รับมือโควิดในสหรัฐ: ตอบสนองล่าช้า หาเต็นท์ให้คนไร้บ้าน สินค้าขาดแคลน

ฤชากร ไตรรัตนานุสรณ์
นักศึกษาปริญญาเอก University of Central Florida

 

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในสหรัฐอเมริกาทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายน โดยข้อมูลเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2563 มีผู้ติดเชื้อที่ตรวจพบแล้วกว่า 848,994 ราย เสียชีวิตแล้วกว่า 47,676 ราย รัฐบาลกลาง รัฐบาลมลรัฐ และรัฐบาลท้องถิ่นต่างออกมาตรการควบคุมโรคและเยียวยาความเสียหายทางเศรษฐกิจที่คาดการณ์ว่ามากเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 และยังไม่มีทีท่าว่าจะสามารถยุติการระบาดได้ในเร็วๆ นี้ 

แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะได้รับการจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่มีความพร้อมอันดับหนึ่งในด้านการรับมือโรคระบาด แต่การระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในขณะนี้กลับสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาโดยเฉพาะอย่างยิ่งความล่าช้าในการรับมือกับสถานการณ์

Covid_foreign_Temp-02

ภาพโดย David Mark

 

รัฐบาลกลางรับมือล่าช้า

รายงานของจัสต์ ซีเคียวริตี (Just Security) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ระบุว่ามีความพยายามในการเตือนภัยโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นได้มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 ขณะที่สำนักงานข่าวกรองสาธารณสุขแห่งชาติ (National Center for Medical Intelligence – NCMI) รายงานเตือนสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2020 ว่าอาจบานปลายเป็นการแพร่ระบาดระดับโลก

ขณะที่สำนักงานควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention – CDC) ได้เริ่มมาตรการคัดกรองผู้โดยสารที่เดินทางเข้าประเทศใน 3 สนามบินนานาชาติตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2020 รวมทั้งยังประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ในการป้องกันเชื้อไวรัสแก่สาธารณะผ่านทางเว็บไซต์และช่องทางสื่อต่างๆ

จากนั้นในวันที่ 18 มกราคม 2020 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของสหรัฐ อเล็กซ์ อะซาร์ (Alex Axar) ได้รายงานสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาชนิดใหม่ต่อประธานาธิบดีทรัมป์ แต่เขายังไม่ได้ให้ความสำคัญกับรายงานดังกล่าว และยังแจ้งต่อสาธารณะในวันที่ 22 มกราคม 2020 ว่า สหรัฐอเมริกาควบคุมการระบาดได้อย่างเบ็ดเสร็จแล้ว 

ในขณะที่รัฐบาลกลางยังไม่มีมาตรการเตรียมรับมือการระบาดของโรค รัฐบาลมลรัฐและรัฐบาลท้องถิ่นได้เริ่มดำเนินมาตรการป้องกันบางส่วนก่อนแล้ว เช่น ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2563 รัฐบาลท้องถิ่นซานตาคลาราในมลรัฐแคลิฟอร์เนียประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสุขภาพภายในท้องที่ หลังจากนั้นรัฐบาลท้องถิ่นอื่นๆ จึงเริ่มดำเนินการในลักษณะเดียวกัน เช่น เมืองซีแอตเทิล มลรัฐวอชิงตันมีการประกาศภาวะฉุกเฉินในวันที่ 3 มีนาคม 2563

เนื่องจากระบบการเมืองของสหรัฐมีความซับซ้อนเพราะมีรัฐบาลทั้งระดับท้องถิ่น ระดับมลรัฐ และรัฐบาลกลาง การดำเนินมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสในช่วงแรกเป็นไปแบบขาดเอกภาพเพราะรัฐบาลกลางยังไม่วางมาตรการในระดับประเทศ จนกระทั่งในวันที่ 13 มีนาคม 2563 รัฐบาลสหรัฐจึงประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มอำนาจในการจัดการและควบคุมการระบาดของไวรัส รวมถึงออกมาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจขนานใหญ่

แม้ก่อนการประกาศภาวะฉุกเฉิน ประธานาธิบดีทรัมป์จะประกาศห้ามผู้โดยสารที่มาจากจีนเข้าประเทศและใช้มาตรการกักตัวโดยสมัครใจกับพลเมืองอเมริกันตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2020 และประกาศห้ามเที่ยวบินที่มาจากยุโรปทั้งหมดเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2563 แต่เขายังคงลังเลที่จะใช้มาตรการควบคุมโรคที่เข้มข้นขึ้นเนื่องจากเกรงผลกระทบทางลบที่อาจเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจของประเทศ จนทำให้เมื่อเขาตัดสินใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศก็ดูเหมือนมันจะไม่ทันการณ์เสียแล้ว

 

ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตรวจหาผู้ติดเชื้อ และแก้ปัญหาเศรษฐกิจ: ภาพรวมมาตรการรับมือการแพร่ระบาดของสหรัฐอเมริกา 

การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทำให้รัฐบาลกลาง รัฐบาลระดับมลรัฐ และระดับท้องถิ่นมีอำนาจออกคำสั่งในลักษณะที่อาจกระทบต่อการใช้ชีวิต เสรีภาพ หรือการประกอบอาชีพตามปกติของประชาชนเป็นการชั่วคราวเพื่อให้สามารถจัดการกับสถานการณ์ฉุกเฉิน (ซึ่งในกรณีนี้คือการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส) ได้อย่างรวดเร็ว เช่น ออกคำสั่งให้ประชาชนอยู่ในบ้าน หรือปิดกิจการบางประเภท เช่น มลรัฐอลาบามาสั่งปิดโรงเรียนตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม มลรัฐโคโลราโดสั่งให้ร้านอาหารให้บริการเฉพาะการสั่งอาหารกลับบ้าน และที่มลรัฐคอนเนตทิคัตสั่งปิดร้านอาหาร บาร์ และโรงภาพยนตร์ ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม เป็นต้น ในบางพื้นที่ เช่น ออเรนจ์ เคาน์ตีในมลรัฐฟลอริดาก็มีการประกาศเคอร์ฟิวห้ามออกจากบ้านในเวลากลางคืนอีกด้วย

ขณะที่มาตรการตรวจหาผู้ติดเชื้อในหลายๆ พื้นที่ เช่น ที่ออเรนจ์เคาน์ตี มลรัฐฟลอริดา ได้มีการจัดตั้งศูนย์ตรวจเชื้อ COVID-19 ของท้องถิ่นที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลกลาง แต่ความล่าช้าในการรับมือของรัฐบาลในระดับต่างๆ ทำให้การตรวจหาเชื้อในระดับท้องถิ่นเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากมีจำนวนชุดตรวจเชื้อไม่เพียงพอ รวมถึงมีปัญหาการขาดแคลนเครื่องป้องกันและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ทั้งนี้ ลักษณะของโรคที่ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มักจะไม่แสดงอาการ ก็อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้รัฐบาลกลางชะล่าใจดำเนินมาตรการควบคุมโรคล่าช้า จนเกิดการระบาดในมลรัฐวอชิงตันซึ่งอยู่ทางตะวันตกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ก่อนที่ต่อมาจะเกิดการแพร่ระบาดขนาดใหญ่ในรัฐฝั่งตะวันออกในช่วงเดือนมีนาคม

สำหรับมาตรการเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจ สภาคองเกรสได้ผ่านรัฐบัญญัติการเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโคโรนาไวรัส (Coronavirus Aid, Relief, and. Economic Security Act – CARES) ในวันที่ 25 มีนาคม ซึ่งมีมูลค่างบประมาณจำนวนกว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 64 ล้านล้านบาท) ได้แก่ เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าครั้งเดียวสำหรับพลเมืองอเมริกันและผู้เสียภาษีที่พำนักอยู่ในสหรัฐอเมริกาจำนวน $1,200 ต่อคน ขณะที่ครอบครัวที่มีบุตรหลานอายุไม่เกิน 17 ปีจะได้รับเงินเพิ่ม $500 ต่อคน นอกจากนี้ยังมีเงินช่วยเหลือสำหรับผู้ว่างงาน ที่รวมกลุ่มอาชีพรับจ้างอิสระเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 12-28 สัปดาห์ รวมทั้งมาตรการอื่นๆ เช่น เงินกู้แก่ผู้ประกอบการประเภทต่างๆ การพักชำระหนี้การศึกษาและพักชำระเงินสมทบกองทุนสำหรับการเกษียณ และการยืดระยะเวลาการยื่นแบบและจ่ายภาษีเงินได้ประจำปี 2019

 

บรรยากาศและวิถีชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไป: เมืองออร์แลนโด้ มลรัฐฟลอริดา และที่อื่นๆ

ประชาชนในเมืองออร์แลนโด มลรัฐฟลอริดา เริ่มตื่นตัวกับการแพร่ระบาดของโรคในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคม ก่อนหน้านั้นพวกเขาดูจะมีความเห็นคล้ายๆ กับที่ประธานาธิบดีทรัมป์ทวีตข้อความว่า เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ “ไม่ต่างอะไรกับไข้หวัด” และรัฐบาลยังสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ แต่อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในมลรัฐทางฝั่งตะวันตกและการรายงานข่าวถึงอันตรายของเชื้อไวรัสได้ทำให้ประชาชนมีความตื่นตัวกันมากขึ้น มีการเริ่มกักตุนสินค้าอุปโภคบริโภคในช่องทางการซื้อขายออนไลน์ โดยเฉพาะหน้ากากอนามัย ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรค เจลล้างมือ สบู่ล้างมือ และกระดาษชำระตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 

ภาพแผงวางไข่ที่ไม่มีสินค้า ห้างวอลมาร์ท เมืองออร์แลนโด มลรัฐฟลอริดา (ปลายเดือนมีนาคม 2563)

ขณะที่สถานการณ์การกักตุนสินค้าจากร้านค้าในเมืองออร์แลนโด มลรัฐฟลอริดา เริ่มมีการกักตุนสินค้าเวชภัณฑ์ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม และเริ่มมีการกักตุนสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ภายหลังจากการมีประกาศให้ประชาชนอยู่บ้านโดยรัฐบาลออเรนจ์ เคาน์ตี้ ที่เริ่มบังคับใช้ในวันที่ 26 มีนาคม สินค้าประเภทอาหาร น้ำดื่ม กระดาษชำระ ถูกซื้อไปกักตุนไปจนสินค้าหมดจากร้าน เสมือนอยู่ในช่วงเตรียมรับมือพายุเฮอร์ริเคนที่มีมาเป็นประจำทุกปี สถานการณ์การกักตุนอาหารเริ่มคลี่คลายลงไปเนื่องจากประชาชนได้ลดความตื่นตระหนกลงราวๆ ต้นเดือนเมษายน เนื่องจากคำสั่งให้ประชาชนอยู่บ้านยังอนุญาตให้ประชาชนออกมาซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตได้ ตลอดจนมีบริการจัดส่งสินค้าถึงบ้านผ่านบริการของร้านค้าและแอปพลิเคชันต่างๆ และซูเปอร์มาร์เก็ตบางราย เช่น Costco ได้กำหนดโควต้าการซื้อสินค้าเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ แต่ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคและหน้ากากอนามัยยังคงหาซื้อได้ยาก

นอกเหนือจากการอนุญาตประชาชนเดินทางออกไปซื้อของหรือซื้ออาหารกลับบ้านได้ตามปกติ คำสั่งให้อยู่บ้านของรัฐบาลท้องถิ่นของออเรนจ์ เคาน์ตี้ (และในภายหลังคือคำสั่งของรัฐบาลมลรัฐฟลอริด้า) ยังอนุญาตให้ประชาชนสามารถออกนอกบ้านเพื่อไปพบแพทย์ ออกกำลังกายนอกบ้านได้ รวมถึงออกไปทำงานได้ในธุรกิจที่ถูกจัดประเภทว่าเป็น “ธุรกิจจำเป็น” หากนายจ้างยังดำเนินกิจการอยู่ แต่ทุกกิจกรรมจะต้องรักษาระยะห่างกัน 6 ฟุต (ประมาณ 1.8 เมตร) และยังคง “เปิดช่อง” ทางกฎหมายให้ประชาชนสามารถเดินทางไปหาญาติพี่น้องได้ “ในกรณีที่จำเป็น” แต่อย่างไรก็ดี คำสั่งเคอร์ฟิวในเวลากลางคืนของรัฐบาลท้องถิ่นของออเรนจ์ เคาน์ตี้ก็ยังคงมีการบังคับใช้ต่อไป ยกเว้นผู้ที่มีความจำเป็นในการปฏิบัติงานเวลากลางคืนที่ยังสามารถเดินทางได้บ้าง 

ในส่วนของผู้ประกอบการและลูกจ้างในธุรกิจหลายๆ ประเภทก็ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรค เช่น สวนสนุก Disney World และ Universal Studios ต้องปิดตัวลงชั่วคราว “อย่างไม่มีกำหนด” ทำให้ลูกจ้างบางส่วนต้องตกงานชั่วคราวทันที ร้านอาหารหลายแห่งต้องปิดตัวลงชั่วคราวหรือถาวร ที่ยังสามารถขายต่อไปได้ต้องให้บริการแบบสั่งกลับบ้านหรือเดลิเวอรี่ ทำให้พนักงานเสิร์ฟจำนวนมากต้องว่างงานชั่วคราวทันที 

ภาพผลิตภัณฑ์ล้างมือและน้ำยาฆ่าเชื้อที่ขาดตลาด ห้างวอลมาร์ท เมืองออร์แลนโด มลรัฐฟลอริดา (ปลายเดือนมีนาคม 2563)

ในระดับประเทศ รายงานของเดอะนิวยอร์กไทมส์เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563 ระบุว่า มีผู้ขอเงินช่วยเหลือการว่างงานทั่วประเทศราว 22 ล้านคน แต่ในขณะเดียวกัน รายงานจากยูเอสเอทูเดย์ระบุว่ามีผู้ที่ลงทะเบียนบางส่วนพบปัญหาจากการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์และทางโทรศัพท์ รัฐบาลมลรัฐฟลอริดาแก้ปัญหาโดยเพิ่มช่องทางการสมัครผ่านทางไปรษณีย์เพิ่มเติม ขณะที่ไทม์ก็ตั้งข้อสังเกตว่า เงินช่วยเหลือที่ประชาชนจะได้รับอาจจะยังไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายรายเดือน เช่น ค่าเช่าที่อยู่อาศัย ค่าไฟฟ้าและประปา และค่าใช้จ่ายทั่วไป แม้ว่าบริษัทประกันรถยนต์และบริษัทผลิตไฟฟ้าจะออกมาตรการลดค่าธรรมเนียมและยืดระยะเวลาการจ่ายค่าบริการออกไปแล้วก็ตาม 

นอกจากนั้น การประกาศให้ประชาชนอยู่กับบ้านและปิดกิจการไม่เพียงมีผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจเพราะประชาชนบางกลุ่มต้องว่างงาน การถูกกักตัวอยู่ที่บ้านยังก่อให้เกิดภาวะความเครียด ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและปัญหาสุขภาพจิตของผู้ถูกกักตัวอีกด้วย

 

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาในมิติชาติพันธุ์และชนชั้น

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนายังมีผลกระทบด้านลบในมิติของการเหยียดสีผิวและเหยียดเชื้อชาติอีกด้วย รายงานของออร์แลนโดเซนทิเนล สื่อท้องถิ่นของเมืองออร์แลนโด มลรัฐฟลอริดาระบุว่า ร้านอาหารของชาวเอเชียมียอดขายลดลงอันเนื่องมาจากความวิตกว่าจะติดเชื้อไวรัส และมีรายงานจากเอ็นบีซีว่า ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียและชาวเอเชียที่อาศัยในสหรัฐอเมริกาถูกปฏิบัติในลักษณะเหยียดเชื้อชาติมากขึ้น นอกจากนั้นก็มีรายงานว่า คนผิวสีหรือแอฟริกันอเมริกันมีความเสี่ยงจะป่วยหรือเสียชีวิตด้วยไวรัสโคโรนามากกว่ากลุ่มชาติพันธุ์อื่น เพราะปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขที่ดี จนมีแนวโน้มที่จะมีโรคประจำตัวซึ่งเป็นโรคกลุ่มเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหากติดเชื้อไวรัสโคโรนา

มาตรการควบคุมโรคยังส่งผลกระทบต่อผู้คนในสังคมอย่างไม่เท่ากัน คนไร้บ้านเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด ซึ่งรัฐบาลในระดับต่างๆ ได้ออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อและควบคุมการระบาด เช่น รัฐบาลท้องถิ่นของเมืองลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย จัดหาเต็นท์พักอาศัยให้กับคนไร้บ้าน เพื่อให้พวกเขาสามารถรักษาระยะห่างทางสังคมได้ ขณะที่สำนักงานบริการคนไร้บ้านของรัฐนิวยอร์กได้กำหนดแนวทางปฏิบัติในการดำเนินการของศูนย์พักพิงชั่วคราวสำหรับคนไร้บ้าน ซึ่งรวมถึงบริการให้คำปรึกษา การฝึกงาน และการศึกษา โดยในปัจจุบันมีความกังวลว่าการปิดกิจการที่เกิดขึ้นอาจทำให้ผู้ที่ตกงานขาดรายได้จนบางส่วนต้องกลายเป็นคนไร้บ้านเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเช่า 

 

บทเรียนและข้อเสนอสำหรับประเทศไทย

อย่าลืมคนไร้บ้าน อย่าปิดพรมแดนสำหรับคนไทย

นโยบายที่บังคับใช้ในสหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่นั้นแทบไม่ต่างจากที่ไทยบังคับใช้เท่าใดนัก และในแง่ของมาตรการคัดกรองและกักกันโรคนั้นประเทศไทยดูมีการเตรียมพร้อมกว่าในช่วงแรกๆ ของการระบาดด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่รัฐบาลไทยอาจต้องนำมาปรับใช้เพิ่มเติม คือ มาตรการตรวจหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกและการเพิ่มห้องแล็บตามจังหวัดต่างๆ ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ไปจนถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือคนไร้บ้าน ทั้งในส่วนของการจัดหาที่อยู่อาศัย (เช่น โรงแรม) ไปจนถึงการออกมาตรการคุ้มครองผู้เช่าบ้านจากการไล่ออกจากบ้านเช่าชั่วคราว นอกจากนี้ มาตรการเคอร์ฟิวในยามค่ำคืนนั้นแม้ว่าสามารถกำหนดเพื่อลดความเสี่ยงแก่ผู้ปฏิบัติงานในเวลากลางคืนได้ แต่ต้องมีการเยียวยาทางเศรษฐกิจแก่ผู้ได้รับผลกระทบด้วย 

แม้ว่าในสหรัฐอเมริกาจะมีประกาศปิดพรมแดนกับเม็กซิโกและแคนาดา แต่การเดินทางกลับประเทศของพลเมืองแต่ละประเทศยังสามารถทำได้อยู่โดยไม่ต้องมีเอกสารเพิ่มเติม และไม่มีการปิดสนามบินแต่ประการใด สำหรับประเทศไทยจึงควรยกเลิกมาตรการปิดสนามบินและเรียกขอเอกสารเพิ่มเติมที่สร้างเงื่อนไขให้พลเมืองไทยที่ต้องการเดินทางกลับประเทศ โดยควรอาศัยมาตรการกักกันและควบคุมโรคของพลเมืองไทยที่เดินทางกลับประเทศแทน 

ภาวะผู้นำและเอกภาพในการบริหารจัดการสาธารณภัย 

นอกจากนี้ บทเรียนจากสหรัฐอเมริกายังสะท้อนให้เห็นว่า ภาวะผู้นำและเอกภาพในการดำเนินการนั้นมีความสำคัญมากในการบริหารจัดการสาธารณภัยและโรคระบาด ความล่าช้าในการตอบสนองต่อการระบาดของไวรัสในกรณีของสหรัฐอเมริกานั้นเป็นสิ่งที่ประเทศต่างๆ ไม่ควรนำมาเป็นเยี่ยงอย่าง ซึ่งในกรณีของไทยเองนั้นก็สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการขาดเอกภาพในการบริหารจัดการเพื่อตอบสนองให้ทันท่วงทีในช่วงแรกๆ ของการระบาด ไปจนถึงปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ และความล่าช้าในการดำเนินการเยียวยาทางเศรษฐกิจกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ 

คำถามที่อาจเกิดขึ้น คือ รัฐบาลแบบหลายพรรคการเมืองที่มีมากเกินไปนั้นส่งผลกระทบอย่างไรต่อเอกภาพในการบริหารจัดการของรัฐบาลกลาง? กระทั่งกลไกในการประสานเชื่อมโยงเครือข่ายการทำงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐนั้นมีมากน้อยเพียงใด? 

รวมถึงโครงการประชารัฐสามัคคีที่รัฐบาล คสช. เคยดำเนินการไว้นั้นถูกนำมาใช้งานในกรณีนี้มากน้อยเพียงใด?

สู่ระบบสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีประสิทธิภาพยิ่งกว่า

มาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาในภาพรวมนั้นค่อนข้างครอบคลุมมากกว่าของไทย แม้ว่าจะมีปัญหาในการดำเนินการทางเทคนิคและไม่ได้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายบริการสาธารณสุขก็ตาม กรณีของสหรัฐอเมริกานั้นสามารถดำเนินการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการจ้างงานผ่านระบบประกันสังคมที่มีอยู่ สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างระบบสวัสดิการแบบถ้วนหน้าให้แก่ประชาชน (แม้ว่าจะยังไม่ใช่ตัวแบบที่ดีที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ) 

ขณะที่กรณีของไทยกลับพบว่ากว่า 54.3% ของคนทำงานกว่า 37.5 ล้านคน (ราวๆ 20.3 ล้านคน) เป็นแรงงานนอกระบบ โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรม รวมถึงผู้ทำงานอิสระ หรือที่เรียกว่า “ฟรีแลนซ์” ด้วย ซึ่งคนกลุ่มนี้จะไม่ได้รับความคุ้มครองในระบบประกันสังคม 

นอกจากนี้ มาตรการช่วยเหลือประชาชนในด้านเศรษฐกิจที่ถูกกำหนดออกมาอย่างฉุกละหุก เพื่อเยียวยาผลกระทบการระบาดของโรคนั้นกลับไม่ครอบคลุมประชาชนกลุ่มต่างๆ เท่าที่ควร เช่น รายงานวิจัยโดยอรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ และคณะพบว่า มาตรการเงินให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบของรัฐบาลนั้นเป็นระบบ “คัดคนออก” ที่ให้โทษแก่ประชาชนมากกว่าที่จะมุ่งเน้นให้ครอบคลุมประชาชนโดยถ้วนหน้า ทั้งการกีดกันผู้ที่ควรได้รับความช่วยเหลือจากผลกระทบอย่างเร่งด่วน รวมไปถึงข้อกังขาในประสิทธิภาพในการ “คัดกรอง” ผู้มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือ ไปจนถึงความล่าช้าในการให้ความช่วยเหลือเงินเยียวยาจากหน่วยงานรัฐ 

ดังนั้น โจทย์ที่รัฐบาลไทยจะต้องทำต่อไปนอกเหนือจากเร่งขยายความช่วยเหลือให้กับประชาชนให้ครอบคลุมในฐานะ“งานด่วน” ก็คือ “งานใหญ่” ในการพัฒนาระบบประกันสังคมในฐานะระบบสวัสดิการถ้วนหน้าแก่ประชาชน เช่น การจูงใจให้ประชาชนเข้าสู่ระบบประกันสังคม พัฒนาเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน และช่องทางการบริการประชาชนสำหรับการเข้าร่วมรับบริการ การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีประเภทต่างๆ ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ การควบรวมกองทุนในการบริหารจัดการ (เช่น กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โครงการสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ กองทุนผู้สูงอายุ และโครงการบัตรคนจน) เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

นอกจากนี้ การเพิ่มงบประมาณเข้ากองทุนจากโครงการและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นของหน่วยงานรัฐ อาจช่วยเพิ่มสิทธิประโยชน์และความยั่งยืนให้กับระบบสวัสดิการถ้วนหน้าในระยะยาว (เช่น การให้ความคุ้มครองคนไร้บ้าน คนจน และผู้ด้อยโอกาสทางสังคมอื่นๆ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการด้วยการส่งเสริมการควบคุมและป้องกันโรค (สร้างนำซ่อม) ที่จะช่วยลดต้นทุนการรักษาพยาบาล และสามารถนำไปสมทบเป็นเงินช่วยเหลืออื่นๆ แก่ประชาชนเพิ่มเติมอีกทาง 

ทว่าคำถามใหญ่ทั้งเรื่องของการกระจายอำนาจในการบริการสาธารณะและการคลังไปสู่ท้องถิ่น และการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนโยบาย ก็ยังเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องกลับมาทบทวนและให้ความสำคัญทั้งในการบริการสาธารณะทั่วไปและการสร้างระบบจัดการสาธารณภัยและโรคระบาดที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง 

มากกว่ามาตรการแบบ “หอคอยงาช้าง” ที่ไม่เข้าใจ “ลูกค้า” หรือ “ผู้ใช้งาน” อย่างที่เป็นมา