รวมข้อกฎหมายอยากให้รู้ ช่วง COVID-19

ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งในช่วงแรกประเทศไทยถือว่าเป็น “กลุ่มเสี่ยง” เพราะมีผู้เดินทางเข้าออกจากประเทศระบาดหนักอย่างจีนเยอะ แต่ต่อมากลายเป็นประเทศที่ยอดผู้ติดเชื้อไม่สูงมากนัก วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้โควิด 19 เป็นโรคติดต่ออันตรายตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ส่งผลให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจออกคำสั่งกักตัวผู้สงสัยว่าติดเชื้อ หรือสั่งปิดสถานที่เสี่ยงได้ ซึ่งแต่ละจังหวัดก็มีมาตรการแตกต่างกันไป บางแห่งถึงขั้น “ปิดเมือง” ห้ามคนนอกเข้าพื้นที่ 

ต่อมา 26 มีนาคม 2563 นายกรัฐมนตรีประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั่วประเทศ รวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง และตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) ขึ้นมามีอำนาจเต็มที่ ตามมาด้วยคำสั่งปิดสถานบันเทิง ปิดห้างสรรพสินค้า ปิดพรมแดน ห้ามทำกิจกรรมในสถานที่แออัด และในวันที่ 3 เมษายน ประเทศไทยก็ประกาศใช้ “เคอร์ฟิว” ทั่วประเทศ หรือคำสั่งห้ามออกนอกเคหสถาน ตั้งแต่เวลา 22.00 – 04.00 น. และต่อเวลาออกไปอีกครั้งในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 13 เมษายน กระทรวงมหาดไทยยังแจ้งข่าวว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดได้สั่งห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย

เมื่อประเทศประสบปัญหาใหญ่ และรัฐบาลต้องการงบประมาณอย่างเร่งด่วนมาเพื่อใช้ในงานเฉพาะหน้า หากงบประมาณที่ตั้งไว้ประจำปีไม่ได้มีเพียงพอสำหรับภาวะพิเศษ รัฐบาลจึงต้องอาศัยช่องทางพิเศษให้หาเงินมาเพิ่มได้ ไม่ว่าจะเป็นการโอนงบประมาณจากภารกิจอื่นๆ หรือการกู้เงินเข้ามาเสริม ซึ่งการจะทำสิ่งเหล่านี้ได้ต้องทำผ่านการออกกฎหมาย และการออกกฎหมายในระบบปกติก็ต้องผ่านการตรวจสอบโดยรัฐสภาซึ่งต้องรอการเปิดสมัยประชุมสภาก่อน รัฐบาลชุด คสช.2 จึงใช้ช่อง “ทางลัด” โดยการใช้อำนาจคณะรัฐมนตรีออกเป็นพระราชกำหนด

ในสภาวะวิกฤติ รัฐย่อมต้องการอำนาจที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อเร่งแก้ปัญหาอย่างเด็ดขาด และแนวทางที่ปรากฏออกมาก็มักเป็นการ “ออกคำสั่ง” และกำหนดบทลงโทษสำหรับคนฝ่าฝืน โดยในสถานการณ์นี้รัฐบาลไทยก็ชูคำขวัญ “สุขภาพมาก่อนเสรีภาพ” ขณะที่คนไทยบางส่วนมองว่า รัฐบาล คสช.2 ฉวยโอกาสนี้รวบอำนาจมาไว้ในมือตัวเองและควบคุมเสรีภาพของประชาชนคล้ายช่วงการรัฐประหารอีกครั้ง แม้มาตรการที่ออกมาและการบังคับใช้ของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติส่วนใหญ่จะเป็นไปเพื่อการควบคุมโรคเป็นหลัก แต่ก็มีบ้างที่การอ้างอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นไปเพื่อจำกัดเสรีภาพการแสดงออกของประชาชนเกินสมควร

มาตรการป้องกันโรคโควิด 19 ที่สำคัญที่ทุกคนต้องช่วยกันทำ คือ การรักษาระยะห่างทางสังคม และลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดการรวมตัวกันจำนวนมาก แต่มีบางสถานที่ที่ไม่สามารถรักษามาตรการเหล่านี้ได้เลย คือ เรือนจำ หรือสถานกักขังของรัฐที่บังคับให้คนต้องอยู่รวมกันอย่างแออัดและเข้าถึงบริการสุขภาพได้ยากลำบาก ซึ่งหลายประเทศก็มีมาตรการลดความแออัดออกมาอย่างเร่งด่วนในช่วงเวลานี้ บางประเทศก็ออกมาช้าไปเมื่อพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากในสถานที่กักขังของรัฐแล้ว

นอกจากประเด็นหลักสำคัญที่ยกมาแล้ว ยังมีกฎหมายน่ารู้อื่นๆ ที่ออกมาและอาจมีผลสำหรับใครหลายคนในสถานการณ์นี้อีกหลายประการ ตัวอย่างเช่น

ไม่ได้มีแค่ประเทศไทยที่ต้องเผชิญหน้ากับโควิด 19 และคิดค้นมาตรการขึ้นมารับมือ สังคมโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์นี้เช่นเดียวกัน แต่ละประเทศก็ตัดสินใจใช้แนวนโยบายที่แตกต่างกัน บางประเทศอาจใช้นโยบายแบบ “อำนาจนิยม” ด้วยการออกกฎหมายมาสั่งห้ามอย่างเด็ดขาด ซึ่งย่อมสร้างผลกระทบต่อเสรีภาพ เศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน บางประเทศเลือกใช้นโยบายแบบ “เสรีนิยม” ที่เน้นให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพ พยายามคงสภาพการใช้ชีวิตให้ปกติเท่าที่เป็นไปได้ แต่ก็อาจแลกมาด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่สูง ระหว่างที่แต่ละประเทศกำลังพยายามเลือกใช้มาตรการที่ “ดีที่สุด” การเหลียวมองการตัดสินใจของประเทศอื่นๆ และผลที่เกิดขึ้น ก็เป็นสิ่งที่ควรพิจารณาเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน