่าตอบแทนสำหรับการประชุมร่วมกันของประธานกรรมการปฏิรูปเป็นรายเดือนอยู่ที่ 9,000 บาท  

การเปลี่ยนแปลงค่าตอบแทนดังกล่าว มีการระบุเหตุผลว่าเป็นการปรับเงินให้เหมาะสมกับภารกิจ และเนื่องจากที่ผ่านมามีการจ่ายเบี้ยประชุมเป็นรายครั้งทำให้เกิดค่าใช้จ่ายมหาศาล จึงเห็นควรให้ปรับค่าตอบแทนขึ้นและจ่ายเงินเป็นรายเดือน 

จากรายงานการประชุมของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ พบว่า ตั้งแต่ 11 ตุลาคม 2560 ถึง 1 เมษายน 2563 มีการจ่ายค่าตอบแทนการประชุมคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ไปแล้วอย่างน้อย 11,401,400 บาท และจ่ายตอบแทนการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไปแล้วอย่างน้อย 31,164,000 บาท (ยังไม่นับรวมค่าตอบแทนของบรรดาอนุกรรมการ)

คสช. ใช้คนหน้าซ้ำทำงานให้ตัวเอง แถมรับเงินได้หลายทาง

นับตั้งแต่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 และประกาศใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และ พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ รัฐบาล คสช. นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศขึ้นมาหลายชุด รวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 262 คน เพื่อมาทำแผนที่เรียกว่ายุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ

จากรายชื่อบุคคลที่เข้ามารับตำแหน่งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ พบว่า มีคน “หน้าซ้ำ” ที่เคยทำงานให้กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อครั้งอยู่ในอำนาจมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่เป็นหนึ่งในสมาชิก คสช. อย่างน้อย 148 คน

อีกทั้งบางคนยังรับตำแหน่งที่มาจากการแต่งตั้งโดยรัฐบาล คสช. มามากกว่า 1 ตำแหน่ง อย่างน้อย 10 คน และมีอย่างน้อย 24 คน ที่เป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศหรือคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการคัดเลือกโดย คสช. ไปพร้อมกัน อาทิ วันชัย สอนศิริ อดีต ส.ว. สรรหา, คำนูณ สิทธิสมาน อดีต ส.ว. สรรหา พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร เป็นต้น 

นอกจากนี้ พวกเขาจะได้รับค่าตอบแทนตามตำแหน่งที่มี เช่น พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. เป็นทั้ง ส.ว. มีค่าตอบแทน 113,560 บาท มีเบี้ยประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 8,000 บาท มีเบี้ยประชุมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 9,000 บาท รวมเป็น 130,560 บาท/เดือน

ยุทธศาสตร์ชาติ + แผนปฏิรูปประเทศ = แผนควบคุมรัฐบาล

การจัดทำ ‘ยุทธศาสตร์ชาติ’ จะมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจำนวน 35 คน ซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดูแล และให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติสามารถแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติ จำนวนกี่คณะก็ได้เพื่อทำหน้าที่จัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติในด้านต่างๆ เมื่อร่างยุทธศาสตร์ชาติเสร็จสิ้น ให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณา และให้คณะรัฐมนตรีเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ คสช. เมื่อ สนช. เห็นชอบ จึงประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ส่วนการจัดทำ ‘แผนการปฏิรูปประเทศ’ จะจัดทำโดยคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ซึ่งจะถูกแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรีอย่างน้อย 10 คณะเพื่อร่างแผนการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ทั้งนี้เมื่อร่างแผนการปฏิรูปประเทศเสร็จแล้วจะต้องนำให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาเพื่อให้สอดคล้องกับร่างยุทธศาสตร์ชาติ จากนั้นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจะส่งร่างแผนการปฏิรูปประเทศให้ ครม.เห็นชอบ เมื่อ ครม.เห็นชอบแล้วให้รายงานให้ สนช.รับทราบ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา 

จากนั้นทั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศจะต้องจัดทำแผนแม่บทเพื่อกำหนดรายละเอียดการดำเนินการต่างๆ ให้กับหน่วยงานรัฐทุกหน่วย การดำเนินการตามแผน การดำเนินนโยบาย การใช้เงินงบประมาณจะต้องสอดคล้องกับแผนปฏิรูปและแผนยุทธศาสตร์ชาติ

ทั้งนี้ หากหน่วยงานของรัฐไม่ทำตามหรือคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติแจ้งให้แก้ไขปรับปรุงแล้วแต่ไม่ดำเนินการตาม พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ กำหนดขั้นตอนการลงโทษไว้ว่า ให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติแจ้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินการ เช่น สั่งให้พักราชการ พักงาน หรือสั่งให้ออกจากราชการ หรือสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง 

และในกรณีที่การไม่ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติของหน่วยงานรัฐเป็นผลมาจากมติหรือการดำเนินการของ ครม. ให้วุฒิสภาซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ คสช. ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติของ ครม. หรือการดำเนินการของ ครม.นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายและให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ดำเนินการต่อเพื่อลงโทษ โดยให้ส่งเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง 

หากศาลตัดสินว่าผิด ให้ ครม.พ้นไปจากหน้าที่ และถูกเพิกถอนสิทธิรับสมัครรับเลือกตั้งหรือสิทธิเลือกตั้ง ไม่เกิน 10 ปี โดยผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจะไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกต่อไป นอกจากนี้ ครม. ยังอาจถูกฟ้องฐานทุจริตต่อหน้าที่ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ตามมาตรา 172 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ได้อีกด้วย