นักกฎหมายแนะเพิ่มระบบตรวจสอบศาลรัฐธรรมนูญ ยันประชาชนใหญ่สุด วิจารณ์ศาลได้

19 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ห้องประชุมคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์) มีวงเสวนาเรื่อง “ประชาชนอยู่ตรงไหน เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” วิทยากรประกอบด้วย ผศ.ธีระ สุธีวรางกูร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ., ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ, รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยาฯ มธ. และสัณหวรรณ สีสด คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล

บรรยากาศงานเสวนาเป็นไปอย่างคึกคัก มีผู้เข้าร่วมและสื่อมวลชนให้ความสนใจเต็มความจุห้องประมาณ 40-50 คน รวมถึงธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ก็เดินทางเข้าร่วมงานนี้ด้วย

 

ศาลรัฐธรรมนูญเป็นใหญ่ แต่ประชาชนต้องแสดงเจตจำนงให้ศาลเห็น

ผศ.ธีระกล่าวว่าจะพูดในสองประเด็น คือ ตุลาการเป็นใหญ่จริงหรือไม่ และเมื่อตุลาการเป็นใหญ่ประชาชนจะทำอย่างไรได้บ้าง

ในประเด็นแรกตุลาการเป็นใหญ่หรือไม่ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นใหญ่ในแผ่นดินเพราะศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาหลายคำวินิจฉัย คดีมักเป็นไปในลักษณะว่ากฎหมายที่รัฐบาลออกมาขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ สุดท้ายก็มีคำวินิจฉัยให้กฎหมายนั้นตกไป ยุบพรรคการเมือง หรือตัดสินให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง เป็นต้น ตามข้อเท็จจริงก็ปรากฏให้เห็นได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นใหญ่จริงๆ แต่นั่นเป็นเพียงความรู้สึกต่อศาลรัฐธรรมนูญ

ในทางกฎหมายขออธิบายเหตุผล 5 ข้อ ที่จะทำให้เห็นว่าทำไมศาลรัฐธรรมนูญเป็นใหญ่ในแผ่นดิน

1. สถานะของศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรของรัฐในระดับสูงเนื่องจากกฎหมายที่ก่อตั้งและกำหนดอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญคือรัฐธรรมนูญ ซึ่งในทางกฎหมายคุณค่าของรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในประเทศ ในทางวิชาการองค์กรไหนของรัฐที่รัฐธรรมนูญก่อตั้งจะถือว่าเป็นองค์กรระดับสูงของรัฐ

2. อำนาจหน้าที่ขององค์กร ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ตัดสินคดีของชาวบ้านเหมือนศาลยุติธรรม แต่คู่ความในศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเรื่องขององค์กรของรัฐที่สัมพันธ์ระหว่างกัน หรือเป็นเรื่องการใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญยังมีอำนาจหน้าที่ไปตรวจสอบฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูง หรือการใช้อำนาจของรัฐว่าใช้อำนาจชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะฉะนั้นอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นอำนาจตรวจสอบ ควบคุมอำนาจระดับสูงขององค์กรของรัฐองค์กรอื่น อำนาจตรงนี้ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นใหญ่อีกทางหนึ่ง และคนที่อธิบายเรื่องนี้ได้ชัดเจนที่สุดคือคุณชุมพล ศิลปอาชา ท่านเคยพูดไว้ตอนที่ตั้งศาลรัฐธรรมนูญใหม่ๆ ว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้อำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่นๆ แล้วนั้น ถือว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่เหนือกว่าองค์กรเหล่านั้นทั้งหมด

3. สถานะของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นตัวสะท้อนให้เห็นเหมือนกันว่าศาลรัฐธรรมนูญอยู่สูงสุด เพราะในประเทศไทยหรือระบบกฎหมายไทยมีเฉพาะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้นที่มีผลผูกพันกับองค์กรของรัฐทุกองค์กร ศาลอื่นตัดสินคดีไปก็ผูกพันเฉพาะคู่ความในคดี เช่น ศาลปกครองตัดสินคดีไปก็ผูกพันเฉพาะนาย ก หรือนาย ข ศาลยุติธรรมก็เช่นเดียวกัน แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นเพื่อให้ผลของคำวินิจฉัยบังคับใช้ได้จึงมีการระบุไว้ว่าหน่วยงานใดที่เกี่ยวข้องกับคำพิพากษานั้นจะต้องถูกผูกพันทั้งหมด เพราะฉะนั้นคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญจึงสามารถผูกพันรัฐสภา ฝ่ายบริหาร และศาลได้

4. ข้อนี้เป็นเหตุผลที่อาจมีแง่มุมที่เป็นคุณหรือเป็นโทษก็ได้ เนื่องจากเวลาศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไปแล้วไม่มีองค์กรไหนสามารถเข้ามาตรวจสอบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้เลย ศาลยุติธรรมตัดสินคดีในชั้นต้นแล้วยังสามารถอุทธรณ์ได้ ศาลอุทธรณ์ตัดสินแล้วยังสามารถฎีกาได้ ศาลปกครองชั้นต้นตัดสินก็ยังสามารถอุทธรณ์ได้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีชั้นเดียว ตัดสินแล้วก็จบไม่เปิดช่องให้มีองค์กรใดมาตรวจสอบการใช้อำนาจตุลาการโดยการตรวจสอบคำวำนิจฉัยได้เลย จึงมองเห็นได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญอยู่ในฐานะที่จะเป็นใหญ่เพราะไม่มีองค์กรไหนตรวจสอบการใช้อำนาจได้

5. ประเด็นการแก้ไขเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญหรือการปรับเปลี่ยนอำนาจหน้าที่ของศาล สมมติท่านเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรสำคัญ คำวินิจฉัยมีความสำคัญ แต่อำนาจในการตรวจสอบศาลหย่อนไปหน่อย ไม่สามารถตรวจสอบการทำงานของศาลได้เลยและต้องการแก้ไขการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ การพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ คำวินิจฉัยของศาลนั้น รัฐธรรมนูญปัจจุบัน (2560) กำหนดว่า หากผ่านด่านวุฒิสภาไปได้แล้วหากมีการเสนอเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีการวินิจฉัยว่าเรื่องนี้ส่งผลกระทบต่ออำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นต้องไปผ่านการประชามติก่อนจึงจะประกาศใช้บังคับได้

จากเหตุผล 5 ข้อในเชิงนิติศาสตร์ การเมือง สังคมวิทยาการเมือง และที่อธิบายมาทุกเชิงแล้ว ตามภาษาชาวบ้านจะเห็นได้เลยว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นใหญ่ในแผ่นดินแน่ๆ หากพูดในทางนิติศาสตร์ก็สามารถอธิบายได้ว่าศาลเป็นองค์กรสำคัญของประเทศ เป็นองค์กรระดับสูงของประเทศ

ในประเด็นที่ว่าประชาชนจะอยู่ที่ไหนในเมื่อตุลาการหรือศาลออกคำวินิจฉัยไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ผศ.ธีระอธิบายว่า เวลาเราจัดให้มีองค์กรตุลาการ เราต้องการให้ศาลใช้อำนาจตุลาการเป็นไปตามกฎหมาย ถ้าศาลตั้งมาให้มีหน้าที่ให้คุ้มครองสิทธิก็ต้องคุ้มครองสิทธิ ถ้าศาลมีหน้าที่ดูแลอำนาจรัฐก็ต้องดูแลอำนาจรัฐ เมื่อเราคาดหวังให้ศาลปฏิบัติหน้าที่แบบนั้นประเด็นจึงอยู่ที่ว่าเราต้องเข้าใจก่อนว่าศาลมีโอกาสจะใช้อำนาจไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดกับความยุติธรรมได้เสมอ เราจึงต้องจัดระบบว่าหากตัดสินคดีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายต้องมีกลไกในการจัดการตัวผู้พิพากษาหรือคำพิพากษาได้ ประเด็นนี้อยู่ในศาลยุติธรรมและศาลปกครองอยู่แล้วในการอุทธรณ์ ฎีกาคำพิพากษา แต่ในศาลรัฐธรรมนูญไม่มีระบบดังกล่าว ตัดสินคดีชั้นเดียวจบ จึงเกิดคำถามว่าประชาชนจะสามารถทำอะไรกับการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้บ้าง

วิธีแรก เมื่อศาลมีคำวินิจฉัยออกมา ประชาชนควรใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นติชมการปฏิบัติหน้าที่ของศาลซึ่งเป็นการกระทำแรกที่ทำได้ แต่ต้องกระทำการโดยระวังเสียหน่อย เนื่องจากศาลไม่ใช่รัฐสภาหรือตัวแทนของประชาชน ศาลเป็นองค์กรที่กฎหมายกำหนดให้เป็นองค์กรที่ถูกสันนิษฐานว่าปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลางอยู่แล้ว ประชาชนไม่สามารถไปตำหนิศาลอย่างหยาบคายได้ แต่ต้องวิจารณ์แบบมีเหตุมีผล ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องมีความรู้ทางกฎหมายเสียหน่อยจึงจะสามารถวิจารณ์อย่างเป็นขั้นเป็นตอนทางกฎหมายได้ แต่ก็ไม่ถึงขั้นทำไม่ได้ เพียงใช้เสรีภาพอย่างระมัดระวัง

วิธีการที่สอง ใช้เสรีภาพในการชุมนุม เนื่องจากการชุมนุมก็เป็นหนึ่งในสิทธิเสรีภาพที่สามารถทำได้ แต่ก็ต้องชุมนุมด้วยวิธีการที่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จะต้องทำตามกฎหมายชุมนุมที่มันแย่ เราก็ค่อยแก้กันไปทีละขั้น แต่การชุมนุมคือสิทธิของประชาชนที่ใช้เพื่อยันการใช้อำนาจของรัฐและตุลาการ ขอเพียงกระทำโดยสุจริต ชุมนุมโดยสุจริต แสดงความคิดเห็นในการชุมนุมให้สุจริต

วิธีการที่สาม ใช้วิธีการทางสภา ผ่านตัวแทนในสภาให้แก้กฎหมายที่ประชาชนไม่พอใจที่ศาลตัดสินไม่ดี

วิธีการที่สี่ อาจจะไม่เป็นเรื่องทางกฎหมาย แต่เป็นการใช้อำนาจตัดสินใจทางการเมืองให้เป็นผลตรงกันข้ามของการตัดสินใจของฝ่ายรัฐ ความหมายคือ หากฝ่ายรัฐต้องการให้ผลทางการเมืองเป็นอย่างไร เราก็อย่าไปทำตามแบบนั้น เช่นปี 2549 มีการยุบพรรคไทยรักไทย เราก็ไปเลือกพรรคใหม่ที่อยู่ฝ่ายเดิม ยุบพรรคหนึ่ง เราก็ไปเลือกอีกพรรคหนึ่ง ส่งเสียงของประชาชนผ่านการเลือกตั้งต่อไป ใช้ความอดทนเข้าสู้ ไม่ให้เป็นไปตามความต้องการของฝ่ายรัฐ

 

ศาลไม่ต้องตัดสินเอาใจเสียงข้างมาก แต่ควรตัดสินตามหลักกฎหมายแม้เป็นเสียงส่วนน้อย

ดร.เข็มทองกล่าวว่า หลักฐานที่ชัดเจนที่สุดของคำว่าตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน คือ วันนี้ศาลเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความตึงเครียดในสังคม ประชาชนอยู่กับมันมาเคยชินตั้งแต่คำว่าตุลาการภิวัฒน์ ระบบเราไม่ปกติแต่เราชินกับมัน มีการเลือกตั้ง สักพักมีคดีขึ้นสู่ศาล บรรยากาศตึงเครียด มีการตัดสินเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างฉับพลัน รุนแรง เกิดการถกเถียงกัน ทุกคนนั่งเศร้ากับคำพิพากษาในทีวี แล้วก่นด่าคำพิพากษา วนอย่างนี้มาเรื่อยๆ จนเหมือนเป็นเรื่องปกติ แต่จริงๆ มันไม่ใช่เรื่องปกติ

ปกติแล้วรัฐบาลถูกตรวจสอบถูกฟ้องถือเป็นเรื่องปกติ กฎหมายขัดรัฐธรรมนูญถูกถอนก็ปกติ ระบบการเมืองก็ยังต้องดำเนินต่อไปได้ แต่ของไทยเราพออ่านคำพิพากษาที่สมดุลการเมืองเปลี่ยน พรรคนั้นชนะ พรรคนี้หายไป มีโทษอาญา มีการตัดสิทธิ์ทางการเมืองซึ่งมันมากเกินกว่าที่ตุลาการสามารถตรวจสอบการกระทำของรัฐบาลได้ มันคงเป็นหลักฐานที่ชัดเจนมากๆ ว่า สิ่งที่เราเคยชินกันมาสิบกว่าปีนี้ไม่ใช่เรื่องปกติ น่าจะบ่งชี้ได้ว่าอำนาจตุลาการเป็นใหญ่ขึ้นมาในแผ่นดิน

ในเรื่องของความแตกต่างในอำนาจอธิปไตยของฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการนั้น สิ่งแรกของความแตกต่างคือ ฝ่ายตุลาการต้องไม่เอาใจเสียงข้างมาก แต่ศาลก็ยังต้องยึดโยงกับประชาชนอยู่ ไม่ได้แปลว่าต้องสวนกับเสียงข้างมากเสมอไป ศาลเพียงธำรงหลักการพื้นฐานของรัฐไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง ต้องไม่เอาชะตากรรมของรัฐไปฝากไว้กับอำเภอใจของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือที่เราอาจจะเรียกว่าเผด็จการ ไม่จำเป็นต้องไปตามเผด็จการหรือทรราชเพียงคนเดียว มันต้องมีคุณค่าหรือหลักการอะไรบางอย่างอยู่ที่ตุลาการต้องคอยควบคุมอยู่ตามหลักประชาธิปไตยและหลักกฎหมาย เช่น การใช้เสียงข้างมากแต่ต้องเคารพเสียงข้างน้อย ตรงนี้ตุลาการต้องเป็นคนเข้าไปดู

นี่คือสิ่งที่เรียกว่า post-political constitution มีศาลมีกรรมการมาคอยดูว่าทั้งสองฝ่ายออกนอกลู่นอกทางเกินไปหรือไม่ คอยควบคุมความเผอเรออารมณ์ชั่วขณะของฝูงชน ต้องไม่ใช่เรื่องของพวกมากลากไป ผิดไม่ผิดมีหลักการตามศาสตร์ของนิติศาสตร์ที่ได้ร่ำเรียนมา มีองค์ประกอบความผิด นี่คือที่ทางของศาลที่ควรจะเป็น

แต่ถ้าเกิดมีอะไรบางอย่างที่เกินหลักการพื้นฐานที่ศาลเป็นผู้พิทักษ์กฎเกณฑ์หรือกฎหมาย อย่างนี้ศาลก็จะไปต่อไม่ได้ ในประเทศไทยเริ่มต้นเมื่อปี 2549 ที่ถือได้ว่าตุลาการเป็นใหญ่ ศาลมีการขยายอำนาจออกไปจากที่เราเข้าใจกันตามตัวบทกฎหมายว่าศาลมีอำนาจในการพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพระราชบัญญัติ แต่อยู่ดีๆ ศาลมีอำนาจเข้าไปดู พ.ร.ฎ.เลือกตั้งได้ด้วย ศาลปกครองคุ้มครองชั่วคราว ไม่กี่วันศาลรัฐธรรมนูญกลับมีคำสั่งตามมาว่า พ.ร.ฎ.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ตอนนั้นนักวิชาการต่างก็ตกใจกันมากว่าทำไมศาลมีอำนาจทำแบบนี้ ตอนนั้นนักวิชาการมากมายออกมาพูดและตั้งคำถาม แต่สักพักทุกอย่างก็เริ่มนิ่ง ทุกคนเริ่มมองเห็นว่ามันเป็นเรื่องปกติและยอมรับว่าศาลคงจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในทางการเมือง

สังคมไทยได้เป็นประจักษ์พยานการใช้อำนาจตุลาการเข้าไปในการเมืองอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน มันสามารถกลับไปกลับมาได้ตลอด นี่คือหลักฐานของเรื่องว่าตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน แต่อย่างที่บอกไปตอนต้น ศาลไม่จำเป็นต้องเอาใจเสียงข้างมาก แต่ศาลต้องเป็นผู้รับใช้ประชาชนอยู่ ศาลยังต้องมีความรับผิดชอบต่อประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจที่มอบหมายอำนาจให้ฝ่ายตุลาการใช้อำนาจนั้น ศาลไม่สามารถอ้างอิงอำนาจอธิปไตยจากแหล่งอื่น ประชาชนควรมีสิทธิคาดหวังกระบวนการยุติธรรมที่สมเหตุสมผล ถ้าคนทั้งแผ่นดินบอกว่าดูยังไงก็ไม่เป็นธรรม มันก็ต้องกลับมาตั้งคำถามว่าศาลได้ใช้อำนาจไปในการวินิจฉัยตามที่ได้รับมอบอำนาจมาจากประชาชนหรือไม่

การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ควรจะเป็นไปเพื่อการธำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย แต่คำถามคือ สิบกว่าปีที่ผ่านมายิ่งวินิจฉัยไปยิ่งทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งขึ้นหรือไม่ ยิ่งนานวันเข้ายิ่งมีศัพท์เกิดใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ จากตุลาการภิวัฒน์ในวันนั้นมาจนถึงคำว่า Lawfare หรือนิติสงครามในวันนี้ นี่คงจะบอกได้ว่าตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดินหรือไม่

ดร.เข็มทองยังพูดถึงประเด็นที่ประชาชนควรจะทำได้เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน โดยเน้นย้ำอีกครั้งว่า ความยุติธรรมไม่ใช่ตามใจเสียงข้างมาก แต่ตุลาการยังคงต้องยึดโยงกับประชาชน เพราะประชาธิปไตยมาจากประชาชนและเสนอว่าอย่างน้อยสิ่งที่ประชาชนควรจะทำได้ในยุคตุลาการเป็นใหญ่ต้องเริ่มจาก

ข้อแรก วิพากษ์วิจารณ์ได้ ให้ประชาชนมีสิทธิในการพูดมากขึ้น การที่ให้ประชาชนพูดจะเป็นเหมือนการปรับความสัมพันธ์กับศาลใหม่ซึ่งจะเปลี่ยนให้ศาลจากองค์กรศักดิ์สิทธิ์กลายเป็นองค์กรของรัฐที่รับใช้ประชาชน สถาบันตุลาการไม่ควรไปเน้นอำนาจความศักดิ์สิทธิ์ที่สะท้อนออกมาทางการห้ามวิจารณ์หรืออื่นๆ เช่นวันที่จะตัดสินคดียุบพรรคอนาคตใหม่ ศาลก็ประกาศว่าเตรียมเจ้าหน้าที่ไว้ 1 กองร้อยเพื่อดูแลความปลอดภัย แค่นี้ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ต้อนรับประชาชน ไม่เห็นว่าประชาชนเป็นส่วนสำคัญหรือเป็นที่มาของอำนาจตัวเอง

การที่ศาลกำหนดให้วิจารณ์ศาลได้ตามหลักวิชาการ เห็นว่าเป็นการตัดสิทธิคนจำนวนมากที่จะพูดได้ การวิจารณ์ศาลควรจะง่ายกว่านั้น ประชาชนควรจะพูดได้ว่าเขาไม่พอใจในคำพิพากษา เขาไม่ได้รับความเป็นธรรม ทางศาลก็ควรจะมีการย่อยคำพิพากษา แปลคำพิพากษาให้ประชาชนเข้าใจ รวมไปถึงคำพิพากษาของตุลาการทั้ง 9 คนก็ควรจะแปลให้ประชาชนได้รู้ เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจศาลด้วย รวมไปถึงการวิจารณ์เรื่องส่วนตัวก็ควรจะทำได้ เนื่องจากตุลาการภิวัฒน์เกิดขึ้นยาวนานถึง 14 ปี มันมีเรื่องยิบย่อยเกิดขึ้นไปหมด เหตุการณ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นเร็วมากจนคนไม่ทันได้วิจารณ์ศาล รายละเอียดยิบย่อยมันมีเรื่องเกี่ยวกับตัวศาลเองด้วย เช่น เรื่องจดหมายน้อยจากตำรวจในศาลปกครองที่ทำให้ตุลาการศาลปกครองสูงสุดพ้นจากตำแหน่ง หรือเรื่องในศาลรัฐธรรมนูญที่เอาลูกชายตัวเองเข้าไปทำงานแล้วส่งไปเรียนต่อเมืองนอก ฯลฯ เรื่องพวกนี้ควรกลับไปวิจารณ์ได้ด้วย หากเรื่องพวกนี้ไม่ได้รับการวิจารณ์หรือสะสางก็จะทำให้เกิดวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดในองค์กรตุลาการด้วย

ข้อที่สอง กระบวนการสรรหาตุลาการควรให้ประชาชนมีสิทธิได้รับทราบข้อมูลในการสรรหามากกว่านี้ กระบวนการสรรหาที่เกิดขึ้นไม่มีใครรู้ มีแต่ ส.ว.ที่รู้ว่าใครเข้าใครออกบ้าง อยู่ๆ ก็มีชื่อ 5 คนเข้าสู่วุฒิสภา แล้วก็มีชื่อ 4 คนที่วุฒิสภารับรองออกมา ประชาชนแทบไม่ได้มีส่วนรู้เห็นเลย

ข้อสุดท้าย ศาลต้องรับฟังประชาชนบ้างและพิจารณาทบทวนตัวเองบ้างว่าประชาชนพูดอะไร หากไม่ฟังเลยองค์กรศาลก็จะเสื่อมวิกฤตศรัทธาขึ้นไปเรื่อยๆ

ตอนนี้คิดว่ามาถึงขั้นที่ว่ามวลชนฝั่งหนึ่งคิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากศาล มวลชนปีกขวาก็ไม่ได้เชื่อว่าศาลยุติธรรมจริงหรอกแต่สนับสนุนศาลเพียงเพราะมีผลประโยชน์ มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้าสำหรับศาลที่เปลี่ยนจากสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือกลายเป็นคนยกย่องเพราะมีผลประโยชน์ หากไม่มีผลประโยชน์ก็จบ

 

ไม่ใช่เพียงศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นใหญ่ในแผ่นดิน แก้ไขระบบศาลได้ต้องแก้รัฐธรรมนูญ

รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวว่า ในแง่หนึ่งอยากชวนคุยไกลไปกว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นใหญ่ในแผ่นดิน แต่อาจจะหมายถึงกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดของประเทศนี้ เราทราบกันดีว่าตุลาการเป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตย มาจากประชาชน ประเด็นคือมันเกิดอะไรขึ้นในประเทศนี้ที่อยู่ๆ ประชาชนถูกถีบออกไปจากอำนาจที่ควรจะเป็นของตัวเอง

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนอย่างกระทรวงยุติธรรมไม่ได้มีอะไรที่จะยึดโยงกลับไปหาประชาชนเลย สัญลักษณ์ อาคารต่างๆ ก็ไม่ใช่ และผู้พิพากษายังเป็นอาชีพเดียวที่ต้องไปทำพิธีต่อกษัตริย์ แต่ไม่ใช่ประชาชน

กรมราชทัณฑ์ก็น่าสนใจ ยังมีวิธีคิดคล้ายๆ กับยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่ ชื่อก็ยังคงเป็นการลงทัณฑ์ของพระราชาอยู่ เป็นองค์กรเดียวที่มีคำว่า “ราช” ในชื่อหน่วยงานทางการ และแม้จะเปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษขององค์กรไปแล้ว แต่ชื่อภาษาไทยของกรมราชทัณฑ์นั้นไม่เคยเปลี่ยน องค์กรศาลต่างๆ ก็ตัดสินในนามพระปรมาภิไธย ไม่ใช่ในนามของประชาชน ดังนั้น มันสะท้อนว่าตุลาการไม่มีความยึดโยงกับประชาชนเลย คนในแวดวงกระทรวงยุติธรรมตระหนักว่าตนเองเป็นชนชั้นหนึ่งในสังคมนี้แยกออกมา ไม่นับรวมไปถึงว่าสวัสดิการที่สูง เงินเดือนที่สูงกว่าปกติ และไม่นับรวมกรณีของหมู่บ้านป่าแหว่ง

ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดการตัดขาดจากประชาชนไปโดยปริยาย ศาลรัฐธรรมนูญที่ควรจะผูกกับประชาชน ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นกลไกองค์กรอิสระควบคุมการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร ตอนนั้นเกิดขึ้นมาพร้อมกับความไม่ไว้ใจนักการเมือง ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 จนกระทั่งปี 2549 ที่มีการประชุมร่วมกันของสามศาล และคำวินิจฉัยออกมาให้การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2549 เป็นโมฆะ และหลังการรัฐประหารปี 2549 สมาชิกวุฒิสภาเริ่มมีความถอยห่างจากการยึดโยงกับประชาชน จนมาปี 2560 นี่ความยึดโยงกับประชาชนหายไปโดยสิ้นเชิง เมื่อไม่มีความยึดโยง ไม่มีสำนึกว่าต้องรับผิดกับประชาชน จึงไม่น่าแปลกใจที่เราเห็นกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เคยเห็นหัวประชาชนและการบังคับใช้ที่ไม่เท่าเทียมกันตั้งแต่ในชั้นศาลยุติธรรมขึ้นมาเลยด้วยซ้ำ ในกระบวนการยุติธรรมแบบปกติประชาชนไม่ถูกให้ความสำคัญ และยิ่งเป็นคนจนมากเท่าไรก็ยิ่งได้รับความอยุติธรรมมากเท่านั้น

ศาลรัฐธรรมนูญแทนที่จะได้ทำหน้าที่ตามที่ถูกออกแบบไว้เพื่อให้กลายเป็นกลไกในการปกป้องสิทธิเสรีภาพของเสียงข้างน้อย กลายมาเป็นกลไกอีกอันหนึ่งในการขัดขวางการแสดงออกซึ่งเจตจำนงของประชาชน ตั้งแต่ปี 2549 ไล่มาเรื่อยจนถึงปัจุบัน ที่อยากทิ้งท้ายคือ ไม่ได้มีแค่ศาลรัฐธรรมนูญศาลเดียวที่ทำให้เสียงของประชาชนหายไป มันมีการทำงานรับลูกกันของศาลและองค์กรอิสระอื่นๆ ทั้งหมด จะเห็นได้ว่าถ้าเรากลับไปหาสิ่งที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ความคล้ายกันขององค์กรเหล่านี้ทั้งหมดคือความไม่ยึดโยงกับประชาชน แต่กลับอยู่ภายใต้การกำกับของกลุ่มคนเพียงไม่กี่คน

รศ.ดร.อนุสรณ์เสนอวิธีการแก้ปัญหาระบบตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดินว่าต้องแก้ที่รัฐธรรมนูญ สิ่งที่จะเสนอให้แก้ไขนั้นมีหลายประการ

ส่วนแรก ต้องแก้ไขกระบวนการหล่อหลอมกล่อมเกลาคนในวิชานิติศาสตร์ของคนที่จะไปเป็นผู้พิพากษา การเรียนการสอนวิชานิติศาสตร์ควรจะมีการวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นและให้การเรียนการสอนนิติศาสตร์ไม่ใช่มีแต่การศึกษาเพื่อหาความรับผิด แต่ควรจะศึกษาคนที่จะมารับผิดต่อกฎหมายมากขึ้น เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนะของคนเรียนนิติศาสตร์

ส่วนที่สอง เปลี่ยนวิธีการรับคนเข้าเป็นตุลาการ ผู้พิพากษา เนื่องจากปัจจุบันระบบรับเข้าเป็นตุลาการผู้พิพากษาดูจะเป็นระบบปิด ควรให้คนนอกเข้าไปในชนชั้นตุลาการให้มากขึ้นบ้างเพื่อเปลี่ยนวัฒนธรรมที่หล่อหลอมในหมู่ตุลาการที่แข็งตัว

ส่วนที่สาม ควรจะลดราคาของระบบกระบวนการยุติธรรมลง ประชาชนควรจะได้รับการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมในราคาที่ประหยัดมากขึ้น อาจจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับศาลเป็นไปในทางที่ดีขึ้น

ส่วนที่สี่ ศาลควรจะลดความศักดิ์สิทธิ์ของตัวเองลงและเกาะเกี่ยวกับประชาชนให้มากขึ้น เช่น เข้าไปในห้องพิจารณาคดีจะนั่งกอดอกยังทำไม่ได้ ศาลกับประชาชนห่างกันขนาดนั้น

ส่วนที่ห้า เพิ่มระบบลูกขุนเข้ามาเป็นไปได้หรือไม่ แทนที่จะมีแต่ผู้พิพากษา ประชาชนควรจะเข้าไปช่วยตัดสินได้ ระบบลูกขุนจึงเป็นระบบที่น่าสนใจ

ทั้งห้าส่วนนี้อาจจะแก้ปัญหาทางวัฒนธรรมที่ตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน และไม่มีจุดเกาะเกี่ยวกับประชาชนได้ แต่ในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญอาจจะต้องแก้ไขหลายทาง แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องแก้ไขที่มาของศาลรัฐธรรมนูญ ตอนนี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องผ่านการพิจารณาของ ส.ว. ซึ่ง ส.ว.มาจากการแต่งตั้งทั้ง 250 คน ไม่มีจุดเกาะเกี่ยวกับประชาชนเลย ส.ว.ไม่ควรมาอยู่จุดสุดท้ายของการคัดเลือกศาลรัฐธรรมนูญ อาจจะต้องแทรกกระบวนการให้ประชาชนมีโอกาสตรวจสอบถ่วงดุลมากกว่านี้ การแก้ไขในเรื่องเหล่านี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องไปแก้รัฐธรรมนูญ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ส.ว.ก็มีท่าทีจะไม่ให้แก้ไขเพราะเรื่องแรกที่จะแก้เป็นเรื่อง ส.ว.แน่นอน และศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ทำให้รัฐธรรมนูญแก้ไขไม่ได้

 

กฎหมายห้ามวิจารณ์ศาลอาจขัดกับหลักการระหว่างประเทศ

สัณหวรรณกล่าวว่า แท้จริงแล้วศาลรัฐธรรมนูญทั่วโลกเป็นใหญ่ในแผ่นดินเหมือนกัน เพราะในประเทศอื่นๆ ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรสำคัญซึ่งเป็นตัวช่วยของประชาชน ในเวลาที่ฝ่ายนิติบัญญัติออกกฎหมายรุกรานสิทธิของประชาชน ประชาชนก็จะไปฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญก็จะออกคำพิพากษาซึ่งคุ้มครองสิทธิประชาชน เช่น ในเกาหลีใต้ ฝ่ายรัฐออกกฎหมายห้ามชุมนุมในบางสถานที่ ประชาชนก็นำเรื่องนี้ไปฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่ากฎหมายขัดกับรัฐธรรมนูญ ศาลก็ตัดสินว่ากฎหมายขัดกับรัฐธรรมนูญ รัฐจะออกกฎหมายแบบนั้นไม่ได้ นี่คือตัวอย่างของศาลรัฐธรรมนูญในต่างประเทศ

ในส่วนที่มาของศาลหรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กระบวนการของไทยตามกระบวนการมีวุฒิสภาอยู่ในกระบวนการคัดเลือกสุดท้ายนั้นเป็นไปตามมาตรฐานกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ ภายใต้หลักกฎหมายระหว่างประเทศจะเน้นย้ำเรื่องผู้พิพากษา เน้นเรื่องความอิสระและเป็นกลางของผู้พิพากษาจึงจะปกป้องหรือประกันสิทธิในการพิจารณาคดีของประชาชนได้ ซึ่งหลักพื้นฐานคือประชาชนทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม ศาลจึงต้องเป็นแบบนั้น

คำว่า ”อิสระ” และ “เป็นกลาง” หมายถึงอะไร “อิสระ” หมายถึง สถาบันผู้พิพากษาต้องเป็นอิสระจากปัจจัยภายนอก จากฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายการเมือง รวมไปถึงจากผู้พิพากษาคนอื่นด้วย “เป็นกลาง” คือ ความเป็นอิสระภายในของตัวผู้พิพากษา ตัวผู้พิพากษาเองต้องมีความเป็นกลาง มีความอิสระ ไม่มีการเลือกปฏิบัติ ไม่มีธงล่วงหน้าในการตัดสินคดี

แล้วการแต่งตั้งผู้พิพากษาแบบไหนถึงจะเป็นไปตามหลักความอิสระ ในทางมาตรฐานระหว่างประเทศนั้นไม่ได้ห้ามรัฐสภามีส่วนร่วมในการแต่งตั้งผู้พิพากษาตุลาการ แต่เขาแนะนำให้การคัดเลือกผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมควรทำโดยองค์กรอิสระ อย่างเช่น สำนักงานคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ของไทย ในอดีตตัวแทนจาก ก.ต. ต้องมีตัวแทนจากรัฐสภาสองคนเข้าไปนั่งอยู่เพื่อคัดเลือกผู้พิพากษาระดับสูง แต่ปัจจุบันได้แก้ไขให้เป็นไปตามหลักระหว่างประเทศ คือ นำตัวแทนจากรัฐสภาออกไป ทำให้องค์กรแบบ ก.ต. มีความเป็นอิสระมากขึ้น

ประการที่สอง การแต่งตั้งผู้พิพากษาต้องมาจากแต่งตั้งตามคุณสมบัติเท่านั้น ตัวอย่างการแต่งตั้งศาลแล้วถูกติติงในเวทีระหว่างประเทศ เช่น ประเทศโบลิเวียแต่งตั้งผู้พิพากษาจากสังกัดทางการเมืองไม่ได้คัดเลือกจากความสามารถ ใครสังกัดทางการเมืองกับฝ่ายรัฐก็ได้รับการแต่งตั้งขึ้นมาเป็นผู้พิพากษาก็ถูกตำหนิจากเวทีระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม สหภาพยุโรปเห็นว่าการแต่งตั้งผู้พิพากษาจะให้รัฐสภาเกี่ยวข้องก็ได้ แต่ต้องมีมาตรการป้องกันหลักความอิสระของผู้พิพากษาแต่แรก และแสดงให้เห็นว่าการแต่งตั้งไม่มีการเลือกปฏิบัติ และเลือกคนของฝ่ายตัวเองขึ้นมาเป็นผู้พิพากษา อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือประชาชนต้องมองว่าตัวผู้พิพากษาเป็นอิสระในการถูกเลือกด้วย

ในไทยการรับรองของวุฒิสภาที่ดูไม่เปิดเผยจึงดูเหมือนว่าจะขัดกับหลักความเป็นอิสระของการคัดเลือกตุลาการผู้พิพากษาที่ประชาชนรู้สึกถึงความไม่เป็นอิสระในการคัดเลือก ข้อนี้อาจจะขัดกับหลักการระหว่างประเทศ

สัณหวรรณยังพูดถึงประเด็นการห้ามวิจารณ์ศาลกับหลักการระหว่างประเทศว่า ตามรัฐธรรมนูญไทยมีการกำหนดเสรีภาพในการแสดงออกไว้อยู่แล้ว แม้จะระบุว่าถูกจำกัดได้ถ้ามีเหตุผลทางกฎหมายและข้อจำกัดอื่น แท้จริงแล้วข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญของประเทศไทยก็นำมาจากกฎหมายระหว่างประเทศ คือ ICCPR หรือกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ในประเทศไทยศาลรัฐธรรมนูญได้ออกระเบียบศาลรัฐธรรมนูญในข้อที่ 10 ห้ามวิจารณ์คำสั่งศาล หลายคนสงสัยว่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่เพราะกระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนออกข้อกำหนดนั้นเองจึงไม่รู้จะตรวจสอบอย่างไร

หากรัฐธรรมนูญว่าตีความสิทธิ เสรีภาพอย่างไร ใช้ได้แค่ไหน จริงๆ แล้วต้องเปรียบเทียบกับการตีความกฎหมายระหว่างประเทศ เนื่องจากรัฐธรรมนูญลอกกฎหมายระหว่างประเทศมา ในคณะกรรมการระหว่างประเทศนั้นจะมีวิธีการพิจารณาว่ากฎหมายในเรื่องจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนใช้ได้หรือไม่โดยมี 4 หลักเกณฑ์ ได้แก่

1. ต้องเขียนในกฎหมายและชัดเจน ในส่วนนี้ข้อบังคับของศาลรัฐธรรมนูญข้อ 10 ที่กล่าวมา อาจจะมีการเขียนไว้เป็นกฎหมาย แต่ยังไม่มีความชัดเจน เช่น คำว่า “โดยไม่สุจริต” “ยุยงปลุกปั่น” การตีความคำลักษณะนี้เป็นไปในทางค่อนข้างกว้าง

2. เป็นไปเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือไม่ กฎหมายห้ามวิจารณ์ศาลข้อนี้อาจจะเข้าว่าเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย แต่อาจไม่จำเป็นต้องระบุกว้างขนาดนั้น เขียนเฉพาะกรณีป้องกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษาก็เพียงพอแล้ว

3. จำเป็นต้องมีข้อกำหนดนี้หรือไม่ ในส่วนของความจำเป็นอาจจะต้องดูข้ออื่นประกอบ

4. กฎหมายนี้มีความได้สัดส่วนหรือไม่ ข้อนี้เป็นข้อสำคัญ คำว่าได้สัดส่วนในกฎหมายหมิ่นประมาท ทางกฎหมายระหว่างประเทศมองว่า กฎหมายหมิ่นประมาทไม่ควรมีโทษทางอาญา ถือว่าไม่มีความได้สัดส่วน เนื่องจากเรื่องห้ามวิจารณ์ศาลมีโทษทางอาญาก็ถือว่าขัดกับหลักความได้สัดส่วนแล้ว

โดยสรุปแล้ว กฎหมายห้ามวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญมีปัญหา 2 ข้อคือ 1. เป็นกฎหมายที่ไม่ได้สัดส่วนระหว่างความผิดกับโทษที่ระบุไว้ เนื่องจากกฎหมายหมิ่นประมาทจึงไม่ควรมีโทษทางอาญาตามหลักการระหว่างประเทศ 2. การตีความของกฎหมายอาจไม่ชัดเจนพอ อาจทำให้ศาลตีความเกินจากตัวกฎหมายได้ ถ้าให้ข้อเสนอแนะอาจจะเขียนกฎหมายข้อนี้ใหม่ให้ชัดเจนรัดกุมกว่านี้

You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

กรธ. ชุดมีชัย ออกแบบระบบ สว. “แบ่งกลุ่มอาชีพ”-“เลือกกันเอง” สุดซับซ้อน!

ระบบ “เลือกกันเอง” สว. 67 ที่ให้เฉพาะผู้สมัคร ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2,500 บาท มีสิทธิโหวต คิดค้นโดยคนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์