‘ห้องกัก ตม.’ สถานที่เสี่ยงติดโควิดสูงมาก กฎหมายเปิดช่องให้ใช้ทางเลือกอื่นได้

ระหว่างที่ผู้คนใช้ชีวิตแบบ “เว้นระยะห่าง” เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า และการรวมตัวกันจำนวนมากถูกสั่งห้าม แต่หน่วยงานของภาครัฐเองยังมีกิจกรรมสำคัญที่บังคับให้คนจากหลากหลายที่มาต้องอยู่รวมตัวกันอย่างแออัด คือ สถานที่กักขังหรือเรือนจำ

เมื่อพูดถึงสถานที่ควบคุมตัวของรัฐ เราจะนึกถึงเรือนจำ หรือ “คุก” ก่อนเป็นอันดับแรก แต่ก็มีสถานที่อีกประเภทหนึ่งที่มีความเสี่ยงไม่แพ้กัน คือ ศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ซึ่งกลายเป็นที่รวมตัวขนาดย่อมของชาวต่างชาติที่รอการส่งตัวกลับประเทศหรือเดินทางต่อไปยังประเทศที่สาม แม้จะไม่ได้ชื่อว่า ‘คุก’ เพราะการกักขังเอาไว้ไม่ใช่เพื่อการลงโทษ แต่สภาพที่อยู่ภายในอาจไม่ต่างจากคุกนัก หรืออาจจะแย่กว่าด้วยซ้ำ

 

ห้องกักตัว ตม. มีไว้สำหรับให้ ‘รอ’ เพื่อไปต่อ ไม่ใช่เพื่อการลงโทษ

ตม. เปรียบเสมือนผู้รักษาประตูทางเข้าประเทศ มีภารกิจในการตรวจบุคคลและยานพาหนะที่จะเข้ามาในและออกไปนอกราชอาณาจักร โดยเจ้าหน้าที่ ตม. มีอำนาจในการกักตัวคนต่างชาติที่เข้ามาในประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตหรืออยู่ในประเทศนานเกินระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต ในกรณีที่ตรวจพบคนต่างชาติที่กระทำความผิดแล้วต้องส่งตัวกลับประเทศ ระหว่างกระบวนการประสานงานเพื่อส่งตัวนั้น คนต่างชาติก็จะถูกกักไว้ในสถานที่ของ ตม.โดยเฉพาะ

ห้องกักตัวคนต่างชาติของ ตม. (Immigration Detention Center: IDC) คือ สถานที่สำหรับกักบุคคลที่เข้ามาโดยผิดกฎหมายหรืออยู่โดยไม่ได้รับอนุญาตเพื่อรอการส่งกลับประเทศหรือเดินทางต่อไปยังประเทศที่สาม ข้อมูลจากบางกอกโพสต์ระบุว่า สถานกักกันที่ว่านี้มีอยู่ 22 แห่งทั่วประเทศไทย มี ตม. ที่สวนพลู กรุงเทพฯ เป็นเหมือนศูนย์กลาง และมีตามจังหวัดต่างๆ ที่มีจุดพรมแดนเชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้าน

เมื่อวัตถุประสงค์ของการกักตัวคือ เพื่อรอการส่งกลับ ไม่ใช่การลงโทษเหมือนการจำคุกในเรือนจำ จึงหมายความว่า เป็นการอยู่โดยชั่วคราวระยะสั้น โดยหลักประเทศไทยก็ต้องการที่จะรีบดำเนินการผลักดันให้ผู้ต้องกักเหล่านี้ออกจากประเทศไทยโดยเร็ว แต่ในความเป็นจริง กระบวนการส่งตัวผู้ต้องกักกลับประเทศมีระยะเวลาค่อนข้างนานเนื่องจากต้องได้รับการอนุญาตจากประเทศปลายทางเสียก่อน ซึ่งผู้ต้องกักที่รอการส่งกลับนี้ไม่ได้มีเพียงแรงงานต่างชาติที่เข้าเมืองผิดกฎหมายหรืออยู่เกินกำหนดวีซ่า (overstay) แต่ยังมีชาวต่างชาติที่เป็นผู้ลี้ภัย คนไร้รัฐอีกด้วย ทำให้จำนวนประชากรในห้องกักแต่ละที่ อาจมีความหนาแน่นมากน้อยแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาและเงื่อนไขในการส่งตัวกลับ บางคนต้องอยู่ในห้องกักเป็นหลักปี และยิ่งในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า พรมแดนระหว่างประเทศปิด การผลักดันให้คนต่างชาติเหล่านี้กลับประเทศย่อมมีเงื่อนไขที่ยากลำบากขึ้น

 

ห้องกัก ตม.สะเดา พบติดเชื้อโควิดสูงสุดในประเทศ

เว็บไซต์บีบีซีไทย ระบุว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้รายงานว่า พบผู้ต้องกักชาวต่างชาติที่ศูนย์กักคนเข้าเมืองสะเดา จังหวัดสงขลา ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า ข้อมูลเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2563 พบจำนวนกว่า 65 คน จากจำนวนผู้ถูกกักทั้งหมดประมาณ 115 คน ซึ่งทุกคนได้รับการตรวจหาเชื้อเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในจำนวนนี้แบ่งเป็นคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง และคนต่างชาติที่กระทำความผิด ทั้งหมดอยู่ระหว่างการรอผลักดันส่งกลับประเทศ โดยมีทั้งกลุ่มที่ถูกจับกุมในพื้นที่ภาคใต้เพื่อรอผลักดันกลับประเทศต้นทาง กลุ่มที่ถูกส่งมาจากมาเลเซียเพื่อส่งต่อกลับไปยังเมียนมา แต่ยังส่งกลับไม่ได้เนื่องจากมีการปิดด่านชายแดน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นชาวโรฮิงญาและอุยกูร์

อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติได้เล่าว่า ลักษณะทางกายภาพของห้องกักมีลักษณะคล้ายห้องขัง ตึกหนึ่งมีสองฝั่ง แยกหญิงชาย แต่คนในห้องกักต้องอาศัยอยู่รวมกัน ซึ่งทางเครือข่ายฯ ได้แสดงความกังวลในเรื่องการติดเชื้อที่อาจเพิ่มขึ้นและการดูแลผู้ต้องกักในศูนย์กักกันของ ตม. จึงได้มีการเรียกร้องให้รัฐกำหนดแนวทางที่ชัดเจนในการรักษาของผู้ป่วยที่ไม่ได้มีสัญชาติไทย โดยอาจจะพิจารณาเปิดโรงพยาบาลสนามเพื่อรักษาผู้ป่วยที่อยู่ในห้องกัก และจัดหาพื้นที่ในการดูแลชั่วคราวสำหรับผู้ถูกกักเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

เมื่อห้องกักของ ตม.ไม่ได้มีไว้เพื่อลงโทษเหมือนกับเรือนจำ แต่เป็นเหมือนสถานที่ให้อยู่ชั่วคราวระหว่าง ‘รอ’ กระบวนการผลักดันให้กลับประเทศหรือส่งตัวไปยังประเทศอื่น แต่การที่นำตัวคนต่างชาติที่เป็นผู้เดินทางมาจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกซึ่งถือว่า เป็นผู้มีความเสี่ยงสูงมากในสภาวะที่เกิดโรคระบาดเช่นนี้ไปขังไว้รวมกันเป็นจำนวนมาก อาจนำมาสู่สถานการณ์ที่เลวร้ายกว่าเดิม

 

การกักตัวผู้ที่จะต้องถูกส่งกลับ ไม่จำเป็นต้องกักไว้ที่ ตม.เสมอไป

ผู้ต้องกักมีหลายประเภท ในกรณีที่เป็นคนต่างชาติเดินทางเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 11 มาตรา 12(1) และมาตรา 18 วรรคสองแห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 เมื่อถูกจับก็จะต้องถูกดำเนินคดี ซึ่งความผิดดังกล่าวมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท เมื่อศาลได้พิจารณาพิพากษาแล้ว ก็ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาต่อไป แต่ผู้กระทำความผิดส่วนมากศาลมักจะพิพากษาให้ได้รับโทษปรับและจำคุกแต่ให้รอลงอาญา เมื่อผู้กระทำความผิดจ่ายค่าปรับเสร็จสิ้นแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะอยู่ในอำนาจของเจ้าหน้าที่ ตม. ที่จะมารับตัวไปเพื่อนำไปกักในห้องกักของ ตม. เพื่อรอการส่งตัวกลับประเทศต่อไป

พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ ตม. กักตัวคนต่างชาติ

มาตรา 54 วรรคสาม ในกรณีที่มีคำสั่งให้ส่งตัวคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักรแล้ว ในระหว่างรอการส่งกลับ พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจอนุญาตให้ไปพักอาศัยอยู่ ณ ที่ใด โดยคนต่างด้าวผู้นั้นต้องมาพบพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนด โดยต้องมีประกัน หรือมีทั้งประกันและหลักประกันก็ได้ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่จะกักตัวคนต่างด้าวผู้นั้นไว้ ณ สถานที่ใดเป็นเวลานานเท่าใดตามความจำเป็นก็ได้ ค่าใช้จ่ายในการกักตัวนี้ให้คนต่างด้าวผู้นั้นเป็นผู้เสีย

จะเห็นได้ว่า ตามกฎหมายแล้วเจ้าหน้าที่มีดุลพินิจอนุญาตให้คนต่างชาติไปพักอาศัยที่อื่นได้ โดยกำหนดให้ต้องมาพบเจ้าหน้าที่ตามวันและเวลาที่กำหนด และให้ “มีประกัน” หมายถึง ทำสัญญากันว่าจะไม่หนีและมาตามนัด หรือจะให้ “มีหลักประกัน” หมายถึงต้องวางทรัพย์สินเพื่อประกันว่า จะไม่หนี หากไม่มาตามนัดก็ให้ยึดทรัพย์สินนั้น ก็ได้

กฎหมายไม่ได้บังคับว่า จะต้องกักตัวไว้ที่ห้องกักของ ตม. แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ในช่วงที่เกิดโรคระบาดโควิด 19 ซึ่งติดต่อกันได้ง่ายระหว่างคนที่อยู่ใกล้ชิดกัน และมีความเสี่ยงสูงว่า คนที่เดินทางจากประเทศต่างๆ อาจมาพร้อมกับเชื้อไวรัส เจ้าหน้าที่ ตม. ก็ควรจะใช้ดุลพินิจออกมาตรการอื่นๆ เพื่อลดความหนาแน่นของประชากรในห้องกัก เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสด้วย