วงเสวนาสิทธิสตรีเสนอโควต้าผู้หญิงในการเมือง 30%

26 มกราคม 2563 มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ จัดงานเสวนาในวาระ 108 ปีชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ หัวข้อ “สิทธิมนุษยชน-สิทธิสตรี ในรัฐธรรมนูญ และสถานการณ์ปัจจุบัน” ที่สมาคมธรรมศาสตร์ ซอยงามดูพลี

 

รัฐธรรมนูญหลังสงครามโลกเป็นไปเพื่อจำกัดอำนาจ

ดร.วรวิทย์ กนิษฐะเสน อดีตเอกอัครราชทูต เล่าถึงประสบการณ์สมัยสงครามโลก ที่กลุ่มนาซีฆ่าคนกว่า 6 ล้านคน แล้วต่อมาก็ถูกจับไปขึ้นศาล ซึ่งในการต่อสู้คดีที่ศาลกลุ่มนาซีต่อสู้ว่า พวกเขาทำไปตามกฎหมาย ซึ่งเป็นคำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งเรื่องกฎหมายเป็นคำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์นักกฎหมายยังเห็นต่างกันอยู่ เพราะมีนักกฎหมายอีกกลุ่มหนึ่งเชื่อในกฎหมายที่เป็นธรรมชาติ ซึ่งก็คือหลักสิทธิมนุษยชน หลังสงครามโลกครั้งที่สอง จึงมีการคิดกันว่า จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดเหตุการณ์เดิมซ้ำอีก

ดร.วรวิทย์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา จึงเป็นไปเพื่อการจำกัดอำนาจ ไม่ให้ถืออำนาจแต่ฝ่ายเดียว รัฐธรรมนูญเยอรมันต้องยืนยันว่า ไม่ว่าใครขึ้นมามีอำนาจจะยกเลิกสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น เสรีภาพในการแสดงออก ไม่ได้ ส่วนมาตรา 1 ของเยอรมันที่ว่าด้วยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จะยกเลิกไม่ได้โดยเด็ดขาด เพราะเชื่อว่า อำนาจจะนำไปสู่การฉ้อฉล (Power Trends to Corrupt) หรือการให้คนบางกลุ่มถืออำนาจแต่ฝ่ายเดียว มีโอกาสมากที่จะล้มเหลว

ดร.วรวิทย์ ซึ่งเป็นหลานชายของปรีดี พนมยงค์ บอกว่า เท่าที่เคยใกล้ชิดกับคุณปู่ คุณปู่เคยบอกว่า สังคมต้องเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา เศรษฐกิจเป็นอย่างไรความคิดของคนก็เป็นอย่างนั้น ดังนั้น ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์จะต้องรวมมิติของเศรษฐกิจอยู่ด้วย การเปลี่ยนแปลงในอังกฤษไม่ได้มีการนองเลือดเพราะผู้ถืออำนาจตอนนั้นต้องเสียสละ

 

เสนอโควต้าผู้หญิงในการเมือง 30%

ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ เลขาธิการมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (PNET) กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันสิทธิทางการเมืองเป็นปัญหามาก เรามีการเลือกตั้งก็จริงหลังไม่ได้เลือกกันมานาน แต่มีปัญหาเรื่องความสุจริตเที่ยงธรรม ยังมีเรื่องค้างคาใจอยู่อีกมาก คนไทยในนิวซีแลนด์เองก็ยังเสียสิทธิการเลือกตั้งอีก การแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องระบบการเลือกตั้งยังเป็นเรื่องสำคัญ การใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวเลือกตั้งสองระบบยังเป็นปัญหาที่ต้องศึกษากันต่อไป 

สิทธิพลเมืองก็เป็นปัญหา เพราะพลเมืองไม่สามารถมีส่วนร่วมกำหนดชะตาชีวิตตัวเองได้ มีแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี เขียนเอาไว้เรียบร้อยแล้ว เรื่องนี้ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เน้นกระจายอำนาจมากขึ้น ให้จังหวัดได้จัดการตัวเองให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้ง 

สำหรับเรื่องสิทธิสตรี ลัดดาวัลย์มองว่า ในสังคมไทยยังเป็นแนวคิดแบบ “ชายเป็นใหญ่” ผู้ชายบางคนบอกว่า ไม่มีปัญหาสิทธิสตรีอีกแล้ว เพราะสามีก็เกรงใจภรรยา ซึ่งนั่นไม่ใช่ประเด็นสิทธิสตรีเลย ประเด็นอยู่ที่การได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ยังพบสถิติอยู่ว่า ในประเทศไทยมีผู้หญิงทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างกว่าห้าล้านคน โดยมีผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงทางเพศไม่น้อยกว่าวันละเจ็ดคน

ลัดดาวัลย์กล่าวว่า ปัญหาเรื่องสิทธิสตรีไม่มีทางได้รับการแก้ไขเพราะคนที่ทำหน้าที่ออกนโยบายและกฎหมายยังอยู่ภายใต้ความคิดชายเป็นใหญ่ และคนกุมอำนาจยังมีแต่ผู้ชาย จึงเสนอให้มีระบบโควต้าของผู้หญิงในระบบการเมือง ซึ่งในปัจจุบันมีผู้หญิงในระบบการเมืองประมาณ 14% ถือว่าเยอะขึ้นแล้ว แต่ควรกำหนดไว้ในกฎหมายเลยว่า ให้มีที่นั่งประมาณ 30% เพื่อให้กลับมาแก้ปัญหาอื่นๆ ในสังคมได้

ดร.จริย์วัฒน์ สันตะบุตร อดีตเอกอัครราชทูต กล่าวว่า เห็นด้วยเรื่องโควต้าผู้หญิง ตัวอย่างเช่น กรณีของพรรคการเมืองในมาเลเซีย ภายในพรรคจะต้องมีทั้งฝ่ายเยาวชน และฝ่ายผู้หญิง เราอาจจะเริ่มต้นที่การวางโควต้าประมาณ 25% ให้ทั้งผู้หญิงและคนรุ่นใหม่ ตอนนี้ก็รอดูอยู่ว่า เมื่อไรจะมีการจัดตั้งพรรคการเมืองสำหรับสตรีในประเทศไทย ซึ่งต้องมีนโยบายที่ผลักดันชัดเจนของตัวเอง เช่น ให้มีพื้นที่มากขึ้นในสภา 

 

เจตคติในสังคม สำคัญไม่แพ้กฎหมาย

ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เมื่อเรานึกถึงอาชีพบางอาชีพ เช่น พนักงานทำความสะอาด พนักงานจัดดอกไม้ เราจะมีภาพเป็นผู้หญิงทันทีไม่ใช่ผู้ชาย ขณะที่บางอาชีพ เช่น คนงานก่อสร้าง ผู้หญิงจะได้ค่าแรงน้อยกว่าผู้ชาย เรื่องเหล่านี้อาจมีปัญหามาจาก “เจตคติ” เช่น ความคิดที่ว่าผู้หญิงมีแรงยกของน้อยกว่า ที่อาจไม่ได้ตรงกับความเป็นจริงและส่งต่อกันรุ่นต่อรุ่น เจตคติเช่นนี้มีความสำคัญพอๆ กับกฎหมายและโครงสร้าง ถ้าเรายังคิดว่า ผู้หญิงต้องเรียบร้อย อ่อนหวาน กฎหมายและโครงสร้างทางสังคมก็จะเดินตามไปโดยไม่เห็นถึงความเท่าเทียม

รัฐธรรมนูญเป็นพันธะสัญญาว่า รัฐจะปกป้องประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างไร จะใช้อำนาจของเราอย่างไร และจะรับผิดชอบการใช้อำนาจนั้นอย่างไร รัฐธรรมนูญสามฉบับล่าสุดเขียนเหมือนกันว่า ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน และห้ามการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุจากเพศสภาพ เรียกได้ว่า เขียนแบบลอกกันมา ขณะที่บางอย่างก็หายไป เช่น การส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ และสัดส่วนของสตรีในกิจการต่างๆ 

ลัดดาวัลย์​กล่าวเสริมว่า แม้เราจะมีผู้แทนในรัฐสภาที่เป็นผู้หญิงจำนวนมาก แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่เข้าใจปัญหาเรื่องสิทธิสตรีมากนัก เจตคติของผู้หญิงที่อยู่ในการเมืองแล้วก็ยังเป็นปัญหาอยู่ด้วย เรามีความคิดจะทำชมรมสมาชิกสภาสตรีไทยยุคใหม่ที่จะแก้ปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศสภาพ ไม่เฉพาะกับผู้หญิงเท่านั้น แต่ผลดีจะเกิดกับผู้ชายด้วย

 

You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

กรธ. ชุดมีชัย ออกแบบระบบ สว. “แบ่งกลุ่มอาชีพ”-“เลือกกันเอง” สุดซับซ้อน!

ระบบ “เลือกกันเอง” สว. 67 ที่ให้เฉพาะผู้สมัคร ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2,500 บาท มีสิทธิโหวต คิดค้นโดยคนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์