สรุปรัฐธรรมนูญ 2560: สิทธิแรงงานอ่อนแอ ไม่ประกันค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ

ผู้ใช้แรงงานไม่ได้หมายถึงผู้ทำงานในโรงงานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงลูกจ้างที่ทำงานประจำทุกคน ทั้งพนักงานออฟฟิศ ลูกจ้างของหน่วยงานรัฐ เกษตรกร ฯลฯ อีกด้วย ผู้ใช้แรงงานเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ หากไม่ได้รับสิทธิและสวัสดิภาพตามสมควรก็จะทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปไม่ได้ จึงต้องเขียนการคุ้มครองไว้ให้ชัดเจน เป็นระบบในรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ

รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้แรงงานได้รับค่าแรงที่ “เหมาะสมแก่การดำรงชีพ” จากเดิมที่รัฐธรรมนูญ 2550 ใช้ข้อความว่าให้ได้รับค่าแรงที่ “เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ” ซึ่งอาจตีความได้ว่า ตามรัฐธรรมนูญนี้ ค่าแรงในแต่ละพื้นที่อาจไม่เท่ากันก็ได้ นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังตัดสิทธิในการรวมตัวของข้าราชการออกไปจากเดิมที่เคยปรากฏในรัฐธรรมนูญ 2550

 

ส่งเสริมความสามารถผู้ใช้แรงงาน และการออมในวัยเกษียณ

‘สิทธิแรงงาน’ ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เขียนไว้สี่ประเด็นด้วยกัน ได้แก่ 1) การส่งเสริมให้มีงานทำ 2) การคุ้มครองผู้ใช้แรงงาน 3) การให้ค่าแรงและสวัสดิการต่างๆ และ 4) สิทธิในการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานเพื่อเสนอข้อเรียกร้อง ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติสามประเด็นแรกไว้ในหมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 74 และข้อที่สี่ในหมวด 3 สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 42



สามประเด็นแรก รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 74 บังคับให้รัฐต้องทำให้เกิดสิทธิแรงงาน ได้แก่

หนึ่ง รัฐต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีงานทำ และยังต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามารถในการทำงานอย่างเหมาะสมกับศักยภาพและวัยอีกด้วย 

สอง รัฐต้องคุ้มครองผู้ใช้แรงงานให้ได้รับความปลอดภัยและมีสุขอนามัยที่ดีในการทำงาน

สาม รัฐต้องจัดให้ผู้ใช้แรงงานได้รับรายได้ สวัสดิการ การประกันสังคม และสิทธิประโยชน์อื่นที่เหมาะสมแก่การดำรงชีพ นอกจากนี้ ต้องส่งเสริมการออมเพื่อการดำรงชีพเมื่อพ้นวัยทำงาน และจัดให้มีระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วม 

ในประเด็นที่หนึ่งและสอง เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 86 และรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 84 กำหนดเพียงว่า รัฐต้องส่งเสริมให้ประชากรวัยทำงานมีงานทำและคุ้มครองแรงงานเด็กและแรงงานหญิงหรือสตรี

สำหรับประเด็นการส่งเสริมการออมในวัยเกษียณ ถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นครั้งแรก แต่ถึงแม้ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้จะไมได้ระบุเรื่องนี้ไว้ รัฐบาลก็มีมาตรการดูแลแรงงานในวัยเกษียณอยู่แล้ว เช่น เบี้ยผู้สูงอายุ เป็นต้น

 

ไม่รับประกันค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ 

ในประเด็นที่สาม เรื่องการให้ค่าแรงและสวัสดิการต่างๆ นั้น เดิมทีรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 86 ระบุว่า รัฐต้องจัดระบบแรงงานสัมพันธ์ การประกันสังคม รวมทั้งค่าตอบแทนแรงงานให้เป็นธรรม

ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 84 ระบุว่า รัฐต้องจัดระบบแรงงานสัมพันธ์และระบบไตรภาคีที่ผู้ทำงานมีสิทธิเลือกผู้แทนของตน จัดระบบประกันสังคม รวมทั้งคุ้มครองให้ผู้ทำงานที่มีคุณค่าอย่างเดียวกันได้รับค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ

ปัญหา คือ รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดเรื่องค่าแรงและสวัสดิการต่างๆ ของผู้ใช้แรงงานโดยใช้ข้อความว่า ให้ได้รับค่าแรงที่ “เหมาะสมแก่การดำรงชีพ” จากเดิมที่รัฐธรรมนูญ 2540 ใช้ข้อความว่า ให้ได้รับค่าแรง “ให้เป็นธรรม” และรัฐธรรมนูญ 2550 ใช้ข้อความว่าให้ได้รับค่าแรงที่ “เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ”

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ ฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า การไม่ระบุเรื่องค่าจ้างที่เป็นธรรม แต่ไปใช้คำว่า “ที่เหมาะสมแก่การดำรงชีพ” สุ่มเสี่ยงต่อการตีความว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของผู้ใช้แรงงานแต่ละพื้นที่ไม่ควรเท่ากัน ซึ่งจะยิ่งสร้างความไม่เป็นธรรมให้ผู้ใช้แรงงานมากยิ่งขึ้นไปอีก

 

กลุ่มเกษตรกร-เอกชน-เอ็นจีโอ หายไปจากสิทธิรวมตัวแรงงาน

ประเด็นที่สี่ สิทธิในการรวมตัวของผู้ใช้แรงงาน บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 42 ว่าให้บุคคลมีเสรีภาพในการรวมกันเป็น สมาคม สหกรณ์ สหภาพ องค์กร ชุมชน หรือหมู่คณะอื่น ซึ่งนับกลุ่มที่ระบุชื่อไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญได้อย่างน้อย 5 กลุ่ม

ขณะที่ในรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 45 ให้บุคคลมีเสรีภาพในการรวมกันเป็น สมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน หรือหมู่คณะอื่น ซึ่งนับได้อย่างน้อย 6 กลุ่ม ต่อมาในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 64 ได้เพิ่มเติมองค์การพัฒนาเอกชน หรือ “เอ็นจีโอ” มาอีกหนึ่งกลุ่ม รวมเป็นอย่างน้อย 7 กลุ่ม

เห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ได้ตัด ‘สหพันธ์’ ‘กลุ่มเกษตรกร’ ‘องค์การเอกชน’ และ ‘องค์การพัฒนาเอกชน’ ออกไป โดยเพิ่มคำว่า ‘องค์กร’ และ ‘ชุมชน’ เข้ามาในรายชื่อกลุ่มที่ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิในการรวมตัว

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ ให้ความเห็นว่า การไม่ระบุชื่อให้กลุ่มแรงงานมีสิทธิรวมตัวกันในรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้รัฐหรือนายจ้างละเมิดสิทธิของประชาชนได้ โดยคำว่า “หมู่คณะ” ไม่ชัดเจนเพียงพอเหมือนการระบุชื่อกลุ่ม ทำให้เกิดความไม่แน่นอนและไม่มีหลักประกันใดๆ ให้กับองค์กรเหล่านั้น

 

ตัดสิทธิข้าราชการในการรวมกลุ่ม

เดิมในรัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้ข้าราชการมีสิทธิในการรวมตัวกันไม่ต่างจากกลุ่มผู้ใช้แรงงานอื่นๆ โดยมาตรา 64 ระบุว่า “ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐย่อมมีเสรีภาพในการรวมกลุ่มเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป แต่ทั้งนี้ต้องไม่กระทบประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดินและความต่อเนื่องในการจัดบริการสาธารณะ” แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ได้ตัดข้อความนี้ออกไป 

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 43 ยังให้สิทธิเฉพาะ “ข้าราชการพลเรือน” รวมตัวกันเป็นกลุ่มได้ โดยต้องไม่กระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน การบริการสาธารณะ และต้องไม่มีวัตุประสงค์ทางการเมือง ตัวอย่างการรวมตัวกันของข้าราชการ เช่น สหพันธ์ปลัดอำเภอแห่งประเทศไทย (ส.ปอ.ท.)

You May Also Like
อ่าน

ส่องเล่มจบป.เอก สว. สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด

พบว่าดุษฎีนิพนธ์ของ สว. สมชาย แสวงการ มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
อ่าน

เป็น สว. เงินเดือนเท่าไหร่? ได้สวัสดิการ-สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง?

สว. 2567 แม้ไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ เหมือน สว. ชุดพิเศษ แต่มีอำนาจอื่นๆ เต็มมือ พร้อมกับเงินเดือนหลักแสน และสวัสดิการ สิทธิประโยชน์อีกเพียบ