22 July: หนังสะท้อนกระบวนการยุติธรรมที่เคารพสิทธิมนุษยชน

เขียนโดย Eleven

 

“หากลูกหรือคนในครอบครัวของคุณ โดนกราดยิงด้วยเหตุผลเพราะพวกเขาอาจเติบโตไปเป็นบุคคลที่ปกครองประเทศด้วยประชาธิปไตยเก๊ๆ จึงจำเป็นต้องถูกกำจัด คุณจะอยากลงโทษผู้ก่อการร้ายคนนั้นไหม และอย่างไร?”

นี่คือคำถามที่หนังเรื่องนี้ตั้งขึ้นให้กับคนดูที่เชื่อว่าตัวเองยึดมั่นในการอุดมการณ์การปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ว่าเมื่อมนุษย์อย่างเราถึงคราวโกรธแค้นจากการถูกกระทำ เราเองจะจัดการกับผู้กระทำด้วยหลักมนุษยธรรมตามหลักประชาธิปไตย หรือยอมปล่อยให้ความแค้นครอบงำและลงโทษคนผิดด้วยวิธีที่สะใจแทน

Movie-Review-01_TN

22 July เป็นหนังที่อิงเรื่องจริงจากเหตุการณ์สังหารหมู่เยาวชนลูกหลานนักการเมืองและคนชนชั้นสูงที่เกาะอูโทย่าเมื่อ 22 กรกฎาคม 2011 โดยผู้ก่อการร้ายที่มีแนวคิดขวาจัด ไบรวิค ที่อ้างว่าการกระทำนี้เป็นไปเพื่อช่วยนอร์เวย์ปลดแอกจากการปกครองแบบเสรีนิยม (ซึ่งในหนังไบรวิคใช้คำว่า “มาร์กซิส”) และนอกจากนี้ไบรวิคยังได้กล่าวโทษรัฐบาลนอร์เวย์ที่เปิดให้มุสลิมเข้ามาในประเทศด้วย

แม้ฉากกราดยิงเด็กๆ จะเริ่มและจบลงตั้งแต่ช่วงต้นเรื่อง แต่ผลกระทบและการจัดการต่อหลังจากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น คือสิ่งที่หนังต้องการเสนอ เริ่มจากประเด็นแรกคือสิทธิมนุษยชนในระบอบประชาธิปไตยของนอร์เวย์ผ่านการให้สิทธิต่างๆ กับไบรวิค ผู้ก่อการร้ายในเรื่อง ทำให้คนดูในประเทศโลกที่สามที่มีการปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอย่างเราเองก็อดคิดไม่ได้ว่า ทำไมผู้ก่อการร้ายถึงมีสิทธิมากมายขนาดนั้น ไม่ว่าจะเป็นสิทธิที่สามารถขอเลือกทนายในการแก้ต่าง สิทธิในการพูดอธิบายในศาลด้วยตัวเอง (แม้จะเป็นการพูดเพื่อประกาศจุดยืนลัทธิของเขาเพื่อหาแนวร่วมก็ตาม) หรือที่ตอนดูแล้วสงสัยมากก็คือ ทำไมวันขึ้นศาลผู้ก่อการร้ายถึงได้ใส่สูทผูกไท และโกนหนวดหน้าตาเกลี้ยงเกลาอย่างดี อดเทียบไม่ได้กับสภาพผู้ก่อการร้ายเวลาไปขึ้นศาลในข่าวตามประเทศอื่นๆ จุดนี้หนังพยายามสะท้อนให้เห็นวิธีการรับมือกับผู้ก่อการร้ายด้วยความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงของนอร์เวย์ ที่ไม่ยอมปล่อยให้อารมณ์และความแค้นเข้ามาขโมยสิทธิมนุษยชนไปจากใครก็แล้วแต่ แม้เขาผู้นั้นจะเป็นผู้ก่อการร้ายก็ตาม

ประเด็นที่สองที่หนังต้องการให้คนดูรู้สึกก็คือ การก้าวผ่านความเจ็บปวดที่ผู้อื่นกระทำต่อเรา ผ่านมุมมองความรู้สึกของเด็กที่ถูกยิงในเรื่อง วิลยาห์ ซึ่งต้องเจอทั้งความเจ็บปวดทางร่างกายที่โดนยิง และจิตใจเมื่อเขานึกถึงเหตุการณ์ในวันนั้น หลังจากถูกยิง วิลยาห์รู้สึกท้อแท้ว่าเขาน่าจะไม่สามารถกลับไปมีชีวิตที่ดีแบบเดิมได้เพราะต้องกลายเป็นคนพิการและความหวาดกลัวก็คอยกัดกินจิตใจของเขาเรื่อยมา แต่ในตอนจบ วิลยาห์กลับตัดสินใจที่จะเผชิญหน้ากับความกลัวด้วยการยอมให้ความในศาลต่อหน้าผู้ก่อการร้าย และเลือกที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขต่อไป เพราะเขารู้ว่าเขาเองยังมีคนรัก มีครอบครัวที่อบอุ่นที่คอยให้กำลังใจ ในขณะที่ไบรวิคไม่มีสักอย่างและต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว ประโยคนี้แสดงให้เห็นถึงความหวังของมนุษย์ที่ควรมี การมองโลกในด้านดีเพื่อให้มีกำลังใจในการใช้ชีวิตต่อและสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับโลก ซึ่งต่อมาวิลยาห์ได้ตัดสินใจศึกษาต่อทางด้านนิติศาสตร์ ในขณะที่ไบรวิคต้องติดคุกโดนขังเดี่ยวอย่างเดียวดาย

เมื่อดูหนังจบแล้ว ก็ได้แต่ตั้งคำถามกับตัวเองว่า หากเราเป็นหนึ่งในผู้โชคร้ายในเหตุการณ์ เราจะเลือกทางเดินในการโต้ตอบอย่างไร? ด่าทอทุบตีด้วยความโกรธแค้นหรือปล่อยให้ศาลเป็นผู้พิจารณาและจัดการตามกฎหมาย สุดท้ายคำตอบของเราจะเป็นตัวชี้วัดความเป็นประชาธิปไตยและปัญญาชนของเราซึ่งกำลังถูกทดสอบนั่นเอง นี่คือสิ่งที่หนังต้องการจะสื่อให้เราฉุกคิดว่าแนวการปกครองแบบประชาธิปไตยที่เราเชื่ออยู่นั้น ในความเป็นจริงเป็นเพียงประชาธิปไตยแบบเก๊ๆ หรือเปล่า?

You May Also Like
อ่าน

สมัครให้เยอะๆ และช่วยกระจายข้อมูล ประชาชนมีส่วนร่วมได้กับการเลือกสว.67

ระบบการเลือก สว. ในปี 2567 ยังเปิดกว้างให้ผลลัพธ์สุดท้ายออกมาได้หลากหลาย และการมีส่วนร่วมของประชาชนจะสำคัญมาก ทุกคนไม่ว่าจะมีสิทธิสมัครหรือไม่ก็ลงมือทำได้
อ่าน

อบรมออนไลน์ เตรียมพร้อมลงสมัคร/เป็นอาสา สว. 67

#สว67 จะยากแค่ไหน? อยากให้ทุกคนเข้าใจ อยากให้ทุกคนมาช่วยกัน ชวนทุกคนทั้งคนที่เตรียมลงสมัครและยังสมัครไม่ได้ มาร่วมการอบรมออนไลน์พร้อมเพรียง