ถูก “ไล่ออก” กะทันหัน ลูกจ้างยื่นฟ้องนายจ้างเองได้ไม่ต้องกลัวเสียเงิน

ในสถานการณ์ที่โควิด-19 ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจบางประเภทได้รับผลกระทบอย่างหนักเนื่องจากรัฐออกคำสั่งให้ปิดกิจการชั่วคราว เช่น ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น ทำให้มีลูกจ้างแรงงานหลายคนที่อาจถูกพักงาน หรือแม้กระทั่งโดนไล่ออกจากงานเพราะผู้ประกอบการรับภาระไม่ไหว

ซึ่งการ “ไล่ออก” จากงานนั้น หากนายจ้างมีเหตุจำเป็นต้องเลิกจ้างและจ่ายค่าชดเชยครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด ก็ไม่มีภาระผูกพันต่อกันอีก แต่ก็มีผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยที่ใช้โอกาสนี้เลิกจ้างลูกจ้างกะทันหันโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย และอาจจะไม่จ่ายค่าแรงที่ทำงานไปก่อนหน้านั้นด้วย ซึ่งเป็นการเลิกจ้างที่ไม่ถูกต้อง และไม่สามารถอ้างสถานการณ์โควิด-19 เพื่อเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้

ในสถานการณ์วิกฤติทางเศรษฐกิจ กรณีที่ลูกจ้างถูกเลิกจ้างชนิดถูก “ลอยแพ” โดยไม่ได้รับค่าชดเชย และไม่ได้รับการดูแลใดๆ มีกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องและคุ้มครองสิทธิของลูกจ้างให้เรียกร้องเอาค่าชดเชยจากนายจ้างได้ ดังนี้ 

 

การดำเนินการฟ้องนายจ้างทำได้สองทาง

หน้าที่ของนายจ้างที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้ครบ และจ่ายชดเชยเมื่อเลิกจ้างนั้น กำหนดไว้ในมาตรา 118 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2542 ซึ่งถือว่าเป็นสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานที่ลูกจ้างทุกคนทุกระดับต้องได้รับ

หากนายจ้างไม่จ่ายให้ครบ ช่องทางที่จะให้ลูกจ้างเรียกร้องสิทธิที่ได้รับเงินจากนายจ้างทำได้สองวิธี คือ 

หนึ่ง ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน

ทั้งในกรณีที่ถูกเลิกจ้าง และในกรณีที่นายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เช่น จ่ายค่าจ้างไม่ถูกต้อง ไม่จ่ายค่าทำงานล่วงเวลา หรือจ่ายค่าทำงานในวันหยุดไม่ครบ เป็นต้น และลูกจ้างที่มีความประสงค์ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มีสิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน โดยไปติดต่อได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

เมื่อยื่นคำร้องแล้วพนักงานตรวจแรงงาน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐจะเข้ามาสอบสวนข้อเท็จจริง หากเห็นว่า ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายตามกฎหมาย พนักงานตรวจแรงงานก็จะออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างให้ครบถ้วน ซึ่งอาจจะจ่ายกันโดยตรงหรือจ่ายให้กับพนักงานตรวจแรงงานเป็นตัวกลางในการรับเงินและนำไปมอบให้ลูกจ้างก็ได้ ถ้าหากลูกจ้างหรือนายจ้างไม่พอใจกับคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน ก็ยังสามารถนำคดีไปฟ้องต่อศาลแรงงานได้ต่อไป

สอง ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแรงงานโดยตรง 

ศาลแรงงาน เป็นศาลที่จัดตั้งขึ้นเป็นพิเศษเพื่อพิจารณาคดีเกี่ยวกับข้อพิพาทระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง รวมถึงคดีความที่ลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้าง หรือค่าชดเชยในการเลิกจ้างด้วย ตามมาตรา 8 แห่ง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 (พ.ร.บ.ศาลแรงงานฯ) ซึ่งศาลนี้ออกแบบกระบวนการพิจารณาคดีมาให้สะดวกสำหรับลูกจ้างซึ่งอาจจะมีสถานะทางเศรษฐกิจที่เสียเปรียบ

ทั้งสองวิธีลูกจ้างสามารถทำได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องใช้ทนายความ และไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ 

เอกสารสำคัญที่ควรจะเตรียมในการยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน และศาลแรงงาน

  • กรอกแบบฟอร์ม คร.7 โดยรับแบบฟอร์มได้ที่สำนักงานฯ *ใช้กรณียื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน 
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของลูกจ้างผู้ร้อง
  • ชื่อนายจ้าง/สถานประกอบกิจการ
  • สถานที่ตั้งของที่ทำงานอย่างชัดเจน และเบอร์โทรศัพท์
  • วันที่ เดือน ปี พ.ศ. ที่เริ่มทำงาน และวันที่ทำงานวันสุดท้าย รวมถึงรายละเอียดสภาพการจ้าง สภาพการทำงาน
  • พฤติกรรมที่นายจ้างทำไม่ถูกต้องตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานต่อลูกจ้าง
  • อธิบายข้อเท็จจริงตามเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น
  • พยานเอกสาร พยานวัตถุ พยานบุคคล ที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี)

 

กระบวนการยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน

เมื่อลูกจ้างตัดสินใจจะยื่นเรื่องร้องเรียนต่อพนักงานตรวจแรงงาน สามารถไปติดต่อได้ที่สำนักงานสวัสดิการ และคุ้มครองแรงงาน ตามท้องที่ที่ลูกจ้างทำงานอยู่ หรือที่เป็นภูมิลำเนาของนายจ้าง

หากผู้ร้อง (ลูกจ้าง) ไม่สะดวกที่จะมายื่นคำร้องด้วยตนเอง ผู้ร้องสามารถยื่นคำร้องผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (อินเทอร์เน็ต) ก็ได้ ทางเว็บไซต์ของกระทรวงแรงงาน หรือติดต่อสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 3 ในส่วนของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

เมื่อพนักงานตรวจแรงงานได้รับคำร้องแล้ว พนักงานตรวจแรงงานจะเริ่มสอบสวนข้อเท็จจริง และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานกำหนดกรอบเวลาให้พนักงานตรวจแรงงานต้องทำงานให้เสร็จและออกคำสั่งเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวภายใน 60 วันนับตั้งแต่ยื่นคำร้อง ถ้าพนักงานตรวจแรงงานต้องการขอขยายระยะเวลา สามารถขอเพิ่มได้ไม่เกิน 30 วันโดยร้องขอต่ออธิบดีกรมแรงงาน (กระบวนการช้าสุดคือ 90 วัน)

ซึ่งก่อนพนักงานตรวจแรงงานจะมีคำสั่งตัดสินออกมา อาจจัดให้มีการประนีประนอมกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างก่อนได้ ถ้าตกลงกันได้ก็ให้ทำตามข้อตกลง แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ให้พนักงานตรวจแรงงานพิจารณาออกคำสั่งตามคำร้อง

ถ้าหากพนักงานตรวจแรงงานพิจารณาแล้วเห็นว่า ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงิน ก็ต้องสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินแก่ลูกจ้าง ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่ง หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานโดยการใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลแรงงาน ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่ง ก็ให้ลูกจ้างติดตามผลคดีต่อไปว่า ศาลแรงงานจะสั่งว่าอย่างไร หรืออีกกรณีคือ ถ้านายจ้างไม่ได้อุทธรณ์คำสั่ง และไม่ยอมจ่ายเงินแก่ลูกจ้าง ลูกจ้างก็สามารถดำเนินคดีกับนายจ้างในชั้นศาลต่อไปได้

แต่ถ้าพนักงานตรวจแรงงานพิจารณาแล้วเห็นว่าลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับเงินใดๆ เพิ่มเติม พนักงานตรวจแรงงานก็จะแจ้งเป็นหนังสือให้ลูกจ้างทราบ ซึ่งไม่ว่าพนักงานจะมีความเห็นอย่างไร หากลูกจ้างไม่พอใจ ก็สามารถนำคดีไปฟ้องที่ศาลแรงงานได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ทราบคำสั่ง มิฉะนั้นคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานเป็นที่สุด

การฟ้องคดีต่อศาลแรงงานนั้นจะเป็นการฟ้องเพื่อเพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่ตัดสินว่า นายจ้างผิดหรือไม่ผิดก็ได้ หรืออาจจะฟ้องเพราะเห็นว่า ลูกจ้างต้องได้รับเงินมากกว่าที่พนักงานตรวจแรงงานสั่งก็ได้ หรือจะฟ้องศาลแรงงานในกรณีที่นายจ้างไม่จ่ายเงินชดเชยตามที่พนักงานตรวจแรงงานตัดสินให้จ่ายก็ได้ ซึ่งหากนายจ้างไม่จ่ายเงินชดเชยตามที่พนักงานตรวจแรงงานสั่งจะมีโทษทางอาญาจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับตามมาตรา 151 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ด้วย

 

กรณีฟ้องด้วยตัวเองต่อศาลแรงงาน ไม่ต้องมีทนาย ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม

อีกทางเลือกหนึ่งสำหรับลูกจ้างในการเรียกค่าชดเชยที่ควรจะได้จากนายจ้าง ถ้าหากไม่ต้องการจะใช้บริการพนักงานตรวจแรงงาน ก็คือ ใช้วิธีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลแรงงาน ซึ่งกระบวนการของศาลแรงงานทั้งหมดไม่ต้องใช้ทนายความ และไม่เสียค่าธรรมเนียมศาล หรือเรียกว่า “ฟรีตั้งแต่ต้นจนจบ” เช่นเดียวกับการยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน

โดยวิธีการในการฟ้องคดีต่อศาลแรงงาน เริ่มจาก

ตามมาตรา 33 และ 34 ของ พ.ร.บ.ศาลแรงงานฯ กำหนดให้ลูกจ้างฟ้องคดีต่อศาลแรงงานที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ที่ลูกจ้างทำงานอยู่ เช่น ทำงานอยู่ในโรงงานที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ต้องไปฟ้องศาลแรงงานกลาง ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในเขตกรุงเทพฯ หรือหากบริษัทที่ทำงานตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ก็ต้องฟ้องคดีที่ศาลแรงงานภาค 5 ที่จังหวัดเชียงใหม่

แต่กฎหมายได้ให้ข้อยกเว้นไว้ว่า หากโจทก์ (ลูกจ้าง) มีความต้องการที่จะฟ้องในศาลแรงงานในพื้นที่บ้านตัวเองก็ได้ โดยต้องเขียนเหตุผลประกอบคำฟ้องไปด้วยว่า เหตุใดจึงสะดวกฟ้องที่ศาลนั้นๆ หรือหากไม่มีศาลแรงงานในพื้นที่บ้านตัวเอง จะฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดแล้วให้ศาลจังหวัดส่งคำฟ้องต่อไปที่ศาลแรงงานที่มีเขตอำนาจรับผิดชอบก็ได้ แล้วผู้พิพากษาศาลแรงงานจะมานั่งพิจารณาคดีที่ศาลจังหวัดนั้นก็ได้

ในการฟ้องคดี หรือการเริ่มต้นกระบวนการที่ศาลแรงงานนั้นจะมีด้วยกัน 2 วิธี คือ

          (1) ทำคำฟ้องเป็นหนังสือไปยื่นด้วยตัวเอง เมื่อไปที่ศาลแรงงานจะมีเจ้าหน้าที่ศาลทำหน้าที่เป็นผู้รับเรื่อง ให้คำปรึกษาข้อกฎหมาย รวมไปถึงเขียนคำฟ้องในคดีแรงงานให้กับลูกจ้างโดยถือเป็นบริการของศาลโดยลูกจ้างไม่ต้องจ้างทนายความเอง และเมื่อเจ้าหน้าที่ศาลจัดทำคำฟ้องให้เสร็จ ก็สามารถยื่นคำฟ้องต่อเจ้าหน้าที่ศาลเพื่อเริ่มดำเนินคดีได้เลย

          (2) ฟ้องคดีโดยการแถลงด้วยวาจาต่อหน้าศาลโดยตรง แล้วให้ศาลเป็นผู้จดบันทึกข้อเท็จจริงตามที่ฟ้องไว้

หลังจากที่ฟ้องคดีต่อศาล และศาลแรงงานรับฟ้องคดีเรียบร้อยแล้ว ศาลจะนัดให้โจทก์ (ลูกจ้าง) และนายจ้างมาที่ศาลในนัดแรก และศาลแรงงานจะทำการไกล่เกลี่ยคดีก่อน หากไกล่เกลี่ยคดีแล้วพบว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงเรื่องการจ่ายค่าชดเชยกันได้ คดีก็เป็นอันจบลง แต่ถ้าไกล่เกลี่ยไม่ได้ ศาลก็จะนัดโจทก์และจำเลยให้นำพยานมาเบิกความต่อไป

กระบวนการสืบพยานของศาลแรงงาน เป็นศาลระบบไต่สวน เหมือนกับศาลปกครอง คือ ศาลจะเข้ามามีบทบาทในการแสวงหาข้อเท็จจริงเองเพื่อไม่ให้เป็นภาระกับลูกจ้างมากจนเกินไป ศาลจะเรียกพยานทั้งฝ่ายโจทก์ (ลูกจ้าง) และนายจ้าง มาเบิกความเองได้ โดยศาลจะเป็นผู้สอบถามพยานด้วยตัวเอง ทนายความจะสามารถถามความได้โดยต้องได้รับอนุญาตจากศาลเท่านั้น ในคดีที่ขึ้นศาลแรงงาน ลูกจ้างจึงมีทางเลือกที่จะไม่จ้างทนายความมาช่วยทำคดีเลยก็ได้   

เมื่อทำการสืบพยานเสร็จแล้ว ถือว่าการพิจารณาคดีเป็นที่สิ้นสุดลง หลังจากนั้นศาลจะนัดฟังคำพิพากษา

หากลูกจ้างหรือนายจ้างไม่พอใจคำพิพากษาสามารถอุทธรณ์คำพิพากษาได้ แต่จะอุทธรณ์ได้เฉพาะข้อกฎหมายเท่านั้น และหากยังไม่พอใจคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และคดีเข้าเงื่อนไขเป็นคดีสำคัญก็สามารถยื่นขอฎีกาคำพิพากษาคดีได้เหมือนกับกระบวนการในคดีทั่วไป