คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 62 ส่วนใหญ่คสช. ได้ประโยชน์

ศาลรัฐธรรมนูญถูกตั้งขึ้นท่ามกลางความคาดหวังว่าจะเป็นเสาค้ำยันระบอบประชาธิปไตยไม่ให้ระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนดำเนินการใดๆ เกินขอบเขตของรัฐธรรมนูญ รวมถึงมีหน้าที่ตรวจสอบและชี้ขาดข้อพิพาททางการเมือง แต่ทว่า จากผลงานของศาลรัฐธรรมนูญในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญถูกมองว่าเป็นกลไกทางการเมืองหนึ่งของฝ่ายที่ไม่ต้องการระบอบประชาธิปไตย และกลายเป็นคู่ขัดแย้งสำคัญของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
หลังการรัฐประหาร สถานะของศาลรัฐธรรมนูญยิ่งเผชิญหน้ากับความท้าทาย เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้เข้าไปแทรกแซงองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญผ่านการ 'ต่ออายุ' และ 'แต่งตั้ง' ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในขณะเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญยังมีบทบาทสำคัญในสนามการเลือกตั้งในฐานะผู้ชี้ขาดในคดีทางการเมือง
อย่างไรก็ดี จากการตรวจคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาในปี 2562 จำนวน 11 คดี พบว่า คำวินิจฉัยส่วนใหญ่เป็นคุณหรือเป็นผลบวกกับฝ่ายคสช. มากกว่าฝ่ายที่ต่อต้านคสช. โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีทางการเมืองมีรายละเอียดดังนี้
๐ ไม่รับคำร้อง สมาชิก สนช. 5 คน ถือหุ้นสื่อ
คำสั่งที่ 55/2562 เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2562
เรื่อง พลเอก ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข, พลเอกชาตอุดม ติตถะสิริ, พลเอกไตรรัตน์ รังคะรัตน, ภัทรศักดิ์ วรรณแสง และมหรรณพ เดชวิทักษ์ สิ้นสุดสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้วหรือไม่
ข้อเท็จจริง เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ขอให้ตรวจสอบสมาชิกภาพของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รวมห้าคน กกต. ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยในเรื่องคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 263 วรรคสอง ประกอบมาตรา 101(7) และมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (2) และวรรคสาม กล่าวคือ พลเอก ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข พลเอกชาตอุดม ติตถะสิริ พลเอกไตรรัตน์ รังคะรัตน นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง และมหรรณพ เดชวิทักษ์ หรือคู่สมรสหรือบุตรเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทเอกชน โดย กกต. เห็นว่า การถือหุ้นในบริษัทที่แม้จะมิได้ประกอบกิจการอันเป็นการต้องห้าม คือ การเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐหรือรับสัมปทานจากรัฐโดยตรง แต่หากบริษัทนั้นเป็นผู้ถือหุ้นอื่นที่ประกอบกิจการอันเป็นการต้องห้ามในจำนวนมากพอที่จะทำให้มีอำนาจครอบงำกิจการ ก็ถือได้ว่าเป็นการประทำโดยทางอ้อมแล้ว
ศาลมีคำสั่ง ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(7) ขณะที่ยื่นคำร้องความเป็นสมาชิกภาพของสมาชิก สนช. จะต้องยังคงมีอยู่ แต่ได้สิ้นสุดลงก่อนวันที่ กตต. จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมไม่มีวัตถุแห่งคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
๐ วินิจฉัย พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ
คำวินิจฉัยที่ 11/2562 วันที่ 18 กันยายน 2562
เรื่อง คุณสมบัติพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่
ข้อเท็จจริง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เข้าชื่อกันจำนวน 110 คน ขอให้ประธานสภาผู้แทนฯ ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ขาดคุณสมบัติในการเป็นนายกรัฐมนตรีเนื่องจากเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160(6) ประกอบกับมาตรา 98 (15) เพราะดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ จึงทำให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง หลังจากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องแล้วพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาใน 3 ประเด็น ดังนี้
1. ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นข้าราชการการเมือง จึงได้รับข้อยกเว้นการมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(12)
2. ตำแหน่งหัวหน้า คสช. ไม่เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามความหมายและความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(15)
3. การเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจเป็นคนละสถานะกับการเป็นเจ้าพนักงาน
ศาลมีคำสั่ง ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ตำแหน่งหัวหน้า คสช. มาจากการยึดอำนาจการปกครองประเทศ โดยได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผลสืบเนื่องมาจากการยึดอำนาจและเป็นตำแหน่งที่ใช้อำนาจรัฎฐาธิปัตย์ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของรัฐหรือหน่วยงานใด ทั้งเป็นตำแหน่งที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งโดยกฎหมายและไม่มีกฎหมายกำหนดกระบวนวิธีการได้มาหรือการเข้าสู่ตำแหน่งโดยมีอำนาจหน้าที่เฉพาะชั่วคราวในช่วงระยะเวลาหนึ่งเพื่อให้มีอำนาจในการรักษาความสงบเรียบร้อย ดังนั้นตำแหน่งหัวหน้า คสช. จึงไม่มีสถานะ ตำแหน่งหน้าที่ หรือลักษณะงานทำนองเดียวกับพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ และไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (15) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160(6) ประกอบกับ มาตรา 98 (15)
๐ วินิจฉัย รัฐมนตรียุคคสช. ไม่ผิด ถือหุ้นสัมปทานรัฐ
คำวินิจฉัยที่ 7/2562 วันที่ 27 สิงหาคม 2562
เรื่อง หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล, สุวิทย์ เมษิณทรีย์, ไพรินทร์ ชูโชติถาวร และธีรเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ สิ้นสุดสมาชิกภาพในการเป็นรัฐมนตรีหรือไม่
ข้อเท็จจริง เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ว่าความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีสี่คนในรัฐบาล คสช. สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) เนื่องจากบุคคลดังกล่าวมีการกระทำเข้าข่ายเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์และจะเข้าข่ายเป็นการขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 186 ประกอบมาตรา 184 วรรคหนึ่ง(2) มาตรา 160 (8) และมาตรา 170 วรรคหนึ่ง(5)
หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ถูกกล่าวหาว่า ตัวเอง คู่สมรส และบุตร เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด และ บริษัท ปตท. จำกัด ซึ่งได้รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ สุวิทย์ เมษิณทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตัดตั้งบริษัท แฟมิลี่ บิสสิเนส โซไซตี้ จำกัดโดยไม่ได้แจ้งให้ ป.ป.ช. ทราบ ไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ถือหุ้นในบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับสัมปทานจากรัฐ และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) มีคู่สมรสถือหุ้นในบริษัทที่ลงทุนธุรกิจโทรคมนาคมและเข้าเป็นคู่สัญญากับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ธีรเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีคู่สมรสถือหุ้นในบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ ที่ได้รับประทานบัตรจากกระทรวงอุตสาหกรรม
ศาลมีคำสั่ง ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้วินิจฉัย และผู้ถูกร้องทั้งสี่ ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมากพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า การกระทำอันเป็นการต้องห้ามตาม มาตรา 186 ประกอบมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (2) ไม่รวมถึงการถือหุ้นที่มีมาก่อนการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และข้อเท็จจริงปรากฏว่า หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล และไพรินทร์ ชูโชติถาวร ได้ถือหุ้นที่มีมาก่อนการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ดังนั้นความเป็นรัฐมนตรีของหม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล และนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร จึงไม่สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5)
ส่วนกรณีของธีรเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ธีรเกียรติ ได้ถือหุ้นที่มีมาก่อนการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี แต่คู่สมรส เป็นหุ้นในบริษัทที่ได้รับสัมปทานจากรัฐภายหลังจากการเป็นรัฐมนตรี จึงเป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 186 ประกอบมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (2) และวรรคสาม ความเป็นรัฐมนตรีของนายธีรเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ จึงสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) มีผลนับแต่วันที่ธีรเกียรติ ลาออกจากตำแหน่งเองในวันที่ 9 พฤษภาคม 2562
กรณีของสุวิทย์ เมษิณทรีย์ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ได้มีการจดทะเบียนเลิกบริษัทก่อนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเหลือเพียงแต่การชำระบัญชีที่ยังไม่เสร็จสิ้นเท่านั้น ดังนั้นความเป็นรัฐมนตรีของของนายสุวิทย์ เมษิณทรีย์ จึงไม่สิ้นสุดลงตามมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5)
๐ ส.ส.เพื่อไทย สิ้นสุดสมาชิกภาพแม้คดียังไม่สิ้นสุด
คำวินิจฉัยวันที่ 13 พฤศจิกายน 2562
เรื่อง นายนวัธ เตาะเจริญสุข สิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)หรือไม่
ข้อเท็จจริง คณะกรรมการการเลือกตั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ของนายนวัธ เตาะเจริญสุข สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(6) หรือไม่ เนื่องมาจากเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562 ศาลจังหวัดขอนแก่นพิพากษาลงโทษประหารชีวิต 'นวัธ' จากความผิดฐานจ้างวานฆ่าอดีตปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ขอนแก่น และให้คุมขังนวัธ ไว้ระหว่างอุทธรณ์ฎีกาโดยไม่อนุญาตให้ประกันตัว
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ของนวัธ เตาะเจริญสุข สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(6) นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ นวัธ เตาะเจริญสุข หยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง คือวันที่ 16 ตุลาคม 2562
๐ ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ล้มล้างการปกครองฯ
คำวินิจฉัยที่ 3/2562 วันที่ 7 มีนาคม 2562
เรื่อง ยุบพรรคไทยรักษาชาติ
ข้อเท็จจริง คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้มีคำสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ และมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 และมีคำสั่งห้ามไม่ให้ผู้เคยดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารพรรคและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไปจดทะเบียนขึ้นพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีก ภายในสิบปี ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 94 
สำหรับเหตุที่ยุบพรรคไทยรักษาชาติ สืบเนื่องมาจากว่าพรรคเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี พระโสทรเชษฐภคินี(พี่สาว)พระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในบัญชีรายชื่อผู้ที่พรรคจะเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการเป็นการนำสมาชิกชนชั้นสูงไปฝักฝ่ายทางการเมืองทำให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยเสื่อมทราม เข้าข่ายการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ศาลมีคำสั่ง ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง(2) และวรรคสองเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคของผู้ถูกร้อง ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเป็นวันที่มีการกระทำอันเป็นเหตุให้ยุบพรรคตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) มีกำหนดระยะเวลาสิบปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค และห้ามไม่ให้ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีก ภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค ตามตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 94 วรรคสอง
๐ ส.ส.รัฐบาล 32 คนถือหุ้นสื่อ ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่  
คำวินิจฉัยวันที่ 26 มิถุนายน 2562
เรื่อง วินิจฉัย 41 ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลถือหุ้นสื่อหรือกิจการหนังสือพิมพ์ ว่าสิ้นสมาชิกภาพส.ส.ตามรัฐธรรมนูญม. 101(6) ประกอบม. 98(3) หรือไม่
ข้อเท็จจริง พรรคอนาคตใหม่ยื่นผ่าน ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคุณสมบัติ 41 ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลถือในหุ้นกิจการสื่อมวลชน เนื่องจากหนังสือบริคณห์สนธิ จดทะเบียนนิติบุคคล พร้อมด้วยสำเนาบัญชีผู้ถือหุ้นจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ของบรรดาส.ส. ระบุว่ามีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์และออกหนังสือพิมพ์ เนื่องจากใช้แบบฟอร์มสำเร็จรูปที่มีการวัตถุประสงค์จดจัดตั้ง 43 ข้อ ครอบคลุมทุกอย่าง
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องทั้งสิ้น 32 คนและส่งสำเนาให้ผู้ถูกร้องชี้แจงข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีมติให้ ส.ส. กลุ่มนี้หยุดปฎิบัติหน้าที่ จนกว่าจะมีคำวิจฉัย เหมือนกับกรณีของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ โดยระบุเหตุผลว่า จะต้องมีเหตุอันควรสงสัย แต่กรณีนี้ผู้ร้องไม่ได้ตั้งกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง คงมีเพียงเอกสารประกอบแบบคำร้องเท่านั้น ซึ่งศาลจะต้องหาข้อยุติต่อไป ดังนั้นจึงไม่เข้าเงื่อนไงให้หยุดปฏิบัติหน้าที่   ซึ่งต่างจากนายธนาธรที่ผ่านการสอบสวนจาก คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)
๐ ‘สิระ’ ก้าวก่ายข้าราชการ ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่
คำวินิจฉัยวันที่ 18 กันยายน 2562
เรื่อง นายสิระ เจนจาคะ สิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)หรือไม่
ข้อเท็จจริง ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพของนายสิระ เจนจาคะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(7) ประกอบกับมาตรา 185(1) หรือไม่ จากกรณี นายสิระลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการก่อสร้างที่จังหวัดภูเก็ต และได้มีข้อพิพาทกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ในการอำนวยความสะดวกและอารักขาตนซึ่งเข้าข่ายใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกระทำการก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเองในการปฏิบัติราชการหรือดำเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการ 
ศาลมีคำสั่ง ศาลมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยและแจ้งให้นายสิระ เจนจาคะ ทำคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ส่วนกรณีให้นายสิระ เจนจาคะ หยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสองหรือไม่นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องไม่ได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้นายสิระ เจนจาคะหยุดปฏิบัติหน้าที่ ประกอบกับยังไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง ในชั้นนี้ศาลรัฐธรรมนูญจึงยังไม่สั่งให้ผู้นายสิระ เจนจาคะหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง
๐ ไม่รับคำร้อง กรณี พล.อ.ประยุทธ์ ถวายสัตย์ไม่ครบ
คำวินิจฉัยวันที่ 11 กันยายน 2562
เรื่อง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรัฐมนตรีถวายสัตย์ต่อพระมหากษัตริย์ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ข้อเท็จจริง ผู้ตรวจการแผ่นดินโดยนายภาณุพงศ์ ชูรักษ์ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่าการที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรัฐมนตรีถวายสัตย์ต่อพระมหากษัตริย์ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้ไม่สามารถบังคับใช้ได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 5 วรรคหนึ่ง
ศาลมีคำสั่ง มีมติเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ประกอบพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 46 วรรคสาม และมาตรา 47(1) เนื่องจากการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อหน้าพระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด
พร้อมวินิจฉัยด้วยว่า การกระทำของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ดำเนินการเป็นที่ยุติแล้วก่อนที่  เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ  จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ จึงวินิจฉัยว่า การกระทำของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เป็นการ ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นการฝ่าฝืน มาตรา 49 ประกอบ มาตรา 3 วรรคสองและเป็นอันใช้บังคับไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5  
๐ ส.ส. ฝ่ายค้าน 32 คนถือหุ้นสื่อ ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ 
คำวินิจฉัยวันที่ 4 กันยายน 2562
เรื่อง วินิจฉัย ส.ส. จำนวน 33 คนกรณีถือหุ้นสื่อหรือกิจการหนังสือพิมพ์ ว่าสิ้นสมาชิกภาพส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบ มาตรา 98(3) หรือไม่
ข้อเท็จจริง ประธานสภาผู้แทนฯส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่าส.ส. จำนวน 33 คน ว่าสิ้นสมาชิกภาพส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบ มาตรา 98(3) หรือไม่ เนื่องจาก ส.ส. ดังกล่าวเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน
ศาลมีคำสั่ง ไม่รับคำร้องของนายวุฒินันท์ บุญชู แต่สำหรับ 32 คนที่เหลือศาลรับไว้พิจารณาทั้งหมด 32 คน สำหรับคำร้องให้ ส.ส. ทั้ง 32 คนหยุดปฏิบัติหน้าที่นั้น เห็นว่ายังไม่เข้าเงื่อนไขที่จะสั่งให้ ส.ส.ทั้ง32 คน จะสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง
๐ รับคำร้อง อนาคตใหม่ล้มล้างการปกครองฯ
คำวินิจฉัยวันที่ 19 กรกฎาคม 2562
เรื่อง พรรคอนาคตใหม่ล้มล้างการปกครอง
ข้อเท็จจริง นายณฐพร โตประยูร ยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตาม มาตรา 49 ว่าการกระทำของพรรคอนาคตใหม่,นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ,นายปิยบุตร แสงกนกกุล,คณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยระบุว่าพรรคอนาคตใหม่ ธนาธร และปิยุบุตรมีแนวคิด 'ปฏิกษัตริย์นิยม' หรือล้มล้างสถาบัน จากคำให้สัมภาษณ์หรือการกล่าวในที่สาธารณะ รวมถึงพรรคอนาคตใหม่และกรรมการบริหารพรรคประกาศว่าจะสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญและแก้ไขรัฐธรรมนูญ และมีสัญลักษณ์พรรคคล้ายกลุ่มอิลลูมินาติที่มีแนวคิดล้มล้างสถาบันกษัติรย์
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องไว้พิจารณา  
๐ รับคำร้อง สั่ง “ธนาธร” หยุดปฏิบัติหน้าที่
คำวินิจฉัยวันที่ 23 พฤษพาคม 2562
เรื่อง ศาลรับคำร้องประเด็น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สิ้นสมาชิกภาพส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบ มาตรา 98(3) หรือไม่
ข้อเท็จจริง คณะกรรมการการเลือกตั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพสภาผู้แทนราษฎรของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบ มาตรา 98(3) กรณีถือครองหุ้นสื่อของเจ้าหน้าทั้งฝ่ายค้านและสลัด
ศาลมีคำสั่ง มีมติเอกฉันท์รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และให้หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง โดยไม่กำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองชั่วคราว