เลือกตั้ง’62: เปิดรายงาน “คะแนนที่ถูกจัดการ” ระหว่างการรายงานผล

การจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในปี 2562 มีเรื่องอื้อฉาวในทางลบมากมาย ตั้งแต่การจัดการเลือกตั้งล่วงหน้า การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรก็พบเหตุวุ่นวาย ทั้งการแจกบัตรเลือกตั้งผิดเขต การต่อคิวยาวนาน การปรากฏชื่อผู้สมัครที่ถูกตัดสิทธิไปแล้ว ฯลฯ และเมื่อถึงวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ก็เกิดภาพที่กระทบต่อความน่าเชื่อถือของการเลือกตั้งมากมาย ทั้งภาพถ่ายบอร์ดนับคะแนนที่รวมคะแนนผิด คลิปวิดีโอบันทึกการขานคะแนนผิด หรือกรณีที่ปรากฏจำนวนบัตรเลือกตั้งมากกว่าผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือที่เรียกกันติดปากว่า “บัตรเขย่ง” ซึ่งปรากฏการณ์ทั้งหลาย กกต.ไม่เคยพยายามชี้แจงว่า มีกระบวนการตรวจสอบเพื่อแก้ไขอย่างจริงจังแล้วหรือไม่ อย่างไร 

ส่วนที่อยู่ในความทรงจำอย่างชัดเจนที่สุด คือ การรายงานผลคะแนนแบบ Real Time ในคืนวันเลือกตั้งที่กินเวลายาวนานและผลแพ้ชนะก็พลิกไปพลิกมาอยู่ตลอดจนกระทั่งช่วงสายของวันรุ่งขึ้น ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่แปลกประหลาดมากเทียบกับการรายงานผลการเลือกตั้งที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย 

ก่อนเริ่มลงมือทำรายงานฉบับนี้ เราเฝ้ารอการเปิดเผย “ผลคะแนนรายหน่วย” เพื่อตรวจสอบว่า มีสิ่งใดผิดปกติเกิดขึ้นในระหว่างการรวมคะแนนและประกาศคะแนนหรือไม่ ด้าน กกต.ชี้แจงว่า “ผู้มีส่วนได้เสีย” ซึ่งหมายถึง พรรคการเมืองที่ลงสมัคร สามารถขอดูคะแนนรายหน่วยได้จากสำนักงาน กกต. ประจำจังหวัดทุกจังหวัด หมายความว่า หากต้องการคะแนนทั้งประเทศก็ต้องไปขอจากสำนักงานจังหวัดทั้ง 77 แห่งจึงจะได้ข้อมูลครบ จนถึงสิ้นปี 2562 ประชาชนก็ยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลชุดนี้ได้ 

ข้อมูลเท่าที่มีอยู่แล้วในมือโดยไม่ต้องรอ กกต.หยิบยื่นให้เพิ่มเติม คือ ข้อมูลการรายงานผลคะแนนแบบ Real Time ที่ทาง กกต.ทยอยส่งให้กับสื่อมวลชน เริ่มตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่ 24 มีนาคม 2562 หลังปิดหีบเลือกตั้ง ต่อเนื่องมาถึงช่วงสายของวันที่ 25 มีนาคม 2562 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงคะแนนที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นหรือลดลงของผู้สมัคร ส.ส. ทั้ง 11,181 คน ตามเวลาที่มีการอัพเดทจาก กกต. รวมแล้วเป็นตัวเลขมากกว่า 1,000,000 ตัว โดยทีมนักคอมพิวเตอร์จาก ELECT.in.th ได้จัดเรียงตัวเลขเหล่านี้ให้อยู่ในรูปแบบตาราง Excel และกราฟ Datastudio ที่ดูง่ายขึ้น

เพื่อจะพยายามตอบคำถามว่า มีอะไรเกิดขึ้นในระหว่างการรายงานผลคะแนนที่ทำให้ใช้เวลานานผิดปกติ และอะไรเป็นสาเหตุให้ผลแพ้ชนะถึงพลิกกลับไปกลับมาได้ตลอดทั้งคืน เราจึงเปิดข้อมูลตัวเลขเหล่านั้นขึ้นมาหาข้อสังเกต วิเคราะห์ และแจกแจง ออกมาเป็นรายงานฉบับนี้ 

แม้ข้อมูลและข้อสังเกตเท่าที่มีจะไม่ได้ชี้ให้เห็นว่า มีการทุจริตการเลือกตั้งหรือไม่ และใครได้ประโยชน์ ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนอาจจะอยากได้ยินที่สุด แต่พร้อมกันกับรายงานฉบับนี้ เราก็ได้เผยแพร่ข้อมูลดิบเป็นผลคะแนนที่ กกต.ส่งให้กับสื่อมวลชนแบบ Real Time ในรูปแบบที่ดูง่ายควบคู่กันด้วย เพื่อให้ทุกคนสามารถนำข้อมูลดิบเท่าที่มีไปค้นคว้าและวิเคราะห์ต่อกันเองได้ โดยเชื่อมั่นว่า การตรวจสอบจากสาธารณชนนั้นสำคัญและมีความหมายมากที่สุด ที่จะสร้างการเลือกตั้งที่โปร่งใสและได้ผลเป็นที่ยอมรับให้เกิดขึ้นได้จริง

 

ข้อมูลดิบที่เกี่ยวข้อง

1. การรายงานผลบนเว็บไซต์ Elect.in.th ซึ่งคลิกที่รูปนาฬิกามุมซ้ายล่าง สามารถดูผลย้อนหลังระหว่างการรายงานสดได้

2. ข้อมูลที่จัดแสดงด้วย Data Studio ให้เห็นเป็นกราฟการเพิ่มขึ้นและลดลงของคะแนน

3. ตารางปริมาณคะแนนที่ถูกรายงานของผู้สมัครแต่ละคน แบ่งเป็นช่วงเวลาทุกๆ 30 นาที 

4. ตารางเปรียบเทียบคะแนน 94% กับคะแนน 100% ของผู้สมัครรายคน และรายเขตเลือกตั้ง

You May Also Like
อ่าน

ศาลรธน. ไม่รับคำร้อง ปมรัฐสภาถามเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทำประชามติกี่ครั้ง ทำตอนไหน

17 เมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเไม่รับคำร้องที่รัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาว่า รัฐสภาจะมีอำนาจในการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญได้เลยหรือต้องทำประชามติก่อน
อ่าน

เศรษฐาแถลง ประชามติ 3 ครั้งสู่รัฐธรรมนูญใหม่ “ห้ามแตะหมวดทั่วไป-หมวดพระมหากษัตริย์” ย้ำพร้อมแก้ พ.ร.บ.ประชามติ

23 เมษายน 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุว่ารัฐบาลมีความเห็นสอดคล้องกับข้อสรุปของคณะกรรมการประชามติ ที่เห็นว่าควรมีการทำประชามติสู่รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งสิ้นสามครั้ง ไม่แตะหมวดทั่วไปและหมวดพระมหากษัตริย์ และเน้นย้ำว่าควรมีการแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ ควบคู่กันไปด้วย