รับมือโควิดใน UAE: เคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง ใครออกจากบ้านต้องขออนุญาตทางออนไลน์

เรื่องโดย Crewabs

 

การเป็นแอร์อาหรับเบสอยู่ดินแดนทะเลทราย ไม่ได้กลับไทย มันไม่ง่ายเลยจริงๆ!

หลายต่อหลายครั้งที่ใจเรียกร้องส้มตำ ข้าวเหนียวไก่ย่าง ต้มแซ่บกระดูกอ่อน และยำมะม่วง ซึ่งอย่างน้อยก็มั่นใจได้ว่า หากไม่ขอไฟลท์บินกลับไทยมาซื้อปลาร้ากลับไปตำตอนอยู่ดูไบ ก็ยังพอนัดเพื่อนๆ ออกไปร้านอาหารไทยในตัวเมืองชิวๆ ได้ในวันไม่มีบิน แต่เมื่อเจอ “โควิด 19” ปลาร้าที่ตุนไว้จะหมดไหแล้ว… ทุกอย่างสำหรับแอร์ไทยในดินแดนอาหรับก็เปลี่ยนไป ชีวิตมันไม่ง่ายเช่นเดิม!

จึงเป็นที่มาของรีวิวการรับมือสถานการณ์โควิดของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หนึ่งในประเทศที่สร้างหาดทรายขึ้นมาเองเป็นรูปต้นปาล์ม และพลเมืองขับ Supercars ไปช็อปปิ้ง ไม่ได้ขี่อูฐเฉกเช่นเราเข้าใจ

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) นับเป็นประเทศที่มีการตื่นตัวไวเช่นกันกับข่าวการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า เพราะที่สนามบินใหญ่ๆ เริ่มตรวจคัดกรองวัดไข้นักท่องเที่ยวที่บินมาจากจีนตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม แต่ก็ไม่รอดเงื้อมมือเจ้าไวรัสไปได้ UAE มีผู้ป่วยโควิดรายแรกเป็นหญิงชราชาวจีนจากอู่ฮั่นวัย 73 ปีที่มาท่องเที่ยวกับครอบครัว และจำนวนก็ได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูลเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2563 UAE มีผู้ติดเชื้อโควิด 4,933 ราย รักษาหาย 933 ราย และเสียชีวิต 28 ราย 


แม้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะแบ่งย่อยออกเป็นหลายรัฐ แต่ 2 รัฐที่ใหญ่และนับเป็นเป้าหมายหลักของนักเดินทางจากทั่วโลกก็คือ ดูไบ และ อาบูดาบี ซึ่งมีสนามบินและสายการบินของตัวเอง (Emirates และ Etihad) และนับเป็นเมืองเศรษฐกิจที่มีชาวต่างชาติไปทำงานและอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก มากเสียยิ่งกว่าจำนวนคนที่เป็นเจ้าของประเทศเองเสียอีก จริงๆ คน “เอมาราติ” มีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับชาวต่างชาติในประเทศ 

จากประสบการณ์ที่ผู้เขียนเคยอยู่ดูไบมา ผู้คนส่วนใหญ่ที่พบเจอเป็นชาวอินเดียและปากีสถาน มีทั้งมาเป็นแรงงาน (ซึ่งสภาพความเป็นอยู่แออัดมาก และไม่ได้รับสวัสดิการที่ดีเท่าไรจากนายจ้าง) และมีทั้งกลุ่มที่เป็นพนักงานบริการส่วนต่างๆ เช่น พนักงานขับรถแท็กซี่ พนักงานจัดสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นต้น แต่หากเป็นชาวต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจ ก็จะมีหลากหลายชาติ ทั้งอังกฤษ สเปน ไทย จีน รัสเซีย ลำพังแค่พนักงานของสายการบินก็มีกว่า 100 สัญชาติแล้ว นอกจากนี้สนามบินที่ดูไบเองก็นับเป็นศูนย์กลางการต่อเครื่องจากทั่วทุกมุมโลก จึงไม่น่าแปลกที่การควบคุมเชื้อโควิดเป็นไปได้ลำบากมาก หากไม่มีมาตรการที่แข็งแรงพอ

 

โควิด 19 กระทบอะไรกับดินแดนทะเลทรายแห่งนี้บ้าง?

นับตั้งแต่มกราคมที่มีมาตรการวัดไข้ผู้โดยสารที่บินมาจากจีน และพบผู้ป่วยรายแรกเป็นชาวจีน จำนวนผู้ติดเชื้อซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติที่เดินทางมา UAE ก็มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จนเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2563 ทางรัฐจึงได้เริ่มมาตรการเคอร์ฟิวโดยขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน ยกเว้นมีเหตุจำเป็นหรือไปทำงาน และให้นั่งรถยนต์ส่วนตัวได้ไม่เกิน 3 คน 

รัฐขอให้ประชาชนอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ หรือการทำ Social Distancing ห้างสรรพสินค้าก็ถูกสั่งปิดให้บริการ ยกเว้นส่วนของซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านขายยา ร้านอาหารจะเป็นการสั่งดิลิเวอรี่เท่านั้น ไม่มีการนั่งทานที่ร้าน สภาพก็คงไม่ต่างจากประเทศไทยเรามากนักที่ถนนแทบไม่มีรถวิ่ง ทางเดินแทบไม่มีคนเดิน

รูปบรรยากาศวัน Lockdown ในดูไบ ถนน Hessa ซึ่งปกติรถติดอารมณ์ประมาณสีลมเมืองไทยได้

รูปในหมู่บ้านคุณนายเก่ายามกลางคืน ทุกคนกักตัวอยู่ในบ้าน ไม่มีใครออกนอกบ้านทั้งสิ้น

จากการพูดคุยสัมภาษณ์กับ “คุณนายเก่า” เพื่อนรุ่นเดียวกันที่ปัจจุบันผันตัวเป็นศรีภรรยา และ “น้องเอ” แอร์โฮสเตสอาหรับรุ่นน้องที่กักตัวอยู่ใน UAE ตอนนี้ เล่าให้ฟังว่า รัฐเริ่มมาตรการเฟสแรกด้วยการล็อคดาวน์ 14 วัน ห้ามออกจากบ้านช่วงเวลา 20.00 – 06.00 น. โดยจะมี sms แจ้งเตือนส่งมาที่มือถือทุกคน! ทุกวัน! ก่อนเวลาเคอร์ฟิวเริ่ม (ส่วนตัว ผู้เขียนชอบมาตรการนี้ รู้สึกเหมือนคุณพ่อคุมให้รีบกลับบ้านประมาณนั้น) 

ใครที่ฝ่าฝืนจะมีค่าปรับแพงมากและปรับอย่างจริงจัง ถ้าขับรถออกมาข้างนอกหลังเวลาเคอร์ฟิวจะมีกล้องถ่ายภาพรถทุกคัน ยกเว้นกรณีที่จำเป็นจริงๆ และมีการขออนุญาตรัฐก่อนออกจากบ้านแล้ว โดยก็ยังต้องรักษาระยะห่าง 2 เมตร สวมหน้ากากอนามัยและใส่ถุงมือตลอดเวลา ส่วนในเมือง รัฐก็มีการฉีดล้างทำความสะอาดสถานที่ทั่วทั้งเมืองเป็นเวลา 7 วันติดต่อกัน ใช้ทั้งรถ คน โดรน และเฮลิคอปเตอร์ 

ที่มารูปจาก Clint Egbert/Gulf News

สำหรับลูกเรือ น้องเอเล่าว่า สายการบินยกเลิกรถบัสรับส่งลูกเรือ ยกเว้นคนที่มี special flight ให้ส่งอีเมลบอกรายละเอียดเวลาไปกลับของงาน ทางบริษัทจะส่งรถมารับ ส่วนที่หอพัก ก็ห้ามลูกเรือไปมาหาสู่กันระหว่างหอพัก ห้ามคนนอกตึกเข้าเด็ดขาด เพื่อลดการพบปะติดต่อกันระหว่างลูกเรือ

และก่อนครบกำหนดเฟสแรกประมาณ 2 วัน มีการประกาศล็อคดาวน์เพิ่มอีก 14 วัน แต่คราวนี้เป็นเคอร์ฟิวตลอด 24 ชม. เข้าสู่การล็อคดาวน์เฟสที่ 2 ในวันที่ 4 เมษายน 2563 ซึ่งมีมาตรการเข้มขึ้น คือ การเพิ่มความเข้มงวดเรื่องการออกไปข้างนอก จะออกนอกบ้านได้ก็ต่อเมื่อมีการขออนุญาตกับทางรัฐก่อน และมีจุดประสงค์เพื่อออกไปซื้อของใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น เช่น อาหาร ยา เหตุฉุกเฉินต่างๆ โดยออกได้ไม่เกิน 3 ชั่วโมง แถมต้องเป็นการส่งตัวแทนจากในบ้านออกไป ไม่อนุญาตให้ไปทั้งครอบครัว

การขออนุญาตรัฐเพื่อออกนอกบ้านนั้น ของเขาล้ำสมัยและรวดเร็วว่องไวแถมสะดวกมาก นั่นคือการขอผ่านทางเว็บไซต์ที่รัฐจัดระบบขึ้นเฉพาะ ไม่ต้องร่างจดหมายและรอใครลงชื่อ หรือยืนต่อคิวคุยกับตำรวจให้ตรวจเอกสารนานเป็นชั่วโมงแบบในไทยเราช่วงเคอร์ฟิวแรกๆ พี่ตำรวจยังงงๆ ในระบบจะมีให้เราเลือกเหตุผลที่ต้องการจะออกจากบ้าน เช่น เพื่อไปทำงาน หรือเพื่อเหตุผลส่วนตัว (ซื้อของ หาหมอ เหตุฉุกเฉิน) โดยที่เราต้องระบุชื่อสถานที่ที่จะไปและที่อยู่รวมถึงหมายเลขบัตรประชาชน ทะเบียนรถ และระยะเวลาที่จะออกอย่างละเอียด หากตำรวจตรวจก็แค่ยื่นมือถือที่มีข้อความอนุมัติตรงนี้ให้ดู ใครไม่ทำโดนลงโทษนะจ๊ะ 

หน้าตาระบบกรอกข้อมูลขออนุญาตออกจากบ้านของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ https://dxbpermit.gov.ae/home

ตัวอย่างข้อความอนุมัติการออกนอกบ้านช่วงเคอร์ฟิว

เมื่อไปถึงซูเปอร์มาร์เก็ต จะมีการวัดอุณหภูมิก่อนเข้า แจกเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ และให้ใส่ถุงมือทุกคน ใครไม่มีถุงมือเขาก็มีแจกให้ หรือไปโรงพยาบาลก็จะโดนวัดอุณหภูมิและจดรายชื่อพร้อมซักประวัติการเดินทางทุกคนที่เข้าออก แม้แต่เข้าไปสอบถามข้อมูลเฉยๆ ก็ต้องซักประวัติวัดอุณหภูมิ ให้ทุกคนยืนห่างๆ กัน รักษาระยะระหว่างรอซักประวัติ

สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคล ให้นั่งได้แค่ 2 คนต่อคัน คือ คนขับและอีกคนนึงนั่งข้างหลังฝั่งตรงข้ามคนขับ ส่วนใครที่ไม่มีรถ ยังต้องใช้รถไฟฟ้า ปิดจ้า! รัฐไม่ให้ใช้บริการเลยเพื่อลดการแออัดสำหรับผู้ที่ใช้บริการขนส่งสาธารณะ แต่ยังเห็นมีรถเมล์บริการอยู่ ไม่ก็นั่งแท็กซี่ 

น้องเอเล่าให้ฟังว่า พนักงานขับรถแท็กซี่เองก็ต้องป้องกันตัวเอง โดยการติดตั้งพลาสติกใสคั่นระหว่างคนขับและผู้โดยสาร คนขับทุกคนใส่หน้ากากอนามัย และกำหนดให้รับผู้โดยสารได้มากที่สุด 2 คนโดยให้นั่งเบาะหลัง ห้ามนั่งเบาะหน้าข้างคนขับเด็ดขาด

ตำรวจเองก็จะคอยเรียกตรวจรถที่ขับไปมา ขอดูหลักฐานอนุมัติออกนอกบ้าน รวมถึงหลักฐานยืนยันว่า ออกมาข้างนอกเท่าที่จำเป็นตามที่ขอในระบบไป นอกจากนี้ หากเราไม่ใส่หน้ากาก ไม่ใส่ถุงมือ มีความผิด โดนปรับอีก ตอนกลางคืนก็มีรถตำรวจลาดตระเวนตรวจดูความเรียบร้อย รวมถึงมีจุดตรวจโควิดแบบ Drive Through

ส่วนสายการบินเอง ก็ได้ประกาศหยุดบินเกือบทั้งหมด เหลือไว้เพียงบางประเทศและเที่ยวบินขนส่งสินค้า เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดนั่นเอง ซึ่งในจุดนี้ ไม่เพียงแต่เฉพาะผู้โดยสารที่ต้องพบกับความลำบากในการเดินทาง ลูกเรือและพนักงานต่างชาติอย่างคนไทยเราก็ได้รับผลกระทบ นั่นคือการลดเงินเดือนตามลำดับขั้นของอายุงาน หรือบางคนก็มีรับข้อเสนอขอกลับประเทศโดย Leave without pay และสำหรับคนที่เลือกที่จะอยู่ใน UAE ก็ต้องทำการกักตัวอยู่แต่ในห้องพัก 

ก่อนหน้าที่จะประกาศหยุดบินชั่วคราว น้องเอเล่าให้ฟังว่า สายการบินเองก็มีมาตรการดูแลบนไฟลท์อย่างดี เปลี่ยนเซอร์วิสบนไฟลท์เพื่อลดการสัมผัสกันให้มากที่สุด มีการกั้นห้องน้ำสำหรับลูกเรือโดยเฉพาะ บนเครื่องลูกเรือจะมีถุงมือ หน้ากากอนามัย และเจลล้างมือให้ แต่เจลแอลกอฮอล์มีให้เฉพาะไฟลท์เสี่ยง เช่น จีน ฮ่องกง ไทย ไต้หวัน ฯลฯ หลังจบไฟลท์ จะมีการตรวจวัดอุณหภูมิ และทำสวอพเทสเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งหลังโพรงจมูก แจ้งผลผ่านทางเว็บไซต์ Dubai Health Authority ภายใน 7 วัน และลูกเรือจะทำไฟลท์ต่อไปก็ต่อเมื่อกักตัวครบ 14 วัน ส่วนใครที่ผลตรวจโควิดเป็น positive สายการบินจะโทรหาภายในไม่กี่วัน พร้อมมีรถจากโรงพยาบาลมารับตัวไปทันที

 

ดูเหมือนเขาจะมีแต่มาตรการต่อสู้กับโควิด แล้วเยียวยาล่ะ?

ตามที่เกริ่นไปแต่ต้นบทความว่า ประชากรที่เป็นคน UAE จริงๆ ของเขานั้นมีน้อยมาก และส่วนใหญ่ “มีอันจะกิน” ก็เลยไม่เกิดปัญหาการขาดรายได้ชนิดแทบไม่มีเลี้ยงปากเลี้ยงท้องแบบในไทยเรา จากการสัมภาษณ์น้องเอและคุณนายเก่า ทั้งสองลงความเห็นว่า การเยียวยาของรัฐดูเหมือนจะเป็นการช่วยบริษัทองค์กรไปเลยมากกว่า แล้วให้องค์กรไปดูแลลูกจ้างตัวเองอีกที

ณ ปัจจุบันดูเหมือนรัฐจะมุ่งเน้นที่การระงับเชื้อโรคไม่ให้แพร่กระจายเพิ่มมากกว่า เพื่อหยุดเชื้อโคโรน่าตัวนี้ให้ได้ ประชากรชาวเอมาราติของเขาดูเหมือนจะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจบ้าง แต่ยังอยู่ได้ ไม่อดอยากชนิดไม่รู้ว่าวันพรุ่งนี้จะกินอะไร ที่กระทบคงจะเป็นเรื่องการดำเนินชีวิต ซึ่งปกติคนเอมาราติเองก็ไม่ค่อยออกมาเดินเล่นข้างถนนไปไหนมาไหนอยู่แล้ว (ก็มันร้อนแทบไหม้) จะเจอทีก็ตามห้างเดินช็อปปิ้งเสื้อผ้า น้ำหอม เครื่องใช้ โดยมีแม่บ้านคนเอเชียเดินตาม การเคอร์ฟิวก็คงทำให้พวกเขาอย่างมากก็แค่เบื่อหน่อย (แต่หากยืดยาวกว่านี้ก็ไม่แน่) เพราะขาดความสะดวกสบายนั่นเอง แถมหากใครกังวลว่าตัวเองติดหรือยัง ก็มี Drive through ที่ขับรถเข้าไปตรวจได้เลยโดยเสียค่าใช้จ่ายเอง 

แต่สำหรับคนทั่วไปที่สงสัยว่าจะเป็นและไปตรวจที่โรงพยาบาล เช่น แรงงาน กรรมกร พนักงาน ปกติเขาจะต้องมีประกันซึ่งบริษัทที่พาเข้าประเทศมาทำงานต้องจัดการให้อยู่แล้ว และที่เราเห็นว่า จำนวนคนติดเชื้อสูง คุณนายเก่ามองว่าเพราะเขาตรวจประชาชนอย่างทั่วถึง นับว่าเป็นการดูแลประชาชนที่คุณนายรู้สึกแฮปปี้มาก ยกนิ้วให้เป็นอันดับต้นๆ ของโลกในการตรวจเชื้อเลย แถมยังมีการลดค่าไฟค่าน้ำให้ผู้อาศัยด้วย

ที่น่าเป็นห่วงน่าจะเป็นประชากรแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานใน UAE มากกว่า เพราะที่อยู่มีความแออัด บางกลุ่มต้องนอนด้วยกันเป็นสิบคน รวมถึงพนักงานระดับกลางที่ต้องจ่ายค่าเช่าห้องเองแล้วโดน Leave without Pay ตรงนี้คุณนายเก่าเล่าว่า ทางรัฐก็ขอความร่วมมือกับทางเจ้าของหอให้ช่วยผ่อนปรนค่าเช่า ณ จุดนี้ยังไม่เห็นมีใครมานอนเป็นคนไร้บ้านตามสวนสาธารณะ แต่ก็เริ่มมีการตั้งจุดแจกจ่ายอาหารฟรีบ้างแล้วสำหรับคนที่ลำบาก อย่างไรก็ดี หากเป็นแบบนี้ต่อไปนานๆ ก็ไม่รู้ว่าสถานการณ์จะเป็นเยี่ยงไร

สุดท้ายแล้ว ในมุมมองของคนไทยอย่างเราที่เคยอาศัยอยู่ที่ UAE สิ่งที่น่าชื่นชมของการจัดการโควิด 19 ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็คือระบบการจัดการที่เอาจริง ทั่วถึง และการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมากๆ ที่น่าชื่นชมเลยก็คือการขออนุมัติออกจากบ้านช่วงเคอร์ฟิวที่ง่ายและสะดวก ควบคู่กับความเข้มงวด ตรวจเอาจริง ปรับแรงแถมแพงด้วย  ซึ่งทำให้การล็อคดาวน์ประเทศประสบผลดี

การที่ทำแบบนี้ได้เพราะ UAE มีระบบการทำทะเบียนราษฎร์ที่ยอดเยี่ยมมาแต่ต้น และจำนวนประชากรเองก็ไม่มากเท่าไทย ประชาชนพื้นเมืองและชาวต่างชาติที่มาอาศัยทุกคนสามารถตรวจสอบประวัติได้ผ่านฐานข้อมูลที่ลงทะเบียน Emirates ID ดังนั้น เมื่อพื้นฐานเขาดี การจัดการก็ง่ายตามไปด้วย หากประเทศไทยเราจะนำมาทำตาม ประสิทธิผลอาจจะไม่ดีเท่า แต่อย่างน้อยก็ยังดีกว่าไม่มีเลย โดยอาจจะเริ่มต้นด้วยการเพิ่มเป็นทางเลือก ลองนำระบบออนไลน์มาใช้ร่วมกับใบอนุญาตกระดาษทั่วไป ก็น่าจะทำให้ชีวิตหลายๆ คน เช่น หมอ พยาบาล ที่ต้องกลับบ้านในช่วงเวลาเคอร์ฟิวง่ายขึ้น เพราะไม่ต้องไปวิ่งเสียเวลาไล่หากระดาษและให้ผู้ใหญ่อนุมัตินั่นเอง แถมกับประชาชนคนธรรมดาที่มีมือถือสมาร์ทโฟนก็เข้าถึงง่ายขึ้นด้วย

“แต่อย่างว่าเถอะ แค่ระบบ AI แจกเงิน 5,000 บาท ยังมีปัญหาขนาดนี้ ความหวังที่จะมีระบบจัดการเรื่องอื่นคงต้องรอไปก่อนกระมัง?”


อ้างอิง