เปิด 4 โมเดล “สสร.” เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่สูงขึ้นนับตั้งแต่หลังการเลือกตั้งในปี 2562 ทำให้โฟกัสทางการเมืองพุ่งเป้าไปที่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 เพราะถูกมองว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาเพื่อให้ คสช. สืบทอดอำนาจ และอาจกล่าวได้ว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2560 เป็นรัฐธรรมนูญของ คสช. ที่ร่างโดย คสช. และร่างเพื่อ คสช. ไม่ว่าจะเป็นกลไกอย่างวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งที่คัดเลือกโดย คสช. ที่พ่วงอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี หรือการสืบทอดอำนาจผ่านองค์กรอิสระมาทำหน้าที่ตัดกำลังคู่แข่งทางการเมือง

ด้วยสถานการณ์ความขัดแย้งข้างต้น ทำให้ในปี 2563 ทั้งภาคประชาชนและกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษาจากทั่วประเทศ ได้มีข้อเสนออย่างหนึ่งที่ตรงกันว่า ต้องการให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน แต่ทว่า ยังไม่มีรายละเอียดของรูปแบบและวิธีการได้มาซึ่ง สสร.

ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 รูปแบบและวิธีการได้มาซึ่ง สสร. ที่ยึดโยงกับประชาชน มีคนเสนอไว้แล้ว อย่างน้อยสี่รูปแบบที่แตกต่างกัน ดังนี้

 

หนึ่ง  รูปแบบ สสร. ปี 39 – 40

จำนวน สสร.: 99 คน
วิธีการได้มา: การเลือกตั้งทางอ้อม
ประเภท สสร.: สองแบบ ได้แก่ ตัวแทนจังหวัดและผู้ทรงคุณวุฒิ

หลังเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม ปี 2535 หรือที่เรียกกันว่า “พฤษภาทมิฬ” ที่ประชาชนไม่พอใจการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารและเรียกร้องประชาธิปไตยที่ประชาชนจะเป็นเจ้าของประเทศได้มากขึ้น ได้มีการเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2534 เพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จนเกิดเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2539 (สสร. ปี 39 – 40) ซึ่งเป็นสภาที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ประกอบไปด้วยสมาชิกจำนวน 99 คน โดยแบ่งที่มาออกเป็นสองส่วน ได้แก่

หนึ่ง ตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมในแต่ละจังหวัด โดยให้มีการคัดเลือกกันเองในจังหวัดให้เหลือจังหวัดละ 10 คน 76 จังหวัด (จำนวนจังหวัดในขณะนั้น) รวมเป็น 760 คน จากนั้นส่งรายชื่อทั้ง 760 คน ให้รัฐสภาคัดเลือกขั้นสุดท้ายให้เหลือจังหวัดละ 1 คน รวม 76 คน

สอง ตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิ 23 คน ซึ่งมาจากผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชน ผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ และผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการร่างรัฐธรรมนูญ โดยตัวแทนกลุ่มดังกล่าวให้มาจากการคัดเลือกกันเองของสภาสถาบันอุดมศึกษาในสาขานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ หรือรัฐประศาสนศาสตร์แต่ละแห่งคัดเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติประเภทต่างๆ แล้วจึงส่งให้รัฐสภาคัดเลือก

 

สอง รูปแบบ สสร. ปี 55/1 (เสนอโดยพรรคเพื่อไทย ปี 55)

จำนวน สสร.: 99 คน
วิธีการได้มา: เลือกตั้งโดยตรงผสมเลือกตั้งทางอ้อม
ประเภท สสร.: สองแบบ ได้แก่ ตัวแทนจังหวัดและผู้ทรงคุณวุฒิ  

หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่ร่างขึ้นโดยสภาที่มาจากการคัดเลือกโดยคณะรัฐประหารในปี 2549 พรรคพลังประชาชน ที่ประกอบไปด้วยสมาชิกจากอดีตพรรคไทยรักไทยของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ เป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง แต่ก็ไม่วายถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคอีก จนต้องมีการตั้งพรรคใหม่ครั้งที่สามในชื่อ “พรรคเพื่อไทย”

เมื่อพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งในปี 2554 จึงมีความพยายามผลักดันให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงและโดยอ้อมผสมกัน โดย สสร.ที่พรรคเพื่อไทยเสนอประกอบไปด้วยสมาชิกจำนวน 99 คน แบ่งที่มาออกเป็นสองส่วน ได้แก่

หนึ่ง ตัวแทนจังหวัด ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจังหวัดละ 1 คน จาก 77 จังหวัด รวมเป็น 77 คน

สอง ตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิ 22 คน ซึ่งมาจากผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชน ผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ และผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการร่างรัฐธรรมนูญตามหลักเกณฑ์ที่ประธานรัฐสภากำหนด

 

สาม รูปแบบ สสร.ปี 55/2 (เสนอโดยกลุ่ม นปช.)

จำนวน สสร.: 99 คน
วิธีการได้มา: เลือกตั้งแบบแบ่งเขต
ประเภท สสร.: แบบเดียว คือ ตัวแทนจังหวัด

ในปี 2555 กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “นปช.” เคยจัดทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมีข้อเสนอให้ตั้ง สสร. มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เนื่องจากเห็นว่ารัฐธรรมนูญ ปี 2550 ไม่นับเป็นประชาธิปไตยทั้งที่มา เนื้อหา และกระบวนการ จึงจำเป็นต้องร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ข้อเสนอของกลุ่ม นปช. จะแตกต่างไปจาก สสร. 39 และ สสร. แบบเพื่อไทย โดยยกเลิกระบบผู้ทรงคุณวุฒิ และให้มี สสร.จำนวน 100 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน โดยวิธีการเลือกตั้งจะใช้วิธีการเดียวกับการเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต

กล่าวคือ การแบ่งเขตเลือกตั้ง สสร. ให้คิดจากการเอาจำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่จะมีการเลือกตั้งมาเฉลี่ยหรือหารด้วยจำนวน สสร.100 คน จะได้ “เกณฑ์จำนวนราษฎรต่อ สสร. 1 คน”

ยกตัวอย่างเช่น มีราษฎร 700,000 คน และมี สสร. 100 คน ดังนั้น สสร. 1 คน จึงเท่ากับราษฎร 7,000 คน

จากนั้นให้พิจารณาว่า ถ้าจังหวัดใดมีราษฎรไม่ถึงเกณฑ์ที่พึงจะมี สสร. 1 คน ให้จังหวัดนั้นมี สสร. 1 คน ถ้าจังหวัดใดมีราษฎรเกินเกณฑ์พึงมี สสร. 1 คน ให้มี สสร.เพิ่มขึ้น 1 คน ทุกๆ จำนวนราษฎรที่ถึงเกณฑ์ สสร. 1 คน และให้นำ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. มาบังคับใช้กับการเลือกตั้ง สสร. โดยอนุโลม

ยกตัวอย่างเช่น กรุงเทพฯ มีราษฎร 14,000 คน เมื่อนำเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อ สสร. 1 คน มาหาร หรือ 7,000 มาหาร จะเท่ากับ กรุงเทพฯ มี สสร. ได้ 2 คน

ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะออกเสียงลงคะแนนเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิได้เขตละหนึ่งคนเท่านั้น หรือหมายความว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะเลือก สสร. ได้คนเดียวเฉพาะในเขตเลือกตั้งของตัวเอง

 

สี่ รูปแบบ สสร.ปี 62 (เสนอโดยพรรคร่วมฝ่ายค้าน)

จำนวน สสร.: 200 คน
วิธีการได้มา: เลือกตั้งแบบรวมเขตเรียงเบอร์
ประเภท สสร.: แบบเดียว คือ ตัวแทนจังหวัด  

หลังการเลือกตั้งปี 2562 พรรคการเมืองที่ประกาศต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. จำนวน 7 พรรค และเป็นพรรคฝ่ายค้าน ได้เสนอให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยใช้ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยรายละเอียดเท่าที่เปิดเผยสู่สาธารณะจะมี สสร. ทั้งสิ้น 200 คน และใช้วิธีการเลือกตั้งแบบรวมเขต หรือ ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง

วิธีการดังกล่าวจะคล้ายกับการเลือกตั้ง ส.ว. ในปี 2543 โดยเริ่มจากเอาจำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่จะมีการเลือกตั้งมาเฉลี่ยหรือหารด้วยจำนวน สสร. 200 คน จะได้ “เกณฑ์จำนวนราษฎรต่อ สสร. 1 คน”

จากนั้นให้นำเกณฑ์ดังกล่าวมาคำนวณว่าแต่ละจังหวัดจะมี สสร. ได้กี่คน ถ้าจังหวัดใดมีราษฎรไม่ถึงเกณฑ์ที่พึงจะมี สสร. 1 คน ให้จังหวัดนั้นมี สสร. 1 คน ถ้าจังหวัดใดมีราษฎรเกินเกณฑ์พึงมี สสร.1 คน ให้มี สสร.เพิ่มขึ้น 1 คน ทุกๆ จำนวนราษฎรที่ถึงเกณฑ์ สสร. 1 คน ในกรณีที่ยังได้ สสร. ไม่ครบตามจำนวนที่กำหนดให้จังหวัดใดที่มีเศษเหลือจากการคำนวณมากที่สุด มี สสร. เพิ่ม 1 คน จนครบ

ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งได้ตามจำนวน สสร. ที่พึงมีในจังหวัดนั้น หรือใช้วิธีการเลือกตั้งแบบเลือกผู้สมัครไว้หลายคน (เรียงเบอร์) แต่ไม่เกินจำนวนของผู้แทนหรือที่นั่งที่มีในเขตเลือกตั้งนั้น เช่น เขตเลือกตั้งหนึ่งมีผู้แทนได้ 3 คน ก็มีสิทธิลงคะแนนเลือกผู้แทนได้ 3 คน โดยผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุดเรียงตามลำดับจนครบจำนวนผู้แทนที่พึงมีในเขตนั้นเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง

You May Also Like
อ่าน

ข้าราชการลาออกชั่วคราวเพื่อลงสมัคร สว. 67 ได้

กฎหมายหลายฉบับได้เปิดช่องให้ข้าราชการปัจจุบันสามารถลาออกเพื่อสมัครเป็น สว. ได้โดยมีผลทันทีนับแต่วันที่ยื่นลาออก และหากไม่ได้รับการเลือกเป็น สว. ก็ยังมีทางเลือกสามารถกลับไปรับราชการได้ตามเดิมเช่นกัน
อ่าน

5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่

17 มีนาคม 2567 านเสวนา “5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่” ชวนมองไปข้างหน้า เดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีกระบวนการอย่างไร ประชาชนจะทำอะไรได้บ้าง รวมถึงการเลือก สว. ชุดใหม่