We are all Human ข้อเสนอเร่งด่วนยับยั้งการระบาดของโควิด 19 ในเรือนจำ

“เราต้องช่วยกันและห้ามมีนักโทษติดเชื้อเป็นเด็ดขาด ไม่อย่างนั้นการบริหารจัดการต้องวุ่นวายแน่นอน”

สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม, 29 มีนาคม 2563

“The coronavirus pandemic turns every arrest into a potential death sentence.”

Ephrat Livni, qz.com / 25 Mar 2020 

ขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด 19 รายใหม่กำลังพุ่งทะยาน รัฐบาลก็ดำเนินการทุกทางเพื่อสนับสนุนมาตรการ social distancing (ระยะห่างทางสังคม) ด้วยเห็นว่าเป็นหนทางเดียวในการป้องกันการแพร่ระบาดไม่ให้รวดเร็วจนระบบสาธารณสุขไม่อาจรองรับไหว

เรื่องนี้เป็นไปไม่ได้ในเรือนจำ สถานที่ซึ่งแออัดอย่างยิ่ง จนประเทศไทยที่มีประชากรน้อยนิดติดอันดับ 6 ของโลกด้านจำนวนและความหนาแน่นของนักโทษ 

หลายส่วนจึงเริ่มจินตนาการภาพความหายนะ หากมีพาหะเล็ดลอดเข้าไปในเรือนจำ โดยเฉพาะเมื่อมีข่าว

  1. รายแรก 20 มีนาคม เรือนจำคลองเปรม
  2. รายที่สอง 26 มีนาคม เรือนจำราชบุรี 
  3. จลาจล 29 มีนาคม เรือนจำจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งสำนักข่าวบีบีซีไทยรายงานว่า “สาเหตุเกิดจากผู้ต้องขังมีภาวะเครียด และมีคนปล่อยข่าวว่ามีผู้ต้องขังป่วยโควิด-19 ประกอบกับกฎระเบียบเรือนจำที่เข้มงวดมากขึ้น ห้ามเยี่ยมในช่วงสถานการณ์โควิด”

ภาพถ่ายเรือนจำหญิงจังหวัดอุดรธานี 2558

 

ความแออัดติดอันดับโลก

ผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 

  1. นักโทษเด็ดขาด หมายถึง คนที่คดีถึงที่สุดแล้ว 
  2. ผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี หมายถึง คนที่ยังอยู่ระหว่างต่อสู้คดี ไม่ว่าในชั้นสอบสวน (ตำรวจ) ชั้นอัยการ ชั้นศาลทั้งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา            

รายงานสถิติของผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศจากเว็บไซต์กรมราชทัณฑ์ (24 มีนาคม 2563)

  • ผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศ มีทั้งสิ้น 377,830 ราย (ชาย 329,835 หญิง 47,995)
  • เรือนจำทั่วประเทศ 143 แห่ง
  • ความสามารถในการรองรับผู้ต้องขัง 217,000 ราย  (ข้อมูลจาก prisonstudies.org ปี 2015) 
  • ความแออัด 174% 

สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) ทำการศึกษาสภาพความเป็นอยู่ผู้ต้องขังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิงกลางในปี 2560 ระบุว่า สภาพชีวิตของผู้ต้องขังในไทยถือว่าต่ำกว่ามาตรฐาน คณะกรรมการกาชาดสากลกำหนดว่าผู้ต้องขังแต่ละคนต้องมีพื้นที่ขั้นต่ำ 3.4 ตร.ม./คน แต่ตามระเบียบของราชทัณฑ์กำหนดพื้นที่ขั้นต่ำให้ผู้ต้องขังชายที่ 1.2 ตร.ม./คน ผู้ต้องขังหญิง 1.1 ตร.ม./คน

กรณีเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ FIDH ระบุว่า เรือนนอนขนาดประมาณ 24 ตร.ม.จะมีผู้ต้องขังอาศัยอยู่รวมกัน 40 – 50 คน  

 

มาตรการกรมราชทัณฑ์ที่อาจไม่มีทางทันการณ์? 

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ทางราชทัณฑ์และเรือนจำเริ่มดำเนินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคแล้ว โดยตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2563 อธิบดีกรมราชทัณฑ์ออกหนังสือมาตรการเพิ่มเติมในการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด 19 และหลังจากนั้นก็มีการกำหนดมาตรการเพิ่มเติมตามรายงานของโพสต์ทูเดย์และไทยรัฐออนไลน์ ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

1. คนในห้ามออก (สำหรับผู้ต้องขัง)

  • งดออกนอกเรือนจำ เพื่อไปฝึกอาชีพ/ฝึกงาน/ทำงาน (สำหรับผู้ต้องขังกองนอก) 
  • ออกนอกเรือนจำได้เฉพาะเท่าที่จำเป็น เช่น ไปโรงพยาบาลหรือศาล 
  • ไม่ต้องออกศาล โดยศาลได้ใช้วิธีวิดีโอคอนเฟอเรนซ์มากขึ้น

2. คนนอกห้ามเข้า  

  • งดให้ญาติเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังเป็นเวลา 14 วัน (18-31 มี.ค. 2563) 
  • กักโรคผู้ต้องขังใหม่ที่แดนแรกรับ 14 วันแล้วจึงส่งตัวเข้าแดนต่างๆ ต่อไป

คำถามคือ ***

1. การห้ามเยี่ยมญาติเกิดขึ้น “หลัง” การระบาดของโควิด 19?

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์รายงานเมื่อวันที่ 15 มีนาคม หรือ 3 วันก่อนมีคำสั่งห้ามเยี่ยมผู้ต้องขัง มีผู้ป่วยในไทยแล้ว 114 ราย มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสม 6,176 ราย ไม่มีใครรับประกันได้ว่าในจำนวนนั้นมีบุคคลที่มีความเชื่อมโยงกับญาติของผู้ต้องขังหรือบุคลากรของเรือนจำรวมอยู่ด้วยหรือไม่

2. หลังกำหนดห้ามเยี่ยม 31 มีนาคม จะทำอย่างไรต่อ

หลังจากวันที่ 31 มีนาคมซึ่งจะสิ้นสุดการห้ามเยี่ยมผู้ต้องขัง การระบาดก็ยังคงอยู่และดูเหมือนไม่มีแนวโน้มดีขึ้น ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า การแพร่ระบาดเป็นไปได้หลายแนวทาง และอาจขึ้นสูงสุดได้ในเดือนสิงหาคม เราจะสามารถห้ามการเยี่ยมญาติได้ยาวนานเพียงไหน

3. ใช้แดนแรกรับ ‘กักตัวขาเข้า’?

ภายในเรือนจำแบ่งการปกครองเป็นหลายแดน แดนแรกรับไว้ใช้สำหรับรองรับผู้ต้องขังใหม่ ผู้ต้องหาที่ถูกตำรวจจับกุมและไม่ได้ประกันตัวก็อยู่ในแดนนี้ทั้งหมด ด้วยความแออัดอย่างยิ่งในเรือนจำ คำถามคือ ใช้พื้นที่ตรงไหนในการกักกันตัวผู้ต้องขังรายใหม่ 14 วัน ขณะที่ผู้ต้องขังรายใหม่ก็มีเป็นจำนวนมากทุกวัน?

นอกจากนี้ข่าวสารทั่วโลกยังทำให้เห็นว่า ระยะเวลาก่อนแสดงอาการของโรคจากไวรัสอาจนานกว่า 14 วัน

4. ความเป็นไปได้ที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะติดเชื้อ? 

เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็อาจมีโอกาสสัมผัสกับไวรัสและคนเหล่านี้ต้องเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในเรือนจำระหว่างที่ยังไม่มีอาการใช่หรือไม่ 

เปรียบเทียบจำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุด 3 จังหวัดกับผู้ต้องขังในเรือนจำ 3 จังหวัดนั้น

จังหวัด ผู้ติดเชื้อโควิด 19 (คน) จำนวนนักโทษ (คน) เรือนจำ
กรุงเทพฯ 349 4,192  เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
8,411 สถานบำบัดพิเศษกลาง
5,038 ทัณฑสถานหญิง
นนทบุรี 47 3,953 เรือนจำบางขวาง
2,900 เรือนจำจังหวัดนนทบุรี
ชลบุรี 30 7,164 เรือนจำจังหวัดชลบุรี
สถิติจำนวนผู้ป่วยวันที่ 24 มีนาคม 2563 จาก กรมควบคุมโรค
ข้อมูลผู้ต้องขังจำแยกตามเรือนจำ วันที่ 5 มีนาคม 2563 จาก กรมราชทัณฑ์

ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะลดความแออัดของเรือนจำ โดยใช้มาตรการหลักอย่างการปล่อยชั่วคราวและการพักโทษ ซึ่งทั้งหมดต้องผ่านการคัดกรองที่เข้มข้นเพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน

 

ข้อเสนอ iLaw เพื่อลดความแออัดในเรือนจำ

โมเดล 1 การปล่อยชั่วคราว 

1. ผู้ต้องขังมีโรคประจำตัวซึ่งเป็นโรคที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตหากติดเชื้อโควิด 19 เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ

2. ผู้ต้องหา/ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี ข้อ 2-3 รวม 62,619 คน หรือ 16.74% ของผู้ต้องขังทั้งหมด

ลำดับ ประเภท จำนวนทั้งหมด เพศ
1. นักโทษเด็ดขาดที่คดีถึงที่สุดแล้ว 309,515 ชาย 269,291
หญิง 40,224
2. ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี ชั้นอุทธรณ์-ฎีกา 29,321 ชาย 25,772
หญิง 3,549
3. ผู้ต้องขังระหว่างไต่สวนและสอบสวน 33,298 ชาย 29,335
หญิง 3,963

 

รวม 2 และ 3 62,619
ข้อมูลจาก กรมราชทัณฑ์ 1 มีนาคม 2563

3. ผู้ต้องขังสูงวัย อายุ 60 ปีขึ้นไป รวม 5,801 คน หากผู้ต้องหากลุ่มนี้คนใดไม่เข้าเกณฑ์ได้รับการปล่อยตัวโดยการพักโทษ ทางเรือนจำอาจพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวแทน

ข้อมูลจาก กรมราชทัณฑ์ 1 มีนาคม 2563

ข้อเสนอเพิ่มเติม:

กรณีผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีที่คดียังไม่ถึงที่สุด ศาลอาจกำหนดเงื่อนไขประกันตัวเพิ่มเติมกรณีของผู้ต้องขังในคดีที่อัตราโทษสูง หรือจำเลยที่ศาลชั้นต้นเคยมีคำพิพากษาจำคุกโดยไม่รอลงอาญาแล้ว เช่น กำหนดให้มีการรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติ ห้ามออกนอกประเทศ สวมกำไลข้อเท้าติดตามตัว (EM) เป็นต้น 

กรณีผู้ต้องขังเด็ดขาดที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ผู้ต้องขังมีโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตหากติดเชื้อโควิด 19 ทุกวัย และผู้ต้องขังตั้งครรภ์ที่ไม่เข้าเกณฑ์ได้รับการพักโทษ ทางเรือนจำอาจพิจารณาปล่อยตัวออกจากเรือนจำเป็นการชั่วคราว โดยมีมาตรการควบคุม เช่น ให้สวมกำไลข้อเท้าติดตามตัว (EM) จำกัดการเคลื่อนไหวให้อยู่เฉพาะบริเวณบ้านหรือภายในจังหวัดภูมิลำเนา และจัดให้มีพนักงานคุมประพฤติมาคอยติดตามเป็นระยะ หลังพ้นวิกฤติโรคระบาด ทางเรือนจำอาจพิจารณาปล่อยตัวนักโทษกลุ่มนี้เป็นการถาวรหรือเรียกกลับมารับโทษต่อ โดยพิจารณาจากเงื่อนไขด้านสุขภาพของผู้ต้องขัง ระยะเวลารับโทษคงเหลือ และพฤติการณ์ของผู้ต้องขังระหว่างการปล่อยตัวชั่วคราว เป็นเงื่อนไขสำคัญในการพิจารณา ในกรณีต้องรับโทษต่อให้นับเวลาระหว่างการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นระยะเวลารับโทษด้วย

โมเดล 2 การพักโทษนักโทษเด็ดขาด  (ปล่อยก่อนครบกำหนด)

การพักโทษตามเกณฑ์ปกติ

ระเบียบกรมราชทัณฑ์กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ ดังนี้  

1. คดีถึงที่สุดแล้ว
2. เป็นผู้ต้องโทษครั้งแรก
3. เหลือโทษจำคุกไม่มาก

  • นักโทษชั้นเยี่ยม เหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ใน 3 
  • นักโทษชั้นดีมาก เหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ใน 4 
  • นักโทษชั้นดี เหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ใน 5

ณ ขณะนี้ ผู้ต้องโทษครั้งแรก จำนวน 206,278 คน (67%)

  • นักโทษชั้นเยี่ยม 73,519 คน (24%)
  • นักโทษชั้นดีมาก 33,776 คน (11%)
  • นักโทษชั้นดี 42,713 คน (14%)

เนื่องจากไม่ทราบข้อมูลว่านักโทษทั้ง 3 ชั้นเหลือโทษจำคุกตามที่กำหนดไว้เป็นจำนวนเท่าใดจึงไม่สามารถคำนวณตัวเลขประมาณการได้

ทั้งนี้หากจำแนกประเภทผู้ต้องขังจากฐานความผิดจะพบว่าผู้ต้องขังคดียาเสพติดมีจำนวนมากที่สุดคือ 248,181 คน หรือคิดเป็น 80% ของผู้ต้องขังเด็ดขาดทั้งหมด

โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นผู้ต้องโทษในฐานะผู้เสพ จำนวน 32,117 คน หรือ 12.94% ของผู้ต้องขังเด็ดขาดคดียาเสพติดทั้งหมดหรือ 10.37% จากจำนวนผู้ต้องขังเด็ดขาดทั้งหมด

ยาเสพติด 248,181 80%
ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ 24,041  
ความผิดต่อชีวิต 16,029  
ความผิดเกี่ยวกับเพศ 9,117  
อื่นๆ (ป่าไม้, การพนัน, อาวุธ, คนเข้าเมือง ฯลฯ) 8,337  
ความผิดต่อร่างกาย 1,769  
ภยันตรายต่อประชาชน 39  
รวม 309,515 100%
ข้อมูลจาก กรมราชทัณฑ์ 1 มีนาคม 2563
ข้อมูลจาก กรมราชทัณฑ์ 1 มีนาคม 2563

ข้อเสนอเพิ่มเติม:

คณะกรรมการพิจารณาการพักโทษควรปรับเกณฑ์การพักโทษให้ยืดหยุ่นขึ้น อาจกำหนดให้เหลือโทษมากกว่าเกณฑ์ปกติได้ เนื่องจากระเบียบกระทรวงยุติธรรมเปิดทางให้ทำได้ในสถานการณ์พิเศษ

ผู้ต้องขังที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด มะเร็ง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ รวมถึงโรคอื่นๆ ที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตหากติดเชื้อโควิด 19 ผู้ต้องขังอายุเกิน 60 ปี และผู้ต้องขังหญิงที่ตั้งครรภ์ที่เข้าเกณฑ์ได้รับการพักโทษ ควรได้รับการพิจารณาพักโทษเป็นการเร่งด่วน

ผู้ต้องขังที่ไม่มีโรคประจำตัว อาจพิจารณาพักโทษจำคุกผู้ต้องขังตามเกณฑ์ที่กำหนดในระเบียบกรมราชทัณฑ์ และพิจารณาพักโทษผู้ต้องขังบางส่วนที่ระยะเวลารับโทษเหลือนานกว่าเกณฑ์ได้รับการพักโทษ แต่เหลือระยะเวลารับโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี (ระยะเวลา 3 ปี เป็นโทษจำคุกที่ศาลสามารถสั่งรอการลงโทษจำคุกจำเลยได้)

ในส่วนของผู้ต้องขังคดีอื่นๆ คณะกรรมการอาจพิจารณาพักโทษผู้ต้องขังจากพฤติการณ์แห่งคดี อายุและสุขภาพของผู้ต้องขังเป็นสำคัญ  

ในส่วนของคดียาเสพติดซึ่งเป็นคดีที่มีผู้ต้องขังมากที่สุด คณะกรรมการควรพิจารณาพักโทษผู้เสพและผู้ครอบครองเพื่อเสพก่อน ส่วนผู้จำหน่ายคณะกรรมการพักโทษอาจกำหนดจำนวนอย่างสูงของสารเสพติดแต่ละชนิดเพื่อประกอบการพิจารณาพักโทษผู้ต้องขังรายย่อย โดยคำนึงถึงอายุและสุขภาพของผู้ต้องขังเป็นสำคัญ

ในกรณีที่มีความจำเป็น คณะกรรมการพักโทษอาจกำหนดมาตราการอื่นๆ เช่น จำกัดการเคลื่อนไหวของผู้ต้องขังให้อยู่เฉพาะภายในจังหวัดภูมิลำเนาหรือห้ามออกนอกประเทศ ให้อยู่ภายใต้ความดูแลของพนักงานคุมประพฤติหรือกำหนดให้ทำงานบำเพ็ญประโยชน์ ตลอดระยะเวลาพักโทษที่เหลือเป็นระยะเวลาเท่าที่คณะกรรมการเห็นสมควรแต่ต้องไม่เกินวันที่ผู้ต้องขังครบกำหนดรับโทษจำคุก

ทั้งนี้ประวัติการใช้ความรุนแรงในครอบครัวและการล่วงละเมิดทางเพศ ควรเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่คณะกรรมการพักโทษควรนำมาใช้ประกอบการพิจารณาด้วย

ข้อมูลจาก กรมราชทัณฑ์ 1 มีนาคม 2563

*หมายเหตุ หากนับเฉพาะผู้ต้องขังที่เหลือเวลารับโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีจะมีจำนวนทั้งสิ้น 135,093 คน แต่ตารางนี้ไม่ได้จำแนกจำนวนผู้ต้องขังที่เหลือโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ไว้เป็นการเฉพาะ 

มาตรการคัดกรองเพิ่มเติม เพิ่มความมั่นใจให้ประชาชน

  1. ก่อนการปล่อยตัวผู้ต้องขัง แต่ละเรือนจำจัดให้มีพื้นที่กักตัวเพื่อสังเกตอาการโรคเป็นเวลา 14 วัน หากผู้ต้องขังไม่มีอาการติดเชื้อให้ปล่อยตัวกลับภูมิลำเนา
  2. หากผู้ต้องขังต้องสงสัยว่ามีอาการติดเชื้อให้ส่งต่อสถานพยาบาลของรัฐในท้องที่เรือนจำเพื่อทำการรักษาก่อนปล่อยตัวกลับภูมิลำเนา
  3. ระหว่างกักตัวต้องมีการให้ข้อมูลความรู้ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้น การป้องกันตนเองและผู้อื่น รวมถึงสวัสดิการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องการกับแพร่ระบาด
  4. ผู้ต้องขังต้องมีญาติรับรองหรือมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง
  5. กำหนดการรายงานตัวเป็นระยะแล้วแต่กำหนดตามความเหมาะสม เพื่อคุมความประพฤติรวมถึงติดตามอาการหลังออกจากเรือนจำในช่วงแรก 

หมายเหตุ 

  • โมเดลที่ 1 ใช้ข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ ณ วันที่ 24 มีนาคม 2563
  • โมเดลที่ 2 ใช้ข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ ณ วันที่ 1 มีนาคม 2563
You May Also Like
อ่าน

ผ่านฉลุย! สส. เห็นชอบร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม วาระสาม ส่งไม้ต่อให้ สว.

27 มีนาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีมติ “เห็นชอบ” ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวาระสาม ส่งไม้ต่อให้วุฒิสภาพิจารณาสามวาระ
อ่าน

จับตาประชุมสภา ลุ้น สส. ผ่านร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม วาระสอง-สาม

27 มีนาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมนวาระสอง-สาม หากสภามีมติเห็นชอบในวาระสาม ร่างกฎหมายก็จะได้พิจารณาต่อชั้นวุฒิสภา