จากคำถาม Miss Universe สู่การสำรวจกฎหมายความเป็นส่วนตัวของไทย

จากคำถามในเวที Miss Universe 2019 ที่นางงามจากประเทศไทยถูกถามว่า “ในหลายที่รัฐบาลต้องการสร้างความเป็นส่วนตัว และขณะเดียวกัน ก็ต้องการสร้างความปลอดภัย คุณจะเลือกอะไรระหว่างความเป็นส่วนตัวหรือความปลอดภัย?” ซึ่งคำถามนี้เป็นที่น่าสนใจว่าหากเป็นคุณ คุณจะเลือกสิ่งไหน "ความเป็นส่วนตัว" หรือ "ความปลอดภัย" จากรัฐ?
อย่างไรก็ดี จากการสำรวจกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความเป็นส่วนตัว พบว่า เราสามารถแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ กลุ่มกฎหมายที่ให้การคุ้มครองกับกลุ่มกฎหมายที่ให้เข้าถึงข้อมูลความเป็นส่วนตัว ซึ่งรวมแล้วมีอย่างน้อย 11 กฎหมาย ดังนี้
๐ กลุ่มกฎหมายที่คุ้มครองความเป็นส่วนตัว
a. รัฐธรรมนูญ
ประเทศไทยรับรองสิทธิความเป็นส่วนตัวและให้การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 เช่น มาตรา 32 ที่ระบุว่า "บุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว การกระทําอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิของบุคคลตามวรรคหนึ่ง หรือการนําข้อมูล ส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใด ๆ จะกระทํามิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จําเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ"
b. พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคลฯ
พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จะมีหลักการคุ้มครองความเป็นส่วนตัว เช่น ในมาตรา 24 กำหนดให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลทำการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลไม่ได้ หรือ ในมาตรา 25 ยังได้ห้ามมิให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลทำการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลจากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่จากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลโดยตรง แต่อย่างไรก็ดี พ.ร.บ.ดังกล่าวก็ยังมีข้อยกเว้นโดยเฉพาะกับรัฐให้เข้าถึงข้อมูลของประชาชนได้
๐ กลุ่มกฎหมายที่อนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลส่วนตัว
a. พ.ร.บ.การสอบสวนพิเศษ
ตามกฎหมาย พนักงานสอบสวนคดีพิเศษซึ่งได้รับอนุมัติจากอธิบดีเป็นหนังสือสามารถยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาเพื่อมีคำสั่งอนุญาตให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสารดังกล่าวก็ได้ โดยมาตรา 25 ระบุว่า ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า เอกสารหรือข้อมูลข่าวสารอื่นใดซึ่งส่งทางไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ในการสื่อสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อทาง เทคโนโลยีสารสนเทศใดถูกใช้หรืออาจถูกใช้เพื่อประโยชน์ในการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ
b. พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 หรือที่คุ้นหูในชื่อ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีมาตราที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการยึดอมพิวเตอร์ของประชาชนเพื่อตรวจสอบข้อมูลในคอมพิวเตอร์ได้ ซึ่งระบุไว้ในมาตรา 18 ที่ให้ข้อยกเว้นเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถขออนุญาตเจ้าพนักงาน ค้นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นที่ต้องสงสัยได้ รวมไปถึงสามารถขอข้อมูลจากผู้ให้บริการเครือข่ายเกี่ยวกับผู้ให้บริการเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารในคอมพิวเตอร์ได้ รวมถึงบุคคลอื่นด้วย และเป็นการขบายขอบเขตให้เจ้าหน้าที่ตำวจขอค้นคอมพิวเตอร์ได้นอกจากคดีประเภทคอมพิวเตอร์
c. พ.ร.บ.ป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติฯ
ในมาตรา 17 อนุญาตให้พนักงานเจ้าหน้าตามกฎหมายมีอำนาจยื่นขอต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาเพื่อมีคำสั่งอนุมัติให้กระทำการใดๆ ให้ได้มาซึ่งเอกสารหรือข้อมูลข่าวสารซึ่งส่งทางคอมพิวเตอร์ เครื่องมือ อุปกรณ์ในการสื่อสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ สื่อทางเทคโนโลยีที่ถูกใช้หรืออาจถูกใช้ในการกระทำความผิด
d. พ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์ฯ
พ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์ฯ มาตรา 61 ระบุว่า เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์สถานการณ์ และประเมินผลกระทบจากภัยคุกคามไซเบอร์ เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) มีอำนาจขอความร่วมมือจากบุคคลให้มาให้ข้อมูล หรือทำข้อมูลเป็นหนังสือเกี่ยวกับภัยคุกคามไซเบอร์ และสามารถขอข้อมูล เอกสาร หรือสำเนาข้อมูล ที่อยู่ในการครอบครองของผู้อื่นได้ หากเห็นว่า เป็นประโยชน์ รวมถึงสามารถเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์หรือสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับภัยคุกคามไซเบอร์ได้ แต่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ครอบครองสถานที่นั้น
พ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์ฯ มาตรา 66 กำหนดว่า ในกรณีที่คณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (กกม.) เห็นว่า มีภัยคุกคามไซเบอร์ในระดับที่ร้ายแรงขึ้นไป ให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถตรวจค้นสถานที่ได้ และสามารถค้นคอมพิวเตอร์ เข้าถึงข้อมูล เข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ เจาะระบบ หรือทำสำเนาเอาข้อมูลทั้งหมดในคอมพิวเตอร์หรือในระบบคอมพิวเตอร์ไปได้ รวมถึงสามารถยึดหรืออายัดคอมพิวเตอร์ไว้ได้ หากมีเหตุอันควรเชื่อว่า มีความเกี่ยวข้องกับภัยคุกคามไซเบอร์
e. พ.ร.บ.ป้องกันการฟอกเงินฯ
ในมาตรา 46 พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินมอบหมายเป็นหนังสืออาจยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลแพ่งเพื่อมีคำสั่งอนุญาตให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าถึงเครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการสื่อสาร หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ใดที่ถูกใช้หรืออาจถูกใช้เพื่อประโยชน์ในการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน
f. พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติ
ในมาตรา 6 ให้อำนาจสำนักข่าวกรองแห่งชาติสั่งหน่วยงานของรัฐหรือบุคคลใดส่งข้อมูลหรือเอกสารที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติภายในระยะเวลาที่ผู้อำนวยการกำหนดหากหน่วยงานของรัฐหรือบุคคลดังกล่าวไม่ส่งข้อมูลหรือเอกสารภายในกำหนดเวลาโดยไม่มีเหตุอันสมควรให้สำนักข่าวกรองแห่งชาติรายงานต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการตามที่เห็นสมควรต่อไปเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย
g. พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในฯ
ในมาตรา 18 ให้ผู้อำนวยการ กอ.รมน. มีอำนาจสั่งให้บุคคลปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดอันเกี่ยวกับเครืองมือหรือุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดแก่ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของประชาชน
h. พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ในมาตรา 9 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนด เช่น ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้ามีอำนาจออกคำสั่งตรวจสอบจดหมาย หนังสือ สิ่งพิมพ์ โทรเลข โทรศัพท์ หรือการสื่อสารด้วยวิธีการอื่นใด ตลอดจนการสั่งระงับยับยั้งการติดต่อหรือการสื่อสารใดเพื่อป้องกันหรือระงับเหตุร้ายแรง
i. พ.ร.บ.กฎอัยการศึก
ในมาตรา 9 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารในการตรวจสอบข่าวสาร จดหมาย โทรเลข หีบห่อ หรือสิ่งอื่นใดที่ส่งหรือมีไปมาถึงกันในเขตประกาศใช้กฎอัยการศึก หรือ ให้อำนาจตรวจหนังสือ สิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ ภาพโฆษณา บทหรือคำประพันธ์