เครื่องมือทางการคลังในสถานการณ์ฉุกเฉิน

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลมีแผนกู้เงินฉุกเฉินมากกว่า 2 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้ดูแลเศรษฐกิจระยะ 2-3 เดือนข้างหน้า โดยจะมีการตราพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินฉุกเฉิน ในสถานการณ์ที่ประเทศกำลังรับมือกับโรคระบาดจากโคโรนาไวรัส หรือ “โควิด 19” 

โดยก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เปิดเผยว่า งบประมาณในส่วนของงบกลางซึ่งมีงบกรณีฉุกเฉินรวมอยู่ด้วยนั้น มีสภาพ “ร่อยหรอ” สอดคล้องกับข้อมูลจากกรมบัญชีกลางที่เปิดเผยว่า งบกลางปี 2563 เหลือ 1.97 แสนล้าน จากทั้งหมด 4.18 แสนล้านบาท แต่ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดการใช้งบประมาณ

ทั้งนี้ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การใช้เงินงบประมาณแผ่นดินของรัฐบาลจำเป็นจะต้องมีการตรากฎหมาย “พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี” ขึ้นมา โดยต้องผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภา หรือจากทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา รัฐบาลจึงจะสามารถใช้เงินแผ่นดินได้ แต่ทว่าในความเป็นจริง พ.ร.บ.งบประมาณฯ เป็นเพียงการคาดเดาล่วงหน้าว่ารัฐจะนำเงินดังกล่าวไปใช้กับการบริหารประเทศหรือนโยบายของรัฐบาลอย่างไร ดังนั้น การวางแผนการเงินดังกล่าวจึงไม่อาจครอบคลุมกับความเป็นจริงในสถานการณ์เร่งด่วนฉุกเฉิน

แม้ว่า ใน พ.ร.บ.งบประมาณฯ จะมีส่วนที่เรียกว่า “งบกลาง” เพื่อให้รัฐบาลมีความคล่องตัวในการใช้จ่ายมากขึ้นไว้รับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ข้อจำกัดก็คือ รัฐบาลไม่สามารถที่จะตั้งงบกลางให้สอดคล้องกับความเป็นจริงได้ ด้วยเหตุนี้ รัฐธรรมนูญจึงอนุญาตให้มีเครื่องมือทางการคลังที่นอกเหนือจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งมีอย่างน้อย 3 อย่าง ได้แก่

พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม 

กฎหมายดังกล่าวจะมีความคล้ายคลึงกับ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี แต่มีไว้ในกรณีที่รัฐบาลจำเป็นจะต้องขออนุมัติวงเงินเพิ่ม โดยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 143 กำหนดให้กฎหมายดังกล่าวจำเป็นจะต้องผ่านการเห็นชอบจากทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา โดยจะมีการพิจารณาสภาละ 3 วาระ รวมกรอบระยะเวลาจากทั้งสองสภาไม่เกิน 125 วัน ซึ่งในอดีตที่ผ่านมามีการใช้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม มาไม่น้อยกว่า 14 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2509 จนถึงปี 2561 โดยเฉพาะในยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีการใช้ถึง 3 ครั้งซ้อน ตั้งแต่ปี 2559 2560 และ 2561 รวมเป็นเงินเกือบ 4 แสนล้านบาท

พ.ร.บ.โอนเงินงบประมาณ

กฎหมายดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี กล่าวคือ เป็นการโยกย้ายเงินงบประมาณในส่วนต่างๆ ของ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ไปใช้ในหมวดหรือภารกิจอื่นจากที่เคยกำหนดไว้ได้ เพราะ ตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ กำหนดว่า การโอนงบประมาณรายจ่ายจะกระทำได้เมื่อมีการตราเป็นกฎหมายโอนเงินงบประมาณ

โดยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 143 กำหนดให้กฎหมายดังกล่าวจำเป็นจะต้องผ่านการเห็นชอบจากทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา โดยจะมีการพิจารณาสภาละ 3 วาระ รวมกรอบระยะเวลาจากทั้งสองสภาไม่เกิน 125 วัน ซึ่งในยุค คสช. เองก็เคยมีการใช้มาตั้งแต่ปี 2558 ถึงปี 2561 รวมแล้ว 4 ครั้ง

พ.ร.ก.กู้เงิน

ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 กำหนดให้ พ.ร.ก. เป็นอำนาจของรัฐบาลและให้ใช้เฉพาะกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วน และแม้รัฐบาลจะประกาศใช้ได้ก่อน แต่รัฐธรรมนูญก็ยังกำหนดให้คณะรัฐมนตรีต้องมาขอการอนุมัติ พ.ร.ก. อีกครั้ง ในการประชุมสภาครั้งถัดไปโดยไม่ชักช้า หากสภาอนุมัติ พ.ร.ก. ก็จะมีสภาพการบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป ซึ่งวิธีการดังกล่าวเป็นวิธีการที่สร้างความคล่องตัวให้กับรัฐบาล เพียงแต่ รัฐสภาจะมีอำนาจเพียงอนุมัติ หรือไม่อนุมัติ แต่ไม่สามารถพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมการใช้เงินของรัฐบาลได้

You May Also Like
อ่าน

ผ่านฉลุย! สส. เห็นชอบร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม วาระสาม ส่งไม้ต่อให้ สว.

27 มีนาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีมติ “เห็นชอบ” ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวาระสาม ส่งไม้ต่อให้วุฒิสภาพิจารณาสามวาระ
อ่าน

จับตาประชุมสภา ลุ้น สส. ผ่านร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม วาระสอง-สาม

27 มีนาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมนวาระสอง-สาม หากสภามีมติเห็นชอบในวาระสาม ร่างกฎหมายก็จะได้พิจารณาต่อชั้นวุฒิสภา