ที่เอกชน ที่ทำงาน, บ้าน, ที่พัก จัดกิจกรรมได้ ไม่อยู่ใต้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ

พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ออกมาใช้ควบคุมการชุมนุมใน “ที่สาธารณะ” โดยกำหนดให้ผู้จัดการชุมนุม และผู้เข้าร่วมการชุมนุมมีหน้าที่เฉพาะที่สำคัญ คือ กำหนดให้ผู้จัดการชุมนุมต้องแจ้งการชุมนุมล่วงหน้าต่อตำรวจในท้องที่ เปิดช่องให้ตำรวจเข้ามาแทรกแซงและกำหนดเงื่อนไขของกิจกรรมได้ แต่กฎหมายนี้ไม่ได้ใช้กับการรวมตัวกันของคนทุกประเภทกิจกรรม และทุกสถานที่เสมอไป

ข้อยกเว้นหลักๆ ของกิจกรรมที่ไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ อยู่ในมาตรา 3 ได้แก่

  1. การชุมนุมเนื่องในงานพระราชพิธีและงานรัฐพิธี
  2. การชุมนุมเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาหรือกิจกรรมตามประเพณีหรือตามวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น
  3. การชุมนุมเพื่อจัดแสดงมหรสพ กีฬา ส่งเสริมการท่องเที่ยว หรือกิจกรรมอื่นเพื่อประโยชน์ทางการค้าของผู้จัดการชุมนุมนั้น
  4. การชุมนุมภายในสถานศึกษา
  5. การชุมนุมหรือการประชุมตามกฎหมาย หรือการประชุมสัมมนาทางวิชาการ
  6. การชุมนุมสาธารณะในการหาเสียงเลือกตั้ง

นอกจากนั้นกิจกรรมใดที่จะเข้าข่ายของกฎหมายนี้ ยังต้องดูในบทนิยามด้วย ซึ่งมาตรา 4 กำหนดว่า

         “การชุมนุมสาธารณะ” หมายความว่า การชุมนุมของบุคคลในที่สาธารณะเพื่อเรียกร้อง สนับสนุนคัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป และบุคคลอื่นสามารถร่วมการชุมนุมนั้นได้ ไม่ว่าการชุมนุมนั้นจะมีการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายด้วยหรือไม่

         “ที่สาธารณะ” หมายความว่า ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่ใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันหรือที่หน่วยงานของรัฐมิได้เป็นเจ้าของแต่เป็นผู้ครอบครองหรือใช้ประโยชน์ บรรดาซึ่งประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ รวมตลอดทั้งทางหลวงและทางสาธารณะ

กิจกรรมที่จะเข้านิยามว่าเป็น “การชุมนุมสาธารณะ” มีองค์ประกอบ คือ จะต้องเป็นการชุมนุมกัน

  1. ใน “ที่สาธารณะ” 
  2. เพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นเรื่องใดเรื่องหนึ่ง 
  3. ต้องแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป
  4. บุคคลอื่นสามารถร่วมการชุมนุมได้

ถ้าหากขาดองค์ประกอบข้อใดข้อหนึ่งก็ไม่ใช่ “การชุมนุมสาธารณะ” และไม่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เช่น การจัดกิจกรรมแม้จะมีคนจำนวนมากมาเดินขบวนร่วมกัน แต่ถ้าหากเดินในสถานที่ปิด เช่น หอประชุม ไม่ใช่ที่สาธารณะก็ไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ หรือหากเป็นการจัดกิจกรรมร่วมกันของคนที่นัดหมายกันมา 4-5 คน ไม่ให้คนอื่นเข้าร่วม แม้จะทำในที่สาธารณะก็ไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ

เมื่อพิจารณานิยามของคำว่า “ที่สาธารณะ” หมายถึง ที่ดินของรัฐที่ใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์ ซึ่งรวมทั้งถนน สวนสาธารณะ สถานที่ราชการ ฯลฯ และรวมทั้งที่ดินที่หน่วยงานรัฐไม่ได้เป็นเจ้าของโดยตรงแต่เป็นผู้ครอบครองใช้ประโยชน์อยู่ โดยประชาชนสามารถเข้าไปได้ 

ดังนั้น “ที่เอกชน” หรือที่ดินของเอกชนจึงไม่มีลักษณะเป็น “ที่สาธารณะ” ถ้าหากจัดกิจกรรมรวมตัวกันแสดงออกในที่ดินของเอกชน เช่น บ้าน สำนักงาน โรงงาน สถานประกอบการ ไร่ นา สวน หรือที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่เอกชนเป็นเจ้าของ จะไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ รวมทั้งสถานที่เอกชนบางแห่งที่มีผู้คนใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น ห้างสรรพสินค้า สนามกีฬาของเอกชน พื้นที่กลางของหมู่บ้าน หรือคอนโดมิเนียม ก็ไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ

อย่างไรก็ดี ที่ดินของเอกชนอยู่ในการดูแลของเจ้าของที่ดินนั้นๆ และเจ้าของที่ดินนั้นๆ เป็นผู้มีสิทธิที่จะอนุญาตให้บุคคลใดใช้ทำกิจกรรมใดหรือไม่ก็ได้ ถ้าหากทำกิจกรรมในสถานที่ที่เจ้าของที่ดินไม่อนุญาต ก็อาจเป็นความผิดฐานบุกรุกได้

You May Also Like
อ่าน

กสม.ชี้หน่วยงานรัฐไทยเอี่ยวใช้สปายแวร์เพกาซัส ชงครม.สั่งสอบ-เรียกเอกสารลับ

กสม. เชื่อว่า มีการใช้สปายแวร์ เพกาซัสละเมิดสิทธิจริง โดยพิจารณาจากความน่าเชื่อถือของการตรวจสอบทางเทคนิคคอมพิวเตอร์ และบริบทแวดล้อมในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า หน่วยงานรัฐไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้สปายแวร์
อ่าน

ขนุน สิรภพ “คงแค่ยิ้มสู้” ระหว่างศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112

ขนุน สิรภพ “คงแค่ยิ้มสู้” ระหว่างศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112 . สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ หรือขนุน นิสิตรัฐศาสตร์จากมศว จำเลยในคดีมาตรา 112 จากการกล่าวปราศรัยระหว่างการชุมนุม #ม็อบ18พฤศจิกา . 25 มีนาคม ที่ผ่านมาศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษา จำคุก 3 ปี แต่เนื่องจากการนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง ศาลจึงลดโทษหนึ่งในสามคงจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา . จนถึงวันนี้(4 เมษายน 2567) เป็นเวลา 10 วันแล้วที่ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัว