เปิดคำวินิจฉัย 2 ตุลาการเสียงข้างน้อย ไม่ยุบพรรคอนาคตใหม่

พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบไปแล้ว โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลงมติคะแนน 7:2 สื่อมวลชนทั้งหมดเผยแพร่คำวินิจฉัยกลางอันเป็นมติของเสียงส่วนใหญ่ที่ตัดสินยุบพรรค 

อีกเกือบเดือนต่อมา เว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญจึงเผยแพร่คำวินิจฉัยของตุลาการแต่ละคน เรียกว่า ‘คำวิจนิจฉัยส่วนตน’ ซึ่งแต่ละคนจะอธิบายเหตุผลว่าผิดหรือไม่ผิดอย่างไร มี 2 เสียงชี้ว่า อนาคตใหม่ไม่มีความผิดให้ต้องยุบพรรค คือ ทวีเกียรติ มานะกนิษฐ และชัช ชลวร ติดตามได้ในคำวินิจฉัยของสองตุลาการเสียงข้างน้อยว่าให้เหตุผลอย่างไรกันบ้าง

 

ประเด็นที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใช้พิจารณาคดี 

ในคดีนี้ตุลากาลศาลรัฐธรรมนูญแยกประเด็นการพิจารณาออกเป็น 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

ประเด็นที่หนึ่ง คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจยื่นคำร้องนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 หรือไม่ 

ประเด็นที่สอง มีเหตุให้ยุบพรรคตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 72 ประกอบมาตรา 92 หรือไม่ 

ประเด็นที่สาม คณะกรรมการบริหารพรรคจะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 วรรค 2 หรือไม่ นานเท่าใด

ประเด็นที่สี่ ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบ และถูกตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง จะไปจดทะเบียนตั้งพรรคใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีกไม่ได้ภายในกำหนด 10 ปี นับตั้งแต่วันที่พรรคถูกยุบ ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 94 วรรค 2 หรือไม่

โดยตุลาการเสียงข้างน้อยทั้งสองคนตัดสินเพียงประเด็นที่หนึ่ง และสองเท่านั้น เนื่องจากมีความเห็นไม่ยุบพรรค

 

ความเห็นตุลาการเสียงข้างน้อย 2 คน 

ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ: การกู้เงินของอนาคตใหม่แม้จะเป็นการให้ประโยชน์อื่นใดเกินกฎหมายกำหนด แต่ไม่ใช่อำนาจศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา

สรุปย่อ:

ในประเด็น กกต.มีอำนาจยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ เชื่อได้ว่าพรรคมีความผิดตาม ม.66 รับบริจาคเกิน 10 ล้านบาท แต่ไม่มีเหตุให้เชื่อได้ว่าผิดตาม ม.72 รับบริจาคทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นเหตุให้ยุบพรรค ดังนั้น บทลงโทษตาม ม.66 ย่อมเป็นไปตาม ม.124, 125 ซึ่งมีโทษทางอาญาแต่ไม่มีโทษยุบพรรค เมื่อเป็นคดีอาญาก็อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลยุติธรรม ไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญ จึงเห็นว่า กกต.ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญ 

ในประเด็นมีเหตุให้ยุบพรรคหรือไม่ เห็นว่า

(1) การกู้เงินถ้าเป็นไปโดยปกติทั่วไปทางธุรกิจบุคคลหรือนิติบุคคลสามารถทำได้ แต่การให้พรรคอนาคตใหม่กู้เงินของธนาธร ไม่เป็นไปตามวิสัยการกู้ยืมเงินตามปกติ ถือว่าเป็นการให้ “ประโยชน์อื่นใด” เกินกว่า 10 ล้านบาท จึงมีความผิดตาม ม.66 ซึ่งการให้กู้เงินจำนวนมากมีส่วนสำคัญที่ทำให้ธนาธรได้เป็นหัวหน้าพรรคจัดทีมงานของตนและได้แสดงออกซึ่งความเป็นเจ้าของพรรค และมีอิทธิพลต่อการบริหารงานของพรรคอนาคตใหม่ และเพื่อขจัดอิทธิพลดังกล่าวให้ลงโทษตาม ม.124 และ ม.125 ต่อผู้รับบริจาคและผู้บริจาค   

(2) ในส่วนของพรรคอนาคตใหม่ ทำผิดตาม ม.72 จนเป็นเหตุให้ยุบพรรคหรือไม่ เห็นว่าการรับบริจาคที่เป็นความผิดตาม ม.72 ต้องเป็นกรณีที่ผู้บริจาคนำเงินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งต้องมีความผิดมาก่อนที่จะได้รับเงินมา เช่น เงินที่มาจากการค้ายาเสพติดหรือฟอกเงินมาบริจาค และพรรคการเมืองที่รับบริจาคต้องรู้ว่าเป็นเงินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย 

แม้การกระทำของธนาธรและพรรคอนาคตใหม่จะผิด ม.66 แต่เมื่อไม่ปรากฏว่า เงินที่ธนาธรนำมาให้พรรคอนาคตใหม่กู้นั้นเป็นเงินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่ผิด ม.72

 

สรุปคำวินิจฉัยส่วนตน:

ในปี 2562 พรรคอนาคตใหม่ได้รับบริจาคเงินจากธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค จำนวน 8,500,000 บาท นอกจากนั้นในระหว่างวันที่ 2 มกราคมถึงวันที่ 11 เมษายน 2562 พรรคอนาคตใหม่ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินจากธนาธร จำนวน 161,200,000 บาท และได้รับเงินกู้ยืมครบถ้วนแล้ว และเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562 พรรคอนาคตใหม่ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินจากธนาธรอีกจำนวน 30,000,000 บาท และได้รับเงินกู้ยืมดังกล่าวในวันทำสัญญาจำนวน 2,700,000 บาท โดยในการกู้ยืมเงินดังกล่าวเป็นไปตามมติของคณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ 

ต่อมาพรรคอนาคตใหม่ได้ชำระเงินกู้ยืมบางส่วนคืนสามครั้งรวมเป็นเงิน 72,000,000 บาท ตามสัญญากู้ยืมเงินมีการระบุให้พรรคอนาคตใหม่ต้องเสียดอกเบี้ยด้วย แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่า พรรคอนาคตใหม่ได้ชำระดอกเบี้ยให้แก่ธนาธรแต่อย่างใด

การกู้เงินถ้าเป็นไปโดยปกติทั่วไป ทั้งทางธุรกิจบุคคลและนิติบุคคลสามารถทำได้โดยชอบ และแม้ในทางบัญชีไม่ถือเป็นรายได้ก็จริง แต่การที่พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจากธนาธร รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 191,200,000 บาท แม้ต่อมาจะได้รับชำระคืนแล้วบางส่วน แต่การให้กู้ยืมเงินดังกล่าวไม่ปรากฏว่า พรรคอนาคตใหม่มีหลักประกันที่น่าเชื่อถือว่า สามารถชำระหนี้กู้ยืมดังกล่าวกับดอกเบี้ยตามที่กำหนดไว้ในสัญญาได้ และเมื่อพรรคอนาคตใหม่ไม่ชำระดอกเบี้ยรายเดือนตามสัญญา ก็ไม่ปรากฏว่า ธนาธรจะทำการใดที่แสดงถึงการบังคับชำระหนี้สินคืน กลับทำสัญญาแก้ไขระยะเวลาชำระดอกเบี้ยให้พรรคอนาคตใหม่ที่ตนเองเป็นหัวหน้าพรรคอยู่ ผิดวิสัยการกู้ยืมเงินตามปกติทั่วไป ซึ่งเป็นเพราะหัวหน้าพรรคผู้กู้เงิน และผู้ให้กู้เงินเป็นบุคคลเดียวกัน

ฉะนั้นจึงเป็นกรณีที่ธนาธรให้ประโยชน์อื่นใดแก่พรรคอนาคตใหม่ซึ่งมีมูลค่าเกิน 10,000,000 บาทต่อปี ต้องห้ามตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 66 วรรคสอง อันเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้หนึ่งผู้ใดมีอิทธิพลต่อพรรคการเมืองโดยอาศัยความได้เปรียบทางการเงินมาครอบงำพรรค จนทำให้พรรคสูญเสียความเป็นสถาบันทางการเมืองที่น่าเชื่อถือของประชาชน

การให้กู้เงินจำนวนมากดังกล่าวมีส่วนสำคัญที่ทำให้ธนาธรได้เป็นหัวหน้าพรรคจัดทีมงานของตน และได้แสดงออกซึ่งความเป็นเจ้าของพรรค และมีอิทธิพลต่อการบริหารพรรคอนาคตใหม่

ด้วยเหตุนี้เพื่อขจัดอิทธิพลลักษณะดังกล่าวต่อพรรคการเมือง พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 124 จึงให้ลงโทษผู้บริจาค และมาตรา 125 ให้พรรคการเมืองที่ได้รับผลประโยชน์อื่นใดตามกำหนดในมาตรา 66 วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท และให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมือง และกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีกำหนดห้าปีเพื่อไม่ให้มีอิทธิพลอีกต่อไป เพื่อให้สมาชิกพรรคอื่นได้เลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่เข้ามาบริหารพรรคการเมืองต่อไป 

เงินและประโยชน์อื่นใดที่เกินจากมูลค่าที่กำหนดไว้ให้ตกเป็นของกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง เพื่อให้นำมาสนับสนุนพรรคการเมืองและส่งเสริมประชาธิปไตย แต่อำนาจที่จะพิจารณาการลงโทษเป็นอำนาจของศาลยุติธรรม

ส่วนการที่พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจากธนาธรเป็นการกระทำต้องห้ามตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 72 หรือไม่ เห็นว่า การตีความกฎหมายต้องดูบทบัญญัติตามตัวอักษรประกอบกับเจตนารมณ์ตามบทบัญญัตินั้น มาตรา 72 ที่มีความมุ่งหมายคือ ไม่ต้องการให้พรรคการเมืองเป็นแหล่งฟอกเงินที่ได้มาโดยผิดกฎหมาย โดยมีเจตนารมณ์สำคัญเพื่อป้องกันไม่ให้เงินหรือทรัพย์สินอันมีที่มาไม่ชอบด้วยกฎหมายได้รับการบริจาคเข้าสู่พรรคการเมือง บทบัญญัตินี้เป็นทำนองเดียวกันกับความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน 2542 ซึ่งต้องมีการกระทำความผิดมูลฐานมาก่อน หรือความผิดฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 ซึ่งต้องเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดตามกฎหมายกำหนดมาก่อนแล้ว

พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 72 จึงเป็นบทบัญญัติที่มีขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้พรรคการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายจากบุคคลหรือกลุ่มบุคคล เช่น ผู้ค้ายาเสพติด เจ้าของบ่อนการพนันเถื่อน เป็นมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้บุคคล กลุ่มบุคคล หรือนักการเมืองที่ได้เงินหรือทรัพย์สินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือได้มาจากการกระทำความผิดนำเงินมาบริจาคให้พรรคการเมืองสำหรับใช้เป็นทุนทางการเมืองเพื่อให้ตนเองได้เข้ามามีอิทธิพลครอบงำพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมที่อาจนำไปสู่การแสวงหาประโยชน์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พรรคการเมืองมีหน้าที่ต้องเอาใจใส่ถึงที่มาของเงินดังกล่าว

การรับบริจาคตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 72 อันเป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคตามมาตรา 92 นั้นต้องเป็นกรณีที่ผู้บริจาคนำเงินที่ตนได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายมาบริจาค และพรรคการเมืองผู้ที่รับบริจาคนั้นรู้หรือควรรู้ว่า เป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยไม่ชอบตามกฎหมาย

กรณีนี้หากพิจารณาว่า การบริจาคเงินดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบตามมาตรา 66 แล้วถือว่า พรรคอนาคตใหม่รับเงินมาโดยรู้หรือควรรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบตามกฎหมาย ตามมาตรา 72 จะมีผลให้มาตรา 66 อันเป็นบทเฉพาะเรื่องการรับเงินเกินกว่าสิบล้านบาท แทบไม่มีที่ใช้ เนื่องจากมาตรา 72 ครอบคลุมไปหมด 

เห็นว่า การกระทำจากการกู้เงินดังกล่าวแม้จะเป็นการให้ประโยชน์อื่นใดเกินกว่าสิบล้านบาท เป็นการต้องห้ามตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 66 วรรคสอง แต่ไม่ปรากฏว่า เงินดังกล่าวเป็นเงินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นจึงไม่เป็นการกระทำต้องห้ามตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 72 อันเป็นเหตุให้ยุบพรรคอนาคตใหม่

ในประเด็นพิจารณาว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 หรือไม่ 

เห็นว่า พ.ร.ป.วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7(13) ประกอบ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีเมื่อมีพยานหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 วรรคหนึ่ง คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงจะมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งตามคำร้องนี้คือ มาตรา 92 วรรคหนึ่ง(3) ประกอบกับมาตรา 72 

พิจารณาแล้วไม่ปรากฏว่า มีเหตุอันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนตามมาตรา 72 คงเหลือที่เหตุตามมาตรา 66 วรรคสอง ซึ่งตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 125 ได้กำหนดบทลงโทษให้เป็นอำนาจพิจารณาของศาลยุติธรรม ไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญ จึงเห็นว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งไม่มีอำนาจยื่นคำร้องนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญ และเมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่ต้องพิจารณาในประเด็นอื่น

อ่านคำวินิจฉัยฉบับเต็มของทวีเกียรติ ได้ที่นี่!

 

ชัช ชลวร: การกู้เงินโปร่งใสไม่อำพรางส่วนลดดอกเบี้ย แม้ถือเป็นประโยชน์อื่นใด แต่ก็ไม่มีหลักฐานให้พิสูจน์ได้ว่าเกินกฎหมายกำหนดหรือไม่

สรุปย่อ: 

ในประเด็น กกต. มีอำนาจยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ ที่ประชุม กกต.มีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการดำเนินการที่ไม่จำเป็นต้องสืบสวนก่อน ตาม ม.41 ของกฎหมาย กกต. เพราะ กกต. “มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า” พรรคทำผิดจริง 

กกต.เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญย่อมมีดุลพินิจที่จะพิจารณาหลักฐานใดๆ ว่ามีเหตุให้ต้องสืบสวนต่อหรือไม่ หมายความว่า โทษยุบพรรคตาม ม.92 ของกฎหมายพรรคการเมือง ไม่อยู่ในบังคับของ ม.41 ของกฎหมาย กกต. ดังนั้น หาก กกต.เห็นว่าหลักฐานมีเพียงพอก็ไม่ต้องสืบสวนต่อ และย่อมยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

ในประเด็นมีเหตุให้ยุบพรรคหรือไม่ 

เห็นว่า “เงินกู้” ไม่ใช่ “เงินบริจาค” หรือ “บริจาคประโยชน์อื่นใด” ต่อพรรคการเมือง และไม่ใช่ “รายได้” แต่เป็น “หนี้สิน” ของพรรคการเมืองด้วย 

(1) ถือว่าสัญญากู้ยืมเงินทั้งสองฉบับเกิดขึ้นจากความสมัครใจของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย เนื่องจากเป็นกรณีของพรรคการเมืองทำนิติกรรมทางแพ่งกับบุคคลภายนอก แม้ว่าธนาธรจะมีฐานะเป็นหัวหน้าพรรคก็ตาม พรรคอนาคตใหม่ต้องมีหน้าที่ในการชำระหนี้จนครบ การกู้ยืมเงินของพรรคอนาคตใหม่ไม่มีข้อเท็จจริงใดที่แสดงให้เห็นว่า กระทำไปโดยไม่สุจริต เช่น รายงานงบการเงินประจำปีตามกฎหมายกำหนดให้ กกต. เพื่อให้มีการตรวจสอบ และสาธารณชนสามารถตรวจสอบรับรู้เรื่องการกู้เงินอย่างเปิดเผย แสดงถึงความโปร่งใส ไม่ใช่การทำนิติกรรมอำพรางตามที่ กกต.กล่าวอ้าง

อีกทั้ง กกต.ยังไม่มีข้อเท็จจริงใดที่แสดงให้เห็นว่า ส่วนต่างดอกเบี้ยของสัญญากู้ยืมเงินสองฉบับ เมื่อคำนวณออกมาแล้วจะเป็น “การบริจาคประโยชน์อื่นใด” ให้พรรคอนาคตใหม่เกินจำนวน 10 ล้านบาท จากข้อเท็จจริงในสัญญากู้ฉบับแรกที่กำหนดการจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี เห็นว่าเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และในสัญญากู้ฉบับที่สอง แม้จะกำหนดการจ่ายดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี ซึ่งน้อยกว่ากฎหมายกำหนดร้อยละ 5.5 ต่อปี (ปกติควรจะกำหนดร้อยละ 7.5 ต่อปี) ซึ่งในส่วนนี้อาจจะนับเป็นการ “บริจาคประโยชน์อื่นใด” ที่ธนาธรให้แก่พรรคอนาคตใหม่ได้ แต่เมื่อไม่มีข้อเท็จจริงจากฝ่าย กกต.ที่แสดงให้เห็นว่าจำนวนส่วนต่างดอกเบี้ยที่น้อยกว่ากฎหมายกำหนดนั้น รวมกับเงินบริจาคส่วนอื่นของธนาธร แล้วจะมีจำนวนเกินกว่า 10 ล้านบาท ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ตาม ม.66 จึงไม่มีข้อเท็จจริงที่แสดงว่าพรรคอนาคตใหม่และธนาธรมีการกระทำผิดกฎหมายเกิดขึ้น

(2) ในเรื่องส่วนลดดอกเบี้ยจะถือเป็นการบริจาคประโยชน์อื่นใดหรือไม่ เห็นว่า พรรคอนาคตใหม่และธนาธรไม่มีเจตนาในการปกปิดการบริจาคเพราะมีความเห็นว่า การให้กู้เงินแก่พรรคการเมืองสามารถกระทำได้โดยสุจริตจึงไม่มีข้อควรกล่าวหาว่ามีการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายเพราะไม่มีแนววินิจฉัยเรื่องดังกล่าวก่อนหน้า และเมื่อพยานหลักฐานที่ กกต.นำมาไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟัง จึงไม่มีเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่

 

สรุปคำวินิจฉัยส่วนตน: 

ประเด็นที่หนึ่ง คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่

ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองได้ หากมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า มีพรรคการเมืองกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่จำเป็นต้องวางระเบียบกำหนดขั้นตอนกระบวนการพิจารณายื่นคำร้องขอให้สั่งยุบพรรคการเมืองตามมาตรา 92 ส่วนมาตรา 93 ที่บัญญัติในวรรคหนึ่งว่า เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนว่า พรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 92 ให้นายทะเบียนรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน พร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

หากนายทะเบียน ในที่นี้คือเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งจะดำเนินการเพื่อให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำวินิจฉัย คณะกรรมการการเลือกตั้งก็สามารถวางหลักเกณฑ์และวิธีการที่ให้นายทะเบียนต้องปฏิบัติเพื่อรวบรวมข้อเท็จจริง ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ออกหลักเกณฑ์และวิธีการไว้แล้วตามระเบียบ สำหรับคดีนี้คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยไม่มีการสืบสวนก่อนนั้น เพราะอ้างว่า มีหลักฐานอันสมควรเชื่อได้ว่า พรรคอนาคตใหม่กระทำตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) โดยมีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 ไม่ปรากฏว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณามติโดยไม่ชอบด้วย พ.ร.ป.กกต. 2560 และการปฏิบัติก็เป็นไปตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ

ตาม พ.ร.ป.กกต. 2560 มาตรา 41 วรรคหนึ่ง ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องให้มีการสอบสวนก่อนยื่นคำร้อง คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นองค์กรอิสระมีหน้าที่และอำนาจดูแลการดำเนินงานของพรรคการเมืองให้เป็นไปตามกฎหมาย ย่อมมีดุลพินิจวินิจฉัยโดยอำนาจหน้าที่อย่างสมบูรณ์ว่า มีเหตุให้ต้องมีการสืบสวนต่อไปหรือไม่ ความตามมาตรา 92 วรรคหนึ่งของ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.ป.กกต. 2560 มาตรา 41 วรรคหนึ่ง เมื่อไม่อยู่ในเงื่อนไขต้องกระทำตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ คณะกรรรมการเลือกตั้งเห็นว่า มีหลักฐานอันควรเชื่อเพียงพอแล้ว ไม่ต้องสอบสวนต่อไป คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงมีอำนาจในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้กระบวนพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรใช้อำนาจตุลาการมีหลักประกันการให้ความเป็นธรรมในการต่อสู้คดีของคู่ความทุกฝ่ายได้ 

ประเด็นที่สอง มีเหตุให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 72 ประกอบมาตรา 92 หรือไม่

พรรคอนาคตใหม่จดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2561 พรรคในฐานะผู้กู้ และธนาธร จึงรุ่งเรื่องกิจ หัวหน้าพรรค ในฐานะผู้ให้กู้ ทำสัญญากู้ยืมเงินฉบับที่หนึ่งลงวันที่ 2 มกราคม 2562 เป็นเงินจำนวน 161,200,000 บาท โดยพรรคอนาคตใหม่ในฐานะผู้กู้จะเสียดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินกู้ กำหนดส่งดอกเบี้ยทุกเดือนจนกว่าสัญญาจะสิ้นสุดลง หากพรรคผิดชำระหนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน จะต้องรับผิดเบี้ยปรับวันละ 100 บาท จนกว่าจะชำระต้นเงินกู้คงค้าง ดอกเบี้ยและเบี้ยปรับในงวดที่ผิดนัดเสร็จสิ้น โดยกำหนดชำระภายในสามปี และในกรณีที่พรรคชำระต้นเงินกู้บางส่วน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ให้คำนวณจากต้นเงินกู้เท่าที่คงค้างชำระ ต่อมาพรรคอนาคตใหม่ชำระเงินคืน 3 ครั้งรวม 72,000,000 บาท

สัญญากู้ยืมเงินวันที่ 11 เมษายน 2562 พรรคอนาคตใหม่กู้เงินเพิ่มเติมอีกเป็นเงิน 30,000,000 บาท โดยเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 ต่อปีของต้นเงินกู้เท่าที่ยังคงค้าง ต่อมาพรรคได้ชำระเงินกู้ยืมบางส่วนพร้อมเบี้ยปรับรวมสามครั้ง เป็นเงิน 12,345,188.04 บาท พรรคอนาคตใหม่ได้ชี้แจงข้อกล่าวหาต่อศาลและรับว่า มีการแก้ไขสัญญากู้ยืมเงินในส่วนดอกเบี้ยจากเดิมรายเดือนเป็นรายปี

ประเด็นแห่งคดีนี้มีว่า การที่พรรคอนาคตใหม่กู้เงินจากธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 72 ที่บัญญัติไว้ว่า ห้ามไม่ให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า มีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบโดยกฎหมายหรือไม่

เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 72 มีความมุ่งหมายป้องกันไม่ให้เงินหรือทรัพย์สิน ซึ่งได้มาหรือมีที่มาไม่ชอบด้วยกฎหมายถูกนำไปใช้ในกิจกรรมทางการเมืองโดยวิธีการบริจาคให้เป็นรายได้ของพรรคการเมือง ซึ่งจะทำให้พรรคการเมืองถูกใช้เป็นเครื่องมือของผู้บริจาคหรือผู้บริจาคเข้ามามีอิทธิพลครอบงำกิจกรรมของพรรคเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยไม่ชอบจากรัฐ การรับบริจาคในลักษณะเช่นนี้ถือว่า พรรคการเมืองเป็นผู้มีส่วนร่วมหรือสนับสนุนการกระทำความผิดกฎหมาย พรรคการเมืองมีหน้าที่ต้องตรวจสอบอย่างรอบคอบ หากที่มาของเงินบริจาคขัดต่อมาตรา 72 จะต้องไม่รับบริจาค หากรับพรรคการเมืองดังกล่าวจะต้องโทษตามกฎหมายกำหนด

คำว่า เงินกู้ จะอยู่ในความหมายของคำว่า การบริจาคประโยชน์อื่นใด หรือไม่ เห็นว่า พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 4 นิยามคำว่า บริจาค หมายความว่า การให้เงินหรือทรัพย์สินแก่พรรคการเมืองนอกจากค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคการเมืองและให้หมายความรวมถึงการให้ประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมืองที่สามารถคำนวณเป็นเงินได้ตามคณะกรรมการกำหนดด้วย และคำว่า ประโยชน์อื่นใด หมายความรวมถึงการให้ใช้ทรัพย์สิน การให้บริการ หรือการให้ส่วนลดโดยไม่มีค่าตอบแทนหรือมีค่าตอบแทนที่ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้า และการให้หนี้พรรคการเมืองเป็นลูกหนี้ลดลงหรือระงับหนี้สินไปด้วย

เห็นว่า พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ไม่ได้บัญญัติข้อห้ามเกี่ยวกับการกู้เงิน พรรคการเมืองอาจมีหนี้สินได้และกฎหมายรับรู้ว่า พรรคการเมืองอาจสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองเมื่อมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 91 วรรคหนึ่ง (6) แสดงโดยนัยว่า พรรคการเมืองย่อมมีอำนาจก่อหนี้ผูกพันตนเองได้ หากก่อหนี้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพรรคการเมือง การกระทำดังกล่าวก็ไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย ดังนั้นเงินกู้โดยปกติทั่วไปจึงไม่ใช่การบริจาคเพื่อประโยชน์อื่นใดและรวมทั้งไม่ใช่การบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่พรรคการเมืองของผู้กู้

ส่วนคำว่า “เงินกู้” จัดเป็นรายได้ของพรรคการเมืองหรือไม่ พิจารณา พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ประกอบกับมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 18 เรื่องรายได้ ถือว่า เงินกู้เป็นเงินซึ่งผู้กู้มีภาระหน้าที่ต้องชำระคืน จึงไม่ใช่รายได้ และไม่อยู่ในความหมายของเงินบริจาค

คงเหลือประเด็นที่พิจารณาว่า การก่อมูลหนี้ของพรรคการเมืองเข้าลักษณะพรรคการเมืองได้รับการเอื้อประโยชน์ที่สามารถตีราคาเป็นทรัพย์สินในลักษณะประโยชน์อื่นใด หรือไม่ การกู้ยืมตามปกติทางการค้าไม่อาจถือว่าผู้ให้กู้ยืมให้ประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมือง จำนวนเงินกู้ยืมมากน้อยเท่าใดก็จัดเป็นหนี้สินที่ต้องชำระคืน จึงไม่ใช่รายได้ แต่ในกรณีที่ผู้ให้กู้ยืมให้สิทธิพิเศษแล้วสามารถตีเป็นมูลค่าได้ เช่น การคิดดอกเบี้ยน้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาด มูลค่าที่ได้ดังกล่าวต้องพิจารณาว่า เกิดจากการได้สิทธิพิเศษเพื่อวัตถุประสงค์ใด หากมีเจตนาที่จะให้พรรคการเมืองได้รับประโยชน์แตกต่างจากลูกค้ารายอื่นอย่างมีนัยสำคัญ ประโยชน์ที่ได้รับจากการเสียดอกเบี้ยน้อยลงอาจถือว่าเป็นการบริจาคประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองด้วยเช่นกัน

ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ การกู้ยืมเงินดังกล่าวเป็นไปตามปกติทางการค้า ไม่มีลักษณะเป็นการบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่พรรคอนาคตใหม่หรือไม่ เห็นว่า สัญญาการกู้ยืมเงินเกิดขึ้นจากความสมัครใจของคู่สัญญา เนื่องจากเป็นกรณีของพรรคการเมืองทำนิติกรรมทางแพ่งกับบุคคลภายนอก แม้ว่าธนาธรจะมีฐานะเป็นหัวหน้าพรรคก็ตาม พรรคอนาคตใหม่ต้องผูกพันที่จะชำระเงินกู้จนกว่าจะชำระหนี้สินเสร็จสิ้น การกู้ยืมเงินของพรรคอนาคตใหม่ไม่มีข้อเท็จจริงใดที่แสดงว่า กระทำไปโดยไม่สุจริต มีการรายงานงบการเงินประจำปีตามกฎหมายกำหนดแก่คณะกรรมการการเลือกตั้งให้มีการตรวจสอบ สาธารณชนสามารถรับรู้ได้ แสดงถึงความโปร่งใส ไม่ใช่กรณีการทำนิติกรรมอำพรางตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกล่าวอ้าง

ทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งยังไม่มีข้อเท็จจริงใดที่แสดงให้เห็นว่า ธนาธรฝ่าฝืนมาตรา 66 กล่าวคือ สัญญากู้เงินฉบับแรก วงเงิน 161,200,000 บาท คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5  ต่อปีไม่แตกต่างจากสถาบันการเงินทั่วไป สัญญากู้เงินฉบับที่สอง วงเงิน 30,000,000 บาท คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อปี ซึ่งมีอัตราที่แตกต่างจากฉบับแรกร้อยละ 5.5 ต่อปี แต่ไม่มีข้อเท็จจริงจากคณะกรรมการการเลือกตั้งว่า ส่วนลดดังกล่าวเมื่อคำนวณรวมกับเงินบริจาคต่อปีของธนาธรแล้วจะมีจำนวนเกินกว่าที่กำหนดในมาตรา 66 หรือไม่

ส่วนลดดอกเบี้ยจะถือเป็นการบริจาคประโยชน์อื่นใดหรือไม่ เห็นว่า พรรคอนาคตใหม่และธนาธรไม่มีเจตนาในการปกปิดการบริจาค เพราะมีความเห็นว่า การให้กู้เงินแก่พรรคการเมืองสามารถกระทำได้โดยสุจริต จึงไม่มีข้อควรกล่าวหาว่า มีการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายเพราะไม่มีแนววินิจฉัยเรื่องดังกล่าวก่อนหน้า และเมื่อพยานหลักฐานที่คณะกรรมการการเลือกตั้งไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟัง จึงไม่มีเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่

อ่านคำวินิจฉัยฉบับเต็มของชัช ได้ที่นี่!