The Post: เพราะสื่อ…ไม่ใช่เครื่องมือของรัฐ

รีวิวโดย สิรวิชญ์ บุญประสิทธิการ

 

หลายครั้งการตีแผ่หรือป่าวประกาศ “ความจริง” ก็เป็นสิ่งอันตราย ยิ่งความจริงนั้นเป็นเรื่องลับลมคมในของผู้มีอิทธิพล การเผยแพร่ก็ยิ่งทวีความเสี่ยงจนผู้ที่เผยแพร่อาจต้องเอาชีวิตของตัวเองเป็นเดิมพัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อผู้มีอิทธิพลรายนั้นคือรัฐบาล ผู้มีอำนาจในการควบคุมความเป็นไปของชาติ แล้วเสรีภาพในการแสดงออกจะเอาชนะอำนาจมืดของรัฐได้อย่างไร…

Movie Review_Thumbnail-The Post

สตีเวน สปีลเบิร์ก พ่อมดแห่งฮอลลีวูดได้นำเรื่องราวการต่อสู้ระหว่างเสรีภาพจรรยาบรรณของสื่อกับการปกปิดข้อมูลของรัฐบาลมาตีแผ่ใน The Post หนังที่สร้างจากเรื่องจริงที่ถูกรัฐบาลสหรัฐฯ ซุกซ่อนช่วงต้นยุค 70 ช่วงเวลาที่สงครามเวียดนามกำลังคุกรุ่น รัฐบาลสหรัฐฯ ย้ำกับประชาชนว่า ตนเองไม่เกี่ยวข้องกับกิจการภายในของเวียดนาม รัฐบาลเพียงส่งทหารไปช่วยเหลือ ทั้งยังให้คำมั่นกับประชาชนว่า “สหรัฐฯ กำลังจะชนะ” 

ขณะเดียวกันกับที่แคทเธอรีน เกรแฮม (Katharine Graham) สาวหม้ายสายมั่นที่ต้องดูแลกิจการหนังสือพิมพ์ The Washington Post ต่อจากสามีที่เสียชีวิต ต้องรับมือกับการตัดสินใจครั้งสำคัญเมื่อเบน แบรดลี (Ben Bradlee) บรรณาธิการผู้มุ่งมั่นของ The Washington Post ในขณะนั้น ต้องการจะตีพิมพ์เอกสารลับของเพนตากอนที่เปิดเผยว่าสหรัฐอเมริกามีส่วนร่วมในสงครามเวียดนามมานานกว่า 30 ปี ซึ่งชี้ให้เห็นว่าสื่อและประชาชนถูกโกหกผ่านทำเนียบขาวและประธานาธิบดีคนแล้วคนเล่าถึงสงครามที่ไม่มีทางชนะ ชีวิตของนายทหารที่ต้องสังเวยไม่มีรางวัลตอบแทนนอกจากการเป็นเครื่องมือให้รัฐไม่ต้องเสียหน้า รัฐบาลพยายามปกปิดความจริงนี้กับประชาชนมาโดยตลอด การตีพิมพ์เอกสารลับชุดนี้จึงอาจถูกตัดสินว่าเป็น ‘ภัยต่อความมั่นคงของชาติ’ และอาจมีสำนักพิมพ์และชีวิตของพนักงานทุกคนเป็นเดิมพัน

หนังจับเหตุการณ์การต่อสู้ระหว่าง “ภาคประชาสังคม” กับ รัฐบาล “กึ่งเผด็จการ” สุดอื้อฉาวของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน การที่ศาลตัดสินห้าม The New York Times ที่ได้ตีพิมพ์ข้อมูลลับชุดนี้ไปก่อนไม่ให้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสงครามเวียดนามอีกก็ยิ่งตอกย้ำว่า สื่อกำลังถูกปิดกั้น ประชาชนกำลังถูกปิดหูปิดตา แล้ว The Washington Post ควรตัดสินใจอย่างไรในขณะที่ตัวเองกำลังจะเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ การตีพิมพ์เรื่องราวที่เสี่ยงถึงคุกเช่นนี้ อาจทำให้นักลงทุนหนีหาย แต่อีกฝั่งก็เป็นประชาชนผู้โชคร้ายถูกรัฐบาลปกปิดความจริง จึงพูดได้ว่านี่คือการห้ำหั่นกันของ 3 สิ่ง อันได้แก่ เสรีภาพจรรยาบรรณของสื่อ สังคมทุนนิยม และอำนาจของรัฐที่ต้องการควบคุมให้ประชาชนรับรู้เพียงข้อมูลที่จำเป็น (ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ซึ่งความมั่นคงของชาติเป็นหนึ่งในข้ออ้างนั้น)

นอกจากนี้ The Post ยังสอดแทรกบริบททางวัฒนธรรมร่วมสมัยได้อย่างกลมกลืน แต่ก็ทรงพลัง อาทิ ประเด็น Patriarchy หรือสังคมชายเป็นใหญ่ ผ่านตัวแคทเธอรีน ประธานของ The Washington Post ที่ต้องพาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์และทำการตัดสินใจที่ยากที่สุดในยุคที่เพศหญิงไม่เป็นที่ยอมรับในฐานะผู้นำ อีกทั้งหนังเรื่องนี้ยังนำเสนอประวัติศาสตร์ของสื่อ ในวันที่เทคโนโลยีการพิมพ์ไม่ได้รวดเร็วฉับไวเหมือนการรายงานข่าวทางทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊กในปัจจุบัน และหนังก็ไม่ลืมสะท้อนให้เห็นว่า หนังสือพิมพ์ในปี 1971 เป็นสื่อที่ทรงพลังและจำเป็นต่อการรับรู้ของประชาชนอย่างแท้จริง

ภายใต้เรื่องราวอันเข้มข้นที่คัดสรรถ่ายทอดโดย จอช ซิงเกอร์ มือเขียนบทผู้คว้ารางวัลออสการ์จากเรื่องจริงชวนช็อกใน Spotlight การต่อสู้ของนักหนังสือพิมพ์และอำนาจมืดก็ถูกขับเน้นอย่างน่าติดตามด้วยทัพนักแสดงคุณภาพอย่าง เมอรีล สตรีป และ ทอม แฮงค์ส จึงทำให้ The Post ครบเครื่องทั้งเรื่องราวที่นำเสนอและการแสดงที่น่าจดจำ

คำพูดหนึ่งที่ทรงพลังและเชื่อว่าคนที่อินกับประเด็นสิทธิและเสรีภาพจะอดน้ำตาซึมไม่ได้คือ “บิดาผู้ก่อตั้งสื่อของสหรัฐฯ กำหนดให้เสรีภาพสื่อต้องได้รับการคุ้มครอง เพื่อให้ทำหน้าที่ที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตยของเรา สื่อมีหน้าที่รับใช้ประชาชน ไม่ใช่รัฐบาล” (ตอนที่พิมพ์ประโยคนี้ผมเองยังน้ำตาซึมไม่หยุด) ช่างเป็นคำพูดที่งดงามเหลือเกิน และความงดงามของ The Post ก็ไม่ได้มีเพียงคำพูดนี้อย่างแน่นอน จึงต้องขอเชิญทุกคนร่วมพิสูจน์ว่า “สื่อ” ในเรื่องจะต้องตกเป็นเครื่องมือของรัฐเช่นเดียวกับสื่อในบางประเทศที่เรารู้จักดีหรือไม่ ร่วมต่อสู้ไปพร้อมกันใน “The Post เอกสารลับเพนตากอน”

You May Also Like
อ่าน

สมัครให้เยอะๆ และช่วยกระจายข้อมูล ประชาชนมีส่วนร่วมได้กับการเลือกสว.67

ระบบการเลือก สว. ในปี 2567 ยังเปิดกว้างให้ผลลัพธ์สุดท้ายออกมาได้หลากหลาย และการมีส่วนร่วมของประชาชนจะสำคัญมาก ทุกคนไม่ว่าจะมีสิทธิสมัครหรือไม่ก็ลงมือทำได้
อ่าน

อบรมออนไลน์ เตรียมพร้อมลงสมัคร/เป็นอาสา สว. 67

#สว67 จะยากแค่ไหน? อยากให้ทุกคนเข้าใจ อยากให้ทุกคนมาช่วยกัน ชวนทุกคนทั้งคนที่เตรียมลงสมัครและยังสมัครไม่ได้ มาร่วมการอบรมออนไลน์พร้อมเพรียง