เลือกตั้ง 5 ครั้งใช้ 4 ระบบ เปรียบเทียบระบบเลือกตั้ง 2540 ถึงปัจจุบัน

รัฐธรรมนูญปี 2540 นำเสนอระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ที่พลิกโฉมการเมืองไทย โดยใช้ระบบ “ปาร์ตี้ลิสต์” หรือ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อเป็นครั้งแรกเพื่อเพิ่มบทบาทของพรรคการเมืองและนโยบายของพรรค ขณะที่ ส.ว. ก็มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แต่ระบบนี้ใช้ในการเลือกตั้งได้เพียงแค่ 2 ครั้ง นำไปสู่ชัยชนะของพรรคไทยรักไทย ส่งผลให้ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีและต่อมาเกิดการรัฐประหาร ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ ฉบับปี 2550

รัฐธรรมนูญ 2550 ก็นำเสนอระบบเลือกตั้งแบบใหม่ ใช้ระบบ “สัดส่วน” คล้ายระบบบัญชีรายชื่อแต่ไม่ใช้บัญชีเดียวทั้งประเทศ แบ่งพื้นที่การเลือกตั้งออกเป็น 8 กลุ่มจังหวัด สร้างความสับสนตามมา ใช้ได้เพียง 1 ครั้ง พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้ง ได้สมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาเมื่อเปลี่ยนนายกฯ เป็นอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สภาผู้แทนราษฎรก็ลงมติร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องระบบการเลือกตั้ง ส.ส. กลับไปใช้บัญชีรายชื่อบัญชีเดียวทั่วประเทศ 125 คน ซึ่งใช้ระบบนี้ก็ใช้ได้อีกครั้งเดียว ยิ่งลักษณ์ ชินวิตร เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทยครองเก้าอี้มากที่สุด แล้วก็เกิดการรัฐประหารยกเลิกรัฐธรรมนูญอีก

รัฐธรรมนูญ 2560 ก็นำเสนอระบบเลือกตั้งแบบใหม่อีก เรียกว่า “ระบบจัดสรรปันส่วนผสม” เพิ่มจำนวน ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อขึ้นเป็น 150 คน และให้ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวเลือกตั้ง ส.ส. ระบบแบ่งเขต และระบบบัญชีรายชื่อ สร้างปัญหาแบบใหม่ตามมา แม้จะส่งผลให้พรรคเพื่อไทย หรือพรรคการเมืองตระกูลเดิมกลับมาครองที่นั่ง ส.ส. มากที่สุดได้อีกครั้ง แต่กลายเป็นพรรคพลังประชารัฐจัดตั้งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ

โดยสรุปในระยะเวลา 20 ปี นอกจากจะมีรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับแล้ว ยังมีระบบเลือกตั้งถึง 4 แบบ จัดการเลือกตั้งที่นับผลจริงได้ 5 ครั้ง และไม่ว่าจะพยายามเปลี่ยนแปลงอย่างไร ก็ยังเป็นพรรคการเมืองเดิมที่กวาดที่นั่ง ส.ส. ไปมากที่สุดทั้ง 5 รอบ

 

ระบบเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ 2540

จำนวนสมาชิกสภา: 700 คน 
จำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขต: 400 คน
จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ: 100 คน
จำนวนบัตรเลือกตั้ง: 2 ใบ 

วิธีการเลือก ส.ส. แบบแบ่งเขต: แบ่งเขตเลือกตั้งเป็น 400 เขต แต่ละเขตมี ส.ส. 1 คน

ประชาชน 1 คน มีสิทธิออกเสียงได้ 1 เสียง เลือก ส.ส. 1 คน เป็นตัวแทนของเขตเลือกตั้งของตัวเอง ผู้สมัครที่ได้คะแนนมากที่สุดในเขตนั้นเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งเขตละ 1 คน

วิธีการเลือก ส.ส. บัญชีรายชื่อ: ทั้งประเทศเป็นเขตเลือกตั้งเดียว ประชาชน 1 คนมีสิทธิออกเสียงเลือกบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองจัดทำขึ้นได้ 1 พรรค แต่ละพรรคส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อได้ไม่เกิน 100 คน

การคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ: เมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้ว ให้นำคะแนนจากระบบบัญชีรายชื่อที่ทุกพรรคการเมืองได้รับทั้งประเทศมารวมกัน แล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกของแต่ละพรรคการเมืองเป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กับคะแนนรวมข้างต้น ผู้สมัครระบบบัญชีรายชื่อจะได้รับเลือกตามเกณฑ์คะแนนที่คำนวณได้ เรียงตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น

คะแนนขั้นต่ำของพรรคที่จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ: ร้อยละ 5 ของคะแนนรวมทั้งประเทศ

จำนวน ส.ว.: 200 คน

ที่มาของ ส.ว.: มาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด โดยใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง จำนวน ส.ว. ของแต่ละจังหวัดขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรในจังหวัดนั้นๆ คิดตามอัตราส่วนกับจำนวนประชากรทั่วประเทศ ประชาชน 1 คนออกเสียงเลือก ส.ว. ได้ 1 คน และให้ผู้ที่ได้คะแนนสูงที่สุดในแต่ละจังหวัดเรียงลำดับตามจำนวน ส.ว. ของจังหวัดนั้นๆ เป็นผู้ได้รับการเลือกตั้ง

การเลือกนายกรัฐมนตรี: ใช้เสียงครึ่งหนึ่งของ ส.ส. คือ 251 เสียง จาก 500 เสียง

คุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี: ต้องเป็น ส.ส.

ที่มาของระบบนี้: สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มาจากการเลือกตั้งโดยอ้อมจากประชาชนแต่ละจังหวัดจำนวน 76 คน ร่วมกับตัวแทนนักวิชาการอีก 23 คน เป็นคนยกร่าง โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และจัดทำประชาพิจารณ์ระดับจังหวัด หลังจากจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ใช้กระบวนการปกติของรัฐสภาทำหน้าที่พิจารณาและประกาศใช้

ที่ไปของระบบนี้: การรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ในปี 2549 ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2540

ข้อดี: 

  1. เป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ใช้ระบบบัญชีรายชื่อ ทำให้พรรคการเมืองมีความสำคัญมากขึ้น และทำให้ประชาชนสามารถออกเสียงให้กับ ส.ส. ในเขตพื้นที่ และพรรคการเมืองที่ชื่นชอบแตกต่างกันได้
  2. ระบบนี้ทำให้ได้สภาจากการเลือกตั้งที่มีพรรคการเมืองไม่มาก ทำให้แข่งขันกันที่นโยบายชัดเจนขึ้น และทำให้รัฐบาลเป็นรัฐบาลที่เข้มแข็ง มีเสถียรภาพกว่ายุคสมัยที่การจัดตั้งรัฐบาลต้องอาศัยการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรค
  3. เป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ทำให้ ส.ว. เป็นองค์กรที่มีความยึดโยงกับประชาชน

ข้อเสีย:

  1. การเลือกตั้ง ส.ส. ระบบแบ่งเขตยังมีข้อเสีย เนื่องจากใช้ระบบผู้ชนะได้ทุกสิ่งทุกอย่างไป (Winner Takes All) กล่าวคือ ในแต่ละเขตจะมีผู้สมัครที่ได้เป็น ส.ส. คนเดียว คือ ผู้ที่ได้คะแนนมากที่สุด โดยไม่ต้องคำนึงว่า ได้คะแนนมากเท่าใด ได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ออกเสียงในเขตนั้นหรือไม่ และคะแนนที่ประชาชนออกเสียงเลือกผู้สมัครคนอื่นๆ ที่ไม่ชนะ จะไม่มีความหมายเลย หรือที่เรียกว่า “คะแนนเสียงตกน้ำ”
  2. การกำหนดเพดานขั้นต่ำสำหรับพรรคการเมืองที่จะได้ ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อทำให้พรรคการเมืองขนาดเล็กหรือขนาดกลางมีโอกาสสูงที่จะไม่ได้ที่นั่ง ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อเลย ระบบเช่นนี้สนับสนุนให้มีแต่พรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่แข่งกัน โดยพรรคการเมืองที่จะเป็นทางเลือกใหม่ๆ ก็เกิดขึ้นได้ยาก ขณะเดียวกันเมื่อเหลือพรรคการเมืองจำนวนน้อยในสภา ก็ทำให้พรรครัฐบาลครองเสียงข้างมากได้และกลายเป็นรัฐบาลที่เข้มแข็ง จากเสียงข้างมากในรัฐสภา

 

ระบบเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ 2550/1

จำนวนสมาชิกสภา: 630 คน 
จำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขต: 400 คน
จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ: 80 คน
จำนวนบัตรเลือกตั้ง: 2 ใบ 

วิธีการเลือก ส.ส. แบบแบ่งเขต: แบ่งเขตเลือกตั้งตามเขตจังหวัด จังหวัดที่มี ส.ส. 1-3 คน ให้มีเขตเลือกตั้งเดียว จังหวัดที่มี ส.ส. มากกว่า 3 คน ให้แบ่งเป็นหลายเขตเลือกตั้ง แต่ละเขตเลือกตั้งมีจำนวน ส.ส. ไม่เท่ากัน โดยไม่เกินเขตละ 3 คน

ประชาชน 1 คนมีสิทธิออกเสียงได้เท่ากับจำนวน ส.ส.ในเขตเลือกตั้งนั้น ผู้ที่เป็น ส.ส. คือ ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดตามลำดับในเขตนั้น ตามจำนวน ส.ส. ที่เขตนั้นมีได้

วิธีการเลือก ส.ส. บัญชีรายชื่อ: ใช้ชื่อเรียกว่า “ระบบสัดส่วน” โดยแบ่งพื้นที่ประเทศไทยออกเป็น 8 กลุ่มจังหวัด แต่ละจังหวัดมี ส.ส. จากระบบสัดส่วนได้ 10 คน ให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครระบบสัดส่วนเป็นบัญชีรายชื่อได้ 10 คน ต่อหนึ่งกลุ่มจังหวัด ประชาชน 1 คนมีสิทธิออกเสียง 1 เสียงเพื่อเลือกบัญชีรายชื่อของพรรคใดพรรคหนึ่งในกลุ่มจังหวัดของตัวเอง

การคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ: เมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้ว ให้นำคะแนนที่ทุกพรรคการเมืองได้รับในเขตเลือกตั้งนั้นมารวมกัน แล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกของแต่ละพรรคการเมืองเป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กับคะแนนรวมข้างต้น ผู้สมัครระบบสัดส่วนจะได้รับเลือกตามเกณฑ์คะแนนที่คำนวณได้ เรียงตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น

คะแนนขั้นต่ำของพรรคที่จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ: ไม่มีกำหนด

จำนวน ส.ว.: 150 คน

ที่มาของ ส.ว.: มาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด จังหวัดละ 1 คน และที่เหลือมาจากการสรรหา
ให้มีคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาคณะหนึ่ง ประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธาน กกต. ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธาน ป.ป.ช. ประธาน คตง. ผู้พิพากษาศาลฎีกาซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามอบหมาย 1 คน และตุลาการศาลปกครองสูงสุดซึ่งที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดมอบหมาย 1 คน ทำหน้าที่สรรหาบุคคลจากผู้ได้รับการเสนอชื่อจากองค์กรต่างๆ ในภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาชีพ และภาคอื่นที่เป็นประโยชน์ โดยให้คำนึงถึงองค์ประกอบจากบุคคลที่มีความรู้ความสามารถในด้านต่างๆ ที่แตกต่างกัน โอกาสและความเท่าเทียมกันทางเพศ สัดส่วนของบุคคลในแต่ละภาคที่ใกล้เคียงกัน รวมทั้งการให้โอกาสกับผู้ด้อยโอกาสทางสังคม

การเลือกนายกรัฐมนตรี: ใช้เสียงครึ่งหนึ่งของ ส.ส. คือ 241 เสียง จาก 480 เสียง

คุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี: ต้องเป็น ส.ส.

ที่มาของระบบนี้: สภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 (สสร.) มาจากสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ พ.ศ. 2549 จำนวน 1,982 คน ที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร ลงมติคัดเลือกกันเอง เหลือ 200 คน และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) คณะรัฐประหารทำการคัดเลือกเหลือ 100 คน โดยมีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 35 คน นำโดยนาวาอากาศตรี ประสงค์ สุ่นศิริ เป็นประธาน กระบวนการเหล่านี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 ที่มาจากคณะรัฐประหาร และนำไปสู่การทำประชามติภายใต้กฎอัยการศึก เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2550

ที่ไปของระบบนี้: ระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2550 ถูกสภาผู้แทนราษฏร ภายใต้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พิจารณาแก้ไขในปี 2554

ข้อดี: 

  1. การที่ประชาชนสามารถออกเสียงเพื่อเลือก ส.ส. ระบบแบ่งเขตได้มากกว่า 1 คนต่อ 1 เขต ทำให้มีโอกาสกระจายคะแนนไปยังผู้สมัครหลายคน หรือหลายพรรคการเมือง การออกเสียงของประชาชนจะขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของผู้สมัครรายบุคคลเป็นสำคัญ หากชอบหรือไม่ชอบตัวบุคคลใดเป็นการเฉพาะก็สามารถเลือกได้โดยไม่ต้องผูกพันว่า ผู้สมัครคนนั้นจะสังกัดพรรคการเมืองใด
  2. การใช้ระบบบัญชีรายชื่อโดยการแบ่งกลุ่มจังหวัดเป็น 8 กลุ่ม ทำให้ผู้สมัคร ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อยังมีความผูกพันกับประชาชนในท้องที่อยู่บ้าง ไม่แยกขาดจากพื้นที่เช่นเดียวกับระบบบัญชีรายชื่อแบบทั้งประเทศ

ข้อเสีย:

  1. การแบ่งเขตเลือกตั้งสำหรับ ส.ส. ระบบแบ่งเขตที่ทำให้แต่ละเขตเลือกตั้งมีจำนวน ส.ส. ไม่เท่ากัน ประชาชนในแต่ละเขตเลือกตั้งจึงมีสิทธิออกเสียงไม่เท่ากัน ประชาชนที่อยู่ในเขตที่มี ส.ส. 3 คนก็มีสิทธิเลือกผู้แทนได้ 3 คน ส่วนประชาชนที่อยู่ในเขตที่มี ส.ส. คนเดียวก็มีสิทธิเลือกผู้แทนได้คนเดียว ส่งผลเป็นความไม่เท่าเทียมของจำนวนตัวแทนที่ออกเสียงในสภาด้วย
  2. การแบ่งพื้นที่สำหรับ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อเป็น 8 กลุ่มจังหวัดยังมีปัญหาอยู่มาก การแบ่งตามจำนวนประชากรทำให้การจัดกลุ่มจังหวัดครอบคลุมพื้นที่บริเวณกว้าง แต่ไม่ได้สะท้อนความเป็นภูมิภาค อัตลักษณ์ของประชากร หรือวัฒนธรรมของคนในพื้นที่นั้นๆ ตัวอย่างเช่น จังหวัดขอนแก่นอยู่กลุ่มเดียวกับจังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดอุตรดิตถ์ไม่ได้อยู่กลุ่มเดียวกับจังหวัดน่าน แพร่ แต่อยู่กลุ่มเดียวกับจังหวัดลพบุรี เป็นต้น ซึ่งไม่ได้ช่วยให้ ส.ส. ต้องมีความผูกพันและมีความรับผิดชอบต่อคนในพื้นที่ได้จริง
  3. ส.ว.จำนวนเกือบครึ่งหนึ่งมาจากระบบการสรรหา ซึ่งกรรมการสรรหาประกอบด้วยคนจากสถาบันตุลาการและองค์กรอิสระ ขาดความเชื่อมโยงกับประชาชน ไม่มีช่องทางให้ประชาชนที่ไม่อยู่ในกลุ่ม “ภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาชีพ และภาคอื่น” จะมีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ได้ และทำให้สถาบันที่ควรเป็นอิสระจากการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง

 

ระบบเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ 2550/2 


จำนวนสมาชิกสภา: 650 คน 
จำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขต: 375 คน
จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ: 125 คน
จำนวนบัตรเลือกตั้ง: 2 ใบ 

วิธีการเลือก ส.ส. แบบแบ่งเขต: แบ่งเขตเลือกตั้งเป็น 375 เขต แต่ละเขตมี ส.ส. 1 คน

ประชาชน 1 คน มีสิทธิออกเสียงได้ 1 เสียง เลือก ส.ส. 1 คนเป็นตัวแทนของเขตเลือกตั้งของตัวเอง ผู้สมัครที่ได้คะแนนมากที่สุดในเขตนั้นเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งเขตละ 1 คน

วิธีการเลือก ส.ส. บัญชีรายชื่อ: ทั้งประเทศเป็นเขตเลือกตั้งเดียว ประชาชน 1 คนมีสิทธิออกเสียงเลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่จัดทำขึ้นได้ 1 พรรค แต่ละพรรคส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อได้ไม่เกิน 125 คน

การคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ: เมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้ว ให้นำคะแนนจากระบบบัญชีรายชื่อที่ทุกพรรคการเมืองได้รับทั้งประเทศมารวมกัน แล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกของแต่ละพรรคการเมืองเป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กับคะแนนรวมข้างต้น ผู้สมัครระบบบัญชีรายชื่อจะได้รับเลือกตามเกณฑ์คะแนนที่คำนวณได้ เรียงตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น

คะแนนขั้นต่ำของพรรคที่จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ: ไม่มีกำหนด

จำนวน ส.ว.: 150 คน

ที่มาของ ส.ว.: มาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด จังหวัดละ 1 คน และที่เหลือมาจากการสรรหา
ให้มีคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาคณะหนึ่ง ประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธาน กกต. ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธาน ป.ป.ช. ประธาน คตง. ผู้พิพากษาศาลฎีกาซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามอบหมาย 1 คน และตุลาการศาลปกครองสูงสุดซึ่งที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดมอบหมาย 1 คน ทำหน้าที่สรรหาบุคคลจากผู้ได้รับการเสนอชื่อจากองค์กรต่างๆ ในภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาชีพ และภาคอื่นที่เป็นประโยชน์ โดยให้คำนึงถึงองค์ประกอบจากบุคคลที่มีความรู้ความสามารถในด้านต่างๆ ที่แตกต่างกัน โอกาสและความเท่าเทียมกันทางเพศ สัดส่วนของบุคคลในแต่ละภาคที่ใกล้เคียงกัน รวมทั้งการให้โอกาสกับผู้ด้อยโอกาสทางสังคม

การเลือกนายกรัฐมนตรี: ใช้เสียงครึ่งหนึ่งของ ส.ส. คือ 241 เสียง จาก 480 เสียง

คุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี: ต้องเป็น ส.ส.

ที่มาของระบบนี้: สภาผู้แทนราษฎร ภายใต้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 สร้างระบบการเลือกตั้ง ส.ส. ขึ้นใหม่ ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 4 มีนาคม 2554

ที่ไปของระบบนี้: การรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557 ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550

ข้อดี: 

  1. ระบบบัญชีรายชื่อแบบทั้งประเทศ มีที่มาจากการใช้ระบบสัดส่วนที่แบ่งกลุ่มจังหวัดออกเป็น 8 กลุ่มแล้วไม่ประสบความสำเร็จ จึงกลับมาใช้ระบบบัญชีรายชื่อลักษณะเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2540 อย่างไรก็ดี จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้นเป็น 125 คน ทำให้พรรคการเมืองมีความสำคัญมากขึ้นในระบบเลือกตั้ง

ข้อเสีย:

  1. การเลือกตั้ง ส.ส. ระบบแบ่งเขตยังมีข้อเสีย เนื่องจากใช้ระบบผู้ชนะได้ทุกสิ่งทุกอย่างไป (Winner Takes All) กล่าวคือ ในแต่ละเขตจะมีผู้สมัครที่ได้เป็น ส.ส. คนเดียว คือ ผู้ที่ได้คะแนนมากที่สุด โดยไม่ต้องคำนึงว่าได้คะแนนมากเท่าใด ได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ออกเสียงในเขตนั้นหรือไม่ และคะแนนที่ประชาชนออกเสียงเลือกผู้สมัครคนอื่นๆ ที่ไม่ชนะ จะไม่มีความหมายเลย หรือที่เรียกว่า “คะแนนเสียงตกน้ำ”
  2. ส.ว.จำนวนเกือบครึ่งหนึ่งมาจากระบบการสรรหา ซึ่งกรรมการสรรหาประกอบด้วยคนจากสถาบันตุลาการ และองค์กรอิสระ ขาดความเชื่อมโยงกับประชาชน ไม่มีช่องทางให้ประชาชนที่ไม่อยู่ในกลุ่ม “ภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาชีพ และภาคอื่น” จะมีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ได้ และทำให้สถาบันที่ควรเป็นอิสระจากการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง

 

ระบบเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ 2560

จำนวนสมาชิกสภา: 750 คน 
จำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขต: 350 คน
จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ: 150 คน
จำนวนบัตรเลือกตั้ง: 1 ใบ 

วิธีการเลือก ส.ส. แบบแบ่งเขต: แบ่งเขตเลือกตั้งเป็น 350 เขต แต่ละเขตมี ส.ส. 1 คน

ประชาชน 1 คน มีสิทธิออกเสียงได้ 1 เสียง เลือก ส.ส. 1 คนเป็นตัวแทนของเขตเลือกตั้งของตัวเอง ผู้สมัครที่ได้คะแนนมากที่สุดในเขตนั้นเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งเขตละ 1 คน

วิธีการเลือก ส.ส. บัญชีรายชื่อ: ประชาชนไม่ได้มีโอกาสเลือก ส.ส. จากระบบบัญชีรายชื่อ แต่จะนำคะแนนของ ส.ส. จากระบบแบ่งเขตมาใช้เป็นฐานในการคำนวณ

การคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ: เมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้ว จะนำคะแนนจากระบบแบ่งเขตมาคำนวณตามสูตรคณิตศาสตร์ ดังนี้

  1. นำจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งประเทศ ไม่รวมบัตรเสียเป็นตัวตั้ง หารด้วยจำนวน ส.ส.ทั้งหมด คือ 500 จะได้ผลลัพธ์เป็นตัวเลขชุดหนึ่งที่อนุมานว่า เป็นค่าเฉลี่ยของจำนวนประชากรต่อ ส.ส. 1 ที่นั่ง
  2. เมื่อจะหาจำนวน ส.ส. ของพรรคการเมืองใด ก็นำคะแนนรวมทั้งประเทศที่พรรคการเมืองนั้นได้จากการเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตมาเป็นตัวตั้ง แล้วนำตัวเลขที่ได้จากข้อ (1) ไปหาร ผลลัพธ์จะเป็นจำนวน ส.ส. ที่พรรคการเมืองนั้นควรจะมีได้ในการเลือกตั้งครั้งนี้
  3. นำจำนวน ส.ส. ที่พรรคการเมืองนั้นควรจะมีได้ จากข้อ (2) มาเป็นตัวตั้ง ลบด้วยจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตทั้งหมดที่พรรคการเมืองนั้นได้มาแล้ว ผลลัพธ์คือ จำนวน ส.ส. จากระบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับ

คะแนนขั้นต่ำของพรรคที่จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ: ไม่มีกำหนด

จำนวน ส.ว.: ในระยะ 5 ปีแรกมี 250 คน หลังจากนั้นจะลดเหลือ 200 คน

ที่มาของ ส.ว.: ในระยะ 5 ปีแรก ส.ว.มีที่มาแบบพิเศษจากการคัดเลือกของ คสช. โดยแบ่งเป็น 3 ช่องทาง ได้แก่ 1) ผู้นำทุกเหล่าทัพและปลัดกระทรวงกลาโหม 6 คน  2) การสมัครและคัดเลือกกันเองของ 10 กลุ่มอาชีพ แล้ว คสช.คัดเลือกรอบสุดท้ายให้เหลือ 50 คน 3) คณะกรรมการสรรหาซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานคัดเลือกมา 400 คน และให้ คสช.คัดให้เหลือ 194 คน

หลังจาก 5 ปีแรก จะเหลือช่องทางเพียงการเปิดรับสมัครและแบ่งผู้สมัครออกเป็น 10 กลุ่มอาชีพ จากนั้นให้ผู้สมัครแต่ละกลุ่มคัดเลือกกันเองตั้งแต่ระดับอำเภอ พอได้ตัวแทนระดับอำเภอก็ไปคัดเลือกกันเองต่อในระดับจังหวัด จากนั้นค่อยไปคัดเลือกกันเองต่อในระดับประเทศ ให้ได้ 200 คน

การเลือกนายกรัฐมนตรี: ในระยะ 5 ปีแรก ให้ ส.ส. ทั้ง 500 คน กับ ส.ว. 250 คน ร่วมกันลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี โดยใช้เสียงกึ่งหนึ่งของสองสภา คือ 376 เสียง

คุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี: ไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง ไม่จำเป็นต้องลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ต้องอยู่ในบัญชีว่าที่นายกฯ ที่พรรคการเมืองเสนอไว้ก่อนเลือกตั้ง เว้นแต่ในระหว่าง 5 ปีแรก มาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้สามารถเลือกจากคนที่ไม่อยู่ในบัญชีว่าที่นายกฯ ของพรรคการเมืองได้

ที่มาของระบบนี้: คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์ แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผู้ทำรัฐประหาร ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ของคณะรัฐประหาร และนำไปสู่การทำประชามติที่ปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559

ข้อดี: 

  1. การนำคะแนนของ ส.ส. ระบบแบ่งเขต มาใช้คำนวณ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ ทำให้คะแนนของผู้สมัครที่ไม่ได้ชนะการเลือกตั้งยังมีความหมาย สามารถนำไปคำนวณเป็นคะแนนของพรรคได้อีกชั้นหนึ่ง หรือที่เรียกว่า “คะแนนเสียงไม่ตกน้ำ”
  2. การเพิ่มจำนวน ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อมากขึ้นทำให้บทบาทของพรรคการเมืองมีความสำคัญมากขึ้น และนโยบายระดับชาติมีพื้นที่มากขึ้นกว่าเดิม

ช้อเสีย:

  1. การใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ทำให้ประชาชนไม่สามารถเลือก ส.ส. ในระบบแบ่งเขตให้แตกต่างไปจากการเลือกพรรคการเมืองได้ และอาจทำให้การตัดสินใจเลือกผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตคนใดคนหนึ่งเป็นการบังคับใช้เลือกพรรคการเมืองนั้นไปด้วย ทั้งที่ประชาชนบางคนอาจไม่ได้ชื่นชอบนโยบายของพรรคการเมืองที่ ส.ส. คนนั้นสังกัด ระบบเช่นนี้ทำให้ “เจ้าพ่อท้องถิ่น” ที่มีฐานเสียงเหนียวแน่นในระดับพื้นที่เป็นตัวแปรสำคัญมากสำหรับการเลือกตั้ง ซึ่งอาจจะสำคัญมากกว่านโยบายของพรรคการเมืองนั้นๆ ด้วย
  2. การมี ส.ว. จำนวนมากที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเลย และยังมีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี ทำให้ผลการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งไม่อาจสะท้อนเสียงความต้องการที่แท้จริงของประชาชน

You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

กรธ. ชุดมีชัย ออกแบบระบบ สว. “แบ่งกลุ่มอาชีพ”-“เลือกกันเอง” สุดซับซ้อน!

ระบบ “เลือกกันเอง” สว. 67 ที่ให้เฉพาะผู้สมัคร ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2,500 บาท มีสิทธิโหวต คิดค้นโดยคนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์