โควิด-19 ระบาด ผู้ว่าฯ สั่งปิดสถานที่ได้ชั่วคราวในกรณีจำเป็นเร่งด่วน

3 มีนาคม 2563 ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ “โควิด-19” รวม 43 ราย โดยเสียชีวิต 1 ราย รักษาในโรงพยาบาล 11 ราย กลับบ้านแล้ว 31 ราย ทำให้สถานการณ์ประเทศไทยรุนแรงอยู่อันดับที่ 15 ของโลก และกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้โควิด-19 เป็น “โรคติดต่ออันตราย” ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 แล้ว

พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 หรือ “กฎหมายโรคติดต่อ” ซึ่งออกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. แต่งตั้งขึ้น ให้อำนาจเจ้าหน้าที่สามารถแยกกัก กักกัน หรือคุมไว้สังเกต ผู้ที่เป็นหรือสงสัยว่าเป็นโรคโควิด-19 ได้ ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัด/กรุงเทพมหานครมีอำนาจสั่งปิดสถานที่ อาทิ สถานศึกษา สถานที่ชุมชน ฯลฯ ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่โรคโควิด-19 นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังมีอำนาจสั่งห้ามพาหนะจากประเทศที่ติดโรคเข้าประเทศไทยอีกด้วย

 

เจ้าหน้าที่มีอำนาจกักกันผู้สงสัยเป็นโควิด-19 ฝ่าฝืนปรับ 20,000 บาท

พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 31 ระบุว่า 1) เจ้าบ้าน 2) สถานพยาบาล 3) ผู้ชันสูตร 4) เจ้าของสถานประกอบการอื่นใด พบผู้ที่เป็นหรือสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย หรือ “โควิด-19” ในสถานที่นั้นๆ ต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ หรือ “เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ” ซึ่ง รมว.กระทรวงสาธารณสุขแต่งตั้งขึ้น ผู้ใดฝ่าฝืน คือ ไม่ยอมแจ้ง มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท ตามมาตรา 50

อีกทั้ง มาตรา 34 ให้อำนาจเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อดำเนินการเองหรือออกคำสั่งเป็นหนังสือก็ได้ ให้ผู้ที่เป็นหรือสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย หรือผู้สัมผัสโรคหรือเป็นพาหะ มารับการตรวจ รักษา หรือการชันสูตร และเพื่อความปลอดภัย เจ้าหน้าที่อาจแยกกัก กักกัน หรือคุมไว้สังเกต จนกว่าจะได้รับการตรวจและชันสูตรว่าพ้นระยะติดต่อโรคหรือหายสงสัยแล้ว หากผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท ตามมาตรา 51 

นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค (คร.) อธิบายว่า ‘แยกกัก’ หมายถึง ผู้ป่วยที่มีเชื้อแล้วต้องไปอยู่ในห้องแยกโรคความดันเป็นลบ ขณะที่ ‘กักกัน’ หมายถึง ผู้ที่ยังไม่ป่วยแต่มีโอกาสได้รับเชื้อต้องไปอยู่ในพื้นที่เฉพาะ เช่น บ้านพัก เป็นเวลา 14 วัน และ ‘คุมไว้สังเกตอาการ’ คือ ผู้สัมผัสที่ไม่ใกล้ชิดผู้ป่วย เช่น ปู่ย่ากับหลาน หรือคนในไฟลท์บิน ต้องให้อยู่ที่บ้าน 14 วัน และต้องติดตามอาการทุกวันโดยถ้าป่วยให้ไปพบแพทย์ทันที

 

ผู้ว่าฯ สั่งปิดสถานที่ได้ชั่วคราว กรณีจำเป็นเร่งด่วนเพื่อป้องกันโควิด-19

ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ของโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด ผู้ว่าราชการจังหวัด/กรุงเทพมหานคร โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพฯ มีอำนาจในพื้นที่ของตนตามมาตรา 35 ของ พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 สามข้อ ดังนี้

หนึ่ง สั่งปิดตลาด สถานที่ประกอบหรือจำหน่ายอาหาร สถานที่ผลิตหรือจำหน่ายเครื่องดื่ม โรงงาน สถานที่ชุมนุมชน โรงมหรสพ สถานศึกษา หรือสถานที่อื่นใด ไว้ชั่วคราว 

สอง สั่งให้ผู้เป็นหรือสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดหยุดการประกอบอาชีพชั่วคราวได้

สาม สั่งห้ามผู้เป็นหรือสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด เข้าไปในสถานที่ชุมนุมชน โรงมหรสพ สถานศึกษา หรือสถานที่อื่นใด เว้นแต่ได้รับอนุญาต 

ทั้งนี้ ผู้ใดฝ่าฝืนต้องโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 52

 

ห้ามนำพาหนะ ผู้เดินทางจากเขตติดโรคโควิด-19 เข้าประเทศ 

พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 39 กำหนดว่า ในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ เมื่อมีเหตุสมควรหรือสงสัยว่าพาหนะ เช่น เรือสำราญ เครื่องบิน ฯลฯ มาจากประเทศอื่นที่มีโรคระบาด เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อมีอำนาจให้เจ้าของพาหนะนั้นแจ้งวัน เวลา และสถานที่ที่จะเข้าถึง ให้ยื่นเอกสารต่อเจ้าหน้าที่ ห้ามผู้ใดเข้าหรือออกจากพาหนะนั้น และห้ามนำผู้เดินทางเข้ามาในประเทศจนกว่าจะได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด หากผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท ตามมาตรา 51 

อย่างไรก็ดี หากรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขประกาศให้ประเทศใดเป็นเขตติดโรค เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อมีอำนาจตามมาตรา 40 (2) จัดให้พาหนะนั้นจอดอยู่ ณ สถานที่ที่กำหนดจนกว่าจะอนุญาตให้ไปได้ ถ้าหากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 54

นอกจากนี้ เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อยังมีอำนาจให้ผู้เดินทางมากับพาหนะที่มาจากเขตติดโรคต้องรับการตรวจทางการแพทย์ แยกกัน กันกัน คุมไว้สังเกต หรือรับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และห้ามผู้ใดเข้าไปหรือออกจากพาหนะนั้น ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 52

You May Also Like
อ่าน

ผ่านฉลุย! สส. เห็นชอบร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม วาระสาม ส่งไม้ต่อให้ สว.

27 มีนาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีมติ “เห็นชอบ” ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวาระสาม ส่งไม้ต่อให้วุฒิสภาพิจารณาสามวาระ
อ่าน

จับตาประชุมสภา ลุ้น สส. ผ่านร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม วาระสอง-สาม

27 มีนาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมนวาระสอง-สาม หากสภามีมติเห็นชอบในวาระสาม ร่างกฎหมายก็จะได้พิจารณาต่อชั้นวุฒิสภา