รับมือโควิดในไต้หวัน: เด็ดขาด ฉับไว เยียวยาให้ธุรกิจท่องเที่ยว

เรื่องโดย
ดลพร นิธิพิทยปกฤต

 

ไต้หวัน หนึ่งใน “เสือแห่งเอเชีย” (Asian Tigers) ที่พัฒนาระบบอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีของตัวเอง จนพลิกสถานะมาเป็นประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้า ที่มีความสามารถแข่งขันในอันดับต้นๆ ของโลก

แม้ว่าในช่วงที่ COVID-19 กำลังระบาด และทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ รวมถึงประเทศไทยเราที่ประชาชนประสบปัญหารายได้จากการประกาศ Lockdown ภายใต้แคมเปญ “สุขภาพนำเสรีภาพ” ผู้คนในไต้หวันยังมีอิสระในการใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่เว้นแม้แต่พนักงานที่ทำงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และภาคบริการ ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะ COVID-19 ไปเต็มๆ แต่ไม่มีการไล่คนออก หรือปัญหาผู้คนขาดแคลนรายได้ 

ในบทความนี้ เป็นความคิดเห็นและประสบการณ์จากคุณพลอย นักศึกษาปริญญาโท ที่ National Sun yat-sen University เมืองเกาสง จังหวัดหนึ่งทางตอนใต้ของไต้หวัน และปัจจุบันทำงานอยู่ในบริษัทท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของไต้หวัน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก COVID-19 นี้อีกด้วย

 

การสื่อสารเป็นทักษะสำคัญที่มีส่วนช่วยควบคุมการระบาดของโรคได้

มาตรการรับมือ COVID-19 ของไต้หวันมีความเด็ดขาดและฉับไว ด้วยการสื่อสารที่ชัดเจน โปร่งใส บอกความจริงกับทุกคน เช่น เมื่อพบผู้ที่ติด COVID-19 จะมีการชี้แจงว่า อายุเท่าไร ไปไหนมาบ้าง โดยจะบอกแค่ชื่อสถานที่ แต่ปิดบังชื่อ-สกุลของผู้ป่วย เพื่อรักษาสิทธิความเป็นส่วนตัว อันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน 

ในช่วงต้นของการระบาด การซื้อหน้ากากอนามัยสามารถซื้อได้ 2 ชิ้นต่อสัปดาห์ มีเกณฑ์การพิจารณาจากการดูเลขท้ายบัตรประจำตัวประชาชน หากเป็นเลขคู่ จะสามารถซื้อได้วันอังคาร พฤหัสบดี และวันเสาร์ สำหรับเลขคี่ จะสามารถซื้อได้วันจันทร์ พุธ และวันศุกร์ สำหรับวันอาทิตย์ สามารถซื้อได้ทุกคนโดยไม่ดูเลข แต่ขึ้นอยู่กับว่าร้านขายยาแต่ละแห่งมีปริมาณหน้ากากอนามัยที่เพียงพอหรือไม่ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ผ่าน Application โดยในการซื้อ Mask จะใช้บัตรประกันสังคมที่ทุกคนมีตั้งแต่นักเรียน นักศึกษา ยันวัยทำงาน ซึ่งจะมีบาร์โค้ดที่ด้านหลังบัตรไว้สำหรับการสแกนบันทึก หากซื้อแล้วจะไม่สามารถซื้อเพิ่มอีกได้ในระยะเวลาที่จำกัด ซึ่งการตั้งเกณฑ์การจำหน่ายอุปกรณ์ดังกล่าวนี้ ช่วยให้ลดปัญหาของขาดตลาด และประชาชนแย่งกันซื้อจนเกิดความชุลมุน

การบริหารจัดการของไต้หวันสะท้อนให้เห็นถึงการเรียนรู้จากบทเรียนเมื่อครั้งการปิดข่าวการระบาดจากโรคซาร์สในประเทศจีน เมื่อปี 2003 การปิดข่าวของรัฐบาลจีนในสมัยนั้น และอ้างว่าโรคดังกล่าวนั้น ‘เอาอยู่’ ทำให้ประชาชนไม่ได้ป้องกันตัวเองอย่างที่ควรจะเป็น แม้ภายหลัง รัฐบาลจีนจะแสดงความชัดเจนและโปร่งใสในกระบวนการจัดการกับโรคซาร์ส แต่ก็เกิดขึ้นหลังจากที่โรคแพร่ระบาดไปไกล จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสเพิ่มขึ้นมากกว่าวันละ 20-30 คนทั่วโลก 17 ปีให้หลัง เมื่อ COVID-19 ได้มาเยือน การไหวตัวอย่างรวดเร็ว ตั้งข้อสงสัย และไม่ประมาทของไต้หวัน ทำให้มีการตั้งรับกับภัยสุขภาพดังกล่าวได้เป็นอย่างดี โดยในปัจจุบันการซื้อหน้ากากอนามัย สามารถซื้อได้ 9 ชิ้น ต่อ 14 วัน โดยไม่ขึ้นกับเลขท้ายของบัตรประจำตัวประชาชนแล้ว 

นอกจากนี้ ยังมีการรายงานในเวลา 14.00 น. ของทุกวัน โดยใช้ตัวแทนเป็นสุนัขในการสื่อสาร เมื่อหลังแถลงการณ์จบ ก็จะมีการทำสรุป โดยใช้ภาพสุนัขประกอบการบรรยาย ทำให้ไม่น่าเบื่อกับตัวอักษรจนเกินไป และสร้างสีสันใหม่ๆ อีกด้วย 

 

การใช้ชีวิตอย่างเสรีภาพ (อย่างมีวินัย) ร่วมกับการควบคุมการระบาดของ COVID-19

เมื่อไต้หวันสามารถควบคุมการระบาดของ COVID-19 โดยไม่ได้เข้าสู่ Phase 3 (การแพร่เชื้อในวงกว้าง โดยไม่สามารถระบุต้นทางที่แพร่เชื้อได้) ทำให้ไม่มีคำสั่ง Lockdown ผู้คนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพียงแต่หากคุณเข้าใช้บริการในพื้นที่สาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า มีข้อบังคับว่า ต้องสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง มิเช่นนั้นจะไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้บริการ 

สิ่งที่น่าสนใจ คือ ผู้คนต่างเคร่งครัดกับการสวมหน้ากากอนามัย หากใครสวมหน้ากากอนามัยแต่ไม่ครอบปิดจมูก ก็จะโดนคนรอบข้างเดินมาทักตำหนิได้ ไม่ว่ารัฐบาลจะออกมาชี้แจงอะไร ทุกคนพร้อมที่จะรับฟัง และปฏิบัติตาม หรืออาจกล่าวได้ว่า คนไต้หวันมีความรับผิดชอบและเคารพกฎกติกาของสังคม (หากไม่นับผู้สูงอายุที่อาจมีความดื้ออยู่บ้าง) 

หลายคนที่เคยไปเที่ยวไต้หวัน เคยให้ความเห็นไว้ว่า คนไต้หวันมีนิสัยหลายอย่างคล้ายกับคนญี่ปุ่น ซึ่งเหตุผลอาจสืบเนื่องมาจากร่องรอยโครงสร้างพื้นฐานที่ญี่ปุ่นหลงเหลือไว้จากการเข้ายึดครองเกาะไต้หวันเมื่อราวปี ค.ศ. 1895-1945 ต่อเนื่องยาวนานกว่า 50 ปี โดยตลอดระยะเวลาดังกล่าว ญี่ปุ่นได้พัฒนาไต้หวันในหลากหลายด้าน ทั้งการศึกษา เศรษฐกิจ เป็นต้น หากไม่นับการกดขี่ข่มเหงในฐานะที่ไต้หวันเป็นพลเมืองชั้นสองในขณะนั้น นับได้ว่าญี่ปุ่นได้นำพาความทันสมัยและเทคโนโลยีมาให้ มีมาตรการด้านสาธารณสุขที่เข้มงวดทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 

 

ช่วยเหลือพนักงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และภาคบริการ ควบคู่กับการเตรียมตัวเมื่อภัยนี้ผ่านพ้นไป

สิ่งที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดของไทยและจีน คือ การประกาศ Lockdown ของประเทศไทยได้ส่งผลกระทบต่อหลายกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องหยุดชะงัก และไม่สามารถดำเนินไปได้ตามเป้าหมาย ในขณะที่ไต้หวัน ผู้คนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่มีการ Lockdown หรือประกาศ Work from home ทุกคนสามารถออกไปข้างนอก พบปะกันได้ภายใต้การสวมใส่หน้ากากอนามัย ดังนั้น แม้กิจการโดยทั่วไปอาจเติบโตช้าลง แต่ธุรกิจที่กระทบเต็มๆ จากภัย COVID-19 นี้ จึงมีเพียงภาคการท่องเที่ยว และโรงแรมเป็นหลัก

สำหรับธุรกิจเกี่ยวกับการโรงแรม หรือการท่องเที่ยว จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล ในการให้เงินกับบริษัท เพื่อให้บริษัทยังสามารถให้เงินเดือนพนักงานได้อย่างต่อเนื่อง ความคล้ายของไต้หวันกับไทยอยู่ที่การลดเงินเดือนของพนักงานบางราย แต่ที่ไต้หวัน บางรายเงินเดือนก็เพิ่มด้วย 

ทุกคนในบริษัทของคุณพลอยจะได้รับเงินเดือนเท่ากัน จึงเป็นที่มาของผู้ที่มีเงินเดือนสูง ก็จะถูกลดเงินเดือนลง ผู้ที่มีรายได้น้อยก็จะได้รับเงินเดือนเพิ่ม บริษัทมีการเกลี่ยเงินให้เท่ากัน 

“ไม่มีใครว่าอะไร เพราะว่ามันแฟร์กับทุกคน พอตอนนี้การท่องเที่ยวหยุดชะงัก คนก็แทบจะไม่มีงานทำกันอยู่แล้ว แค่บริษัทประคองตัวเอง เราในฐานะพนักงานช่วยไปอบรมตามที่รัฐประกาศ แล้วเอาเงินกลับมาให้บริษัท เงินเข้าบริษัท หลังจบคลาส บริษัทก็จะได้นำเงินมาให้พนักงานอีกที” คุณพลอยกล่าว

อีกมาตรการที่น่าสนใจที่รัฐบาลไต้หวันได้ออกมาเพื่อเยียวยาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และภาคบริการ คือ การเปิดคอร์สอบรมในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของกลุ่มอาชีพดังกล่าว (การโรงแรม และการท่องเที่ยวเรียนร่วมกัน) เช่น 1 คอร์ส อบรม 120 ชั่วโมง ผู้เข้าอบรม 1 คน จะได้ค่าตอบแทน ชั่วโมงละ 150 บาท ผู้สมัครสามารถลงเรียนได้ไม่เกิน 120 ชั่วโมงต่อเดือน 

ส่วนใหญ่ หัวข้อการอบรมจะเกี่ยวข้องกับการบริการลูกค้า การปฐมพยาบาล ตลอดจนการดูแลผู้สูงอายุ บางคอร์สมีระยะเวลาการอบรมเพียง 40 ชั่วโมง แต่มีออกนอกสถานที่ด้วย เช่น การสำรวจที่เที่ยวใหม่ๆ หรือฟาร์มในไต้หวัน ที่คนยังไม่ค่อยไป หรือยังไม่เป็นที่รู้จัก เพื่อเป็นการเตรียมตัวหลังควบคุมการระบาด COVID-19 ได้เรียบร้อยแล้ว ก็จะสามารถนำเสนอนักท่องเที่ยวได้ 

สำหรับหลักสูตรนี้ บริษัทสามารถส่งตัวแทนเข้าร่วมได้เพียงบริษัทละ 1 คน และคุณพลอยก็ได้รับโอกาสเป็นตัวแทนไปร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ สำหรับสถานที่ที่คุณพลอยได้เข้าร่วมสำรวจ ได้แก่ เหมียวลี่ (Miaoli) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของไต้หวัน และได้ขึ้นชื่อว่าเป็น “Mountain Town” หรือ “เมืองแห่งภูเขา” เนื่องจากมีภูเขาล้อมรอบอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเป็นจุดหมายปลายทางของนักปีนเขา และอีกสถานที่ คือ ซินจู๋ (Hsinchu) ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของไต้หวัน นับว่าเป็นเมืองอุตสาหกรรม เพราะมีอุตสาหกรรมและบริษัทเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์อยู่มาก ส่วนใหญ่ผู้คนที่อยู่ในเมืองแห่งนี้จะประกอบอาชีพวิศวกร มีค่าครองชีพที่สูงเทียบเท่ากับกรุงเทพฯ ซึ่งกำลังพยายามจะถูกปั้นให้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวแห่งใหม่ขึ้นมา

การลงพื้นที่สำรวจ Miaoli ช่วงวันที่ 7-8 เมษายน 2563

สำหรับการจัดคอร์สอบรมของรัฐบาล จะมีการประกาศรับสมัคร ซึ่งต้องลงสมัครพร้อมบัตรประชาชนทุกครั้ง ระหว่างการอบรมจะมีการเช็คชื่อทุกเบรก รวมถึงมีการสอบทุกคลาส เมื่อจบการอบรม เงินค่าตอบแทนจะถูกส่งเข้าให้กับบริษัทต้นสังกัด และทางบริษัทจะแจกจ่ายให้กับพนักงานในรูปแบบเงินเดือน แม้ว่าตามเกณฑ์ที่รัฐบาลได้กำหนดไว้คือ ทุกคนมีโควตาอยู่ที่ 120 ชั่วโมงต่อเดือน เมื่อคำนวณกับรายได้ต่อชั่วโมงที่พนักงานจะได้รับจะได้ประมาณ 18,000 บาทต่อเดือน บริษัทคุณพลอยจึงมีการออกค่าใช้จ่ายเพิ่มให้ เพราะเข้าใจว่าพนักงานทุกคนก็มีภาระค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่นกัน ดังนั้น ทุกคนในบริษัทจะได้รับเงินเดือนเท่ากันในเรทขั้นต่ำสุดที่ควรจะได้ 

นี่เป็นมาตรการที่ทางรัฐบาลได้ประกาศเพื่อเยียวยากลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และภาคบริการ สำหรับนโยบายอื่นๆ ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัท เช่น บางบริษัทยังคงทำงานครบทุกวันจันทร์ – ศุกร์ แต่ปรับเวลาเป็น 10.00 – 16.00 น. ในขณะที่บางบริษัทให้พนักงานทำงาน 3 วันต่อสัปดาห์ เป็นต้น

หากมองจากมาตรการของไต้หวันที่ออกมา นั่นคือการป้องกัน “ภาวะคนตกงาน” ไม่ใช่ “การเยียวยาผู้ตกงาน” การที่ผู้คนยังมีรายได้หาเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ ทำให้รัฐบาลไม่ต้องทุ่มงบประมาณจำนวนมากในการแจกเงินกับผู้ประสบปัญหา และบริษัทก็ไม่ต้องปิดตัวลง 

แน่นอนว่าแต่ละวิธีการแก้ปัญหาจะเหมาะกับบริบทของสังคมและสภาวการณ์ที่ต่างกันไป มาตรการดังกล่าวนี้อาจสามารถทำได้ในไต้หวันที่มีการควบคุมการระบาด COVID-19 ยังไม่ถึง Phase 3 แต่สำหรับประเทศไทยที่ยังคงใช้มาตรการ Social Distancing การเรียกคนจำนวนมากอบรม อาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงจำนวนผู้ติดเชื้อให้มากขึ้นได้ 

สิ่งที่ไทยควรนำมาปรับประยุกต์ใช้คือ เรื่องการสื่อสารที่ชัดเจน หนักแน่น น่าเชื่อถือจากหน่วยงานรัฐ ที่เป็นเสาหลักในการบริหารจัดการประเทศ การแถลงการณ์ที่นอกจากจะส่งสารไปยังประชาชน ยังต้องรวมการส่งความเห็นใจและเข้าใจสิ่งที่ทุกคนต้องเผชิญอยู่ในขณะนี้ นอกจากนี้ ความเครียดที่สะสมระหว่างช่วงการปิดสถานที่ต่างๆ ถึง 30 เมษายน หากขยายเวลาต่อไป จะกระทบกับเศรษฐกิจเป็นลูกโซ่ไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ การทยอยประกาศให้ประชาชนเริ่มกลับมาทำงานได้ โดยเริ่มที่วัยหนุ่มสาว กลุ่มอายุ 22-35 ปี ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ โดยกำหนดที่อย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์ อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยคลายความตึงจากสถานการณ์ช่วงนี้ก็เป็นได้

 

ปัญหาเชิงโครงสร้าง ภัยที่มองไม่เห็นยามสภาวะปกติ 

ไต้หวันไม่มีปัญหาขาดแคลนสิ่งของหรืองบประมาณ ที่ประชาชนต้องออกมาร่วมกันบริจาคเหมือนเช่นที่ไทย รวมถึงผลกระทบกับแรงงานต่างชาติที่ทุกอย่างเป็นไปอย่างเรียบร้อยปกติ จากการสอบถามเพื่อนของคุณพลอย ซึ่งเป็นผู้ที่ดูแลแรงงานคนไทยและอินโดนีเซีย ให้ข้อมูลว่าทุกอย่างปกติ ไม่มีการลดค่าแรง เนื่องจากงานก่อสร้างยังไม่ถูกสั่งระงับ จะมีก็เพียงปัญหาว่า บางคนอยากกลับบ้าน ซึ่งหากมีความจำเป็นต้องกลับ ก็จะต้องได้รับการตรวจสุขภาพตามขั้นตอนก่อน

“ฐานะคนที่นี่ไม่ได้มีคนรวยมาก และคนจนมาก ส่วนใหญ่มีฐานะปานกลาง เลยไม่ได้มีปัญหาดราม่าหาเช้ากินค่ำเหมือนไทย ทุกคนมีอาชีพ หรือหากเป็นแรงงานต่างด้าว ที่นี่ก็จำกัด ว่าใน 1 ปี ทั่วประเทศจะมีแรงงานต่างด้าวได้กี่คน แต่ละบริษัทมีได้กี่คน และไม่มีปัญหาเรื่องเงินใต้โต๊ะ เพราะเงินเดือนของตำรวจที่นี่ได้ค่อนข้างสูง จึงไม่ต้องไปฉวยโอกาสจากประชาชน เขาไม่ได้มองว่าเขาต้องทุจริต ตำรวจจะมีกล้องติดที่หน้าอกทุกคน เพราะฉะนั้น ใครทำอะไร พูดอะไร จะอยู่ในกล้องทั้งหมด” คุณพลอยกล่าว

หากพิจารณาจากปัจจัยประกอบโดยรวมแล้ว ความสามารถของไต้หวันที่ควบคุมการระบาดของ COVID-19 ได้รวดเร็ว และฉับไว ทำให้มีผู้ติดเชื้อจำนวนที่น้อย นอกจากจะเป็นเพราะการทำงานของภาครัฐที่ชัดเจนแล้ว การให้ความร่วมมือจากประชาชนก็เป็นสิ่งที่สำคัญ การรู้หน้าที่ของตนเอง มีวินัย รับผิดชอบทั้งในระดับปัจเจก และระดับสังคม ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เป็นนิสัยของคนส่วนใหญ่ในไต้หวัน แต่เป็นการปลูกฝังผ่านทั้งระบบการศึกษา การมีผู้นำทางการเมืองที่เข้มแข็ง มีวิสัยทัศน์ ชัดเจนในจุดยืนของการประกาศเอกราชของตน รวมไปถึงระบบการจ้างแรงงาน หรือการปันทรัพยากรต่างๆ อย่างทั่วถึง 

สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฝังรากลึกมาอย่างยาวนานในประเทศไทย ไม่ใช่ว่าความยากจน หรือขาดแคลนรายได้พึ่งถือกำเนิดขึ้นในช่วง COVID-19 แต่ความเหลื่อมล้ำในหลากหลายมิติได้สะท้อนให้เห็นชัดเจนในช่วงเวลาความยากลำบากเช่นนี้ ภาษีของไทยที่ไม่ได้รับการจัดสรรไปใช้ในทางที่เหมาะสม สะท้อนกลับมาในราคาที่รัฐต้องจ่ายอย่างนับไม่ถ้วน


เกี่ยวกับผู้เขียน

ดลพร นิธิพิทยปกฤต ชื่อเล่น ฝน จบการศึกษาสาขาวิชาจิตวิทยาชุมชน ภาควิชาจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปัจจุบันเป็น Freelancer รับงานวาดภาพ Portrait และจัดอบรมเกี่ยวกับการเงินบ้างในบางครั้ง โดยเป็นผู้สอน รวมถึงจัดทำสื่อด้วยตนเอง มีความสนใจในศิลปะ ประวัติศาสตร์ และภาพยนตร์ ต้องการใช้ช่องทางการเขียนบทความและการวาดภาพเป็นสื่อหนึ่งในการส่งสารที่สร้างสรรค์ไปยังสังคม

You May Also Like
อ่าน

ผ่านฉลุย! สส. เห็นชอบร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม วาระสาม ส่งไม้ต่อให้ สว.

27 มีนาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีมติ “เห็นชอบ” ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวาระสาม ส่งไม้ต่อให้วุฒิสภาพิจารณาสามวาระ
อ่าน

จับตาประชุมสภา ลุ้น สส. ผ่านร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม วาระสอง-สาม

27 มีนาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมนวาระสอง-สาม หากสภามีมติเห็นชอบในวาระสาม ร่างกฎหมายก็จะได้พิจารณาต่อชั้นวุฒิสภา