5 เรื่องต้องรู้ จับตาคดียุบพรรคอนาคตใหม่

“ยุบพรรคอนาคตใหม่แล้วจะเกิดอะไร?”
“ศาลใช้กฎหมายอะไรในการยุบพรรค?”
“อะไรคือพยานหลักฐานที่ศาลใช้พิจารณายุบพรรค” 

เชื่อว่าคำถามข้างต้น อาจจะเป็นคำถามที่ใครหลายคนยังสงสัย แต่ทว่ากลับไม่ค่อยมีคนตอบมากนัก ด้วยเหตุที่คำถามเหล่านี้มีความสำคัญในการช่วยให้ผู้ที่ติดตามผลของคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ ในวันที่ 21 มกราคม 2563 เห็นที่ไปที่มาของการยุบพรรคการเมือง และพอจะคาดเดาอนาคตทางการเมืองข้างหน้า จึงขอรวบรวมเรื่องที่น่าสนใจห้าเรื่องที่ควรรู้ก่อนจะไปฟังคำตัดสินของศาล ดังนี้

 

ถาม: ใคร (มีอำนาจ) ยื่นขอให้ยุบพรรคอนาคตใหม่?

ตอบ: คดียุบพรรคอนาคตใหม่ที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 21 มกราคม 2563 เป็นคดีที่ ‘ณฐพร โตประยูร’ อดีตที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นผู้ยื่นคำร้อง โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง ที่ระบุว่า ผู้ใดที่ทราบว่ามีการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผู้นั้นย่อมมีสิทธิยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้ 

ตามรัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค แต่ผู้ร้องได้อ้าง พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 92 ที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคที่กระทำการล้มล้างหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพียงแต่การยื่นเรื่องตามมาตราดังกล่าวเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดังเช่นเมื่อครั้งยุบพรรคไทยรักษาชาติ ก็ต้องอาศัยมติ กกต. เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยยุบพรรค

ดังนั้น ในการนัดอ่านคำวินิจฉัยวันที่ 21 มกราคม 2563 จึงต้องจับตาเรื่องนี้ด้วย หากศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าไม่มีอำนาจในการยุบพรรคแล้วก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยต่อไปถึงเนื้อหาว่าพรรคอนาคตใหม่มีการกระทำตามที่กล่าวอ้างมาในคำฟ้องจริงหรือไม่ แต่หากศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยลงไปถึงเนื้อหาก็ต้องตอบคำถามในประเด็นนี้ก่อนให้ได้ว่า อำนาจในการยุบพรรคของศาลเขียนไว้ในกฎหมายมาตราใด 

 

ถาม: พรรคอนาคตใหม่ถูกยื่นยุบพรรคด้วยข้อหาและหลักฐานอะไร?

ตอบ: หลักฐานสำคัญที่ผู้ร้องใช้ในการยื่นยุบพรรคข้อหาล้มล้างการปกครองฯ มีอย่างน้อย 3 อย่าง ได้แก่ 

  1. ข้อบังคับพรรคที่ไม่ยอมใช้คำว่า “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” แต่ใช้คำว่า “ประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ” 
  2. นโยบายพรรคที่จะให้ประเทศไทยลงนามสัตยาบันเรื่องศาลอาญาระหว่างประเทศซึ่งไม่ยกเว้นสถานะประมุขของรัฐในการพิจารณาคดีของศาลระหว่างประเทศ 
  3. ตราสัญลักษณ์พรรคที่มีความคล้ายกับสมาคมอิลลูมิเนติ องค์กรลึกลับในทฤษฎีสมคบคิดที่มีแนวคิดล้มล้างสถาบันกษัตริย์

นอกจากนี้ ยังมีการนำคำให้สัมภาษณ์ การปราศัย และการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของ ‘ธนาธร’ และ ‘ปิยบุตร’ มาเป็นประกอบยืนยันเจตนา

ในคดีดังกล่าว พรรคอนาคตใหม่เคยยื่นคำร้องขอให้ไต่สวนพยานและคำร้องขอยื่นบัญชีระบุพยาน แต่ศาลรัฐธรรมนูญได้ทำหนังสือตอบกลับว่า คดีมีหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้โดยไม่จำเป็นต้องไต่สวนเพิ่ม

 

ถาม: ศาลรัฐธรรมนูญที่พิจารณาคดียุบพรรคมาจากไหน?

ตอบ: ศาลรัฐธรรมนูญก่อตั้งขึ้นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ 2540 และยังมีอยู่ตามรัฐธรรมนูญ 2560 โดยในปี 2557 แม้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำการยึดอำนาจและยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 แต่ยังคงให้องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกระทั่งในปี 2558 มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนต้องพ้นจากวาระ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ได้ดำเนินการแต่งตั้งบุคคลเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 2 คน ได้แก่ ปัญญา อุดชาชน และ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ 

ในปี 2560 มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 5 คน ที่ต้องพ้นจากตำแหน่ง ได้แก่ นุรักษ์ มาประณีต, จรัญ ภักดีธนากุล, ชัช ชลวร, บุญส่ง กุลบุปผา และอุดมศักดิ์ นิติมนตรี แต่ คสช. ออกคำสั่งที่ 24/2560 โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ต่ออายุให้ตุลาการชุดดังกล่าวยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการสรรหาใหม่ ทำให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาคดียุบพรรคอนาคตใหม่จะยังคงเป็นคณะเดิมกับที่ทำงานร่วมกับ คสช. มาโดยตลอดหลังการรัฐประหาร 

แม้ว่าตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญจะกำหนดให้ต้องดำเนินการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่แทนที่ตุลาการที่ต้องพ้นวาระ แต่ทว่าวุฒิสภาซึ่ง คสช.แต่งตั้ง (อีกเช่นกัน) ได้เลื่อนการพิจารณาเรื่องดังกล่าวมาแล้วถึง 3 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดคือเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562 ที่ประชุมวุฒิสภามีมติให้ขยายเวลาการพิจารณาญัตติของคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกไปอีก 30 วัน จากเดิมที่จะครบกำหนด 15 ธันวาคม 2562

 

ถาม: ถ้ายุบพรรคอนาคตใหม่จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง?

ตอบ: 

1. ผลกระทบต่อคณะกรรมการบริหารพรรค 

ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 กำหนดว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค แต่กฎหมายไม่ได้กำหนดระยะเวลา ซึ่งในกรณีพรรคไทยรักษาชาติที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี 

เมื่อมีการยุบพรรค กรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบจะไม่สามารถจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองใหมได้ในระยะเวลา 10 ปี นับตั้งแต่พรรคถูกยุบ ถ้าฝ่าฝืนจะต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนสี่หมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

2. ผลกระทบต่อสมาชิกพรรคที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 

เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (10) กำหนดให้ ส.ส.ต้องเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง ถ้ามีการยุบพรรค ส.ส.ต้องเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นภายใน 60 วัน มิเช่นนั้นสมาชิกภาพของ ส.ส.สิ้นสุดลง

ทางเลือกของบรรดา ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่คงมี 2 ทาง ได้แก่ หนึ่ง การย้ายเข้าสู่สังกัดพรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นพรรคที่มี ส.ส.ในสภาหรือไม่ก็ตาม กับสอง ย้ายเข้าสู่พรรคใหม่ที่ตั้งขึ้น ซึ่งตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ กำหนดให้ต้องรวบรวมคนไม่น้อยกว่า 500 คน มาร่วมกันดำเนินการจัดตั้งพรรค แต่การตั้งพรรคการเมืองใหม่ได้ต้องมีทุนประเดิมไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท และต้องมีการประชุมเพื่อกำหนดข้อบังคับ เลือกกรรมการบริหารพรรคให้แล้วเสร็จก่อนการยื่นตั้งพรรคต่อ กกต. และหลังมีพรรคการเมืองแล้ว พรรคต้องดำเนินการตามกฎเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด เช่น จัดตั้งสาขาพรรคอย่างน้อย 4 ภาค มีสมาชิกพรรคไม่น้อยกว่า 5,000 คน ในปีแรกหลังตั้งพรรค เป็นต้น 

อย่างไรก็ดี การตั้งพรรคใหม่อาจจะติดปัญหาสำคัญเรื่องกรอบเวลาที่ต้องก่อตั้งพรรคให้เสร็จก่อน 60 วันหลังการยุบพรรค ซึ่งการจดตั้งพรรคนั้น กฎหมายไม่ได้มีการกำหนดเวลาไว้ และเป็นอำนาจหน้าที่การตัดสินใจและการดำเนินการของ กกต. พูดง่ายๆ ว่า ช้าหรือเร็ว กกต.จะเป็นคนกำหนด และถ้ามองย้อนกลับไปเมื่อครั้งอนาคตใหม่จดตั้งพรรค ก็เริ่มต้นในเดือนมีนาคม ปี 2561 แต่กว่า กกต. จะรับรองก็เดือนตุลาคม ปี 2561 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่มากกว่า 60 วัน

3. ผลกระทบว่าด้วยจำนวนที่นั่ง ส.ส. 

จำนวนที่นั่ง ส.ส.ในสภาอาจจะเปลี่ยนไป เสียงของฝ่ายค้านอาจจะน้อยลง เนื่องจาก ส.ส.ที่เป็นกรรมการบริหารพรรคสิ้นสภาพลงหลังการยุบพรรคเพราะขาดคุณสมบัติตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ถ้า ส.ส.ที่พ้นจากตำแหน่งเป็น ส.ส.เขต ก็จะต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ ถ้าเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อก็ให้เลื่อนลำดับ ส.ส.คนถัดไปขึ้นมาแทน

แต่ทว่าเมื่อพรรคถูกยุบจำเป็นต้องรอ กกต. ตีความว่า บัญชีรายชื่อที่พรรคเสนอไปจะยังใช้ได้อยู่หรือไม่ หรือจะถือว่าเข้าตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 105 (2) ที่ระบุว่า ในกรณีที่ไม่มีรายชื่อเหลืออยู่ในบัญชีที่จะเลื่อนขึ้นมาแทนตําแหน่งที่ว่าง ให้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่ หมายความว่า ถ้าพรรคถูกยุบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองก็จะหายไปโดยปริยาย ทำให้ไม่สามารถเลื่อนตำแหน่งใครมาแทนได้ และถ้าเป็นแบบนั้น จำนวน ส.ส.พรรคอนาคตใหม่จะหายไปอย่างน้อย 10 เสียง

 

ถาม: มีพรรคการเมืองที่ถูกยุบก่อนหน้าพรรคอนาคตใหม่ไหม?

ตอบ: ถ้านับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา พรรคอนาคตใหม่ก็ถือเป็นพรรคที่ 2 ที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณาคดียุบพรรค โดยพรรคแรกคือ พรรคไทยรักษาชาติ จากการเสนอชื่อ ‘ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ’ ไว้ในบัญชีผู้ที่พรรคจะเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าถือเป็นการกระทำฐานล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงประเป็นประมุข

ถ้านับจากหลังการเลือกตั้งในปี 2562 พรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคแรกที่ศาลรัฐธรรมนูญเตรียมวินิจฉัยคดียุบพรรค ในขณะที่พรรคอื่นๆ ที่มีคนร้องให้ยุบพรรคเช่นกันกลับไม่มีมีความคืบหน้า ไม่ว่าจะเป็น

  • พรรคเพื่อไทยที่ถูกกล่าวหาว่ายินยอมให้บุคคลซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคอย่าง ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ครอบงำ 
  • พรรคพลังประชารัฐจัดกิจกรรมระดมทุนด้วยการขายโต๊ะจีนราคา 3 ล้านบาท ที่ถูกกล่าวหาว่าเข้าข่ายการแสวงหากำไรมาแบ่งปันกันนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ยกคำร้องคดีดังกล่าวโดยไม่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ

ถ้านับในรอบ 20 ปี ที่ผ่านมา นับตั้งแต่หลังมีกฎหมายพรรคการเมืองปี 2541 มาถึงปัจจุบัน มีพรรคการเมืองที่ถูกยุบไปแล้วอย่างน้อย 133 พรรค 

ทั้งนี้ ในมุมมองเรื่องการยุบพรรคของ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เห็นว่า หลังปี 2549 การยุบพรรคมีเป้าประสงค์ทางการเมืองโดยมีสถาบันตุลาการเป็นเครื่องมือ โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่ครองเสียงข้างมากในสภา และในปัจจุบันเป้าหมายอยู่ที่พรรคการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเครือข่ายชนชั้นนำโดยเฉพาะกองทัพ

You May Also Like
อ่าน

ส่องเล่มจบป.เอก สว. สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด

พบว่าดุษฎีนิพนธ์ของ สว. สมชาย แสวงการ มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
อ่าน

เป็น สว. เงินเดือนเท่าไหร่? ได้สวัสดิการ-สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง?

สว. 2567 แม้ไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ เหมือน สว. ชุดพิเศษ แต่มีอำนาจอื่นๆ เต็มมือ พร้อมกับเงินเดือนหลักแสน และสวัสดิการ สิทธิประโยชน์อีกเพียบ