สรุปรัฐธรรมนูญ 2560 : รับรองความเป็นอิสระของผู้พิพากษา ไม่ห้ามผู้บังคับบัญชาตรวจสำนวน

 

หลักการ "ผู้พิพากษาต้องมีอิสระในการตัดสินคดี" เป็นหลักการพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญ 2560 และรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้รับรองไว้ไม่ต่างกัน แต่หลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษาที่รัฐธรรมนูญควรจะรับรอง และคุ้มครอง ถูกหยิบขึ้นมาในความสนใจของสาธาณะจากกรณีที่คณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดยะลา ใช้อาวุธปืนยิงตัวเองหลังอ่านคำพิพากษา พร้อมทิ้งแถลงการณ์ความยาว 25 หน้าเอาไว้ ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์กล่าวเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 กับฉบับปัจจุบันว่า เขียนคุ้มครองผู้พิพากษาไว้ไม่เท่ากัน 
ปัญหาในกระบวนการยุติธรรมที่คณากรเขียนไว้ในแถลงการณ์ รวมถึงระบบภายในของศาลที่ผู้พิพากษาจะต้องส่งร่างคำพิพากษาในคดีที่สังคมให้ความสนใจให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคตรวจก่อน ซึ่งทำให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีมาตั้งแต่ต้นไม่มีอิสระในการใช้ดุลพินิจตัดสินคดีด้วยตัวเอง ซึ่งประเด็นนี้คณากรเห็นว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 ผู้พิพากษาได้รับการคุ้มครองความเป็นอิสระไว้ชัดเจนกว่า ทำให้ในสมัยปี 2540-2549 ที่คณากรเริ่มต้นทำงานไม่มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น และเมื่อเปิดดูรัฐธรรมนูญสามฉบับล่าสุดเปรียบเทียบกัน ก็พบว่า หลักการหลายอย่างถูกทำให้หายไปจากรัฐธรรมนูญ 2560 อย่างชัดเจน 
รัฐธรรมนูญ 2560 สั้น กระชับ รับรองความเป็นอิสระของศาลไว้มาตราเดียว
เมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญสองฉบับก่อนหน้านี้ ถือได้ว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มีวิธีการเขียนให้ "สั้น กระชับ" โดยเขียนเพียงหลักการใหญ่ไม่เน้นที่จะเขียนให้ครอบคลุมทุกเรื่องทุกประเด็นปัญหา หรือไม่เขียนในลักษณะ "ก้าวหน้า" เพื่อนำทางให้รัฐเดินตาม สำหรับประเด็นเรื่องความเป็นอิสระของตุลาการในการพิพากษาคดีก็เขียนรับรองไว้มาตราเดียว คือ มาตรา 188 ดังนี้
            "มาตรา 188 การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอํานาจของศาล ซึ่งต้องดําเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
            ผู้พิพากษาและตุลาการย่อมมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เป็นธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง"
มาตรา 188 รับรองความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีของผู้พิพากษาภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นหลักการเช่นเดียวกับฉบับปี 2540 และ 2550 พร้อมกับวางหลักการให้การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นไปโดยรวดเร็ว เป็นธรรม ปราศจากอคติ นอกจากนี้ยังมีมาตรา 193 ที่กำหนดให้ศาลทุกศาล ยกเว้นศาลทหารมีหน่วยงานด้านธุรการที่เป็นอิสระเป็นของตัวเองขึ้นตรงต่อประธานศาลแต่ละศาลด้วย 
รัฐธรรมนูญ 2550 คุ้มครองห้ามโยกย้ายผู้พิพากษาโดยไม่ยินยอม
รัฐธรรมนูญ 2550 ก็เขียนถึงประเด็นความเป็นอิสระของตุลาการในการพิพากษาคดีไว้มาตราเดียวเช่นกัน คือ มาตรา 197 ดังนี้
            "มาตรา 197 การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอํานาจของศาลซึ่งต้องดําเนินการให้เป็นไปโดยยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
            ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปโดยถูกต้อง รวดเร็วและเป็นธรรม ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
            การโยกย้ายผู้พิพากษาและตุลาการโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้พิพากษาและตุลาการนั้นจะกระทํามิได้เว้นแต่เป็นการโยกย้ายตามวาระตามที่กฎหมายบัญญัติ เป็นการเลื่อนตําแหน่งให้สูงขึ้นเป็นกรณีที่อยู่ในระหว่างถูกดําเนินการทางวินัยหรือตกเป็นจําเลยในคดีอาญา เป็นกรณีที่กระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมในการพิจารณาพิพากษาคดี หรือมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจําเป็นอื่นอันไม่อาจก้าวล่วงได้ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
            ผู้พิพากษาและตุลาการจะเป็นข้าราชการการเมืองหรือผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองมิได้"
วรรคหนึ่งและวรรคสองของรัฐธรรมนูญ 2550 และ 2560 นั้นเขียนชนิดแทบจะลอกกันมา โดยรัฐธรรมนูญ 2560 มีเพิ่มข้อความเพียงว่า ตุลาการต้องปราศจากอคติทั้งปวงเท่านั้น แต่ในมาตรา 197 ของรัฐธรรมนูญ 2550 มีหลักการสำคัญที่ไม่มีในรัฐธรรมนูญ 2560 คือ หลักการเรื่องห้ามโยกย้ายผู้พิพากษาโดยไม่ได้รับความยินยอม เว้นแต่กรณีต่อไปนี้
1) เป็นการโยกย้ายตามวาระปกติ ตามกฎหมาย
2) เป็นการเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้น
3) ผู้พิพากษาที่ต้องโยกย้ายนั้นอยู่ในระหว่างถูกดำเนินการทางวินัยหรือเป็นจำเลยในคดีอาญา 
4) เป็นกรณีที่กระทบต่อความยุติธรรมในการพิจารณาพิพากษาคดี
5) มีเหตุสุวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นอันไม่อาจก้าวล่วงได้
การเขียนหลักการห้ามโยกย้ายผู้พิพากษาไว้ในรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการเขียนลงรายละเอียดให้ชัดเจนขึ้น ซึ่งหลักการนี้จะช่วยค้ำยันหลัก "ความเป็นอิสระ" ให้เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติได้ อย่างไรก็ดีรัฐธรรมนูญ 2550 ยังกำหนดข้อยกเว้นให้ผู้พิพากษาถูกสั่งย้ายได้ในหลายกรณี และเป็นข้อยกเว้นที่กว้างขวาง ซึ่งในทางปฏิบัติก็ยังต้องขึ้นอยู่กับกฎหมายลำดับรองและผู้มีหน้าที่บังคับใช้ต่อไป การเขียนหลักการนี้ไว้เฉพาะแสดงให้เห็นว่า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญเห็นความสำคัญพิเศษบางอย่างที่จงใจเขียนไว้ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญ 2540 ก็พบว่า เป็นการเขียนเพิ่มข้อยกเว้นที่ทำให้การโยกย้ายผู้พิพากษาทำได้ง่ายขึ้นกว่ารัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้
รัฐธรรมนูญ 2540 ลงรายละเอียด ห้ามเรียกคืนสำนวนคดี การตัดสินคดีไม่อยู่ใต้การบังคับบัญชา
รัฐธรรมนูญ 2540 เขียนถึงประเด็นความเป็นอิสระของตุลาการในการพิพากษาคดีไว้โดยลงรายละเอียดมากที่สุดถึงสามมาตรา ดังนี้
            "มาตรา 233 การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอํานาจของศาล ซึ่งต้องดําเนินการตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมายและในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
            มาตรา 236 การนั่งพิจารณาคดีของศาลต้องมีผู้พิพากษา หรือตุลาการครบองค์คณะและผู้พิพากษา หรือตุลาการซึ่งมิได้นั่งพิจารณาคดีใด จะทําคําพิพากษา หรือคําวินิจฉัยคดีนั้นมิได้เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ
            มาตรา 249 ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
            การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของผู้พิพากษาและตุลาการ ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาตามลําดับชั้น
            การจ่ายสํานวนคดีให้ผู้พิพากษาและตุลาการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติ
            การเรียกคืนสํานวนคดีหรือการโอนสํานวนคดีจะกระทํามิได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่จะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี
            การโยกย้ายผู้พิพากษาและตุลาการโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้พิพากษา และตุลาการนั้น จะกระทํามิได้ เว้นแต่เป็นการโยกย้ายตามวาระตามที่กฎหมายบัญญัติเป็นการเลื่อนตําแหน่งให้สูงขึ้น เป็นกรณีที่อยู่ในระหว่างถูกดําเนินการทางวินัย หรือตกเป็นจําเลยในคดีอาญา"
เห็นได้ว่า หลักการเรื่องความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีของผู้พิพากษาภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ นั้นรัฐธรรมนูญทั้งสามฉบับเขียนรับรองไว้เหมือนกัน รวมทั้งยังมีอีกหลายมาตราที่กำหนดให้ศาลทุกศาล ยกเว้นศาลทหาร มีหน่วยงานด้านธุรการที่เป็นอิสระเป็นของตัวเอง เช่นเดียวกันทั้งสามฉบับด้วย
สำหรับหลักการห้ามโยกย้ายผู้พิพากษาโดยไม่ได้รับความยินยอมนั้น รัฐธรรมนูญ 2540 กับ 2550 เขียนไว้คล้ายกัน แต่รัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 249 วรรคท้าย เขียนข้อยกเว้นไว้แคบกว่า โดยไม่มีข้อยกเว้นกรณีที่กระทบต่อความยุติธรรมในการพิจารณาพิพากษาคดี หรือมีเหตุสุวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นอันไม่อาจก้าวล่วงได้ ซึ่งเป็นถ้อยคำที่กว้างขวาง และเปิดให้ตีความได้มาก หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า รัฐธรรมนูญ 2540 เขียนรับรองหลักการนี้ไว้อย่างแน่นหนาก่อนแล้ว แต่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เห็นว่า หลักการห้าม "สั่งย้าย" ผู้พิพากษายังแข็งตัวเกินไป จึงผ่อนคลายโดยการเพิ่มข้อยกเว้นที่กว้างขวางเข้ามาภายหลัง เปิดช่องให้การ "สั่งย้าย" ผู้พิพากษามีโอกาสเกิดได้มากขึ้น
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ 2540 ยังรับรองหลักการที่สำคัญอีกสี่ประการ ซึ่งต่อมาถูกตัดออกไปจากรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นภายหลังทั้งสองฉบับ ได้แก่
1) การนั่งพิจารณาคดีของศาลต้องครบองค์คณะ และผู้พิพากษาที่ไม่ได้นั่งพิจารณาคดีจะทำคำพิพากษาไม่ได้ ตามมาตรา 236
2) หลักความเป็นอิสระของพิจารณาพิพากษาคดี โดยไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาตามลำดับชั้น ตามมาตรา 249 วรรคสอง
3) หลักการจ่ายสำนวนคดี ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย ไม่ใช่ตามอำเภอใจของผู้บังคับบัญชา ตามมาตรา 249 วรรคสาม
4) หลักการห้ามเรียกคืนสำนวนคดีจากผู้พิพากษา ตามมาตรา 249 วรรคสี่
หลักการทั้งสี่ประการเป็นการกำหนดรายละเอียดที่ลึกขึ้นเพื่อคุ้มครองหลักการใหญ่เรื่องความเป็นอิสระของผู้พิพากษาในการตัดสินคดีให้แน่นหนา และเกิดผลจริงในทางปฏิบัติ หลักการทั้งสี่ข้อจะยืนยันไม่ให้ผู้พิพากษาที่เป็นระดับผู้บังคับบัญชาในแต่ละศาล แต่ไม่ใช่องค์คณะในคดีหนึ่งๆ เข้ามาแทรกแซงการทำคำพิพากษา ยืนยันให้ผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่ไม่ถูกเรียกสำนวนคดีคืน และไม่ให้ผู้บริหารของศาลมีอำนาจจงใจมอบหมายคดีหนึ่งๆ ให้กับผู้พิพากษาบางรายเป็นการเฉพาะ ซึ่งหลังรัฐธรรมนูญ 2540 ถูกยกเลิกไปด้วยการรัฐประหาร 2549 รัฐธรรมนูญอีกสองฉบับที่คณะรัฐประหารเขียนขึ้นหลังจากนั้นไม่ได้รับรองหลักการเหล่านี้ไว้แล้ว
รัฐธรรมนูญเป็นเพียงร่มใหญ่ ทางปฏิบัติ ดูพระธรรมนูญศาลยุติธรรม และระเบียบภายใน
หลังจากที่รัฐธรรมนูญ 2540 เขียนเรื่องหลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษา รวมทั้งสิทธิของผู้ต้องหาในกระบวนการยุติธรรมอย่างลงรายละเอียด ก็นำไปสู่การแก้ไขกฎหมายครั้งใหญ่ ฉบับที่สำคัญ คือ พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 ซึ่งกำหนดโครงสร้างการบริหารงานศาลต่างๆ รวมทั้งอำนาจหน้าที่ของผู้พิพากษา ซึ่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรมฉบับนี้ ได้รับรองหลักการตามรัฐธรรมนูญ 2540 ไว้ค่อนข้างครบถ้วน เช่น
หลักการนั่งพิจารณาคดีต้องครบองค์คณะ ตามมาตรา 26-28 และข้อกำหนดที่ผู้พิพากษาที่ไม่ได้นั่งพิจารณาคดีจะร่วมทำคำพิพากษาได้ ในมาตรา 29-30, หลักการจ่ายสำนวนตามกฎหมาย ในมาตรา 32, หลักการห้ามเรียกคืนสำนวน เว้นแต่กรณีที่จะกระทบต่อความยุติธรรม ในมาตรา 33 ส่วนประเด็นเรื่องวิธีการแต่งตั้งและโยกย้ายผู้พิพากษานั้นกำหนดไว้ในกฎหมายของศาลต่างๆ เป็นการเฉพาะ สำหรับกรณีของศาลยุติธรรมเป็นไปตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 ซึ่งกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) รับผิดชอบในการโยกย้ายแต่งตั้งผู้พิพากษา
นอกจากนี้ทางปฏิบัติของศาลยังมีรายละเอียดที่กำหนดไว้ในกฎหมายชื่ออื่นๆ อีก เช่น ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ระเบียบคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง เป็นต้น ในกรณีของคณกร เพียรชนะ ที่ถูกอธิบดีภาคตรวจ และสั่งให้แก้ไขคำพิพากษานั้นเป็นระบบงานภายในของศาลที่เกิดขึ้นตาม ระเบียบว่าด้วยการรายงานคดีสำคัญในศาลชั้นต้นและศาลชั้นอุทธรณ์ต่อประธานศาลฎีกา และการรายงานคดีและการตรวจสำนวนคดีในสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 
หลักเกณฑ์ต่างๆ ในรายละเอียดที่ศาลพึงปฏิบัติเพื่อคุ้มครองความเป็นอิสระของผู้พิพากษา และยังทำให้การบริหารงานของศาลเดินหน้าไปได้ นั้นไม่อาจเขียนไว้ได้ทั้งหมดในรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญมีสถานะเป็นเพียง "ร่มใหญ่" ของกฎหมายที่จะออกตามมาภายหลัง และเป็นหลักประกันอีกชั้นหนึ่งว่า กฎหมายลำดับรองที่จะถูกบังคับใช้ภายในรัฐธรรมนูญฉบับนั้นๆ จะไม่ขัดแย้งกับหลักการตามรัฐธรรมนูญ เมื่อรัฐธรรมนูญ 2540 กำหนดรายละเอียดเพื่อประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษไว้มาก และกฎหมายลำดับรองมีส่วนที่ยังไม่สอดคล้องก็จึงนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายต่างๆ ให้แน่นหนาขึ้น แต่เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดเพียงหลักการใหญ่ๆ และเปิดพื้นที่ให้ออกหลักเกณฑ์ในรายละเอียดได้โดยรัฐธรรมนูญปล่อย "เกียร์ว่าง" เอาไว้ไม่เป็นร่มใหญ่คุมรายละเอียดอีกชั้นหนึ่ง การออกระเบียบการรายงานคดีสำคัญ ในปี 2560 และ 2562 ที่กำหนดให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคมีอำนาจตรวจสำนวนคดีหลายประเภทของผู้พิพากษาทุกคนจึงสามารถเขียนขึ้นได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญอีกต่อไป