แก้รัฐธรรมนูญ: สำรวจ ‘ตัวละคร’ ในเกมแก้รัฐธรรมนูญ

ก่อนการเลือกตั้ง หนึ่งในนโยบายหลักของพรรคการเมืองที่ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คือ "การแก้ไขรัฐธรรมนูญ" เนื่องจากรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ได้สร้างกลไกสืบทอดอำนาจเอาไว้ อย่างเช่น ให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มาจากการคัดเลือกโดย คสช. แถมให้มีอำนาจร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี และให้ ส.ว. มีหน้ากำกับ ควบคุม ตรวจสอบ การทำงานของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน หรือการเขียนระบบเลือกตั้งใหม่ให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่เสียเปรียบ 
หลังการเลือกตั้ง พรรคที่ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช. ยังคงผลักดันวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่อง อาทิ การเสนอ "ญัตติด่วน" เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนฯ ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งนับเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญทางการเมืองของฝ่ายที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ดี การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้อยู่ในความสนใจของฝ่ายค้านแต่เพียงฝ่ายเดียว แม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์ก็ "ออกตัวแรง" มาตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง แม้หลังเลือกตั้งจะเข้าร่วมรัฐบาลและเลือกพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็เตรียมผลักข้อเสนอของตัวเองด้วยเช่นกัน และเตรียมเสนอชื่อ 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' อดีตหัวหน้าพรรค ให้เป็นประธาน กมธ.วิสามัญ แก้รัฐธรรมนูญ จนร้อนไปถึงพรรคพลังประชารัฐที่ต้องออกโรงคัดค้านและเตรียมเสนอชื่ออดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเข้าร่วม กมธ.ชุดดังกล่าว ด้วย 
ในยามที่กระแสแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ในความสนใจของฝ่ายการเมืองทุกฝ่าย จึงอยากชวนทุกคนติดตามมามองเกมการเมืองรอบนี้กันว่า 'หน้าตา' ของบุคคลที่อาจจะมาร่วมทำงานเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเป็นใครมาจากไหนกันบ้าง
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปตย์ 
เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2562 ที่ประชุม ส.ส. ของพรรคประชาธิปัตย์ มีมติสนับสนุนให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญและมีมติเสนอชื่อ 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อไปเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เมื่อครั้งลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2559 'อภิสิทธิ์' ซึ่งยังเป็นหัวหน้าพรรค แถลงในนามส่วนตัวว่า ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้ทำให้ทิศทางพัฒนาไม่ชัดเจน อ้างเป็นรัฐธรรมนูญปราบโกงแต่ยังมีช่องโหว่ และที่มา ส.ว. จะเป็นประเด็นขัดแย้งในอนาคต 
ก่อนการเลือกตั้ง 'อภิสิทธิ์' ประกาศจุดยืนทางการเมืองว่า จะไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ เพราะ การสืบทอดอำนาจ สร้างความขัดแย้ง และขัดกับอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ว่า "ประชาชนเป็นใหญ่" 
หลังการเลือกตั้ง อภิสิทธิ์ ประกาศลาออกจากตำแหน่ง ส.ส. หลังพรรคมีมติเห็นชอบที่จะลงคะแนนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งขัดแย้งกับจุดยืนของตัวเองที่เคยประกาศไว้ก่อนการเลือกตั้ง เนื่องจากไม่อยากฝืนมติพรรค เพราะเชื่อมั่นในระบบประชาธิปไตยของพรรค แต่ก็ไม่สามารถขานชื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้ 
มีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)
ชื่อของ 'มีชัย ฤชุพันธ์' กลายเป็นประเด็นเมื่อผู้สื่อข่าวถาม 'พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์' กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐว่า จะเสนอชื่อ มีชัย ฤชุพันธุ์ ด้วยหรือไม่ แต่พุทธิพงษ์ยังไม่ให้คำตอบพร้อมบอกว่า ให้รอพรรคตัดสินใจและทาบทามเสียก่อน
สำหรับแวดวงการเมืองและกฎหมายเมื่อกล่าวถึง มีชัย ฤชุพันธ์ น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักชื่อเขา เพราะเขาผ่านงานการเมืองระดับประธานรัฐสภาและรัฐมนตรีมาแล้วทั้งสิ้น มีชัยยังเป็นมือร่างกฎหมายคนสำคัญของคณะกรรมการกฤษฎีกา และว่ากันว่าเขาคือ ‘เนติบริกรชั้นครู’ ซึ่งในรอบ 20 ปีที่ผ่านมากลุ่มของมีชัยมีบทบาทสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญหลังรัฐประหาร
มีชัย เคยได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญหลังการรัฐประหารในปี 2534 โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ต่อมาในการรัฐประหารปี 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เชิญมีชัย เป็นที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของ คปค. เขามีบทบาทสำคัญในการร่างแถลงการณ์ประกาศและคำสั่ง คปค. หลายฉบับ และร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2549 
จนกระทั่ง การรัฐประหารในปี 2557 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีชัย ในวัย 76 ปี ปรากฏตัวกลับมาอีกครั้งโดยเริ่มต้นเข้ารับตำแหน่งสมาชิก คสช. และเป็นประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นคนสำคัญที่ออกแบบระบบเลือกตั้งใหม่ รวมทั้งวางกลไกให้นายกฯ ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง และให้ ส.ว.มาจากการแต่งตั้ง ตามแบบฉบับที่เคยร่างไว้ในปี 2534 จนกระทั่งสามารถพาพล.อ.ประยุทธ์ฯ กลับมาเป็นนากยรัฐมนตรีต่อได้สำเร็จพร้อมกับเครื่องมือสืบทอดอำนาจอีกมากมาย
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.)
นอกจาก มีชัย ฤชุพันธ์ แล้ว ชื่อของ 'บวรศักดิ์ อุวรรณโณ' ก็เป็นอีกหนึ่งชื่อที่อยู่ในข่ายอาจถูกเสนอโดยพรรคพลังประชารัฐ แต่ทว่ายังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการ 
บวรศักดิ์ เคยเป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า อีกทั้งยังมีผลงานในการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ในฐานะสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จนกระทั่งการรัฐประหารในปี 2549 บวรศักดิ์ถูกแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และมีส่วนร่วมกับมีชัย ฤชุพันธ์ และวิษณุ เครืองาม ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2549 
ในการรัฐประหารเมื่อปี 2557 บวรศักดิ์ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภาที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. และได้รับเลือกเป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2558 ที่เคยออกแบบกลไกอย่างคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ หรือ คปป. ให้มีอำนาจเหนือฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวก็ถูกคว่ำไปโดยสมาชิก สปช. และต้องเริ่มต้นร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ภายใต้การนำของมีชัย
ปัจจุบัน บวรศักดิ์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย ตามพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดําเนินการปฏิรูปประเทศที่ออกในยุค คสช. และมีอำนาจในการกำหนดแผนที่ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องดำเนินการตามแผนปฏิรูปดังกล่าว
สุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร
สุชาติ ตันเจริญ ถือว่าเป็นบุคคลที่อยู่ในแวดวงทางการเมืองมายาวนาน ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ถึงเก้าสมัย และเคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในยุคของนายกรัฐมนตรีพล.อ.สุจินดา คราประยูร และบรรหา ศิลปอาชา รวมถึงได้รับเลือกให้เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรสองสมัย
ชื่อของ สุชาติ ได้เข้ามาในกระแสแก้รัฐธรรมนูญ เมื่อธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกพรรคพลังประชารัฐ ระบุว่า รายชื่อชิงตำแหน่งประธานกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎร ที่ปรากฏเป็นข่าวนั้น ล้วนเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ และเอ่ยถึงชื่อ สุชาติ ตันเจริญ ส.ส. ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ว่ามีความเหมาะสม และเชื่อว่า พรรคร่วมรัฐบาลจะสามารถทำความเข้าใจกันได้
ด้าน สุชาติ ก็ประกาศตัวว่า ไม่เสนอตัว แต่ถ้าไม่มีบุคคลที่เหมาะสมจริงๆ ก็ไม่ปฏิเสธ พร้อมทั้งออกตัวสนับสนุน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพราะมองว่า เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ และเป็นที่ยอมรับ และเสนอด้วยว่า สุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ก็มีความเหมาะสมเช่นกัน
โภคิน พลกุล อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร  
โภคิณ พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคด้านนโยบายและแผนงาน พรรคเพื่อไทย เป็นหนึ่งในรายชื่อที่พรรคเพื่อไทยจะเสนอให้เข้าร่วม กมธ. แก้รัฐธรรมนูญ รวมถึงถูกวางตัวว่า จะเป็นหนึ่งในผู้ท้าชิงตำแหน่ง ประธาน กมธ. แก้รัฐธรรมนูญ
โภคิณ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยมุ่งมั่นแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ร่างขึ้นมา แล้วอ้างว่า ประชาชนให้ความเห็นชอบ ทั้งที่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นมีการบังคับ จับกุม ผู้เห็นต่าง แม้แต่ตอนบังคับใช้แล้วก็มีปัญหา นำมาซึ่งความแตกแยก พรรคจึงเห็นว่า ถ้ามีรัฐธรรมนูญฉบับของประชาชน เพื่อประชาชน เป็นฉบับประชาธิปไตยที่แท้จริง ที่ทุกฝ่ายเห็นพ้อง ไม่ใช่ฉบับประยุทธ์ หรือฉบับใดของใคร พรรคจึงขอเชิญชวนทุกฝ่ายมาร่วมร่าง โดยจะเปิดรับฟังความคิดเห็นทุกฝ่ายอย่างเปิดกว้าง
ก่อนเข้าสู่เส้นทางการเมือง โภคิณ เคยรับราชการเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และเคยได้รับแต่งตั้งเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง แล้วจึงตัดสินใจลาออกมารับตำแหน่งทางการเมือง เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก่อนจะไปเป็นเป็นรองประธานศาลปกครองสูงสุด
ในสมัยรัฐบาลของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ต่อมาได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎร และเคยเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่หลังพรรคไทยรักไทยถูกยุบ เขาถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรค
วัฒนา เมืองสุข ส.ส. ตัวรุกพรรคเพื่อไทย
วัฒนา เมืองสุข เป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปราจีนบุรี 
หลังการรัฐประหาร วัฒนา เมืองสุข มีบทบาทสำคัญในการต่อต้าน คสช. รวมถึงแสดงความคิดเห็นต่อการบริหารประเทศของรัฐบาลคสช. ทำให้ เขาถูกตั้งข้อหารวมถึงถูก คสช. เรียกไปรายงานตัว จากการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เช่น คดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการวิจารณ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งให้สัมภาษณ์กรณีที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีถูกเจ้าหน้าที่ทหารติดตามและถ่ายภาพว่า เป็นเพราะ ยิ่งลักษณ์เป็นคนสวย ซึ่งวัฒนาวิจารณ์ว่า การให้สัมภาษณ์ดังกล่าวมีลักษณะเหยียดเพศ  (ขอลิงก์คดี)
ในช่วงการออกเสียงประชามติ วัฒนาเคยประกาศว่า ไม่รับร่างรับธรรมนูญเนื่องจากรัฐธรรมนูญถูกเขียนด้วยกลุ่มคนที่เผด็จการตั้งขึ้นโดยประชาชนไม่มีส่วนร่วม จึงมีบทบัญญัติขัดขวางพัฒนาการประชาธิปไตย เช่น การลิดรอนสิทธิประชาชน เอาอำนาจเลือกวุฒิสภาไปให้ คสช. สืบทอดอำนาจหลังประชามติผ่าน และการปิดกั้นประชาชนตรวจสอบ ที่บัญญัติให้การกระทำของ คสช. ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ไม่สามารถเอาผิดได้
ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่  
พรรคการเมืองที่รณรงค์ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างโดดเด่น คือ พรรคอนาคตใหม่ โดยมีนักกฎหมายคนสำคัญ อย่าง 'ปิยบุตร แสงกนกกุล' อดีตอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหนึ่งในแกนนำผู้ร่วมก่อตั้งพรรค และเป็นเลขาธิการพรรค
ก่อนการเลือกตั้ง พรรคอนาคตใหม่ประกาศ "ฉีกรัฐธรรมนญ" และล้มล้างทุกผลพวงของการรัฐประหาร 2557 เพื่อคืนความปกติให้สังคม พร้อมกับเปิดแคมเปญ "สร้างจินตนาการใหม่ เพื่อข้อตกลงใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่" หรือ New Consensus และเคลื่อนไหวร่วมกับพรรคฝ่ายค้านทั้ง 7 พรรค
โดยพรรคมีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับเบื้องต้นไว้แล้วสองเรื่องด้วยกัน คือ การยกเลิก ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. และให้ใช้ ส.ว.ที่มาจากการคัดเลือกกันเองของกลุ่มอาชีพไปพลางก่อน และการลบล้างผลพวงการรัฐประหารของ คสช. ผ่านการยกเลิกมาตราสุดท้ายของรัฐธรรมนูญที่ให้การรับรองอำนาจและการใช้อำนาจพิเศษในยุค คสช.  ทำให้กลไกการตรวจสอบไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่
สำหรับตัว 'ปิยบุตร' เคยได้รับทุนจากรัฐบาลฝรั่งเศสให้ไปเรียนปริญญาโทและเอกด้านสาขากฎหมายมหาชนและกฎหมายสิ่งแวดล้อม ก่อนจะมาเป็นอาจารย์สาขากฎหมายมหาชน ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรวมกลุ่มกับนักวิชาการทางกฎหมายเป็นกลุ่ม 'นิติราษฎร์' ที่เคยเสนอให้ลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร พ.ศ. 2549
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ 
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นหนึ่งในข้าราชการลำดับต้นๆ ที่ถูกปลดนับตั้งแต่ คสช. ยึดอำนาจ เพราะถูกมองว่ามีบทบาทสูงในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดย พ.ต.อ.ทวี เคยดำรงตำแหน่ง รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในยุคของรัฐบาลทักษิณ
หลังจากนั้น พ.ต.อ.ทวี ถูกย้ายมาเป็นรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และถูกย้ายกลับมาเป็นอธิบดีดีเอสไออีกครั้ง ก่อนจะไปรับตำแหน่งผู้อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
ก่อนการเลือกตั้ง พ.ต.อ.ทวี ได้รับเลือกเป็นเลขาธิการพรรคประชาชาติ พร้อมชูธงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกบทเฉพาะกาลเขียนเพื่อให้สืบทอดอำนาจ จึงอยากผลักดันให้กำหนดกติกาของประเทศกันใหม่ ทำให้ประชาชนรักและหวงแหนกติกาที่เขากำหนดร่วมกัน พ.ต.อ.ทวี ลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อของพรรคประชาชนเป็นลำดับที่สอง แต่ไม่ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. และยังไม่มีบทบาทในสภาผู้แทนราษฏร
เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.แต่งตั้ง ผู้นิยมเผด็จการประชาธิปไตย
เสรี สุวรรณภานนท์ เคยเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ว. ในปี 2543 จนกระทั่งหลังรัฐประหาร ปี 2549 เสรีเข้ารับตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และมีตำแหน่งเป็นรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ คนที่หนึ่ง
หลังการรัฐประหาร เสรี ได้รับเลือกตั้งสมาชิก สปช. ในฐานะประธานกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และได้รับตำแหน่ง ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนประเทศ (สปท.) ที่แต่งตั้งโดย คสช. รวมถึงได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ในยุครัฐบาลคสช. อีกด้วย เรียกได้ว่า ไม่เคยขาดจากตำแหน่งและบทบาททางการเมือง จนกระทั่งได้เป็นหนึ่งใน 250 ส.ว. ที่คัดเลือกโดย คสช. ชุดปัจจุบัน
ชื่อของเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นที่พูดถึงหลังมีวิวาทะในสภากับ ส.ส. และประกาศว่าตัวสนับสนุน 'เผด็จการประชาธิปไตย' รวมถึงการออกมากล่าวถึง ส.ส. ที่ต้องการจะแก้รัฐธรรมนูญเป็นพวกนึกถึงประโยชน์ตัวเองก่อนชาวบ้าน แทนที่จะเอาเวลาไปดูแลทุกข์สุขของประชาชนก่อน ก็เอาแต่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เป็นแต่ประโยชน์ส่วนตน (ขอลิงก์นี้ด้วย)
วันชัย สอนศิริ ส.ว. แต่งตั้ง ผู้ชงคำถามพ่วงเอง
วันชัย สอนศิริ มีชื่อเสียงอย่างมากจากการเป็นทนายความและจัดรายการ "คนหัวหมอ" ทางโทรทัศน์คู่กับ ประมาณ เลืองวัฒนะวณิช ที่หยิบปัญหาของคนในสังคมมาเล่าในมุมของกฎหมายแบบสนุกๆ ก่อนจะผันตัวมาเป็นการเมือง โดยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. กรุงเทพมหานคร ครั้งแรกในชื่อพรรคชาติไทยพัฒนา แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง
หลังจากนั้น วันชัย ได้รับเลือกให้เป็น ส.ว. สรรหา ในปี 2554 ก่อนจะได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิก สปช. หลังการรัฐประหารในปี 2557 โดยทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานสปช. (วิปฯ สปช.) รวมถึงดำรงตำแหน่งสมาชิก สปท. ต่อเนื่องหลัง สปช. ยุบลง 
นอกจากนี้ วันชัย ยังออกมาเปิดเผยว่า เป็นคนเขียนคำถามพ่วงประชามติที่มีความยาวห้าบรรทัด มีถ้อยคำวนไปวนมา โดยเนื้อหาสรุปได้ว่า ให้ ส.ว. ที่ คสช. คัดเลือกมา มีสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ 
หลังมีกระแสการแก้ไขรัฐธรรมนูญ วันชัย ออกความเห็นว่า พวกที่อยากแก้รัฐธรรมนูญ คือ พวกดัดจริตทางการเมือง พวกแพ้การเลือกตั้งที่อยากแก้มือ พวกกระสันอำนาจ เพราะไม่มีประชาชนส่วนใหญ่เรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญ มีแต่นักการเมืองบางกลุ่มเท่านั้น
สมชาย แสวงการ ส.ว.แต่งตั้ง 2 สมัย 
9 พฤศจิกายน 2562 มีรายงานว่า รายชื่อบุคคลที่จะไปดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของรัฐบาล จะมีชื่อของ สมชาย แสวงการ ส.ว.แต่งตั้ง ชุดปัจจุบันร่วมด้วย
สมชาย แสวงการ เริ่มมีบทบาททางการเมืองหลังการรัฐประหาร ปี 2549 เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จากสายวิชาชีพสื่อมวลชน จากนั้นก็ได้รับการสรรหาเป็น ส.ว. สองสมัยซ้อน โดยหนึ่งในบทบาทสำคัญเมื่อครั้งเป็น ส.ว. คือ เป็นหนึ่งในกลุ่ม 40 ส.ว. ที่มีจุดยืนไม่เห็นด้วยกับบพรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเป็นกลุ่มที่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้นิจฉัยกรณีจัดรายการ "ชิมไปบ่นไป" ของ สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จนนำไปสู่การถอดถอนออกจากตำแหน่ง เป็นต้น
หลังการรัฐประหารในปี 2557 สมชายได้รับการแต่งตั้งเป็น สนช. อีกครั้ง และได้รับการแต่งตั้งเป็น ส.ว. ต่อสมัยที่สามในปี 2562 แทบไม่เคยขาดจากการทำงานในสภามาเป็นเวลา 13 ปี
ส่วนประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สมชาย กล่าวว่า ยังไม่ทราบว่าสภาผู้แทนฯ จะนำเสนอแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นใดบ้าง หากเป็นประเด็นที่พูดคุยกันคือขอแก้ไขมาตราที่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจเท่ากับการขอกุญแจเปิดบ้านโดยไม่ทราบว่าจะทำอะไรบ้าง ดังนั้นหากเดินหน้าแก้ไขแล้วอาจทำให้เกิดปัญหาได้