รับมือโควิดในเนเธอร์แลนด์: “Intelligent Lockdown” รับมือแบบผ่อนคลายเพราะเชื่อมั่นในประชาชน

เรื่องโดย วิรดา แซ่ลิ่ม (เวิลด์)
นักศึกษาปริญญาโททุน Erasmus Mundus

 

อาจเป็นเพราะเคยชินกับการแพร่ระบาดของไข้หวัด การรับมือโควิด-19 ที่เนเธอร์แลนด์เลยดูจะเป็นแบบ ”สบายๆ” หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่น เช่น ยังออกไปเดินอาบแดดนอกบ้านได้ ห้างร้านต่างๆ ยังขายสินค้าจำเป็นได้โดยมีพนักงานคอยทำความสะอาดรถเข็นและควบคุมจำนวนผู้ซื้อสินค้าไม่ให้อยู่ในห้างพร้อมกันจนรักษาระยะห่างที่ปลอดภัยไม่ได้ รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ใช้มาตรการควบคุมโรคที่ไม่เข้มข้นมากนักเพราะเชื่อมั่นในความรับผิดชอบของพลเมืองและต้องการให้เศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบน้อยที่สุดเมื่อวิกฤตโควิด-19 ผ่านพ้นไป 

สำหรับประเด็นที่ยังเป็นที่ถกเถียงในหมู่ชาวดัชต์คือมาตรการระยะยาว รัฐบาลเนเธอร์แลนด์เชื่อว่าการหยุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเด็ดขาดเป็นไปไม่ได้ จึงมีแนวคิดที่จะปล่อยให้มีการแพร่ระบาดภายใต้การควบคุมเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ แต่ชาวดัชต์บางส่วนก็ยังกังขากับแนวคิดดังกล่าวโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศอื่นๆ ในยุโรปอย่างออสเตรีย เยอรมนี หรืออังกฤษ กลับดำเนินมาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มงวด

ทั้งนี้ในปี 2563 เนเธอร์แลนด์มีประชากรประมาณ 17 ล้านคน ข้อมูลจากทางการเนเธอร์แลนด์เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563 ระบุว่า มีผู้ติดเชื้อสะสมที่ตรวจพบ 33,405 คน เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล 9,779 คน และมียอดผู้เสียชีวิตสะสม 3,751 คน

 

จาก ‘ชิลมาก’ สู่ ‘ชิลน้อยลงแต่ยังชิลอยู่’

ตอนเริ่มมีข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสใหม่ๆ คนในประเทศเนเธอร์แลนด์ก็เหมือนกับหลายประเทศในตะวันตกที่คิดว่า “It’s just another flu” เพราะคนที่นี่คุ้นชินกับไข้หวัดใหญ่ที่คร่าชีวิตคนจำนวนมากในแต่ละปีเป็นประจำอยู่แล้ว ช่วงแรกๆ ใครสวมหน้ากากอนามัย (ซึ่งส่วนใหญ่คือคนเอเชีย) ในที่สาธารณะมักจะถูกมองว่า “Overreacting” คำถามที่ตั้งโดยสื่อดัตช์ในช่วงนั้นคือ โคโรนาไวรัสนี่ซีเรียสจริงไหม? สื่อสิ่งพิมพ์รายหนึ่งนำเสนอว่าเนเธอร์แลนด์จะไม่ “be fooled by coronavirus” พร้อมรายงานผลสำรวจความคิดเห็นว่าคนดัตช์ส่วนใหญ่คิดว่าความสนใจที่มีต่อสถานการณ์โควิดนั้นเกินความจริงไป (exaggerated)

การออกแถลงการณ์ช่วงแรกของรัฐบาลบอกประชาชนเพียงแค่ว่าให้ล้างมือบ่อยๆ ไอจามใส่ข้อศอกด้านใน และบอกว่าไวรัสไม่แพร่กระจายหากคนคนนั้นยังไม่แสดงอาการ (!) โดย 77% ของคนที่ทำแบบสำรวจความคิดเห็นคิดว่ามาตราการของรัฐเพียงพอแล้วที่จะควบคุมการแพร่ระบาด

หลังจากตรวจพบผู้ติดเชื้อรายแรกวันที่ 27 กุมภาพันธ์คนก็ยังชิลอยู่ แม้ว่าเจลแอลกอฮอล์และสบู่ล้างมือจะหมดเกลี้ยง สองอาทิตย์ผ่านไป สถานการณ์เริ่มเข้มข้นขึ้นเพราะรัฐบาลประกาศเพิ่มมาตรการยกเลิกการพบปะชุมนุมเกิน 100 คนขึ้นไป สนับสนุนให้คนทำงานจากบ้านให้มากที่สุด แต่ยังไม่สั่งปิดโรงเรียนโดยให้เหตุผลว่า เด็กๆ ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง หลังจากการประกาศครั้งนี้ คนพากันตุนอาหารจนเกลี้ยงเชลฟ์ขนาดคนดัตช์ยังล้อกันเอง ถ่ายเชลฟ์ในซูเปอร์มาร์เก็ตอันว่างเปล่า พร้อมแคปชั่น “Just a flu”

 

ล็อกดาวน์อย่างฉลาดเพราะเราเป็นประเทศเปิด

จากกลางเดือนมีนาคมมาจนถึงตอนนี้ แม้รัฐบาลจะมีมาตรการที่เข้มข้นขึ้น แต่โดยภาพรวมเมื่อเทียบกับประเทศรอบตัวอย่างเยอรมนีและเบลเยียมที่ปิดชายแดนแล้ว นโยบายของประเทศเนเธอร์แลนด์ถูกมองว่าไม่เข้มงวดและค่อนข้าง ‘relax’

ไม่ว่าจะเรียกว่า ‘Intelligent Lockdown’ ‘Smart Lockdown’ หรือ ‘The 1.5 meter economy’ ภาพรวมการรับมือโควิด-19 ของประเทศเนเธอร์แลนด์คือการพยายามให้เศรษฐกิจยังคงดำเนินไปได้แบบหยุดชะงักน้อยที่สุด และทุกอย่างสามารถกลับมาเป็นปกติได้มากที่สุดเมื่อผ่านพ้นวิกฤติไปแล้ว บนความเชื่อที่ว่าการหยุดการแพร่ระบาดของไวรัสอย่างเด็ดขาดนั้น ‘เป็นไปไม่ได้’ และเชื่อว่าประชาชนที่ดี (good citizen) จะมีความรับผิดชอบส่วนบุคคล (individual responsibility) ในการควบคุมความประพฤติของตนเอง (self-regulation)

ร้านค้าจำกัดจำนวนผู้ซื้อสินค้าในเวลาเดียวกัน (ภาพโดย วิรดา แซ่ลิ่ม)

หัวใจหลักสำคัญของมาตรการคือ social distancing practice การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1.5 เมตร อะไรที่รัฐบาลคิดว่าประชาชนจะไม่สามารถควบคุมระยะห่าง 1.5 เมตรได้ถูกสั่งปิดและสั่งห้ามชั่วคราว เช่น งานอีเวนท์ คอนเสิร์ต เฟสติวัล ร้านตัดผม ร้านนวด โรงภาพยนตร์ โรงเรียน มหาวิทยาลัย ฯลฯ แต่ร้านขายยา ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร (สำหรับซื้อกลับบ้าน) ตลาด และร้านขายสินค้าอื่นๆ ยังสามารถเปิดได้ คนสามารถออกไปเดินเล่นรับแสงแดดได้ถ้าไม่เกินสองคนเดินใกล้กัน พาสุนัขไปเดินในพื้นที่สาธารณะได้ มีคนมาเยี่ยมที่บ้านได้ไม่เกินสามคน บริษัทที่คนไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ก็ยังเปิดเป็นปกติ แม้บางบริษัทจะลดจำนวนชั่วโมงการทำงานและจำนวนพนักงานลง

เพื่อรับมือสถานการณ์ รัฐบาลกลางกระจายอำนาจให้กับหน่วยปกครองท้องถิ่นแต่ละเมือง มีอำนาจในการปรับเปลี่ยนและออกคำสั่งที่จะช่วยลดการแพร่ระบาดของไวรัสได้ตามที่เห็นควร โดยยึดแนวทางปฏิบัติที่ออกโดยรัฐบาลกลางเป็นหลัก

 

ชีวิตโดยทั่วไป(ไม่)เปลี่ยนไปสักเท่าไหร่

หากมองจากคนรอบตัวที่รู้จัก ชีวิตในเนเธอร์แลนด์ไม่ได้เปลี่ยนไปมากนัก นักเรียนนักศึกษา study from home คนทำงานบริษัท work from home คนที่ทำงานที่บ้านไม่ได้ แต่ละบริษัทก็มีมาตรการของตัวเองเพื่อให้แน่ใจว่าพนักงานจะสามารถ practice social distancing 1.5 เมตรได้ การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือร้านขายยา ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าต่างๆ ที่มีมาตรการรักษาระยะห่างระหว่างลูกค้า เช่น

ร้านขายยาอนุญาตให้คนเข้าไปได้เพียงสองคนเท่านั้น คนที่สามเป็นต้นไปต้องรออยู่ข้างนอก ซูเปอร์มาร์เก็ตบังคับให้ทุกคนใช้รถเข็นเพื่อนับจำนวนคนรวมทั้งเพื่อลดโอกาสคนเดินใกล้กัน (ลงนิดนึง) มีพนักงานคอยทำความสะอาดรถเข็นตลอดเวลา มีเส้นกั้นกำหนดจุดยืนรอคิดเงิน มีที่กั้นระหว่างแคชเชียร์กับลูกค้า การจ่ายเงินส่วนมากเน้นการใช้บัตร โดยปรับเพดานยอดการจ่ายสำหรับ contactless ให้สูงขึ้นกว่าเดิม เพื่อลดการสัมผัสแป้นพิมพ์พาสเวิร์ด

แม้รัฐบาลจะมอบความไว้วางใจให้กับประชาชนใน Intelligent Lockdown แต่ที่ผ่านมาก็มีคนในสังคมดัตช์ที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการของรัฐ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ยังจับกลุ่มปาร์ตี้กัน ซึ่งการไม่ปฏิบัติตามมาตรการของรัฐจะมีโทษปรับสูงสุดประมาณ 400 ยูโร

เดือนเมษายนเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ เป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือนที่อุณหภูมิสูงขึ้นถึง 23 องศา อากาศดี แดดจัดแบบนี้ คนดัตช์หลายคนออกไปเดินเล่นในสวนสาธารณะจนบางเมืองประกาศปิดพื้นที่สาธารณะบางแห่ง วันไหนแดดดีๆ ออกไปซื้อของ เห็นคนดัตช์ออกมารับแดดกันจนชวนให้ลืมไปเลยว่าเรากำลังใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส!

ห้างสรรพสินค้าบังคับผู้ใช้บริการใช้รถเข็นเพื่อความสะดวกในการจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการในเวลาเดียวกัน โดยรถเข็นจะถูกทำความสะอาดเป็นระยะ (ภาพโดย วิรดา แซ่ลิ่ม)

 

มาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ

โดยทั่วไปคนดัตช์ที่ไม่มีงานทำได้รับความช่วยเหลือจากทางรัฐบาลอยู่แล้ว ในสถานการณ์โควิด-19 รัฐบาลประกาศช่วยเหลือบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐโดยรัฐบาลจะช่วยจ่ายเงินเดือนของพนักงานให้ถึง 90% ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละบริษัทว่าได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน ผู้ประกอบการที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าได้รับผลกระทบจากมาตรการโควิด-19 ของรัฐบาลจะได้รับเงินช่วยเหลือฉุกเฉิน 4,000 ยูโร (ประมาณ 140,000 บาท) ประเภทการประกอบการที่เข้าข่ายนี้ได้แก่ ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ บริษัททัวร์ โรงเรียนสอนขับรถ สปอร์ตคลับ บริษัทรับจัดอีเวนท์ รวมไปถึงบริษัทรถแท็กซี่ คลินิกทันตกรรมและกายภาพบำบัดที่จ้างพนักงานแบบฟรีแลนซ์ และร้านสักลาย ส่วนอาชีพอิสระ (self-employed) สามารถลงทะเบียนขอรับเงินช่วยเหลือได้สูงสุด 1,500 ยูโร (ประมาณ 53,000 บาท) และสามารถขอกู้เงินได้ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าปกติ

ปัญหาตอนนี้คือ แม้รัฐบาลจะช่วยบริษัทจ่ายค่าจ้างพนักงาน แต่บางบริษัทไล่พนักงานจ้างแบบชั่วคราวออก บางคนมีคุณสมบัติตามระเบียบการช่วยเหลือคนตกงานของรัฐบาล แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ผ่านคุณสมบัตินั้น ตอนนี้มีการเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือกลุ่มคนเหล่านี้ รวมไปถึงเหล่าสตาร์ทอัพด้วย

 

การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เป็นไปได้ไหมในเนเธอร์แลนด์?

‘Herd Immunity’ หรือการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ หลายคนอาจจะเคยได้ยินข่าวจากประเทศอังกฤษที่ช่วงแรกมีการถกเถียงกันว่าจะรับมือโควิด-19 ด้วยการปล่อยให้ 50-60% ของประชากรติดเชื้อเพื่อสร้างภูมิต้านทานในสังคม แต่กระแสวิพากษ์มาแรงมากจนอังกฤษดูเหมือนจะกลับลำ ใช้มาตรการที่เข้มงวดขึ้น ตัดภาพมาที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ แม้จะไม่ใช้คำว่า ‘Herd Immunity’ แบบตรงๆ แต่รัฐบาลดูเหมือนจะเห็นด้วยกับแนวทางนี้

แม้จะมีกระแสไม่เห็นด้วย แต่ที่ผ่านมา RIVM ซึ่งเป็นองค์กรด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่คอยไกด์รัฐบาลในการรับมือกับโควิด-19 รวมถึงมหาวิทยาลัยบางแห่งก็เดินหน้าศึกษาความเป็นไปได้ของแนวทางนี้โดยทดลองผ่านประชากรจำนวน 6,000 คน อายุตั้งแต่ 2 ขวบ ไปจนถึง 92 ปี ช่วงเดือนพฤษภาคมนี้จะรู้ผลการศึกษา หากแนวคิดสร้างภูมิคุ้มกันหมู่เป็นไปได้ รัฐบาลอาจเปลี่ยนมาตรการเป็นการปล่อยให้มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส (แบบควบคุมอย่างเข้มงวด) โดยถือเป็นมาตรการการรับมือโควิด-19 แบบระยะยาว

ยังไม่รู้ว่าหากรัฐบาลดำเนินมาตรการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่จริงๆ สังคมดัตช์จะคิดเห็นอย่างไร แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้เริ่มมีการตั้งคำถามต่อมาตรการที่ RIVM แนะนำ ว่าควรปฏิบัติตามจริงไหม โดยเฉพาะเมื่อประเทศรอบตัวในยุโรปต่างใช้มาตรการที่เข้มงวดขึ้น เช่นกรณีการสวมหน้ากากอนามัยที่ RIVM ของเนเธอร์แลนด์ยังยืนยันว่าไม่มีความจำเป็น ในขณะที่รัฐบาลออสเตรียประกาศบังคับให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ไปซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ต


อ้างอิง

You May Also Like
อ่าน

ผ่านฉลุย! สส. เห็นชอบร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม วาระสาม ส่งไม้ต่อให้ สว.

27 มีนาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีมติ “เห็นชอบ” ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวาระสาม ส่งไม้ต่อให้วุฒิสภาพิจารณาสามวาระ
อ่าน

จับตาประชุมสภา ลุ้น สส. ผ่านร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม วาระสอง-สาม

27 มีนาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมนวาระสอง-สาม หากสภามีมติเห็นชอบในวาระสาม ร่างกฎหมายก็จะได้พิจารณาต่อชั้นวุฒิสภา