รับมือโควิดในไต้หวัน: สู้โควิด-19 ในนามความสูญเสียจากซาร์ส 

เรื่องโดย
นิติธร สุรบัณฑิตย์
นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยการเมืองแห่งชาติไต้หวัน

 

เกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา 73 ชีวิตสังเวยให้กับโรคปริศนา ที่จู่โจมเกาะทรงใบไม้กลางทะเลแปซิฟิก ซาร์ส หรือโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง ทิ้งบาดแผลให้กับสังคมไต้หวันจนยากจะลืมเลือน 

ผู้สูงอายุวันนั้นต่างป้องกันสิ่งเหล่านั้นไม่ให้ซ้ำร้อย เด็กน้อยใหญ่จดจำความเลวร้ายของมันได้อย่างแม่นยำ ไม่เพียงระบบสาธารณสุขถูกปฏิวัติใหญ่ หากจิตสำนึกร่วมของชาวไต้หวันบ่งบอกว่า พวกเขาจะไม่กลับไปสู่จุดนั้นอีก

ไต้หวัน หรือสาธารณรัฐจีนบนเกาะไต้หวัน กับประชากรเกือบ 24 ล้านคน เผชิญอุปสรรคกับปัญหาทางการเมืองที่ต้องดิ้นรนพยายามเป็น ‘รัฐ’ บนพื้นที่ระหว่างประเทศมาหลายทศวรรษ ปัจจัยนี้โดดเดี่ยวไต้หวัน และตัดโอกาสการปฏิสัมพันธ์ร่วมกับองค์การระหว่างประเทศ โดยเฉพาะองค์การอนามัยโลก (WHO) ส่งผลกระทบถึงความร่วมมือด้านสุขภาพอย่างคาดไม่ถึง 

สถานะที่ไม่ใช่ผู้แทนโดยชอบธรรมของประชาชาติจีน และ ‘ไต้หวัน’ กับความเป็นรัฐที่ถูกท้าทาย ส่งผลให้พวกเขาต้องช่วยตัวเองอย่างไม่มีทางเลือก การบริหารสถานการณ์โควิด-19 ผลักดันให้ไต้หวันโดดเด่น และนำเสนอสิ่งที่ถูกบ่มเพาะมาตลอด 17 ปีให้หลังการแพร่ระบาดของโรคซาร์ส

ในขณะที่โลกยังแทบไม่รู้จักโควิด-19 ศูนย์ควบคุมโรคไต้หวัน ออกประกาศเตือนเรื่อง ‘คำแนะนำการเดินทางระหว่างพื้นที่เพื่อตอบสนองการแพร่ระบาดของโรคปอดบวมเมืองอู่ฮั่น จีนแผ่นดินใหญ่ และเกาะไต้หวัน’ ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2563 มาตรการเชิงพื้นที่ โดยเฉพาะการไหลเข้าออกของผู้คนถูกจัดความสำคัญเป็นลำดับแรก ไต้หวันเริ่มตรวจสอบย้อนรอย บันทึกประวัติการเดินทาง-สุขภาพของผู้โดยสารจากพื้นที่เสี่ยง ออกข้อปฏิบัติ ‘5 ทำ’ และ ‘6 ไม่ทำ’ สำหรับประชาชนทั่วไป หลังก่อนหน้านี้ ‘หมอสปาย’ ของไต้หวันเดินทางไปอู่ฮั่น ป้องกันประวัติศาสตร์แผ่นดินใหญ่ปิดข่าวซ้ำรอยซาร์ส 

ช่วงระยะเวลาเดียวกับที่อู่ฮั่น จีนแผ่นดินใหญ่ปิดเมือง (23 มกราคม 2563) เกาะไต้หวันเลื่อนระดับเฝ้าระวังทันที นายเฉิน ฉือ จง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขนั่งบัญชาการศูนย์ควบคุมโรคระบาดไต้หวัน มีภารกิจ ‘กระชับการบริหารสถานการณ์’ สู่จุดเดียว และทำยังไงก็ได้ เพื่อลด ‘ความตระหนก’ สู่ ‘ความตระหนัก’ ในหมู่ประชาชน 

ไม่ต่างจากที่อื่น ผู้ติดเชื้อระยะแรกมักมีประวัติไปมาหาสู่กับจีนแผ่นดินใหญ่ ไต้หวันเริ่มมาตรการสกัดกั้นในปลายเดือนมกราคม 2563 เช่น ชาวจีนจากมณฑลหูเป่ยไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเกาะไต้หวัน ส่วนชาวจีนจากมณฑลอื่นถูกยกเลิก หรือเลื่อนการเดินทาง นักเรียนจีนถูกเลื่อนเดินทางกลับ เป็นต้น ไต้หวันยังงดส่งออกหน้ากากอนามัยชั่วคราว เพื่อสำรองทรัพยากรไว้ล่วงหน้า สายการบิน และผู้โดยสารถูกตรวจโดยไม่เลือกปฏิบัติ การป้องกันรอยรั่วได้รับการสนับสนุนโดยฐานข้อมูลคนเข้าเมือง และหน่วยงานสุขภาพโดยตรง 

การติดเชื้อระลอกสองเกิดขึ้นช่วงกลางเดือนมีนาคม โดยพบผู้ติดเชื้อมากกว่า 300 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวไต้หวันที่เดินทางกลับจากทั่วทุกมุมโลก หลังสถานการณ์ต่างประเทศเผชิญความโหดร้ายมากขึ้น ไต้หวันเตรียมทรัพยากรสำหรับมาตรการแยกตัวพวกเขาเหล่านี้อย่างเข้มงวด ชาวไต้หวันเองถูกชะลอเดินทางออกนอกเกาะ ชาวต่างชาติไม่ได้รับอนุญาตให้เข้า ยกเว้นผู้มีถิ่นพำนัก นักการทูต และผู้ได้รับอนุญาตเป็นกรณีพิเศษ 

คนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า 
ยังคงได้รับการปฏิบัติจนถึงขณะนี้ 

ผมได้ไล่เรียงสถานการณ์ขั้นเริ่มต้นของโควิด-19 ในไต้หวัน เพื่อให้เห็นการตอบสนองของหน่วยงานภาครัฐที่ค่อนข้างรวดเร็ว และครอบคลุม ไม่ต้องสงสัยว่าสิ่งเหล่านี้มีบทเรียนมาจากซาร์ส เมื่อ 17 ปีก่อน หลักการพื้นฐานที่ว่า ไวรัสไม่สามารถเดินทางด้วยตัวมันเองได้ พวกมันเดินทางผ่านคน การ ‘แยก และสกัด’ จึงกลายเป็นมาตรการที่ศูนย์ควบคุมโรค และหน่วยบริหารท้องถิ่น ‘ต้องจับให้ได้ ทำให้ทัน’ 

ผมกลับมาไต้หวันช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ หลังฉลองเทศกาลตรุษจีนกับครอบครัวที่กรุงเทพมหานคร บรรยากาศเมื่อลงถึงอดีตสนามบินเจียง ไค เช็ก หรือสนามบินนานาชาติเถาหยวนในปัจจุบัน คลาคล่ำไปด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จับจ้องเราอยู่ หน้ากากอนามัย ปรากฏบนใบหน้าแทบทุกคน 

หากร่ม และกระติกน้ำ เป็นอวัยวะเพิ่มขึ้นมาของชาวไต้หวัน 
หน้ากากอนามัย ณ ขณะนี้ก็เช่นกัน 

แม้สิทธิพำนักอาศัยจะทำให้ผมผ่านพรมแดนอย่างรวดเร็ว ทว่าในระยะที่โควิด-19 เริ่มคุกรุ่น วันรุ่งขึ้นผมจำเป็นต้องรายงานตัว ประวัติการเดินทาง สุขภาพ ถิ่นที่อยู่อาศัยให้มหาวิทยาลัยทราบอย่างละเอียด ข้อมูลนี้จะถูกจัดทำเป็นทะเบียน รายงานให้หน่วยบริหารท้องถิ่น และศูนย์ควบคุมโรคระบาดไต้หวันรับทราบ 

ไม่ต่างจากไทย ตัวเลขผู้ติดเชื้อทยอยเพิ่มขึ้น จากวงนอก สู่ภายใน  ตัวผม และคนอื่นๆ จะค่อยๆ ถูกแยกห่างจากสังคม หรือการรวมกลุ่มทีละเล็กทีละน้อย นั่นคือ การสกัดกั้นรอยรั่วที่อาจเกิดขึ้น เมื่อการติดเชื้อภายในเป็นสิ่งที่น่ากังวลใจ และอาจกระจายวงกว้าง โดยเฉพาะสภาพเมืองที่ค่อนข้างแออัด คลาคล่ำไปด้วยผู้คน  

จะขอพูดถึงมาตรการจากสนามบิน ในฐานะหน้าด่านที่ต่อกรกับเชื้อโรคภายนอก ไต้หวันปรับระดับมาตรการตามความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ ซึ่งพิจารณาจากตัวเลขผู้ติดเชื้อของพื้นที่นั้น (มาตรการนี้กำหนดขั้นเป็น 1-Watch 2-Alert และ 3-Warning หรือ ขั้นร้ายแรง) โดยเริ่มจากจีน และขยายวงกว้าง ควบรวมกลุ่มประเทศอุษาคเนย์ ปัจจุบันไต้หวันยังตรึงมาตรการอย่างเข้มงวด แม้บางวันจะไม่พบผู้ติดเชื้อใหม่ก็ตาม 

ชาวไต้หวัน หรือชาวต่างชาติที่มีสิทธิเข้าไต้หวัน เพราะ 1. มีสิทธิพำนักอาศัย  2. ถือเอกสิทธิทางการทูต 3. เป็นผู้ติดต่อธุรกิจ และได้รับอนุญาตเป็นกรณีพิเศษ หากมีอาการป่วยจะถูกส่งโรงพยาบาล ผู้ไม่เจ็บไข้ต้องกักตัวที่บ้าน โดยต้องมีห้องนอน และห้องน้ำส่วนตัว ไม่มีคนอายุเกิน 65 ปี เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง คนที่ต้องกักตัวจะถูกติดตามโดยระบบจีพีเอส หากก้าวขาออกจากบ้าน หรือติดต่อไม่ได้ ตำรวจจะเดินทางมาที่บ้านทันที การฝ่าฝืนจะถูกปรับสูงสุดราว 1 ล้านบาท หากเชิญเพื่อนมา เพื่อนจะถูกปรับสูงสุดราว 5 แสนบาท 

กระนั้นก็ตามแรงงานที่ถูกกักตัว จะมีเงินช่วยเหลือราววันละ 1,000 บาท มาตรการนี้ใช้เพื่อสกัด และแยกพวกเขาออกจากคนทั่วไป 

สำหรับชาวท้องถิ่น และชาวต่างชาติอย่างผม ที่มาถึงเกาะไต้หวันก่อนประกาศดังกล่าวบังคับใช้ จะถูกบังคับจากบรรดามาตรการ เพื่อกันเราออกจากความเสี่ยง เช่น สถานที่สาธารณะถูกลดปริมาณครึ่งหนึ่งจากปริมาณที่รองรับได้ (ผู้ใช้บริการเกิน 50 คน จะหยุดให้บริการคนที่ 51) มหาวิทยาลัยที่มีผู้ติดเชื้อ 2 คนจะต้องถูกปิด ผู้ไม่ใส่หน้ากากอนามัยไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ขนส่งสาธารณะทุกประเภท ธนาคาร และศูนย์ราชการทุกหน่วย หรือแม้กระทั่งตลาดสด ความเข้มข้นนี้แปรผันตามความมั่นใจที่ว่า จำนวนเวชภัณฑ์ อาหาร และที่สำคัญคือ หน้ากาก จะเพียงพอต่อการอุปโภคภายใน   

หน้ากากอนามัยของไต้หวันพอใช้ และเหลือจนถึงขั้นที่ไต้หวันสามารถบริจาคหน้ากากให้ประเทศ และดินแดนอื่นอย่างต่อเนื่อง เป็นประจักษ์พยานถึงความแข็งขัน และรัดกุมของไต้หวันในวิกฤตินี้ โดยเริ่มจากรัฐบาลสั่งเดินหน้าผลิตหน้ากากให้ได้วันละ 10 ล้านชิ้น ห้ามส่งออกจนถึงปลายเดือนมิถุนายน และกำหนดเพดาน หน้ากาก 9 ชิ้น ไม่เกิน 45 ดอลลาร์ไต้หวัน หรือราว 45 บาท ตกชิ้นละ 5 บาท มาตรการนี้ทำให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเดินหน้า ผลิดอกออกผลในนามการทูตเรื่องการเมือง ผ่านแคมเปญ #Taiwancanhelp 

เทคโนโลยีกลายเป็นพระเอกสำหรับบทสนทนาเรื่องหน้ากาก ชาวไต้หวันมีโควต้าซื้อหน้ากากได้ 2 สัปดาห์ต่อ 9 ชิ้น (เด็ก 10 ชิ้น) ซึ่งถูกติดตามผ่านข้อมูลในบัตรประกันสุขภาพ และบัตรพำนักอาศัย พวกเขาสามารถใช้แอปพลิเคชั่นสำรวจแผนที่ และปริมาณหน้ากากใกล้บ้าน สั่งซื้อทางออนไลน์ (ทั้งให้ตนเอง และญาติสืบสายโลหิตในต่างประเทศ) หรือผ่านหุ่นยนต์ที่ทยอยเดินสายอวดโฉมทั่วนครไทเป ต่อมา ไต้หวันพยายามพัฒนาแอปพลิเคชั่นที่เปรียบเสมือนพยาบาลส่วนตัว คอยเตือนการใกล้ชิดผู้อื่น เพื่อ ‘แยก และสกัด’ เท่าที่จะเป็นไปได้ 

นอกจากนี้ การเดินทางของข้อมูลสารสนเทศในรูปแบบ Big data ทำให้ไต้หวันรู้ว่า พวกเขาจะจัดการ ‘รอยรั่ว’ อย่างไร เช่น การจัดทำแผนที่พื้นที่เสี่ยง หรือการจำกัดปริมาณผู้ใช้บริการในแต่ละสถานที่ โดยผู้ใช้จะได้รับ SMS แจ้งเตือนให้เปลี่ยนแผนการเดินทาง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ไม่หยุดนิ่ง และได้รับการต่อยอดอย่างต่อเนื่อง 

ทุกวันนี้ผมจึงดำเนินชีวิตประจำวันในนครไทเปค่อนข้างปกติ ภายใต้กฎ และระเบียบที่ทยอยแปรผันตามสถานการณ์ สำนึกของประชาชนที่ไปไกลกว่ามาตรการรัฐจากบทเรียนซาร์ส ทำให้พวกเขาไม่มีปัญหามากนัก โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากความได้สัดส่วน คือ ยอมเสียสิทธิ เพื่อรักษาชีวิต ก็นับว่า จำเป็น และต้องเต็มใจ อย่างน้อยๆ ก็ไม่ต้องกลับไปเหมือนที่เคยเป็นมา

แน่นอนการปิดเกาะย่อมส่งผลต่ออุตสาหกรรมทุกแขนง สนามบินศูนย์กลางเชื่อมเอเชียแปซิฟิกกับภาคพื้นอเมริกาอย่างเถาหยวนกลายเป็นพื้นที่รกร้าง การค้าหยุดชะงัก ผู้คนหยุดเดินทาง ขณะที่ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจลดน้อยถอยลงแปรผันตามตัวเลขผู้ติดเชื้อทั้งภายใน และภายนอก

 

รัฐเริ่มเป็นผู้จ่ายจากความสูญเสียนี้ 

ไต้หวันผ่านงบฉุกเฉินราว 60,000 ล้านบาท เพื่อไขก๊อกพยุงจิ๊กซอว์แต่ละชิ้นให้พอเดินหน้าต่อไปได้ มาตรการนี้ครอบคลุมทั่วทุกอุตสาหกรรม อาทิ เงินช่วยเหลือพนักงานเอกชนของกิจการที่มีรายได้ลดลงร้อยละ 50 จัดหางานพาร์ทไทม์สูงสุด 50,000 ตำแหน่ง (ค่าแรงชั่วโมงราว 157-160 บาท) สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำต่อธุรกิจการเกษตร และเงินช่วยเหลือเกษตรกร (ชาวสวนจะได้เงินราว 9,520 บาท 3 เดือน) เร่งรัดอนุมัติสินเชื่อภายใน 7 วัน อัดฉีดอุตสาหกรรมท่องเที่ยวราว 10,000 ล้านบาท จนถึงจัดสรรเม็ดเงินราว 1.5 พันล้านบาท บรรเทาผลกระทบต่อศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น 

ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ไม่สูงมาก และการชดเชยที่พอจะรับกันได้ ทำให้สังคมไต้หวัน ไม่วุ่นวายกับการจัดการสถานการณ์มากนัก สำหรับผม ความตระหนักมีให้เห็นมากกว่าความตระหนก และความห่วงใยมีให้เห็นมากกว่าการเหยียดฉันท์ดูแคลน ทว่าจำเลยในสายตาพวกเขาก็ยังคงเป็นจีนแผ่นดินใหญ่ คู่รักคู่แค้นตลอดหลายทศวรรษ 

ความสำเร็จที่ทำให้ชีวิตผู้คนยังเป็นปกติให้ได้มากที่สุด ทำให้บรรดานักการเมืองค่ายประชาธิปไตยก้าวหน้า ได้รับคำชมเชยไม่เว้นแต่ละวัน ทั้งประธานาธิบดีไช่ อิง เหวิน รัฐมนตรีสาธารณสุขเฉิน ฉือ จง และรัฐมนตรีกิจการทั่วไป ผู้รับผิดชอบงานดิจิทัลคนดังอย่าง ออเดรย์ ถัง ส่องทางสว่างสำหรับ 4 ปีพรรคนิยมเอกราชท้องถิ่น ผู้พยายามผลักดันให้ ‘ไต้หวัน เป็นไต้หวัน’ 

ทว่าบรรดากระแสชื่นชมจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากปราศจาก ‘ระบบ’ ที่มีอยู่ ผมกำลังหมายถึงสิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือ ฟังก์ชั่นที่พวกเขาทดลอง ออกแบบเรียนรู้ และกลายเป็นสิ่งที่หยิบออกมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว ไร้ความเหนื่อยหน่าย สับสน ของระบบราชการ เหตุใดศูนย์ควบคุมโรคระบาด CDC จึงถูกเดินเครื่องและเดินหน้าได้ทันที เหตุใดโรงพยาบาลมีเวชภัณฑ์สำรองโรคติดต่อ ปริมาณเดียวกับซาร์ส เหตุใดแถลงการณ์ครั้งที่ 1 จึงชัดเจนว่าจะทำอะไร และประชาชนคนธรรมดาต้องทำอะไร ไม่ทำอะไร เหตุใดการสื่อสารมิได้สร้างความสับสน ทว่าเป็นเอกภาพ และประชาชนก็รอคอยฟังความหวังในแต่ละวัน 

สิ่งหนึ่งที่ผมไม่มองข้าม และเห็นชัดแจ้งเป็นที่ประจักษ์กับสายตา คือ บรรดาลุงป้า น้าอา และเพื่อนชาวไต้หวัน การระบาดของซาร์ส เมื่อปี 2003 ทำให้สำนึกเรื่อง ‘โรคระบาด’ เด่นชัด มันปรากฏผ่านความหวั่นเกรง ใส่ใจ และเข้าใจต่อความเลวร้ายของโรคระบาด จนกลายเป็น ‘สำนึกทางการเมืองเรื่องโรคระบาด’ 

โรคระบาดของพวกเขา คือ สิทธิ และหน้าที่ทางการเมืองของพลเมืองไปพร้อมๆ กัน สิทธิที่เขารู้ว่า ลมหายใจมีค่ามากเพียงใด และอุปสรรคใดๆ ที่จะพรากลมหายใจเหมือนอดีต ต้องไม่เกิดขึ้น หน้าที่ของพลเมืองต่อการรับผิดชอบสังคม และเพื่อนร่วมสังคมย่อมสำคัญ เจตจำนงนี้ส่องสะท้อนให้บรรดาผู้ถือสิทธิทางการเมืองแทนพวกเขา ต้องสำแดงให้เห็นว่า กำลังรักษาสิทธิ และหน้าที่ทางการเมืองของพลเมืองโดยโปร่งใส เป็นไปได้ และมีความหวัง 

บรรดานักการเมืองเองก็ย่อมผ่านเหตุการณ์ซาร์สมาเช่นเดียวกัน พวกเขารู้ว่า ชัยชนะที่ต้องทำให้ได้ในครั้งนี้ไม่เพียงสร้างแต้มต่อทางการเมือง ทว่ายังปลอบประโลมความสูญเสียที่พวกเขา ญาติมิตร หรือเพื่อนร่วมสังคมเคยเผชิญเมื่อ 17 ปีที่ผ่านมา 

‘สำนึกทางการเมืองเรื่องโรคระบาด’ จึงบังคับให้รัฐบาลประชาธิปไตย เป็นประชาธิปไตยให้ได้ และเป็นประชาธิปไตยให้ดีกว่าเดิม มันคือ ความโปร่งใส ที่พวกเขาจะมั่นใจได้ว่า ลมหายใจจะได้รับการดูแลตลอดรอดฝั่ง 

มาตรการ และบรรดากฎต่างๆ มักไม่ถูกตั้งคำถาม หรือความระแวงสงสัยจากประชาชน โดยเฉพาะประเด็นความได้สัดส่วน (proportionality) ของการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ความเชื่อมั่นนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ภาครัฐ ท้องถิ่น และประชาชนทำงานร่วมกันได้ โดยมีเหตุผลและความกระจ่างเป็นเบื้องหลัง กฎที่เข้มงวด จะไม่เป็นผลเลย หากประชาชนไม่ปฏิบัติ และจะแย่ยิ่งกว่าหากการขัดขืนนั้น เกิดจากความไม่มั่นใจ หรือเสียศรัทธาต่อภาคการเมือง

แน่นอนสิ่งเหล่านี้ หากเราพิจารณาเฉพาะเงื่อนไขของไต้หวัน ย่อมยากที่จะเปรียบเทียบกับดินแดน หรือประเทศอื่น เฉพาะแค่ว่า จะเอาอย่างไรกับการไปมาหาสู่กันกับชาวจีนแผ่นดินใหญ่ แค่นี้บรรดาผู้นำอุษาคเนย์ก็เหงื่อตกแล้ว ไต้หวันย่อมตัดสินใจเรื่องนี้ง่ายกว่ามาก หากจะบอกว่า ไต้หวันโชคดีในแง่นี้ก็คงไม่ เพราะความสัมพันธ์อันบาดหมาง โดดเดี่ยวไต้หวัน เป็นส่วนหนึ่งให้ล้มเหลวจากซาร์สไปถึง 73 ศพ แต่ก็สร้างความแข็งแกร่งในวันนี้เช่นกัน 

สิ่งหนึ่งที่อาจพิสูจน์ได้ คือ เขาพอจะทำได้
ไม่ว่าจะทำได้ในเงื่อนไขที่โชคดีกว่า หรือโชคร้ายกว่าก็ตาม 

หากถามว่า ประเทศหรือดินแดนอื่น พอจะหันมอง หรือสนใจอะไรได้บ้างกับการจัดการของไต้หวัน ในเมื่อประเทศหรือดินแดนอื่นก็ไม่ได้มีศักยภาพระบบสาธารณสุขที่อ่อนด้อยไปกว่าไต้หวัน และหลายดินแดนที่เผชิญสถานการณ์ขณะนี้กลับมีอันดับดีกว่าด้วยซ้ำ เอกภาพของระบบบริหารจัดการ และการตื่นตัวน่าจะเป็นจุดสนใจที่ดี ที่ผลักดันมาตรการ การบังคับใช้ ให้มีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับบริบทแวดล้อมที่โปร่งใส เชื่อถือ และตรวจสอบได้ 

ตัวเลขผู้ติดเชื้อ (19 เมษายน 2563) 420 ราย (ติดเชื้อภายใน 55 ราย) และเสียชีวิต 6 ราย จึงพอจะเป็นประจักษ์พยาน หาใช่ว่าไต้หวันนั้นดีกว่าดินแดนหรือชาติอื่นใด หากหมายถึง พวกเขาข้ามพ้นการรอคอยความช่วยเหลือ และความล้มเหลว ผิดพลาดเมื่อ 17 ปีที่ผ่านมา อนาคตจากบทเรียนในอดีตจึงทรงพลัง และมีความหมาย 

นี่อาจเป็นความภาคภูมิใจของพวกเขา ต่อตัวพวกเขาเอง 


เกี่ยวกับผู้เขียน

นิติธร สุรบัณฑิตย์ l อดีตผู้สื่อข่าวอาวุโส ผู้ดำเนินรายการข่าว และโปรดิวเซอร์สารคดีเชิงข่าวโทรทัศน์ ปัจจุบันศึกษาต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยการเมืองแห่งชาติไต้หวัน ด้วยทุนการศึกษารัฐบาลสาธารณรัฐจีน ยังคงสร้างสรรค์รายงานพิเศษ บทความเกี่ยวกับไต้หวัน สู่สายตานักดู อ่าน และวิจารณ์ชาวไทยสม่ำเสมอ มีความสนใจด้านไต้หวัน มลายู และพิพิธภัณฑ์ ติดตามได้ใน fb page: ไต้หวันอีกแขนงหนึ่ง หรือ twitter: @brnititorn