สรุปรัฐธรรมนูญ 2560: เสรีภาพการแสดงความเห็น-วิชาการ-สื่อมวลชน ตั้งแต่ปี 40 หลักการเดิม แต่รายละเอียดเปลี่ยน

ในประเทศที่ปกครองตามระบอบประชาธิปไตย เสรีภาพการแสดงออกถือเป็นพื้นฐานสำคัญของประชาชน ในการมีส่วนร่วม ตรวจสอบ รวมถึงตั้งคำถามกับการใช้อำนาจของรัฐบาล ซึ่งเสรีภาพการแสดงออกเป็นหลักการสากลที่ได้รับการรับรองในบริบทของกฎหมายระหว่างประเทศอย่างกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ด้วย 

สำหรับประเทศไทย เสรีภาพการแสดงออกได้รับการคุ้มครองไว้ในกฎหมายสูงสุดอย่างรัฐธรรมนูญ และเมื่อเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญถาวรสามฉบับ คือ ปี 2540 2550 และ 2560 พบว่า รัฐธรรมนูญ​ 2560 ตัดความเป็นส่วนตัว-สิทธิครอบครัว-สุขภาพจิต จากข้อยกเว้นการใช้เสรีภาพการแสดงความคิดเห็น ตัดการคุ้มครองการสอน อบรม วิจัย จากเสรีภาพทางวิชาการ และการรับรองเสรีภาพของสื่อกว้างๆ ว่า “บุคคลที่ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน”

 

ตัดความเป็นส่วนตัว-สิทธิครอบครัว-สุขภาพจิต จากข้อยกเว้นการใช้เสรีภาพแสดงความเห็น

รัฐธรรมนูญ 2540, 2550 และ 2560 รับรอง ‘เสรีภาพการแสดงความคิดเห็น’ เอาไว้โดยใช้ข้อความเดียวกันว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น”  

ทั้งนี้ การใช้เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นมีข้อยกเว้น ซึ่งรัฐธรรมนูญทั้งสามฉบับได้กำหนดไว้ โดยในรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่า “การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน”

อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญ​ 2540 และ 2550 จะพบว่า รัฐธรรมนูญปัจจุบันได้ตัดถ้อยคำซึ่งเป็นข้อยกเว้นเรื่องการใช้เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นบางส่วนออกไป จากเดิมที่เคยมีในรัฐธรรมนูญสองฉบับในอดีต อันได้แก่ เพื่อคุ้มครอง “เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น” และ “เพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจ” ของประชาชน

เท่ากับว่ารัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 กำหนดข้อยกเว้นการใช้เสรีภาพแสดงความเห็นในประเด็นชื่อเสียง ความเป็นส่วนตัว และประเด็นสุขภาพจิตได้ครอบคลุมและรัดกุมมากกว่ารัฐธรรมนูญ​ 2560

 

การคุ้มครองการสอน อบรม วิจัย หายไปจากเสรีภาพทางวิชาการ

รัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในทางวิชาการ” เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 แต่มีข้อสังเกตคือ เสรีภาพทางวิชาการในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันปรากฏอยู่ในวรรคสองของมาตรา 34 ซึ่งเป็นมาตราเดียวกันกับเสรีภาพการแสดงความเห็น ขณะที่เสรีภาพทางวิชาการในรัฐธรรมนูญสองฉบับก่อนหน้าแยกออกจากเสรีภาพการแสดงความเห็นเป็นมาตราของตัวเอง

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 ยังได้ตัดข้อความที่รับรองเสรีภาพทางวิชาการในการเรียน การสอน และการวิจัยออกไป ซึ่งเคยปรากฏในรัฐธรรมนูญ​ 2540 และ 2550 ว่า “การศึกษาอบรม การเรียนการสอน การวิจัย และการเผยแพร่งานวิจัยตามหลักวิชาการย่อมได้รับการคุ้มครอง” 

ทั้งนี้ การใช้เสรีภาพทางวิชาการมีข้อยกเว้นโดยรัฐธรรมนูญทั้งสามฉบับบัญญัติว่า การใช้เสรีภาพนั้นทำได้เท่าที่ “ไม่ขัดต่อหน้าที่ของพลเมืองหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 ยังได้เพิ่มข้อยกเว้นอีกข้อหนึ่งมีถ้อยคำว่า “ต้องไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของบุคคลอื่น”

เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา พูดถึงประเด็นเสรีภาพทางวิชาการ ไว้ว่า นักวิชาการไม่ได้มี และไม่ควรมีสิทธิหรือเสรีภาพในการแสดงความเห็นมากกว่าคนอื่น ทุกคนควรจะมีเท่ากัน และควรได้รับการปกป้องแบบเดียวกัน โดยเฉพาะในสังคมประชาธิปไตยที่เชื่อในเรื่องการมีปากมีเสียงของประชาชน 

ถึงอย่างนั้น เบญจรัตน์อธิบายต่อว่า ‘เสรีภาพทางวิชาการ’ หมายถึง เสรีภาพในการค้นคว้าและเสนอความรู้ใหม่ๆ หรือประเด็นอ่อนไหวที่สังคมยังไม่ยอมรับ และเสรีภาพในการปฏิบัติหน้าที่ทางวิชาการ เช่น การเรียน การสอน หรือการวิจัย เสรีภาพทางวิชาการจึงเป็นหลักประกันไม่ให้มีการใช้อำนาจหรือความสัมพันธ์เชิงอำนาจแก่บุคลากรทางวิชาการ เช่น การขู่ว่าจะลงโทษ การไม่ต่อสัญญาจ้างอาจารย์ เพื่อปิดปากหรือปรามการค้นคว้าหรือการถกเถียงที่แตกต่าง 

 

รับรองเสรีภาพของสื่อไว้กว้างๆ ว่า “บุคคลที่ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน”

รัฐธรรมนูญ 2540 ถึงปัจจุบันล้วนรับรองหลักการ ‘เสรีภาพสื่อ’ เอาไว้ แต่ต่างกันในรายละเอียด โดยรัฐธรรมนูญ​ 2560 บัญญัติในมาตรา 35 ระบุว่า “บุคคลที่ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวหรือแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ”

จากเดิมรัฐธรรมนูญ​ 2540 บัญญัติรับรองเสรีภาพสื่อในมาตรา 41 ระบุว่า “พนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนที่ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์ย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าว และแสดงความคิดเห็นภายใต้ข้อจำกัดตามรัฐธรรมนญู โดยไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าของกิจการนั้น แต่ต้องไม่ขัดต่อจรรยาบรรณแห่งการประกอบวิชาชีพ” ซึ่งรัฐธรรมนูญ​ 2550 บัญญัติไว้เหมือนกัน แต่เพิ่มคำว่า “หรือสื่อมวลชนอื่น” เข้าไปหลังวิทยุโทรทัศน์เพื่อขยายความรับรองเสรีภาพสื่อในกิจการสื่ออื่นๆ

ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2560 ใช้ข้อความว่า “บุคคลที่ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน” รัฐธรรมนูญ 2540 ได้ใช้ข้อความระบุและจำแนกประเภทสื่อไว้อย่างละเอียดรัดกุมเลยว่า “พนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนที่ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์” ซึ่งต่อมารัฐธรรมนูญ​ 2550 ได้เพิ่มคำว่า “หรือสื่อมวลชนอื่น” ตามมาอีกถ้อยคำหนึ่งให้กินความหมายกว้างขึ้น เห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญ 2560 รับรองเสรีภาพสื่อไว้โดยมีขอบเขตอย่างกว้างๆ ขณะเดียวกันก็ไม่เจาะจงรายละเอียด 

 

รัฐตรวจสอบสื่อได้เฉพาะช่วงสงคราม แต่ไม่ได้ระบุว่าต้องใช้อำนาจทางกฎหมายใด

รัฐธรรมนูญทั้งสามฉบับได้กำหนดห้ามไม่ให้มีการสั่งปิดสื่อมวลชนเอาไว้ โดยรัฐธรรมนูญ ​2560 มาตรา 35 ระบุว่า การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนอื่น เพื่อลิดรอนเสรีภาพสื่อจะทำไม่ได้ ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2550 ใช้ข้อความเดียวกันกับรัฐธรรมนูญ​ 2560 อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญ 2540 ต่างออกไป โดยมาตรา 39 ระบุชัดเจนและเจาะจงว่าห้ามสั่งปิดสื่อสามประเภทด้วยกัน ได้แก่ โรงพิมพ์ สถานีวิทยุ และสถานีโทรทัศน์

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม เสรีภาพสื่อจะถูกจำกัดโดยรัฐธรรมนูญอนุญาตให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาตรวจการนำเสนอข่าวก่อนที่จะนำไปโฆษณาในสื่อต่างๆ ได้ ทั้งนี้ ในรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้กำหนดเหมือนรัฐธรรมนูญ​ 2540 และ 2550 ว่า การให้เจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบสื่อทำได้โดยต้องออกกฎหมายมาให้อำนาจเท่านั้น

 

ห้ามรัฐให้เงินสื่อมวลชนเอกชน ยกเว้นเพื่อซื้อโฆษณา

รัฐธรรมนูญทั้งสามฉบับห้ามไม่ให้รัฐให้เงินหรือสนับสนุนด้วยทรัพย์สินอย่างอื่นอุดหนุนกิจการสื่อมวลชนอื่นของเอกชน แต่รัฐธรรมนูญ 2560 มีข้อยกเว้นในกรณีหน่วยงานรัฐจ่ายเงินให้สื่อมวลชนเพื่อการซื้อโฆษณา หรือประชาสัมพันธ์ หรือเพื่อการอื่นใดในทำนองเดียวกัน ต้องเปิดเผยรายละเอียดให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและประกาศให้ประชาชนทราบด้วย

 

รัฐธรรมนูญ​ 2550 ระบุห้ามรัฐ เจ้าของกิจการ นักการเมืองแทรกแซงสื่อ

รัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นรัฐธรรมนูญเพียงฉบับเดียวที่ในส่วนของเสรีภาพสื่อมวลชนได้พูดถึงการห้ามแทรกแซงสื่อ โดยมาตรา 45 วรรคสี่ ระบุว่า “การห้ามหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเสนอข่าวสาร หรือแสดงความคิดเห็นทั้งหมดหรือบางส่วนหรือการแทรกแซงด้วยวิธีการใดๆ” ทำไมได้ ยกเว้นตามข้อจำกัดที่รัฐธรรมนูญกำหนด

นอกจากนี้ ยังระบุห้ามนักการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเจ้าของกิจการ แทรกแซงเสรีภาพสื่อ โดยมาตรา 46 วรรคสาม ระบุว่า “การกระทำใดๆ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเจ้าของกิจการ อันเป็นการขัดขวางหรือแทรกแซงการเสนอข่าวหรือแสดงความคิดเห็นในประเด็นสาธารณสุขของบุคคลตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ให้ถือว่าเป็นการจงใจใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบและไม่มีผลใช้บังคับ” ยกเว้นทำไปตามกฎหมายหรือจริยธรรมของอาชีพ

You May Also Like
อ่าน

กสม.ชี้หน่วยงานรัฐไทยเอี่ยวใช้สปายแวร์เพกาซัส ชงครม.สั่งสอบ-เรียกเอกสารลับ

กสม. เชื่อว่า มีการใช้สปายแวร์ เพกาซัสละเมิดสิทธิจริง โดยพิจารณาจากความน่าเชื่อถือของการตรวจสอบทางเทคนิคคอมพิวเตอร์ และบริบทแวดล้อมในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า หน่วยงานรัฐไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้สปายแวร์
อ่าน

สรุปคำพิพากษาคดีมาตรา 112 เดือนมีนาคม 2567

เดือนมีนาคม 2567 มีคำพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างน้อยหกคดี รวมแล้วมีคดีที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว 134 คดีจากทั้งหมด 301 คดี