สรุปรัฐธรรมนูญ 2560: สิทธิผู้บริโภคถดถอย การจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภคยังไร้หวัง

ในโลกปัจจุบัน เราทุกคนล้วนเป็นผู้บริโภค จับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการนับไม่ถ้วนหลายครั้งต่อวัน และแน่นอนว่าทุกคนย่อมต้องการซื้อสินค้าและบริการที่ดี คุ้มค่า ปลอดภัย การคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่รัฐต้องวางระบบกฎหมายให้เข้มแข็งจริงจัง ซึ่งรัฐธรรมนูญในฐานะกฎหมายสูงสุดก็ต้องนำทางในเรื่องนี้ด้วย 

อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญ 2560 ได้กำหนดให้การคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคเป็น “หน้าที่ของรัฐ” ขณะเดียวกันก็ตัดสิทธิของผู้บริโภคในการร้องเรียนและได้รับการเยียวยาจากความเสียหายออก สิทธิของประชาชนในการรวมตัวจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภคยังคงอยู่ แต่ไม่ถึงขั้นบังคับให้ต้องเกิดขึ้นให้ได้ ซึ่งในประเด็นนี้แม้ว่า รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 บังคับให้มีกฎหมายจัดตั้งองค์กรขึ้นก็ยังไม่สามารถทำได้สำเร็จจริง

 

การคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคให้เป็น “หน้าที่ของรัฐ” 

รัฐธรรมนูญ 2560 แยก ‘สิทธิผู้บริโภค’ ไว้สองส่วน ส่วนแรกอยู่ใน ‘หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย’ มาตรา 46 ซึ่งระบุว่า “สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับการคุ้มครอง” นอกจากนี้แล้วก็ให้สิทธิในการรวมตัวจัดตั้งองค์กรเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยรัฐจะให้การสนับสนุน

ส่วนที่สองอยู่ใน ‘หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ’ มาตรา 61 กำหนดให้รัฐต้องมีมาตรการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคด้านการรับรู้ข้อมูลที่เป็นจริง ด้านความปลอดภัย ด้านความเป็นธรรมในการทำสัญญา หรือด้านอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค

การแยกสิทธิผู้บริโภคไว้สองส่วนเช่นนี้ต่างไปจากรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ซึ่งให้ ‘สิทธิผู้บริโภค’ อยู่ใน ‘หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย’ ทั้งหมด ไม่ได้แยกบางส่วนให้เป็น ‘หน้าที่ของรัฐ’ เหมือนรัฐธรรมนูญ 2560 

วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้จัดการแผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) ให้ความเห็นว่า การเขียนว่าการคุ้มครองผู้บริโภคให้เป็นหน้าที่ของรัฐ ถือเป็นการลดทอนสิทธิเสรีภาพประชาชน  

 

ตัดสิทธิร้องเรียนและเยียวยาค่าเสียหายออกไป

รัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 57 เคยระบุถึงสิทธิผู้บริโภคไว้ว่า “สิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง” และต่อมาในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 61 ได้เพิ่มเติมจากข้อความนี้ไปอีกว่า ผู้บริโภคมีสิทธิได้รับข้อมูลที่เป็นจริง มีสิทธิร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย และมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค 

อย่างไรก็ดี พอมาถึงรัฐธรรมนูญ 2560 กลับตัดสิทธิร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหายออกไป เหลือเพียงการได้รับข้อมูลที่เป็นจริง ซึ่งถูกย้ายไปเขียนไว้เป็นหน้าที่ของรัฐ และคงสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคหรือสิทธิในการรวมตัวจัดตั้งองค์กรเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งยังเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนอยู่

 

สองทศวรรษของความพยายามตั้งองค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภคยังไร้ความหวัง 

การผลักดันให้เกิดการจัดตั้ง “องค์กรอิสระ” เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นความพยายามมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ซึ่งยังไม่เป็นจริงเสียที และดูเหมือนว่าในรัฐธรรมนูญ 2560 นอกจากไม่คืบหน้าแล้วยังทำให้โอกาสลดลงไปอีก เพราะไม่ได้ ‘บังคับให้มี’ ตามกฎหมาย แต่ให้เป็น ‘สิทธิรวมกันจัดตั้ง’ ของประชาชนเท่านั้น 

รัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 57 ในวรรคที่สองระบุอย่างชัดเจนว่า กฎหมายต้องบัญญัติให้มี ‘องค์การอิสระ’ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นในการออกกฎหมาย และกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค

ต่อมาในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 61 วรรคสอง กำหนดว่าให้มี ‘องค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ’ ซึ่งนอกจากมีหน้าที่ให้ความเห็นในการออกกฎหมายและกำหนดมาตรการต่างๆ เหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 แล้วยังเพิ่มเติมว่า ให้องค์การที่จัดตั้งขึ้นนี้ทำหน้าที่ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการคุ้มครองผู้บริโภคอีกด้วย โดยรัฐต้องสนับสนุนงบประมาณขององค์กรอิสระนี้ด้วย 

นอกจากนี้ ในบทเฉพาะกาล มาตรา 303 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ยังกำหนดระยะเวลาในการออกกฎหมายจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคว่า ต้องให้เสร็จภายในหนึ่งปีหลังรัฐบาลแรกที่มาจากการเลือกตั้งของรัฐธรรนูญนี้แถลงนโยบายเสร็จแล้ว ซึ่งในความเป็นจริงก็ไม่มีแม้แต่ตัวร่างเกิดขึ้นภายในระยะเวลาดังกล่าว จนกระทั่งรัฐธรรมนูญ 2550 ถูกยกเลิกไป

อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญ 2560 ต่างออกไปจากรัฐธรรมนูญสองฉบับก่อนหน้า โดยมาตรา 46 วรรคสอง กำหนดเพียงว่าประชาชนมีสิทธิรวมกันจัดตั้ง ‘องค์กรของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค’ ซึ่งมีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลังในการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ส่วนหน้าที่ขององค์กรไม่ได้ระบุชัดเจน โดยให้ไปกำหนดวิธีการจัดตั้ง อำนาจตัวแทนของผู้บริโภค และงบประมาณจากรัฐ ไว้ในกฎหมายแทน

ในปี 2562 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค ซึ่งเป็นกฎหมายที่ผ่านโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่ในทางปฏิบัติก็ยังจัดตั้งไม่ได้จริง โดยวันที่ 30 มกราคม 2563 เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทำกิจกรรมแถลงข่าว เรียกร้องต่อสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีขอให้ยึดแผนตามปฏิทินเวลาในการจัดตั้งองค์กรผู้บริโภคโดยเคร่งครัด ถ้าหากไม่ดำเนินการตามปฏิทินดังกล่าว เครือข่ายผู้บริโภคจะยกระดับการเคลื่อนไหว เพื่อกดดันให้เกิด “สภาองค์กรผู้บริโภค” ในประเทศไทย เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองตามสิทธิผู้บริโภคอย่างเท่าเทียมกัน

You May Also Like
อ่าน

ข้าราชการลาออกชั่วคราวเพื่อลงสมัคร สว. 67 ได้

กฎหมายหลายฉบับได้เปิดช่องให้ข้าราชการปัจจุบันสามารถลาออกเพื่อสมัครเป็น สว. ได้โดยมีผลทันทีนับแต่วันที่ยื่นลาออก และหากไม่ได้รับการเลือกเป็น สว. ก็ยังมีทางเลือกสามารถกลับไปรับราชการได้ตามเดิมเช่นกัน
อ่าน

ลาออกสมาชิกพรรค ไปสมัคร สว. 67 ต้องทำยังไง?

สำหรับการสมัคร สว. ชุดใหม่ ที่จะเริ่มสมัครได้เร็วสุดในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2567 มีการกำหนดไว;jkผู้สมัคร สว. ทุกคนจะต้องไม่สังกัดพรรคการเมือ สำหรับผู้ที่อยากสมัคร สว. ที่ยังคงเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอยู่ หากต้องการลาออกจากพรรคการเมืองต้องทำอย่างไร ชวนดูวิธีการลาออกสมาชิกพรรคการเมือง