“กฎหมายตก–ถูกถอดถอน–ตัดสิทธิการเมือง–คดีอาญา” ย้อนสี่บรรทัดฐานการเมืองไทย กรณีเสียบบัตรแทนกัน

กรณีเสียบบัตรแทนกันของ ฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย จังหวัดพัทลุง ที่ออกมายอมรับว่าไม่ได้อยู่ประชุมสภา เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2563 แต่มีชื่อว่าลงคะแนนโหวต วาระ 2 และ 3 ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. …. นอกจากนี้ยังมีการเปิดเผยคลิปจาก ส.ส.จากพรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังประชารัฐ ที่ ส.ส. คนเดียวเสียบบัตรลงคะแนนซ้ำเกินหนึ่งใบ ทำให้เกิดข้อสงสัยต่างๆ นานาว่าผลของการกดโหวตแทนกันจะนำไปสู่อะไรบ้าง

จากนี้ไปคือสี่บรรทัดฐานทางกฎหมายที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2556 กรณีเสียบบัตรแทนคนอื่นในการโหวตกฎหมายสองฉบับของ นริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย

-01

 

ร่างกฎหมายไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะการออกเสียงไม่สุจริต

การเมืองไทยในปี 2556 – ต้นปี 2557 นับว่าเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อพรรคเพื่อไทยเสนอร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. …. เพื่อดันเมกะโปรเจกต์ยกระดับประเทศด้วยการกู้เงินถึง 2 ล้านล้านบาท และการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ส่งผลให้การเมืองไทยต้องร้อนระอุ เมื่อ ส.ส. พรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึง ส.ว. ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการสรรหา ใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างกฎหมายสองฉบับว่ามีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่

โดยหนึ่งประเด็นสำคัญที่พรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ว.หยิบยกมาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย คือการกระทำของนริศร ทองธิราช ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่กดบัตรลงคะแนนแทน ส.ส. คนอื่น ว่ามีส่วนทำให้ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่

ผลคำตัดสินคือ ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าการเสียบบัตรแทนกันทําให้การออกเสียงลงคะแนนของ ส.ส. ในการประชุมพิจารณานั้นเป็นการออกเสียงลงคะแนนที่ไม่สุจริต ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของผู้แทนปวงชนชาวไทย เมื่อกระบวนการออกเสียงลงคะแนนในการพิจารณาร่างกฎหมายไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงถือว่ามติของ ส.ส. ในกระบวนการตราร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทำให้ร่างกฎหมายที่ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเหตุผลประกอบคือ

1) การกระทําดังกล่าวเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็น ส.ส. ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยที่ต้องปฏิบัติหน้าที่โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือการครอบงําใดๆ และต้องปฏิบัติด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 122

2) ขัดต่อหลักความซื่อสัตย์สุจริตที่ ส.ส. ได้ปฏิญาณตนไว้ ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 123

3) ขัดต่อหลักการออกเสียงลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 126 วรรคสาม ที่ให้สมาชิกคนหนึ่งมีเพียงหนึ่งเสียงในการออกเสียงลงคะแนน

 

ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง ส.ส.

หลังจากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับตกไป เนื่องจากการเสียบบัตรและลงคะแนนแทนกัน ไม่นานหลังจากนั้นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ถูกรัฐประหาร 22 พฤกษาคม 2557 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. แน่นอนมีการยกเลิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และวุฒิสภา (ส.ว.) ทิ้งไป ตามมาด้วยการแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เข้ามาทำหน้าที่แทน จะเห็นว่านอกจาก สนช. ชุดนี้จะมีอำนาจออกกฎหมายแล้ว พวกเขายังมีอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย

อย่างไรก็ตามผลจากการเสียบบัตรแทนผู้อื่นของ นริศร ทองธิราศ ส่งผลให้เขาถูก ป.ป.ช. ส่งเรื่องให้ สนช. พิจารณาถอดถอน ถึงแม้ว่าขณะนั้นไม่ได้เป็น ส.ส. แล้ว โดยวันที่ 4 พฤศจิกายน 2557 ที่ประชุม สนช. ลงมติถอดถอนนริศร จากกรณีใช้บัตรลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ลงคะแนนแทนบุคคลอื่น ด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ ถอดถอน 220 เสียง ไม่ถอดถอน 1 เสียง ไม่ออกเสียง 2 เสียง ส่งผลให้เขาถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี

 

ถูกตัดสิทธิทางการเมือง

การเสียบบัตรแทนผู้อื่นของนริศร ทำให้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี แม้อาจจะดูไม่เป็นธรรมนักที่ให้ สนช. ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ คสช. เป็นผู้ถอดถอน แต่ สนช.ก็อ้างว่าเป็นการทำหน้าที่แทน ส.ว. อย่างไรก็ตามการเสียบบัตรแทนกันในกรณีร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ผู้ที่เสียบบัตรแทนครั้งนี้จะไม่ได้ถูกถอดถอนโดยสภาเช่นครั้งก่อนแล้ว เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้ให้อำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้กับสภา แต่ให้อำนาจถอดถอนกับศาลฎีกาแทน

สำหรับกรณีการเสียบบัตรแทนกันอาจพิจารณาได้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตาม ข้อ 8 ที่ว่าด้วยการ “ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เพื่อตนเองหรือผู้อื่น หรือมีพฤติการณ์ที่รู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ”

ซึ่งรัฐธรรมนูญ ม. 235 กำหนดว่า หากบุคคลใดฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงให้ ป.ป.ช. เป็นผู้มีอำนาจในการไต่สวนข้อเท็จจริง และมีความเห็นต่อผู้กระทำผิดทางจริยธรรม ถ้าหากผลการไต่สวนพบว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดตามมาตรฐานทางจริยธรรม ป.ป.ช.ก็จะดำเนินการส่งเรื่องให้ศาลฎีกา หากศาลฎีการับฟ้อง ผู้ถูกกล่าวหาต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ และถ้าหากศาลฎีกาตัดสินว่ามีความผิดจริง ต้องหยุดทำหน้าที่ และอาจถูกเพิกถอนสิทธิการรับเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปี

 

ถูกดำเนินคดีอาญา

กระบวนการเอาผิดกับการเสียบบัตรแทนกันจะจบลงที่การถูกดำเนินคดีทางอาญา ในกรณีของนริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2562 อัยการสูงสุดเพิ่งมายื่นฟ้องนริศร ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือเจ้าพนักงานของรัฐ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตาม พ.ร.ป.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต ม. 123/1 ซึ่งหากศาลฎีกาตัดสินว่านริศรทำผิด เขาอาจจะได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับสูงสุด 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แม้ วิษณุ เครืองาม จะหาพยายามทางออกกรณีการเสียบบัตรแทนกันในการโหวต ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ว่าอาจมีความแตกต่างจากในอดีต แต่คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญชัดเจนว่าการเสียบบัตรแทนกันเป็นการออกเสียงที่ทุจริต ทำให้กระบวนการตรากฎหมายไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และร่างกฎหมายก็ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน 

ประเด็นนี้มีนักวิชาการหลายคนเคยเตือนตั้งแต่ปี 2556 ก่อนศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยกรณีของนริศร หนึ่งในนั้นคือ ปิยบุตร แสงกนกกุล ซึ่งขณะนั้นเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมุมมองของนักวิชาการคือ ถ้ากระบวนการลงมติมีข้อบกพร่องก็ไม่ส่งผลกระทบต่อการลงมติที่จบไปแล้ว คะแนนเสียงที่เสียบบัตรแทนกันก็สามารถหักออกไปได้ ดังนั้นการเสียบบัตรแทนกันจะมาล้มร่างกฎหมายที่ผ่านสภาไปแล้วไม่ได้ ถ้ามีการเสียบบัตรแทนกันจริงก็แค่ต้องไปลงโทษคนที่เสียบบัตรแทน ไม่ใช่มาล้มร่างกฎหมายนั้นๆ ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการเสียบบัตรแทนกันทำให้ร่างกฎหมายต้องคว่ำไป จะเป็นการเปิดช่องให้แกล้งกันในทางการเมืองได้ เช่น หากเสียงข้างน้อยในสภาโหวตเท่าไหร่ก็ไม่ชนะสักที ก็อาจจะใช้การเสียบบัตรแทนกันเพื่อทำลายมติคว่ำร่างกฎหมายนั้นไปได้  

สำหรับ ส.ส. ที่เสียบบัตรแทนกันถ้าเราใช้บรรทัดฐานทางกฎหมายเดียวกัน แน่นอนว่าคนที่เสียบบัตรแทนผู้อื่นจากการโหวต ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2563 จะต้องได้รับผลคือถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง ถูกตัดสิทธิทางการเมือง และถูกดำเนินคดีอาญาจากกระทำเช่นเดียวกับ นริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย

You May Also Like
อ่าน

ข้าราชการลาออกชั่วคราวเพื่อลงสมัคร สว. 67 ได้

กฎหมายหลายฉบับได้เปิดช่องให้ข้าราชการปัจจุบันสามารถลาออกเพื่อสมัครเป็น สว. ได้โดยมีผลทันทีนับแต่วันที่ยื่นลาออก และหากไม่ได้รับการเลือกเป็น สว. ก็ยังมีทางเลือกสามารถกลับไปรับราชการได้ตามเดิมเช่นกัน
อ่าน

รวมทริคลงสมัคร สว. เลือกกันเอง บทเรียนจากปี 61

จากการสัมภาษณ์ผู้ที่เคยเข้าร่วมกระบวนการในปี 2561 มีหลายกลเม็ดที่ผู้สมัครใช้ในการช่วยให้ตนเองได้เข้ารอบหรือรับเลือก โดยมีทั้งในรูปแบบที่ผิดกฎหมาย ไปจนถึงใช้ยุทธศาสตร์-เทคนิค จากช่องทางบางประการในกฎหมาย