แจงสามประเด็นปัญหาการตีความ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ

30 มกราคม ที่โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แถลงข่าวเปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกประจำปี 2562 โดยในรายงานนำเสนอบทวิเคราะห์เจาะลึกถึงพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนใน 25 ประเทศและดินแดน กล่าวถึงบทบาทของนักกิจกรรมรุ่นใหม่ที่ต่อสู้กับความพยายามในการปราบปรามต่อผู้ที่เห็นต่าง การต่อสู้กับปฏิบัติการผ่านโซเชียลมีเดียที่รุนแรง และการเซ็นเซอร์ทางการเมืองอย่างกว้างขวาง

หลังจากนั้นจึงเป็นเวทีเสวนาเรื่อง “ชุมนุมโดยสงบเพื่อความสันติ” โดยมีทั้งนักกิจกรรมที่จัดการชุมนุม สื่อมวลชนที่ติดตามสถานการณ์การชุมนุม นักวิชาการด้านกฎหมาย และตัวแทนจากภาครัฐ ร่วมพูดคุยถึงประเด็นเสรีภาพการชุมนุมภายใต้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะของประเทศไทย

 

สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักกิจกรรม กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาเป็นรอยต่อระหว่างช่วงที่ คสช.ยังมีอำนาจและการเลือกตั้ง จึงมีความพยายามอย่างมากในการหยุดยั้งการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเพื่อคัดค้านรัฐบาลจากภาครัฐ คำสั่ง คสช.ถูกยกเลิกไป รัฐบาลจึงพยายามเปลี่ยนมาใช้กฎหมายปกติ แต่ใช้แบบไม่ปกติ เช่น คดีหมิ่นประมาทที่ผมเองโดนฟ้องจากการจัดการชุมนุมเรียกร้องให้ กกต.จัดการเลือกตั้งอย่างโปร่งใส แต่ถูก กกต.ฟ้องหมิ่นประมาท ทั้งที่เราควรมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของผู้จัดการเลือกตั้ง และยังมีการฟ้องกลุ่มคนอยากเลือกตั้งด้วยข้อหายุยงปลุกปั่น พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และเอาข้อหาลักทรัพย์ในยามวิกาลมาดำเนินคดีกับผมว่า ลักใช้ไฟฟ้าจำนวน 140.26 บาท จากการเสียบไฟฟ้าระหว่างการจัดชุมนุม

หลัง คสช.หมดอำนาจ เรามีหลักประกันว่า เราจะไม่โดนควบคุมตัวโดยพลการไปเจ็ดวันอีกแล้ว แต่ยังมีการใช้เจ้าหน้าที่ไปพูดคุยสอบถามถึงที่บ้าน ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงรอยต่อของการสิ้นสุดอำนาจพิเศษ จึงเกิดการทำร้ายคนที่เคลื่อนไหวและนักกิจกรรม เช่น ที่ผมถูกทำร้ายร่างกายสองครั้งเมื่อปีที่แล้ว ทั้งที่เราถูกติดตามตัวโดยเจ้าหน้าที่อยู่เป็นระยะ จึงเชื่อว่า คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องเป็นภาครัฐ เมื่ออำนาจพิเศษกำลังจะใช้การไม่ได้แล้ว จึงมีการสร้างภาพความรุนแรงที่จับตัวใครไม่ได้ โดยที่เราไม่รู้เลยว่า จะทำยังไงให้นำคนร้ายมาลงโทษได้ และไม่มีหลักประกันว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นอีก

“การที่มีคดีเยอะมันทำให้ชีวิตปกติประจำวันของเราทำไม่ได้ เชื่อว่า เป็นปรากฏการณ์ที่หน่วยงานความมั่นคงพยายามสร้างขึ้นมา เราถูกกระทำซ้ำสอง ทั้งถูกตี ถูกทำร้าย และยิ่งเป็นการทำร้ายซ้ำสองเมื่อไม่สามารถเอาคนที่ทำร้ายมาลงโทษได้ เป็นเหมือนการส่งสัญญาณให้กับคนในสังคมรับรู้ว่า คุณอยากเจอแบบพวกนี้หรือเปล่า?” สิรวิชญ์ตั้งคำถาม

บุญภาดา พึ่งบุญ ณ อยุธยา อรุณเบิกฟ้า ผู้อำนวยการกองแผนยุทธศาสตร์และแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ปัจจุบันกรมคุ้มครองสิทธิฯ ทำงานดูแลกฎหมายใหม่หลายฉบับ เช่น ร่าง พ.ร.บ.ต่อต้านการทรมานและอุ้มหายฯ การแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองพยาน ให้ครอบคลุมถึงคนที่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมด้วย 

“เรามีแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาพัฒน์ฯ โดยมีมาตรการที่เกี่ยวข้องในร่างนี้ เช่น ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้เจ้าหน้าที่รัฐเรื่องการแสดงความคิดเห็นหรือการใช้กฎหมายฟ้องปิดปากมากขึ้น เรามีแผนธุรกิจสิทธิมนุษยชน ที่ประกอบด้วยเรื่องสิทธิแรงงาน ทรัพยากรธรรมชาติ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และการลงทุนระหว่างประเทศ” บุญภาดากล่าว

 

หทัยรัตน์ พหลทัพ บรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด กล่าวว่า จากการสังเกตการณ์ปีที่ผ่านมาพบว่า การชุมนุมมีทั้งที่สงบและไม่สงบ เช่น การชุมนุม “ไม่ถอยไม่ทน” ที่นำโดยหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ที่เป็นไปโดยสงบ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจบอกว่า ไม่มีการแจ้งการชุมนุมตามกฎหมาย และมีการแจ้งข้อหา ทำให้ผู้มาชุมนุมเกิดความหวาดกลัวในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ทั้งที่มีการเลือกตั้งแล้วสิทธิเหล่านี้ควรเปิดกว้างขึ้น

อีกรูปแบบคือการชุมนุมที่ไม่สงบ เช่น การชุมนุมต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงงานน้ำตาลในภาคอีสาน จังหวัดร้อยเอ็ด ชาวบ้าน 50 คนที่ไม่เห็นด้วยถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมที่ประชุมรับฟังความเห็น และนำตำรวจราว 500 คนมาล้อมไว้ จนเมื่อมีการพยายามฝ่าวงล้อมเข้าไปร่วมในเวทีทำให้ปะทะกันและมีผู้บาดเจ็บ 2 คน และมีคนถูกดำเนินคดีฐานไม่แจ้งการชุมนุมอีก ปัจจัยที่เกิดความรุนแรงเพราะรัฐไม่พยายามให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในโครงการพัฒนาที่จะเกิดขึ้น

หทัยรัตน์เล่าว่า เจ้าหน้าที่ที่มารักษาความปลอดภัยและตรึงกำลังในพื้นที่ต่างจังหวัดจะเยอะมาก เหมือนกับเกณฑ์กันมาทั้งจังหวัด ก่อนหน้านี้ก็มีการชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ที่มีเจ้าหน้าที่มากันนับพัน เห็นได้ว่า เป็นการข่มขวัญผู้ชุมนุมให้รู้สึกหวาดกลัว ซึ่งสำหรับนักเคลื่อนไหวบางคนอาจจะทำให้กลัวไม่สำเร็จ แต่สำหรับชาวบ้านนั้นทำให้เกิดความกลัวได้มาก แค่ถูกฟ้องฐานไม่แจ้งการชุมนุมก็ทำให้คนกินไม่ได้นอนไม่หลับ

“อยากจะถามไปยังรัฐบาลว่า ทำแบบนี้กับประชาชนได้ยังไง คุณเห็นประชาชนเป็นอะไร คุณละเมิดสิทธิของประชาชนโดยไม่ให้พวกเราลืมตาอ้าปากเลยเหรอ เลิกกดหัวการใช้สิทธิของประชาชนได้หรือยัง?”​ หทัยรัตน์ฝากทิ้งท้าย

 

ผศ.ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ตลอดปีที่ผ่านมาจะมีปัญหาเรื่องการกำหนดให้ต้องแจ้งการชุมนุม ประเด็นที่หนึ่ง เรื่อง โครงสร้างของกฎหมาย ประเทศไทยมีการชุมนุมทางการเมืองขนาดใหญ่ที่ยืดเยื้อบ่อยครั้งในช่วงสิบปีที่ผ่านมา การร่างกฎหมายก็ใช้ประสบการณ์เก่า กฎหมายชุมนุมจึงกำหนดให้ต้องแจ้งการชุมนุมเพื่อให้เจ้าหน้าที่จัดการดูแลอำนวยความสะดวก

แต่ระยะหลังเราเรียนรู้แล้วว่า การชุมนุมแบบเดิมไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม คนจึงเปลี่ยนมาใช้การชุมนุมแบบ “แฟลชม็อบ” ที่ไม่ยืดเยื้อยาวนาน ใช้โซเชียลมีเดียกระจายข่าว เพื่อแสวงหาพื้นที่แสดงออก ซึ่งไม่กระทบการจราจรและคนที่สัญจรไปมามากนัก และเมื่อรัฐมีแนวโน้มจะเข้ามาขัดขวางมากกว่าจะอำนวยความสะดวกในการชุมนุม เราจึงต้องตั้งโจทย์ว่า การต้องแจ้งการชุมนุมจะเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกมากเกินไปไหม หากเป็นการชุมนุมไม่กี่ชั่วโมงและไม่มีการเคลื่อนย้ายสถานที่ควรจะต้องแจ้งหรือไม่

ประเด็นที่สอง เรื่อง ความหมายของผู้จัดการชุมนุม เนื่องจากการชุมนุมยุคใหม่แจ้งกันผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค บางครั้งมีผู้เริ่มโพสต์นัดหมายก่อน แล้วมีผู้ที่นำโพสต์จากผู้จัดการชุมนุมไปโพสต์ต่อ แจ้งว่า ตัวเขาจะไปร่วมและชวนเพื่อนๆ ไปร่วมด้วย ประเด็นคือ คนที่แชร์ต่อนั้นเป็นผู้จัดการชุมนุมด้วยหรือไม่ ประเด็นนี้ใน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะมีตัวบทที่กำหนดไว้ถึงสองแห่ง คือ ในมาตรา 10 วรรค 2 ที่รวมผู้ที่เชิญชวนทั้งหมดให้เป็นผู้จัดการชุมนุมด้วย และยังมีคำนิยามในมาตรา 4 ที่กำหนดความหมายของผู้จัดการชุมนุมไว้โดยตรง 

จะเห็นว่า มาตรา 4 กำหนดนิยามของผู้จัดการชุมนุมไม่ใช่แค่การโพสต์เชิญชวน แต่ต้องมีพฤติการณ์แสดงให้เห็นด้วยว่า เขาเป็นผู้จัด ตอนนี้กลายเป็นคดีขึ้นมากมายว่า คนโพสต์เชิญชวนถูกตั้งข้อหาฐานเป็นผู้จัดไปด้วย ความเห็นส่วนตัวคือ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ มาตรา 10 วรรค 2 ขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะจริงๆ มาตรานี้ไม่ต้องเขียนก็ได้ มีคำนิยามในมาตรา 4 อยู่แล้ว 

ประเด็นที่สาม เรื่องสถานที่ห้ามจัดการชุมนุม ในมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะกำหนดห้ามชุมนุมบริเวณพระราชวังและรัศมี 150 เมตร คำถามคือ จะต้องวัดจากตรงไหน และทำอย่างไรผู้ชุมนุมจะทราบว่าแนวเขตอยู่ตรงไหน ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐ ตำรวจท้องที่ที่จัดการชุมนุมต้องมีป้าย หรือมีรั้วเหล็กไปวางบอกว่าตรงไหนเป็นพื้นที่ห้ามชุมนุม เพื่อให้คนถอยออกมา เพื่อให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมทราบได้และถอยออกมา ไม่ละเมิดกฎหมาย

You May Also Like
อ่าน

เปิด 10 อันดับ คดีมาตรา 112 ที่ลงโทษ “หนัก” ที่สุด

ตลอดช่วงเวลาของความขัดแย้งทางการเมือง มาตรา 112 ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีในปริมาณมากอย่างมีนัยยะสำคัญ และในช่วงเวลาที่มีนโยบายการบังคับใช้กฎหมายอย่างรุนแรง ก็เป็นผลให้มีประชาชนที่ถูกพิพากษาว่า มีความผิดในข้อหามาตรา 112 ถูกตัดสินจำโทษมากที่สุด ดังนี้
อ่าน

ศาลอนุญาตฝากขังตะวัน – แฟรงค์ต่อ 12 วัน อ้างตำรวจรอผลตรวจกล้องหน้ารถในจุดเกิดเหตุ

วันที่ 20 มีนาคม 2567 เวลา 9.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดไต่สวนคำร้องคัดค้านการฝากขังทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวันและณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร หรือแฟรงค์ ผู้ต้องหาคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากเหตุการณ์บีบแตรใส่ตำรวจท้ายขบวนเสด็จของกรมพระเทพฯเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 โดยในการไต่สวนนัดนี้ พนักงานสอบสวน สน.ดินแดงยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองต่ออีกเป็นครั้งที่สี่ ระหว่างวันที่ 21 – 1 เมษายน 2567 หลังการไต่สวนคัดค้านการฝากขัง ศาลอนุญาตให้ฝากขังทั้งสองต่อ ตามคำร้องที่พนักงานสอบสวนอ้างว่าจำเป็นต้องรอผลตรวจคลิปวิดีโอที่ติดหน้ารถยนต์ของประชาชนที่อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุว่ามีการแก้ไขหรือตัดต่อหรือไม่ แม้พนักงานสอบสวนจะยอมรับว่าผู้ต้องหาทั้งสองไม่สามารถจะยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ก็ตาม