เมื่อการรับมือโควิด 19 แบบไม่เผื่อใจรอ กลายเป็นความสำเร็จของไต้หวัน

ไต้หวันอีกหนึ่งในตัวอย่างของชาติที่รับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19ได้อย่างประสบความสำเร็จแม้จะไม่ได้เป็นสมาชิกองค์การอนามัยโลกก็ตาม ที่ผ่านมาไต้หวันมีสถานะที่ไม่ชัดเจนนักในเวทีโลก สาธารณรัฐประชาชนจีนอ้างนโยบายจีนเดียวและถือว่าไต้หวันเป็นดินแดนของจีน ขณะที่ไต้หวันถือว่าตัวเองเป็นรัฐที่มีอธิปไตยไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจของจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ด้วยอิทธิพลของจีนที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ในระยะหลังไต้หวันถูกกีดกันออกไปจากเวทีโลก
 
 
 
 
 
ในส่วนขององค์การอนามัยโลก แอนเดอรส์ ฟ็อกห์ รัสมุสเซิน อดีตนายกรัฐมนตรีของเดนมาร์กระบุในบทวิเคราะห์ของไทม์ว่า ก่อนหน้าปี 2559 ไต้หวันเคยเข้าร่วมประชุมในฐานะผู้แทนที่ไม่ใช่รัฐ แต่หลังจากนั้นคำขอของรัฐบาลไต้หวันในการเข้าร่วมเวทีกลับถูกปฏิเสธ หากต้องการเข้าร่วมการประชุมด้านเทคนิคสาธารณสุขขององค์การอนามัยโลก ไต้หวันจะต้องขอเข้าร่วมเป็นครั้งคราวไปและมักจะถูกกีดกันอยู่ตลอด และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19ในครั้งนี้ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น
 
 
 
คุกคามสื่อฮ่องกงหลังถามแทนไต้หวัน
 
 
 
การถูกกีดกันให้อยู่วงนอกของไต้หวันนำไปสู่คำถามของสื่อมวลชนฮ่องกง วันที่  27 มีนาคม 2563 ผู้สื่อข่าวสถานีวิทยุโทรทัศน์ฮ่องกง (RTHK) สัมภาษณ์บรูซ ไอล์วาร์ด ที่ปรึกษาอาวุโสและอดีตผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ประจำองค์การอนามัยโลกเรื่องการรับมือกับโรคระบาดในระดับสากล โดยเฉพาะไต้หวันที่มีอัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตต่ำ โดยช่วงหนึ่งได้ถามว่า องค์การอนามัยโลกจะพิจารณาสมาชิกภาพของไต้หวันอีกครั้งหรือไม่ ไอล์วาร์ดนิ่งเฉยสักพักหนึ่งก่อนจะบอกว่า ไม่ได้ยินคำถาม เมื่อถามซ้ำอีกครั้งเขาจึงกล่าวว่า ให้ไปคำถามถัดไปได้เลย ก่อนสายจะตัดไปและเมื่อต่อสายได้อีกครั้งไอล์วาร์ดตอบกลับคำถามเกี่ยวกับไต้หวันว่า ตอนนี้กำลังพูดถึงจีนและหากมองไปในพื้นที่อื่นๆ ก็ต่างทำได้ดีมาก
 
 
 
 
วันที่ 29 มีนาคม 2563 องค์การอนามัยโลกออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า คำถามเรื่องสมาชิกภาพของไต้หวันขึ้นอยู่กับสมาชิกขององค์การอนามัยโลก ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ขององค์การอนามัยโลก อย่างไรก็ตามองค์การอนามัยโลกได้ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เผชิญกับการแพร่ระบาดในครั้งนี้อย่างใกล้ชิดรวมทั้งผู้เชี่ยวชาญทางด้านสาธารณสุขของไต้หวัน ไต้หวันมีกรณีการติดเชื้อที่ต่ำเมื่อเทียบกับประชากร ที่ผ่านมาได้ติดตามอย่างใกล้ชิดและได้รวบรวมบทเรียนจากทุกพื้นที่รวมถึงไต้หวันเพื่อแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีไปในระดับโลก
 
 
หลังจากนั้นในเดือนเมษายน 2563 เอ็ดเวิร์ด เหยา เลขาธิการหน่วยงานการพัฒนาเศรษฐกิจและธุรกิจ ซึ่งเป็นองค์กรภายใต้รัฐบาลฮ่องกงกล่าวหา RTHK ว่า ละเมิดนโยบายจีนเดียวและภารกิจของ RTHK ในฐานะสื่อกระจายเสียงสาธารณะในการแสดงถึงอัตลักษณ์ของพลเมืองและอัตลักษณ์ของชาติ สร้างความเข้าใจในชาติและนำเสนอเรื่องหนึ่งประเทศสองระบบ ซึ่งการนำเสนอข่าวดังกล่าวละเมิดสิ่งที่กล่าวมา  เป็นที่รับรู้กันว่า สมาชิกภาพขององค์การอนามัยโลกขึ้นอยู่กับรัฐอธิปไตย RTHK ในฐานะหน่วยงานของรัฐควรมีความเข้าใจที่ถูกต้อง เหยายังเรียกร้อง RTHK ให้รับผิดชอบต่อเรื่องนี้
 
 
 
ด้าน RTHK ออกมาแย้งว่า รายการดังกล่าวไม่ได้ละเมิดนโยบายจีนเดียวและกฎหมายว่าด้วยการโทรทัศน์และวิทยุของฮ่องกงและคาดการณ์ว่า แถลงการณ์ดังกล่าวของเหยาออกมาท่ามกลางการกดดันของรัฐบาลจีน ขณะที่สหภาพของ RTHK ได้ออกแลถงการณ์หัวข้อว่า เราได้สูญเสียเสรีภาพในการตั้งคำถามและกล่าวหาว่า รัฐบาลทำลายเสรีภาพของสื่อมวลชนในฮ่องกง
 
 
ไม่มีคำตอบจากองค์การอนามัยโลก
 
 
ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด19 ไต้หวันแสดงออกต่อสาธารณะถึงความต้องการแบ่งปันข้อมูลและการรมีส่วนร่วมในประชาคมสาธารณสุขโลกตลอดมา แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับมากนักจากองค์การอนามัยโลกด้วยสถานะของไต้หวันที่ไม่ชัดเจน
 
 
 
ปลายปี 2562 หลังจากที่มีข้อมูลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดครั้งใหม่ ไต้หวันพยายามตรวจสอบข้อมูลและวันที่ 31 ธันวาคม 2562 ทางการไต้หวันส่งอีเมล์ตรงไปที่องค์การอนามัยโลกเพื่อเตือนถึงการแพร่เชื้อจากคนสู่คน (Human to human transmission) และขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวพร้อมระบุว่า มีแหล่งข่าวรายงานเรื่องผู้ป่วยที่มีอาการ “atypical pneumonia”  จำนวน 7 คนในอู่ฮั่น ประเทศจีน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขตอบกับสื่อมวลขนว่า กรณีดังกล่าวเชื่อว่า ไม่ใช่ซาร์ส อย่างไรก็ตามกำลังตรวจสอบตัวอย่างเชื้อและผู้ป่วยถูกแยกกักเพื่อทำการรักษาแล้ว แต่หลังส่งอีเมลดังกล่าวไปก็ไม่มีการตอบกลับจากองค์การอนามัยโลก
 
 
องค์การอนามัยโลกชี้แจงว่า อีเมล์ดังกล่าวไม่มีส่วนใดที่ระบุถึงการแพร่ระบาดจากคนสู่คน ด้านทางการไต้หวันออกแถลงการณ์ระบุว่า คำว่า  “atypical pneumonia”  ในจีนใช้คำนี้อ้างถึงโรคซาร์สที่สามารถแพร่ระหว่างคนด้วยกัน ในข้อความได้ระบุว่า มีการแยกตัวผู้ป่วยเพื่อทำการรักษา ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธาณสุขย่อมมองออกว่า มีความเป็นไปได้ที่จะมีการแพร่เชื้อจากคนสู่คน อย่างไรก็ตามในเวลานั้นยังไม่มีผู้ติดเชื้อในไต้หวันจึงไม่สามารถระบุและสรุปได้ว่า มีการแพร่เชื้อจากคนสู่คน
 
 
 
 
Chen Shih-chung รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ถ้าการแยกตัวผู้ป่วยเพื่อทำการรักษาไม่ใช่คำเตือนและสถานการณ์ไหนที่จะเป็นการเตือนได้  ที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลกถูกวิพากษ์วิจารณ์การรับมือและให้คำแนะนำเกี่ยวกับโควิด 19 หลายกรณี ซึ่งรวมทั้งกรณีที่กำลังเป็นข้อโต้แย้งระหว่างองค์การอนามัยโลกและไต้หวัน ช่วงต้นของการแพร่ระบาดองค์การอนามัยโลกยังไม่ประกาศว่า มีการแพร่เชื้อระหว่างคนสู่คนจนกระทั่งวันที่ 20 มกราคม 2563 จึงได้ประกาศอย่างเป็นทางการ
 
 
 
 
 
วันที่ 9 เมษายน 2563 เทโดรส เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกได้ตอบคำถามสื่อมวลชนถึงประเด็นที่หลายประเทศวิพากษ์วิจารณ์การทำงานขององค์การอนามัยโลกว่า เป้าหมายของพรรคการเมืองต่างๆควรจะต้องปกป้องชีวิตของประชาชนในประเทศนั้นๆ อย่าทำให้เรื่องไวรัสเป็นประเด็นทางการเมือง ถ้าต้องการหาประโยชน์จากประเด็นดังกล่าวและต้องการให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีกก็ทำเลย แต่ถ้าไม่ต้องการก็หลีกเลี่ยงการทำให้มันเป็นประเด็นการเมือง ขอให้กักกันประเด็นทางการเมืองเรื่องไวรัสไว้ ไม่มีความจำเป็นในการใช้โควิด 19 ในการเรียกคะแนนทางการเมือง
 
 
พร้อมทั้งกล่าวว่า 3 เดือนที่ผ่านมาเขาถูกโจมตีและเหยียดเชื้อชาติ ซึ่งมาจากไต้หวัน นำไปสู่การประท้วงของกระทรวงการต่างประเทศของไต้หวันเรียกร้องให้เกเบรเยซุสขอโทษไต้หวัน ขณะที่ไช่ อิงเหวิ่น ประธานาธิบดีตอบโต้กลับว่า หลายปีที่ผ่านมาไต้หวันถูกกีดกันออกจากองค์กรระหว่างประเทศและรู้ดีกว่าใครว่า การถูกเลือกปฏิบัติและถูกโดดเดี่ยวเป็นเช่นไร หากเกเบรเยซุสสามารถทนต่อแรงกดดันของจีนได้และมายือนไต้หวันเพื่อดูความพยายามในการต่อสู้กับโควิด 19 เขาจะได้เห็นว่า ชาวไต้หวันเป็นเหยื่อที่แท้จริงของการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม
 
 
 
อะไรคือแนวปฏิบัติที่ดีของไต้หวัน
 
 
 
อาจกล่าวได้ว่า การดำเนินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโดยไม่รั้งรอข้อมูลจากจีนและองค์การอนามัยโลกกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ไต้หวันประสบความสำเร็จในการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด 19  จนถึงวันที่ 13 เมษายน 2563 ไต้หวันมีผู้ติดเชื้อ 393 คนและผู้เสียชีวิต 6 คน จากจำนวนประชากรประมาณ 24 ล้านคน
 
 
 
 
วันที่ 31 ธันวาคม 2562 วันเดียวกันกับที่ไต้หวันส่งอีเมล์เตือนและขอข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก แม้ไม่ได้รับคำตอบแต่กรมควบคุมโรคของไต้หวันได้ออกมาตรการในการคัดกรองผู้โดยสารที่เดินทางเข้าประเทศมาจากอู่ฮั่นและจีน ต่อมาในวันที่ 5 มกราคม 2563 มีการเพิ่มมาตรการการตรวจบุคคลทุกคนที่มีประวัติเดินทางไปยังอู่ฮั่นในระยะเวลา 14 วันก่อนการเข้าประเทศ หลังจากนั้นจึงพบผู้ติดเชื้อรายแรกในวันที่ 20 มกราคม 2563 ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับที่ไต้หวันได้จัดตั้งศูนย์ควบคุมโรคระบาดกลาง
 
 
 
วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 ผู้ที่เดินทางหรือเปลี่ยนเครื่องมาจากจีน ฮ่องกงและมาเก๊าจะต้องกรอกข้อมูลการกักตัวและถูกกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ต่อมาในเดือนมีนาคม 2563 ตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นจากพลเมืองของไต้หวันที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ ทำให้ในวันที่ 19 มีนาคม 2563 ทางการได้ออกคำสั่งห้ามไม่ให้ชาวต่างชาติเข้าประเทศ ยกเว้นนักการทูต นักธุรกิจและบุคคลที่ได้รับการอนุญาตเป็นพิเศษ โดยผู้ที่เดินเข้าประเทศทั้งหมดรวมทั้งพลเมืองจะต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน
 
 
 
ไต้หวันนำเทคโนโลยีมาใช้ในการกักตัวครั้งนี้ด้วย เป็นความร่วมมือกับบริษัทโทรคมนาคม ก่อนเข้าประเทศต้องสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อกรอกเอกสารเรื่องสุขภาพหรือ "Health Declaration Form” ข้อมูลประวัติการเดินทางและประวัติสัมผัสต่างๆ และข้อมูลที่กรอกเหล่านี้จะถูกรวบรวมไปในระบบกักตัวและระบบ "Electronic Fences System" ทำให้ทางการสามารถติดตามว่า บุคคลที่ต้องกักตัวนั้นอยู่ในสถานที่ที่ระบุไว้ในเอกสารแต่แรกว่าจะใช้ในการกักตัวหรือไม่ ระหว่างการกักตัวผู้ที่ทำการกักตัวต้องวัดอุณหภูมิตัวเองตลอดและจะมีเจ้าหน้าที่โทรหรือไลน์ไปสอบถามอาการทุกวัน หากครบ 14 วันแล้วไม่มีข้อบ่งชี้โรคโควิด 19 ก็สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติ ทั้งระหว่างเวลาดังกล่าวทางการไต้หวันได้มีมาตรการในการให้ความช่วยเหลือเช่น การส่งอาหาร การเก็บขยะและการให้คำปรึกษาต่างๆ
 
 
 
หากบุคคลกักกันตัวออกนอกสถานที่ที่ระบุไว้ในเอกสาร เจ้าหน้าที่จะได้รับข้อความและจะมีการเข้าไปตรวจสอบสถานที่กักตัวที่ระบุไว้อย่างรวดเร็ว ผู้ที่ละเมิดการกักตัวออกนอกพื้นที่จะถูกปรับและควบคุมไว้ในสถานที่กักกันของรัฐเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคและอาจถูกปรับสูงสุดหนึ่งล้านเหรียญไต้หวัน
 
 
 
นอกจากนี้จากบทเรียนของการแพร่ระบาดของโรคซาร์สในปี 2546 ที่มีแหล่งกำเนิดมาจากจีนเช่นเดียวกัน ทำให้ไต้หวันได้มีการสำรองชุด PPE ไว้ก่อนหน้าแล้วสำหรับกรณีวิกฤตฉุกเฉินตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมโรคติดต่อ รวมทั้งมีการสั่งห้ามไม่ให้ส่งออกหน้ากากอนามัยที่ใช้ทางการแพทย์ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2563 หลังจากที่องค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่า มีการแพร่ระบาดจากคนสู่คนเพียง 2 วัน เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์มีแมสก์ใช้อย่างเพียงพอ
 
 
 
///////////////////////////////////////////////////////////////////////
อ้างอิง
https://www.who.int/news-room/detail/29-03-2020-information-sharing-on-covid-19
https://www.cdc.gov.tw/En/Bulletin/Detail/PAD-lbwDHeN_bLa-viBOuw?typeid=158
https://www.theguardian.com/world/2020/mar/30/senior-who-adviser-appears-to-dodge-question-on-taiwans-covid-19-response
https://www.theguardian.com/world/2020/apr/03/hong-kong-official-reprimands-tv-station-over-who-interview-that-mentioned-taiwan
https://www.cedb.gov.hk/speech/2020/pr02042020a.htm
https://www.scmp.com/news/world/united-states-canada/article/3079117/coronavirus-donald-trump-continues-tirade-against
http://taipeitimes.com/News/front/archives/2020/01/21/2003729605
https://www.boca.gov.tw/cp-220-5081-c06dc-2.html
https://www.cdc.gov.tw/File/Get/LO4IJGwYKrJ5urP3CQeLbw
https://www.telegraph.co.uk/global-health/science-and-disease/refuses-rule-human-to-human-spread-chinas-mystery-virus-outbreak/
https://www.reuters.com/article/us-health-coronavirus-taiwan/taiwan-who-spar-again-over-coronavirus-information-sharing-idUSKCN21T0BA