iLaw Poll : รวมความคิดเห็นประชาชนจากโลกออนไลน์ สำหรับการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่

 

ไอลอว์ตั้งคำถามเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นบนโลกโซเชี่ยลมีเดีย มีคนช่วยกันแสดงความเห็นกันอย่างคึกคัก ส่วนใหญ่ต้องการยกเลิกกลไกที่ คสช. วางไว้เพื่อสืบทอดอำนาจของตัวเอง จึงสรุปรวบรวมมาไว้ที่นี่

 

อยากตัดเรื่องอะไรออกจากรัฐธรรมนูญ 2560

4 กันยายน 2562 ไอลอว์เริ่มจากถามคำถามแรกว่า ถ้าประชาชนแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ อยาก "ตัด" เรื่องอะไรออก

ในรัฐธรรมนูญ 2560 มีกลไกใหม่ๆ จำนวนมากถูกสร้างขึ้น ส่วนหนึ่งก็กลายเป็นที่มาของความขัดแย้งทางการเมือง เช่น ส.ว.ชุดแรกจากการแต่งตั้ง ระบบเลือกตั้งใหม่แบบ MMA อำนาจที่เพิ่มขึ้นของ กกต.​ และศาลรัฐธรรมนูญ
ขณะที่กลไกจำนวนหนึ่งเริ่มทำงานไปบ้างแล้ว แต่ยังไม่เห็นผลกระทบในทางการเมืองมากนัก รอวันข้างหน้าที่จะค่อยๆ ปรากฏตัวให้เห็นว่า กลไกเหล่านี้ทำงานอย่างไร เช่น แผนยุทธศาสตร์ 20 ปีของ คสช.​ หรือแผนการปฏิรูปที่เขียนโดยคนของ คสช. อีกเช่นกัน
หมวดเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนและหน้าที่ของรัฐ​ก็ยังแตกต่างและเป็น "ของใหม่" ในระบบกฎหมายของไทย ส่วนหมวดเกี่ยวกับการปกครองส่วนท้องถิ่น ก็มีทั้งส่วนที่สนับสนุนและเป็นอุปสรรคสำหรับการกระจายอำนาจ
บทเฉพาะกาล ดูเป็นหมวดเกี่ยวกับการสืบทอดอำนาจทางการเมือง จากยุคของ คสช.1 มากที่สุด ที่ให้องค์กรของ คสช. ยังคงอำนาจไว้หลายประการ แต่ก็เริ่มทยอยหมดบทบาทไปแล้วหลังเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้
 
มีผู้มาร่วมแสดงความคิดเห็นบนเฟซบุ๊ก จำนวนมาก อย่างน้อย 174 ข้อความ เช่น 
"ยกเลิกรัฐธรรมนญฯ 2560 ทั้งฉบับ แล้วทำการยกร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับใหม่ทั้งฉบับโดยมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งอาจจะมีรัฐธรรมนูญฯ 2540 เป็นโมเดลในการยกร่างก็ได้ครับ แต่ที่ผมเห็นว่า เป็นประเด็นสำคัญคือ การตรวจสอบการใช้อำนาจตุลาการและองค์กรอิสระต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมาเกือบจะไม่มีการตรวจสอบและมีที่มาโดยการยึดโยงจากประชาชนเลยนะครับ ทำให้การใช้อำนาจขององค์ดังกล่าวถูกบิดเบือนและรับใช้ผู้มีอำนาจทางการเมืองจนผิดเจตนารมณ์ในการจัดตั้งองค์กรอิสระและศาลไปในท้ายที่สุด"
"ตัดออกทั้งหมด ร่างใหม่ ไม่ให้นายกคนนอก ให้ปชช.มีสิทธิในการเลือก สว. สส. ให้ปชช.มีสิทธิในการเลือกอย่างแท้จริง และสามารถตรวจสอบได้จริงๆ"
"อยากให้ร่างใหม่ค่ะ ฉบับนี้ไม่มีความเป็นปชตและไม่มีความเป็นกลางเลย หมกเม็ดเพื่อเผด็จการ ส่วนที่อยากให้ไม่มีคือ ส.ว.ร่างทรงของคสช และอยากให้เพิ่มว่าห้ามทำการรัฐประหาร ห้ามใครฉีกรัฐธรรมนูญ รวมทั้งทหารห้ามยุ่งการเมือง"

อยากใส่อะไรเข้าไปในรัฐธรรมนูญ 2560

11 กันยายน 2562 ไอลอว์ตั้งคำถามว่า ถ้าประชาชนแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ อยาก "ใส่" เรื่องอะไรเข้าไป
ในรัฐธรรมนูญ 2560 ร่างขึ้นโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ทั้งคณะ ไม่ได้มีตัวแทนที่ประชาชนมอบอำนาจให้เข้าไปยกร่างขึ้น
#รัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ มีส่วนที่รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอยู่บ้าง และกำหนดให้รัฐมีหน้าที่ต้องดูแลประชาชนหลายประการ แต่ยังไม่ครอบคลุมทุกประเด็นตามที่เคยมีเสียงเรียกร้อง
ประเด็นสิทธิในการรักษาพยาบาลแบบ "ถ้วนหน้า" ประเด็นสิทธิการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายถึงระดับมัธยม รวมทั้งความเท่าเทียมที่ทุกศาสนาจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ยังไม่ชัดเจน
ระบบการเข้าสู่อำนาจ ทั้งการเลือกตั้ง ส.ส. ยังดูมีข้อถกเพียงมากมาย ส่วน ส.ว. ชุดแรกก็มาจากการคัดเลือกเอง ชุดต่อจากนี้ก็ยังเป็นระบบแบ่งกลุ่มอาชีพ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง องค์กรอิสระก็มีที่มาจากการตั้งกรรมการสรรหาคัดเลือกวนเวียนกันไประหว่างคนกลุ่มเดิมๆ แล้วพวกเราอยากให้เป็นยังไง??
การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น สิทธิชุมชน แม้จะมีเขียนอยู่แล้วแต่อาจจะยังไม่ได้ไปถึงความฝันขนาดที่ประชาชนในแต่ละจังหวัดจะได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ของตัวเองและสามารถดูแลจัดการตัวเองได้
มีผู้มาร่วมแสดงความคิดเห็นบนเฟซบุ๊ก จำนวนมาก อย่างน้อย 45 ข้อความ เช่น 
"แก้อำนาจตุลาการในการที่สามารถแก้ไขกฎหมายเองได้ด้วย,สว.ถ้าไม่มาจากการเลือกตั้งก็ตัดทิ้งไปเลยประหยัดเงิน ,แก้เรื่องละเมิดอำนาจศาลและแก้อำนาจองค์กรอิสระโดยเฉพาะศาลรธน ถ้าแก้ไม่ได้ก็ให้ยุบทิ้งให้หมด ปปช., ดีเอสไอ, กสทช, กกต, ศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่คิดจะยึดโยงกับประชาชน ยังมีอีกหลายเรื่องที่ไอ้มีชัย,ไอ้วิษณุ,ไอ้สนชชั่วทั้งหลายทำไว้ ให้ดีฉีกมันทิ้ง เอา40มาแก้ดีกว่า"
"ตัดคำว่า ความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย ศีลธรรม-ประเพณีอันดี ออกให้หมดสิ้นจากรัฐธรรมนูญ และเอาคำว่าดุลยพินิจหรือคำอื่นในทำนองนี้ออกให้หมดด้วย และระบุว่าพระมหากษัตริย์และทุกคนในไทยอยู่ใต้รัฐธรรมนูญนี้"
"เลือกตั้งสส.ต้องจำกัดจำนวนผู้มีสิทธิไม่เกิน 500 คนต่อหน่วย,ใช้สิทธิได้ภายในบ่ายสามครึ่งและประกาศผลหน้าหน่วยไม่เกินห้าโมงเย็นรวมทั้งต้องปิดประกาศปชส.ว่าถ่ายรูปการทำงานได้ห้ามเฉพาะถ่ายรูปให้รู้ว่ากาบัตรเลือกใคร ทำไม่ได้"
"ราชการต้องมีการวัดประสิทธิภาพที่จับต้องได้ และกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและตอบสนองความต้องการของประชาชน"
จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ​ ให้ใครมาร่างดี?
25 กันยายน 2562 ไอลอว์ตั้งคำถามบนเฟซบุ๊ก ชวนทุกคนช่วยกันคิดวันนี้ จึงมีว่า เมื่อจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ใครมาร่างดี??
โดยมีรูปแบบที่ลองเสนอมาให้เลือกกัน ดังนี้
หนึ่ง ยังไม่ต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะอาจจะใช้กระบวนการมาก ใช้งบประมาณมาก และใช้เวลานาน เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงควรเร่งเอารัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาเป็นตัวตั้งต้น และเสนอแก้ไขให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เลย เนื่องจากเป็นรัฐธรรมนูญที่มีที่มาแบบมีส่วนร่วมมากที่สุด และมีเนื้อหาส่งเสริมประชาธิปไตยมากที่สุด >>> ใครเห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ กด Like
สอง จัดทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ โดยจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ขึ้นมาใหม่ มีที่มาตามโครงสร้างแบบ สสร. ของฉบับปี 2540 คือ มีตัวแทนจากการเลือกตั้งทางอ้อม 76 คน จาก 76 จังหวัด มาจากการให้ผู้สมัครคัดเลือกกันเองให้เหลือจังหวัดละ 10 คน และให้สมาชิกรัฐสภาคัดเหลือ 76 คน และตัวแทนนักวิชาการ มาจากการเสนอรายชื่อโดยสถาบันการศึกษา จำนวน 23 คน รวมแล้ว 99 คน >>> ใครเห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ กด Love
สาม จัดทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ โดยจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ขึ้นมาใหม่ มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ให้ผู้สมัครเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญหาเสียงโดยตรงกับประชาชนว่า มีวิสัยทัศน์ต้องการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่เป็นอย่างไร และให้ประชาชนโหวตเลือก ส่วนระบบการเลือกตั้งนั้นต้องช่วยกันออกแบบต่อไป >>> ใครเห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ กด Haha
สี่ จัดทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ แต่ไม่ต้องจัดตั้งสภาขึ้นใหม่และไม่ต้องเลือกตัวแทนใหม่ เพราะปัจจุบันมีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นตัวแทนทำหน้าที่อยู่แล้ว อาจใช้กลไกตั้งกรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎรและใช้กลไกการลงมติตามปกติในการจัดทำและเสนอร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้ >>> ใครเห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ กด WOW
 
หลังชวนให้ทุกคนร่วมกันตอบคำถามนี้เป็นเวลา 48 ชั่วโมง พบว่า มีผู้เข้าร่วมกดอารมณ์ต่างๆ 3,166 คน แบ่งเป็น การตอบข้อ 1 กด Like 1,903 คน การตอบข้อ 2 กด Love 408 คน การตอบข้อ 3 กด Haha 792 คน การตอบข้อ 4 กด WOW 63 คน และมีคนร่วมกด Sad ซึ่งไม่ได้เป็นตัวเลือกอีก 5 คน คิดเป็นคำถามได้ดังนี้
60.1% เห็นด้วยกับข้อเสนอ ไม่ต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ให้เอาฉบับปี 2540 กลับมาใช้เลย
12.9% เห็นด้วยกับข้อเสนอ ให้จัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้น โดยเอาโครงสร้างแบบ สสร. ฉบับปี 2540
25% เห็นด้วยกับข้อเสนอ ให้จัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ มีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง
2% เห็นด้วยกับข้อเสนอ ให้ร่างใหม่โดยสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังมีผู้แสดงความคิดเห็น (คอมเม้นต์) ที่น่าสนใจอีกหลายความเห็น เช่น “ถ้าเลือกตั้งลุงแม่งก็เอาระบบแปลกๆมาใช้จนชนะอีก จะให้สรรหาก็ได้พวกมันอีก” “2540นี่ก็บกพร่องมากครับ ผิดหลักการเป็นกติกาสูงสุดของประเทศด้วย” “ในสภาพบ้านเมืองแบบนี้ไม่มีเวลาพอที่จะมาหารือกันเรื่องว่าจะเอาอย่างไรให้ยืดเยื้อครับ…สิ่งที่ดีที่สุดคือนำรัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาใช้ก่อนเฉพาะกาลแล้วจะแก้ไขหรือจะเปลี่ยนอย่างไรก็ค่อยคิดค่อยทำไป” ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นข้อถกเถียระหว่างตัวเลือกที่ 1 และ 3
และก็ยังมีความคิดเห็นประเด็นอื่นๆ อีก เช่น “ใช้เทคโนโลยี ร่างพร้อมกันกับประชาชนทั้งประเทศ แบบไม่มีตัวแทนตายตัว” “อะไรก็ได้ ขอแค่สามเงื่อนไข – อำนาจเป็นของปชช. ใครจะมีอำนาจสั่งการปชช.ไม่ได้ *ไม่ว่าใครก็ตาม* – ไม่ต้องยกเรื่องนิรโทษมาพูดกันอีก นักโทษทางการเมืองต้องไม่มีสิทธิ์รับอภัยโทษ – ผู้ทำรัฐประหารให้นับเป็นกบฎต้องรับโทษประหารทั้งคณะเท่านั้น ไม่มีลดหย่อนหรือ อภัยโทษ” เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ผลที่ได้จากการเปิดให้ทุกคนร่วมแสดงความคิดเห็นในครั้งนี้แสดงให้เห็นความต้องการของคนกลุ่มหนึ่งที่มีนัยยะสำคัญ แต่ไม่ใช่ข้อสรุปสุดท้าย เพราะยังมีคนอีกหลายกลุ่ม และมีประเด็นที่เกี่ยวข้องอีกหลายประเด็นที่ยังต้องร่วมกันแสดงคิดเห็นโดยคนจำนวนมากอีกต่อไปเรื่อยๆ เพื่อให้ได้ฉันทมติร่วม เป็นร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง
ประชาชนควรมีสิทธิเข้าชื่อถอดถอนตำแหน่งอะไรได้บ้าง?
16 ตุลาคม 2562 ไอลอว์ได้ชวนผู้ใช้เฟซบุ๊กร่วมกันแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสิทธิของประชาชนที่จะมีส่วนร่วมได้ตามรัฐธรรมนูญ กับคำถามที่ว่า รัฐธรรมนูญควรให้สิทธิประชาชนเข้าชื่อถอดถอนใครบ้าง?? โดยเปิดให้ประชาชนช่วยกันเสนอว่า ประชาชนควรมีสิทธิเข้าชื่อถอดถอนตำแหน่งอะไรได้บ้าง โดยมีตัวเลือก คือ
(1) ให้ประชาชนมีสิทธิเข้าชื่อกันถอดถอนกรรมการ ป.ป.ช. ได้อยู่เพียงองค์กรเดียว ซึ่งหลักการนี้เป็นเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2560 >>> เห็นด้วย กด Love
(2) ให้ประชาชนมีสิทธิเข้าชื่อกันถอดถอนกรรมการ ป.ป.ช. และกรรมการองค์กรอิสระทั้งหมด >>> ใครเห็นด้วย กด Haha
(3) ให้ประชาชนมีสิทธิเข้าชื่อกันถอดถอนกรรมการ ป.ป.ช. กรรมการองค์กรอิสระทั้งหมด และนักการเมืองทั้งรัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. >>> ใครเห็นด้วย กด WOW
(4) ให้ประชาชนมีสิทธิเข้าชื่อกันถอดถอนกรรมการ ป.ป.ช. กรรมการองค์กรอิสระทั้งหมด นักการเมืองทั้งรัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. และตุลาการศาลต่างๆ >>> ใครเห็นด้วย กด Angry
ซึ่งผลจากการแสดงความคิดเห็น หลังผ่านไป 72 ชั่วโมง มีผู้เข้าร่วมตอบคำถาม โดยการกดอารมณ์ต่างๆ รวม 2,988 คน
คนกด Angry เห็นด้วยกับข้อ (4) สูงสุด ถึง 2,775 คน คิดเป็น 93%
มีคนกด WOW เห็นด้วยกับข้อ (3) 121 คน คิดเป็น 4%
มีคนกด Haha เห็นด้วยกับข้อ (2) 47 คน คิดเป็น 1.6%
มีคนกด Love เห็นด้วยกับข้อ (1) 39 คน คิดเป็น 1.4%
ในกิจกรรมนี้มีผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นอีกรวม 76 ครั้ง ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Ken Kenson แสดงความคิดเห็นว่า "ใครที่รับเงินเดือนจากภาษีประชาชน ประชาชนควรต้องถอดถอนได้ทุกคนทุกตำแหน่ง" และกลายเป็นคอมเม้นต์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด มีคนมากด Like, Love และ Haha รวม 115 คน และหลังจากนั้นยังมีผู้มาแสดงความคิดเห็นทำนองเดียวกันต่ออีก
นอกจากนี้ยังมีความคิดเห็นอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น
"ผบ สูงสุดของทหาร ตำรวจ ศาล ต้องให้สภาเห็นชอบด้วย ทำให้ทุกองค์กรมีความยึดโยงกับประชาชนไม่ทางตรงก็ทางอ้อม”,
"เข้าชื่อได้แต่ถอดถอนไม่ได้นี่ดิ สวเป็นคนลงมติอะ"
รวมทั้งความเห็นที่แตกต่างจากคนส่วนใหญ่ที่มาตอบ เช่น "ส.ส (ส.ว.)กับรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ให้ใช้กลไกทางรัฐสภาดีกว่า มันจะเปิดช่องซึ่งจะทำให้วุ่นวายเป็นวงกว้างทางการเมืองได้" "ตุลาการศาลต่างๆไม่จำเป็น ขอเน้นศาลรัฐธรรมนูญ"
รัฐธรรมนูญควรกำหนดที่มานายกรัฐมนตรี อย่างไร?
21 ตุลาคม 2562 ไอลอว์ได้ชวนผู้ใช้เฟซบุ๊กร่วมกันแสดงความคิดเห็นในประเด็นการกำหนดที่มานายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่ชวนให้ทุกคนร่วมกันออกแบบรัฐธรรมนูญ จากประชาชนเอง โดยให้ทุกคนร่วมกันกดปุ่มแสดงอารมณ์ต่างๆ ซึ่งมีตัวเลือกดังนี้
➊ นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. เป็นหนึ่งในสามรายชื่อในบัญชีของพรรคการเมืองที่ได้ที่นั่ง ส.ส. มากที่สุด >>> ใครเห็นด้วย กด Love
➋ นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. เป็นหนึ่งในสามรายชื่อในบัญชีของพรรคการเมืองที่ได้คะแนนดิบจากประชาชน มากที่สุด >>> ใครเห็นด้วย กด Haha
➌ นายกรัฐมนตรี จะเป็น ส.ส. หรือไม่ก็ได้ แต่ต้องเป็นหนึ่งในสามรายชื่อในบัญชีของพรรคการเมืองที่เสนอไว้ก่อนเลือกตั้ง (หลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ 2560) >>> ใครเห็นด้วย กด Wow
➍ นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. ส่วนระบบ "บัญชีว่าที่นายกฯ" ไม่ต้องมีก็ได้ (หลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550) >>> ใครเห็นด้วย กด Sad
➎ นายกรัฐมนตรี ไม่ต้องเป็น ส.ส. ไม่ต้องอยู่ในบัญชีของพรรคก็ได้ เป็น "คนนอก" ก็ได้ (ตามมาตรา 272) >> ใครเห็นด้วย กด Angry
หลังผ่านไป 6 วัน ผลปรากฏว่า มีคนเข้าร่วมตอบคำถามโดยกดปุ่มแสดงอารมณ์ต่างๆ รวม 877 คน และมีคนร่วมแสดงความคิดเห็น 30 คน ผลเป็นดังนี้
➊ คนกด Love เลือกว่า "นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. เป็นหนึ่งในสามรายชื่อในบัญชีของพรรคการเมืองที่ได้ที่นั่ง ส.ส. มากที่สุด" สูงที่สุด 640 คน หรือ คิดเป็น 73% ของผู้เข้าร่วมตอบคำถาม
➋ คนกด Sad เลือกหลักการเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ให้ "นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. ส่วนระบบ "บัญชีว่าที่นายกฯ" ไม่ต้องมีก็ได้" เป็นอันดับสอง 171 คน หรือ คิดเป็น 19.4% ของผู้เข้าร่วมตอบคำถาม
➌ คนกด Wow เลือกหลักกาเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้แล้วในรัฐธรรมนูญ 2560 คือ "นายกรัฐมนตรี จะเป็น ส.ส. หรือไม่ก็ได้ แต่ต้องเป็นหนึ่งในสามรายชื่อในบัญชีของพรรคการเมืองที่เสนอไว้ก่อนเลือกตั้ง" หรือ เลือกว่า ไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญในประเด็นนี้ 36 คน หรือคิดเป็น 4.1% ของผู้เข้าร่วมตอบคำถาม
➍ คนกด Haha เลือกว่า "นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. เป็นหนึ่งในสามรายชื่อในบัญชีของพรรคการเมืองที่ได้คะแนนดิบจากประชาชน มากที่สุด" ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคพลังประชารัฐกล่าวอ้าง เพื่อจัดตั้งรัฐบาลโดยให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรในวันนี้ 21 คน หรือ คิดเป็น 2.4% ของผู้เข้าร่วมตอบคำถาม
➎ คนกด Angry เลือกว่า "นายกรัฐมนตรี ไม่ต้องเป็น ส.ส. ไม่ต้องอยู่ในบัญชีของพรรคก็ได้ เป็น "คนนอก" ก็ได้" หรือเห็นด้วยกับระบบนายกฯ คนนอก ตามมาตรา 272 9 คน หรือ คิดเป็น 1% ของผู้เข้าร่วมตอบคำถาม
อย่างไรก็ดี การสำรวจความคิดเห็นครั้งนี้เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ให้ทุกคนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นส่วนตัวเท่านั้น ยังไม่ใช่ผลสรุปสุดท้าย เพราะการรับฟังความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กยังมีข้ออ่อนหลายประการ ทั้งการเข้าถึงกลุ่มคนที่หลากหลาย และระบบของเฟซบุ๊กที่ไม่สามารถให้คนหนึ่งคนเลือกได้มากกว่าหนึ่งตัวเลือก หรือจัดลำดับความสำคัญจากตัวเลือกหลากหลาย การเปิดบทสนทนาเพื่อคุยกันในประเด็น "ที่มานายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ" จึงต้องเดินหน้าต่อไปพร้อมกับประเด็นอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมีความเห็นน่าสนใจที่ส่งเข้ามาด้วย ซึ่งเราคัดเลือกมาดูกันอีกครั้ง เช่น
"เราควรใช้ระบบเหมือนกรุงเทพมหานคร นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนทำหน้าที่บริหาร"
"จัดการเลือกนายกโดยตรงไปเลยหมดเรื่อง ลองดูสิ อิอิ"
"ต้องเป็น ส.ส. ในบัญชีของพรรคที่ได้ ส.ส. มากที่สุดครับ…เพราะนี่คือบรรทัดฐานของประชาธิปไตย เกียรติจากการเลือกตั้งโดยประชาชนมันต้องมาจากตรงนี้ครับ"
"จริงๆแล้ว ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่นายกจะเป็นส.ส.หรือไม่เป็น ส.ส. แต่ปัญหามันอยู่ที่ ส.ว.มันเสือกมีอำนาจมาเลือกนายกด้วยจึงเกิดปัญหา"