เล่าประสบการณ์ คนไทยกลับบ้านไม่ได้หากไม่มีใบ Fit to Fly สถานทูตก็ไม่เห็นด้วยแต่ช่วยเต็มที่

เรื่องโดย
สุทธิเกียรติ คชโส และภัทรานิษฐ์ เยาดำ

 

ในช่วงต้นเดือนมกราคม 2563 ระหว่างที่เริ่มมีการระบาดของไวรัสโคโรนาเพิ่มขึ้น ในช่วงนั้นรัฐบาลไทยเองยังไม่ได้หวั่นวิตกว่า COVID-19 จะเป็นเชื้อที่ติดต่อกันอย่างรุนแรง จึงไม่ได้มีมาตรการป้องกันอย่างทันท่วงที

วางแผนการเดินทางและป้องกันตัวอย่างเต็มที่

เราเองได้วางแผนเดินทางไปสหราชอาณาจักรเพื่อเยี่ยมภรรยาที่เรียนต่ออยู่ที่อังกฤษในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2563 แต่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เริ่มมีข่าวจากหลายประเทศว่า มีผู้ติดเชื้อไวรัสเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในจีน อิตาลี อิหร่าน เป็นต้น ช่วงนั้นวิตกกังวลมาก บางครั้งมีอาการไอแห้ง ก็คิดแล้วว่าจะติดไวรัสแล้วรึเปล่า ก็เลยเฝ้าสังเกตอาการตัวเองมาตลอด 

เมื่อถึงวันเดินทางช่วงต้นเดือนมีนาคม 2563 ที่สนามบินสุวรรณภูมิมีผู้โดยสารจำนวนไม่น้อยที่เดินทางในเที่ยวบินเดียวกัน แต่ส่วนใหญ่จะเดินทางไปต่อเครื่องบินและไปยังจุดหมายที่ต่างออกไป เราเองใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสและทาเจลล้างมือแอลกอฮอล์บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้เมื่อต้องสัมผัสกับสิ่งของ แต่ผู้โดยสารที่ไม่ใช่คนไทย ส่วนใหญ่จะไม่ใส่หน้ากากและไม่ได้ใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือเลย ส่วนมาตรการคัดกรองของสนามบินสุวรรณภูมิ จะมีโต๊ะเจ้าหน้าที่พร้อมกล้องที่ตรวจจับความร้อนเพื่อเช็คอุณหภูมิร่างกายของผู้โดยสารก่อนถึงช่องการตรวจความปลอดภัย (security check)

เมื่อเดินทางมาถึงสนามบินฮีทโทรว์ ประเทศอังกฤษ จะมีป้ายคำแนะนำในการป้องกันเชื้อไวรัสตลอดทางเดินจนถึงด่านตรวจคนเข้าเมืองและมีเจลล้างมืออยู่ตามจุดต่างๆ ในสนามบิน และพนักงานทำความสะอาดฆ่าเชื้อด้านในอาคารผู้โดยสารโดยรอบ หากสังเกตด้วยสายตา คนในอังกฤษจะมองคนที่ใส่หน้ากากว่าเป็นคนป่วย เนื่องจากในช่วงนั้นองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แนะนำว่าคนปกติที่ไม่ป่วยไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากาก แต่คนที่ใส่หน้ากาก คือ คนที่ป่วย ซึ่งส่วนใหญ่คนที่ใส่หน้ากากอนามัยจะเป็นคนเอเชีย และอาจถูกมองว่าป่วยได้

การใช้ชีวิตและการเดินทางของเราและภรรยาในสหราชอาณาจักรทั้งอังกฤษและสกอตแลนด์กว่า 2 สัปดาห์ ต้องระมัดระวังตัวเองเป็นพิเศษในเรื่องการไม่ไปอยู่ในที่คนเยอะ แออัด ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์เพื่อฆ่าเชื้อกรณีที่ไม่ได้ล้างมือด้วยน้ำสบู่ และพยายามไม่จับหน้าเลย แต่คนที่นี่ก็ยังใช้ชีวิตปกติ เนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัสในสหราชอาณาจักรไม่ได้สูงมาก ในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่เดินทางมาถึง มีตัวเลขผู้ติดเชื้อ 300 กว่าราย ประชาชนทั่วไปจึงยังไม่ได้ตระหนักถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้น

ในระหว่างการเดินทางอยู่ที่สกอตแลนด์ ได้ติดตามข่าวสารสถานการณ์การระบาดของไวรัสในไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องแนวปฏิบัติ มาตรการป้องกัน และนโยบายเกี่ยวกับการรับมือแก้ไขปัญหา เพราะมีคนไทยในต่างประเทศจำนวนมาก ทั้งแรงงาน นักเรียน นักท่องเที่ยว กลัวการระบาดของไวรัสและต่างอยากกลับประเทศบ้านเกิดเพราะรู้สึกไม่ปลอดภัย แต่คนที่นั่นก็ไม่ได้กังวลกับการระบาดของไวรัสมากนัก บางส่วนก็ด่าคนเอเชียที่ใส่หน้ากากอนามัยว่าเป็นโรค สำหรับเราเจอสถานการณ์ที่แตกต่างออกไป ระหว่างเดินกลับที่พักตอนกลางคืนก็มีคนเดินมาเป็นกลุ่มสองสามคน มองหน้าและทำท่าไอตอนเดินผ่านเราแล้วหัวเราะเสียงดัง 

 

ประกาศ กพท. ทำให้กลับบ้านไม่ได้ คลินิกก็ไม่เปิด

ช่วงนั้นเองในวันที่ 18 มีนาคม 2563 ประเทศไทยได้ออกประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (ประกาศ กพท.) ซึ่งเป็นมาตรการจำกัดการเข้าประเทศไทย สำหรับคนไทยที่เดินทางมาจากเขตโรคติดต่ออันตรายและพื้นที่ระบาดของไวรัสอย่างต่อเนื่อง เช่น เกาหลี จีน อิตาลี อิหร่าน เป็นต้น ต้องมีใบรับรองแพทย์ยืนยันว่ามีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทางทางอากาศ (Fit to fly) และหนังสือรับรองจากสถานกงสุลหรือสถานทูต แก่สายการบินในระหว่างการเช็คอิน ไม่เช่นนั้นสายการบินจะไม่ออกบัตรขึ้นเครื่อง (Boarding pass) และปฏิเสธการให้ขึ้นเครื่องได้ โดยขณะนั้นสหราชอาณาจักรยังไม่ถูกประกาศเป็นประเทศที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวจึงยังไม่ต้องแสดงเอกสารระหว่างการเช็คอิน

ต่อมาวันที่ 19 มีนาคม 2563 ขณะที่เราเดินทางกลับไปเมืองโคลเชสเตอร์ ที่อังกฤษ เพื่อเตรียมตัวกลับไทย มีประกาศ กพท. ฉบับใหม่ ยกเลิกประกาศเดิม โดยเนื้อหาของประกาศใหม่บังคับกับคนที่เดินทางจากทุกประเทศ ทำให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อเราในฐานะคนไทยที่จะเดินทางกลับประเทศไทย ต้องแสดงใบ Fit to fly และหนังสือรับรองจากสถานกงสุลหรือสถานทูต ซึ่งประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับหลังเที่ยงคืนของวันที่ 21 มีนาคม 2563 ตามเวลาประเทศไทย 

ตอนนั้นมีคนที่เรารู้จักก็กำลังจะเดินทางกลับประเทศไทยเช่นกัน มาตรการที่ออกมาตามประกาศฉบับนี้ทำให้คนไทยหลายคนต้องดิ้นรนไปพบหมอตามคลินิกหรือสถานพยาบาล เพื่อขอใบรับรองแพทย์ว่า มีสุขภาพเหมาะสมสำหรับเดินทางโดยเครื่องบินได้ แต่คลินิกหรือสถานพยาบาลที่อังกฤษในช่วงการระบาดของไวรัสนี้ส่วนใหญ่จะปิดทำการ หรือหากจะพบแพทย์ต้องนัดก่อนเป็นสัปดาห์ บางแห่งแพทย์ก็ไม่ทำการตรวจให้หากคนที่มาเข้ารับการตรวจมีสุขภาพร่างกายปกติ หรือทางเลือกสำหรับคนมีเงิน คือ ขอใบรับรองแพทย์จากคลินิกเอกชนซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 100 ปอนด์ หรือราวๆ 4,000 บาท นั่นจึงแสดงให้เห็นว่า การออกมาตรการดังกล่าวเกิดผลกระทบกับคนไทยที่กำลังจะกลับประเทศของตัวเองอย่างมาก สร้างภาระค่าใช้จ่าย เวลา และการเดินทาง

ด้วยความที่เราและภรรยาเป็นนักกฎหมายทั้งคู่ จึงได้ตั้งข้อถกเถียงเพื่อแลกเปลี่ยนและตั้งคำถามในระหว่างการเดินทางกลับมาที่เมืองโคลเชสเตอร์ คือ ประกาศฉบับนี้ได้ออกโดยมีกระบวนการพิจารณาถี่ถ้วนดีแล้วหรือไม่ เพราะลำพังการตรวจเพื่อใบรับรองแพทย์ Fit to fly ไม่ได้มีการตรวจหาเชื้อไวรัส COVID-19 จึงไม่สามารถรับรองได้ว่าผู้ได้รับใบรับรองแพทย์นั้นเป็นผู้ไม่ติดเชื้อไวรัส และได้ข้อสรุปจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนนั้นว่า ประกาศดังกล่าวออกโดยไม่มีฐานอำนาจทางกฎหมายและขัดต่อสิทธิเสรีภาพในการเดินทางของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงขัดกับหลักความได้สัดส่วนและสร้างภาระจนเกินความจำเป็นด้วย

ในชั่วโมงนั้นมีคนไทยในสหราชอาณาจักรอัพเดตข้อมูลมากมาย ทั้งการดำเนินการขอเอกสารกับสถานพยาบาล และผลกระทบที่ตามมาพร้อมความกังวลว่า จะกลับมาที่ประเทศไทยได้หรือไม่ เพราะไม่สามารถหาเอกสารตามประกาศได้ทันเวลา ขณะเดียวกันสถานทูตไทยในกรุงลอนดอน ก็ได้หาทางช่วยเหลือคนไทยโดยการจัดหาทีมแพทย์คนไทยอาสาซึ่งกำลังศึกษาต่อเฉพาะทางในสหราชอาณาจักรมาให้บริการออกใบรับรองแพทย์ Fit to fly และออกหนังสือรับรองการเดินทางกลับประเทศไทย ณ ที่ทำการของสถานทูตตั้งแต่วันที่ออกประกาศ ทำให้มีคนไทยเดินทางไปที่สถานทูตในกรุงลอนดอนเพื่อขอเอกสารทั้งสองอย่างในครั้งเดียวอย่างหนาแน่นมากจนหลายคนเกิดความกังวลว่า จะติดเชื้อไวรัสได้จากการมาขอเอกสาร

แม้ตามแผนการเดินทางของเราต้องไปเปลี่ยนขบวนรถไฟที่ลอนดอน ก่อนไปที่โคลเชสเตอร์ และมีเวลาเพียงพอที่จะสามารถไปขอเอกสารทั้งสองอย่างที่สถานทูตไทยได้ เราก็ยังยืนยันว่า จะไม่ไปขอเอกสารดังกล่าว แม้ภรรยาจะถามหลายครั้งเพื่อให้แน่ใจ เนื่องจากเราเดินทางกลับไทยวันที่ 21 มีนาคม 2563 ช่วงค่ำ ตามเวลาที่อังกฤษ ซึ่งก็เป็นเวลาที่ประกาศนี้ใช้บังคับไปแล้ว แต่เราเองก็ต้องการพิสูจน์และยืนยันในเรื่องสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

ด้วยมาตรการตามประกาศ กพท. ที่ทำให้ต้องจัดหาเอกสารที่ยุ่งยากเกินความจำเป็น ภรรยาจึงตัดสินใจว่ายังไม่กลับไทยในตอนนี้ ก่อนกลับเราได้ตระเวนซื้อของตามซูเปอร์มาร์เก็ตหลายที่ และของที่หมดแทบทุกที่คือ กระดาษทิชชู่ ไข่ไก่ เนื้อสัตว์ เส้นชนิดต่างๆ ขนมปัง และข้าวหอมมะลิไทย นโยบายการซื้อของของในซูเปอร์ฯ บางที่จะให้ซื้อของอย่างเดียวกันได้ไม่เกินคนละ 2 ชิ้น เพื่อป้องกันการกักตุนสินค้า เช่น ร้าน CO-OP หรือที่ Tesco ก็มีนโยบายให้บริการผู้สูงอายุในช่วงเช้าก่อนบุคคลทั่วไป และปรับเปลี่ยนเวลาให้บริการโดยการปิดเร็วขึ้น

 

สายการบินไม่ให้ขึ้นเครื่อง เพราะประกาศ กพท.

เมื่อถึงวันที่ 21 มีนาคม 2563 เราเดินทางไปสนามบินฮีทโทรว์ โดยเช็คอินออนไลน์ล่วงหน้ามาแล้วตามปกติ สิ่งแรกที่เห็นแล้วสะดุดตาเมื่อถึงอาคารผู้โดยสารคือการแต่งตัวเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสของคนจีน หลายคนใส่ชุดสีขาว (PPE) แว่นตาใสและหน้ากากอนามัย เรียกว่าเป็นชุดปฏิบัติการในห้องแล็บก็ว่าได้ ส่วนคนอื่นๆ กว่า 80% ก็ใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ซึ่งแตกต่างจากวันแรกที่เดินทางมาถึงในช่วงต้นเดือนมีนาคมอย่างชัดเจน คนเริ่มให้ความสำคัญกับการป้องกันตัวเองจากการระบาดของไวรัสมากขึ้น การใส่หน้ากากในช่วงนี้จึงถือเป็นเรื่องปกติไปแล้ว 

และแล้วสายการบินก็ไม่ออกตั๋วขึ้นเครื่อง (Boarding pass) ให้โดยอ้างว่า ประเทศไทยมีประกาศที่ให้ผู้โดยสารต้องแสดงใบรับรองแพทย์ Fit to fly และหนังสือรับรองจากสถานทูต แม้เราจะคุยเพื่อทำความเข้าใจกับพนักงานสายการบินอยู่นานพอสมควรว่า ประกาศดังกล่าวมันเป็นมาตรการที่บังคับได้ในเขตอำนาจอธิปไตยของไทยเท่านั้น ไม่สามารถมา over rule บังคับให้ประเทศอื่นต้องปฏิบัติตามได้ และมีผู้โดยสารคนอื่นๆ อีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถขึ้นเครื่องได้ พนักงานสายการบินประชุมกับผู้บริหารอยู่พักใหญ่จึงมาแจ้งเราเพื่อยืนยันว่าไม่สามารถออกตั๋วขึ้นเครื่องได้หากไม่แสดงเอกสารตามที่กำหนด ทำให้ทางเลือกเพียงทางเดียวคือการต้องไปสถานทูตไทยในลอนดอนเพื่อขอเอกสารตามที่กำหนด 

แม้ในช่วงนั้นสถานทูตไทยได้มีบริการนอกสถานที่ให้แก่คนไทยที่จะเดินทางกลับที่สนามบินฮีทโทรว์ แต่ก็เฉพาะการขอหนังสือรับรองเท่านั้น ไม่สามารถออกใบรับรองแพทย์ Fit to fly ได้เนื่องจากอยู่นอกที่ทำการสถานทูต และด้วยความช่วยเหลือจากภรรยาที่ติดต่อน้องนักเรียนไทยที่รู้จักกันในลอนดอน จึงได้ที่พักในคืนนั้นและอยู่ใกล้กับสถานทูตไทยที่ต้องไปขอเอกสารในวันถัดไปด้วย

 

สถานทูตพยายามอำนวยความสะดวก ทั้งที่ไม่เห็นด้วยกับกฎ

การให้บริการช่วยเหลือคนไทยในสหราชอาณาจักรของสถานทูตไทย ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบโดยใช้แอปพลิเคชั่น Que ในมือถือจองคิวเข้ารับบริการขอเอกสารเพื่อลดความหนาแน่นของผู้มาติดต่อ เพื่อไม่ต้องมายืนรอเข้าคิว ซึ่งช่วยให้ลดความเสี่ยงที่อาจจะติดเชื้อไวรัสในระดับที่ดีขึ้น ประกอบกับได้สอบถามเจ้าหน้าที่ของสถานทูตเกี่ยวกับประกาศที่ออกมากำหนดมาตรการให้คนไทยต้องขอเอกสาร เจ้าหน้าที่ก็ไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว เพราะเป็นการสร้างภาระให้ทั้งคนไทยที่จะเดินทางกลับและเจ้าหน้าที่สถานทูตที่ต้องคิดหาทางช่วยเหลือคนไทยได้อย่างไรให้สามารถกลับบ้านได้ และไม่ได้มีแนวปฏิบัติเหมือนกัน โดยสถานทูตไทยในแต่ละประเทศต้องคิดหาทางช่วยเหลือซึ่งมีความแตกต่างกันไป รวมถึงเมื่อเข้ารับการตรวจ แพทย์ก็แจ้งก่อนทันทีเลยว่าใบรับรองแพทย์ Fit to fly นี้ไม่ใช่การยืนยันว่าผู้เข้ารับการตรวจไม่มีเชื้อไวรัส COVID-19 และให้คำแนะนำในการรักษาสุขภาพและเฝ้าระวังอาการรวมถึงการปฏิบัติตัวเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสด้วย 

เมื่อแพทย์ตรวจร่างกายเสร็จสิ้นแล้วสถานทูตจึงจะออกหนังสือรับรองให้ว่า เราจะเดินทางกลับประเทศไทยจริง ซึ่งเอกสาร Fit to fly และหนังสือรับรองของสถานทูตตามประกาศที่กำหนดให้ต้องแสดงแก่สายการบินก่อนจึงจะได้รับตั๋วขึ้นเครื่องนั้น จึงเป็นเอกสารที่ไม่จำเป็นและสร้างภาระอย่างยิ่ง รวมถึงไม่ใช่มาตรการคัดกรองผู้โดยสารจากประเทศต้นทางก่อนเข้าประเทศไทยตามที่สำนักงานการบินพลเรือนอ้าง เพราะคนไทยมีสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่จะเดินทางเข้าประเทศของตนได้ทุกเมื่อ แต่ละประเทศก็มีมาตรการคัดกรองผู้โดยสารอยู่แล้วทั้งในสนามบินและบนเครื่องบินแต่ละสายการบิน หากผู้โดยสารมีอาการที่เป็นสัญญาณของการติดเชื้อไวรัส COVID-19 ก็จะแยกผู้โดยสารออกมาอยู่ในพื้นที่เฉพาะ และแจ้งต่อสนามบินปลายทางเมื่อเครื่องลงจอด ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่สมเหตุสมผลและลดความเสี่ยงของการติดเชื้อไวรัสได้

ที่สนามบินปลายทางประเทศไทย ก็มีมาตรการคัดกรองผู้โดยสารทุกคน อย่างเช่น ที่สนามบินสุวรรณภูมิ มีโต๊ะลงทะเบียนคัดกรองโดยเจ้าหน้าที่จากกรมควบคุมโรค มีการวัดไข้และให้ผู้โดยสารกรอกรายละเอียดการเดินทางและที่อยู่ซึ่งเป็นสถานที่ที่จะใช้กักตัวเองตลอดระยะเวลา 14 วัน เราเองก็พร้อมและเตรียมตัวที่จะปฏิบัติตามมาตรการตั้งแต่ก่อนเดินทางไปสหราชอาณาจักรแล้วเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายหากมีเชื้อไวรัสในร่างกาย 

จึงเห็นได้ว่า หากมีการตรวจและคัดกรองที่เข้มงวด ณ สนามบินปลายทางเช่นนี้อยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องออกประกาศที่มีเนื้อหาขัดต่อสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำให้คนไทยต้องดิ้นรนจัดหาเอกสารที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับมาตรการป้องกัน COVID-19 ทั้งยังสร้างภาระจนเกินความจำเป็น และส่งผลกระทบให้คนไทยหลายคนตกค้างอยู่ตามสนามบินต้นทางเป็นจำนวนมาก โดยที่รัฐไม่แม้แต่เยียวยา ซ้ำร้ายกว่านั้น นายกรัฐมนตรียังออกข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่มีเนื้อหาเดียวกันกับข้อกำหนดในเรื่องมาตรการจัดหาเอกสารข้างต้น ซึ่งหากมีผู้ได้รับผลกระทบจากประกาศ กพท. ดังกล่าวจะใช้สิทธิทางศาลปกครอง ขอให้ตรวจสอบประกาศว่าออกโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็คงจะไม่รับฟ้อง เนื่องจากตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 16 ได้ยกเว้นให้ข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.นี้ ไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลปกครอง

ขณะนี้คนไทยยังคงไม่สามารถกลับประเทศไทยได้ เนื่องด้วย กพท. ได้ประกาศขยายเวลาห้ามการบินเข้าประเทศไทยชั่วคราว จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 ยกเว้นเป็นเครื่องบินที่ได้รับอนุญาตให้รับส่งบุคคลกลับภูมิลำเนาเท่านั้น


แชร์บรรยากาศการรับมือโควิด 19 ในสหราชอาณาจักร

สำหรับมาตรการรับมือโควิดของอังกฤษมีประกาศ Lockdown จนถึงต้นเดือนพฤษภาคม 2563 โดยให้คนต้องอยู่บ้าน ห้ามคนออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น ยกเว้นออกไปซื้อยา อาหาร หรือออกกำลังกายนอกบ้านคนเดียวหรือกับครอบครัวได้วันละครั้ง ห้ามเดินทางไปเยี่ยมญาติหรือเพื่อนที่ไม่ได้อยู่บ้านเดียวกัน ห้ามออกนอกบ้านและจับกลุ่มกันเกิน 2 คน หากมีเหตุจำเป็นต้องออกจากบ้านก็ต้องรักษาระยะห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 2 เมตร หากฝ่าฝืนเจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจปรับและสั่งให้แยกย้ายหากมีการจับกลุ่ม และขอความร่วมมือให้ทุกคนทำงานที่บ้าน

ทั้งนี้ รายละเอียดทั้งหมดอยู่ในเอกสารที่ทางรัฐบาลส่งตรงมายังที่บ้านพร้อมสารจากนายกรัฐมนตรี พร้อมคำแนะนำเกี่ยวกับลักษณะอาการของการติดเชื้อไวรัส COVID-19 และการป้องกันการติดเชื้อจาก NHS โดยเน้นย้ำว่า ห้ามไปที่โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล หากมีอาการให้โทรปรึกษาบริการของสาธารณสุขออนไลน์เท่านั้นและกักตัวเองอยู่ในบ้าน 14 วัน

ส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบในด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลก็ออกนโยบายหลักเพื่อสนับสนุน เป็นการจ่ายเงินให้ผู้ที่เป็นลูกจ้าง อย่างน้อย 80% ของค่าจ้าง โดยมีสิทธิได้มากสุด 2,500 ปอนด์ต่อเดือน เช่นเดียวกันกับคนที่ทำงานอิสระ (self-employed individuals) ก็มีสิทธิได้รับในอัตราเดียวกัน ส่วนคนตกงาน เบื้องต้นจะได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐทันที มากสุดเดือนละ 1,040 ปอนด์ นอกจากนี้ รัฐบาลยังสำรองเงินอีกจำนวน 330,000 ล้านบาทเพื่อพยุงภาคเศรษฐกิจในการให้กู้และลดหย่อนภาษีอีกด้วย

และแม้รัฐบาลจะสั่ง Lockdown จนยอดคนเดินทางด้วยรถสาธารณะน้อยลง แต่รถบัสประจำทางยังคงให้บริการปกติ โดยจำนวนเที่ยวต่อวันลดน้อยลง ส่วนรถไฟ หากผู้โดยสารต้องการคืนตั๋วหรือเปลี่ยนตั๋วก็สามารถทำได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายและได้รับเงินคืนเต็มจำนวน เช่นเดียวกับธุรกิจภาคเอกชนอย่างบริษัททัวร์ ก็คืนเงินเต็มจำนวนให้กับลูกค้าที่ถูกยกเลิกบริการ
You May Also Like
อ่าน

ผ่านฉลุย! สส. เห็นชอบร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม วาระสาม ส่งไม้ต่อให้ สว.

27 มีนาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีมติ “เห็นชอบ” ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวาระสาม ส่งไม้ต่อให้วุฒิสภาพิจารณาสามวาระ
อ่าน

จับตาประชุมสภา ลุ้น สส. ผ่านร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม วาระสอง-สาม

27 มีนาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมนวาระสอง-สาม หากสภามีมติเห็นชอบในวาระสาม ร่างกฎหมายก็จะได้พิจารณาต่อชั้นวุฒิสภา