แก้รัฐธรรมนูญ: เปิดข้อเสนอยกเลิก “ส.ว.แต่งตั้ง” ของคสช.

การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งในวาระหลักของพรรคการเมืองมาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง โดยหนึ่งในวาระที่ภาคประชาชน พรรคการเมือง และนักวิชาการเสนอก็คือ การจัดการกับกลไกการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารอย่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยเฉพาะ 'สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง' หรือ 'ส.ว.แต่งตั้ง' 250 คน
เนื่องจากที่มาของ ส.ว.ชุดดังกล่าว ถูกผูกขาดการคัดเลือกไว้ในมือ คสช. อีกทั้ง อำนาจของ ส.ว. แต่งตั้ง ยังมีมากกว่า ส.ว. ชุดก่อนหน้านี้ จนไปบั่นทอนอำนาจของผู้แทนประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง เช่น อำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี หรือ อำนาจในการพิจารณาเห็นชอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ 
โดยในข้อเสนอของภาคประชาชน นักวิชาการ และพรรคการเมือง มีจุดร่วม คือ การยกเลิก ส.ว. แต่งตั้ง แต่จุดที่ต่างกัน คือ มีกลุ่มภาคประชาชนเสนอให้เปลี่ยนรูปแบบการปกครองไปใช้ระบบ "สภาเดี่ยว" หรือ ให้มีแต่สภาผู้แทนราษฎรและยกเลิก ส.ว. เป็นการถาวร ในขณะที่ข้อเสนอของพรรคการเมือง เสนอให้ยกเลิก ส.ว. แต่งตั้งที่มาจากการคัดเลือกของ คสช. และให้ดำเนินการสรรหา ส.ว. ชุดใหม่ที่มาจากการแบ่งกลุ่มอาชีพเพื่อทำหน้าที่ไปพลางก่อน
ที่มา "ส.ว.แต่งตั้ง" ไม่ยึดโยงกับประชาชน
ในเหตุผลของกลุ่มที่เคลื่อนไหวยกเลิก ส.ว. แต่งตั้ง เหตุผลหนึ่ง คือ เรื่องของที่มาที่ไม่ยึดโยงกับประชาชาชน เนื่องจากรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ในมาตรา 269 กำหนดให้ ส.ว. ชุดแรก มีจำนวน 250 คน ซึ่งมาจากสองช่องทาง ได้แก่ หนึ่ง มาจากคณะกรรมการสรรหาที่ คสช. ตั้งขึ้น โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรองหัวหน้าคสช. เป็นประธานกรรมการสรรหา กับ สอง มาจากการสรรหาคัดเลือกกันเองโดยกลุ่มอาชีพจำนวน 10 กลุ่ม ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เป็นคนดำเนินการ จากนั้นจึงนำรายชื่อจากทั้งสองช่องทางมาให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช. ทำหน้าที่เป็นหน่วยคัดกรองคนในตอนสุดท้ายก่อนจะเสนอชื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ดังนั้น การได้มาซึ่ง ส.ว. แต่งตั้ง จึงเป็นกระบวนการที่ตัดขาดจากประชาชนโดยสิ้นเชิง
บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งเป็น ส.ว. ที่ คสช. เป็นคนคัดเลือกนั้น จำนวนมากพบว่า เป็นคนที่เคยทำงานร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ ในหลายบทบาทและสถานะ เช่น เป็นหนึ่งในสมาชิก คสช. เป็นหนึ่งในสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หรือเคยทำงานในกลไกการปฏิรูปของ คสช. เช่น สภาปฏิรูปแห่งชาติ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ รวมไปถึงการเป็นหนึ่งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ หรือคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ซึ่งรวมแล้วมีทั้งสิ้น 157 คน จาก 250 คน
อำนาจ ส.ว. แต่งตั้ง ลดทอนอำนาจผู้แทนประชาชน
นอกจากที่มาของ ส.ว. จะไม่ยึดโยงกับประชาชนแล้ว อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้คนออกมาเคลื่อนไหวยกเลิก ส.ว. ก็เพราะว่า ส.ว. แต่งตั้งกลับได้รับมอบหมายอำนาจจากรัฐธรรมนูญให้มีบทบาททางการเมืองมากกว่า ส.ว. ชุดก่อนๆ ในอดีต จนบางแง่มุมมีอำนาจเหนือตัวแทนประชาชนอย่าง ส.ส. ดังนี้
หนึ่ง ส.ว. แต่งตั้ง ลดทอนอำนาจ ส.ส. ในการเลือกนายกฯ
ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ระบุว่า ใน 5 ปีแรกการเลือกนนายกรัฐมนตรีจะต้องเป็น "การประชุมร่วมกันของทั้งสองสภา" ซึ่งหมายความว่า ส.ว. ที่มาจากการคัดเลือกของคสช. จะมีอำนาจ "เห็นชอบนายกรัฐมนตรี" ร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เมื่อประกอบกับระบบเลือกตั้งแบบใหม่ที่เรียกว่า "จัดสรรปันส่วนผสม" ทำให้ไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมากเด็ดขาดในสภา ดังนั้น เสียงของ ส.ว.แต่งตั้ง จึงเป็นเสียงที่มีความเป็นเอกภาพมากที่สุดในรัฐสภา ด้วยเหตุนี้ ทำให้ ส.ว. กลายเป็นตัวแปรหลักในการเลือกนายกฯ มากกว่าพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง
นอกจากนี้ ตามมาตรา 272 ในรัฐธรรมนูญ วรรคสองยัง ระบุว่า “ในระหว่าง 5 ปี หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีช่ืออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกของท้ังสองสภารวมกัน จํานวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อท่ีพรรคการเมือง" 
ซึ่งหมายความว่า หาก ส.ว. ไม่พอใจรายชื่อว่าที่นายกรัฐมนตรีที่พรรคการเมืองเสนอรายชื่อมา ก็สามารถเปิดทางให้เกิด “นายกคนนอกฯ” โดยร่วมกับ ส.ส อีก 126 คน ขอไม่เลือกนายกรัฐมนตรีได้ จากนั้นก็จะต้องใช้มติ 2 ใน 3 ของรัฐสภา หรือ 500 คนในการเสนอชื่อ “นายกคนนอกฯ” และใช้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งหรือ 376 ลงมติเห็นชอบนายกรัฐมนตรีอีกครั้งนึง
สอง ส.ว.แต่งตั้ง ลดทอน ส.ส. ในการพิจารณากฎหมาย
โดยปกติอำนาจนิติบัญญัติ หรือ อำนาจในการตรากฎหมายจะเป็นของสภาผู้แทนฯ โดยมีวุฒิสภาเป็นผู้ช่วยกลั่นกรองกฎหมายแต่ไม่มีอำนาจในการออกกฎหมายเอง หรือมีอำนาจในการปัดตกกฎหมาย แต่ในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ได้เพิ่มอำนาจของ ส.ว. เข้ามา ในมาตรา 270 วรรค 2 ที่กำหนดให้การออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศให้เป็น "การพิจารณาร่วมกันของรัฐสภา" นั่นหมายความว่า  ส.ว. จะเข้ามามีบทบาทในการ "ร่วมพิจารณา" กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศร่วมกับ ส.ส. และด้วยเสียงของ ส.ว. เป็นเสียงข้างมากที่สุดในสภาและมีความเป็นเอกภาพ จึงทำให้มาตราดังกล่าวเป็นการเอาอำนาจ ส.ว. มาตรากฎหมายแทน ส.ส. ที่เป็นตัวแทนประชาชน
นอกจากนี้ มาตรา 270 วรรค 3 ยังกำหนดไว้ว่า การเสนอกฎหมายใดๆ คณะรัฐมนตรีจะต้องแจ้งต่อประธานรัฐสภาว่าเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ หากคณะรัฐมนตรีเสนอกฎหมายโดยไม่ได้แจ้งว่าเกี่ยวข้อง แต่ ส.ส. หรือ ส.ว. เห็นว่ามีความเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ ให้ ส.ส. หรือ ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาวินิจฉัยได้ หากประธานรัฐสภาวินิจฉัยแล้วว่า เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ ส.ว. ก็จะมีอำนาจเข้ามาร่วมยกมือผ่านกฎหมายนั้นได้
ส.ส. ไม่ไว้วางใจรัฐบาล ส.ว. ก็เลือกกลับมาใหม่ได้
หนึ่งในอำนาจของสภา คือ การตรวจสอบรัฐบาล และอำนาจตรวจสอบสำคัญยิ่งของสภา คือ การลงมติไม่ไว้วางใจ ตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้ ส.ส. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ และเมื่อมีการเสนอญัตติอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจจะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรมิได้ เว้นแต่จะมีการถอนญัตติดังกล่าว
ในการลงมติไม่ไว้วางใจ หาก ส.ส. ลงคะแนนเสียงมากกว่าครึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ให้รัฐมนตรีดังกล่าวพ้นจากตำแหน่ง และถ้าในกรณีนายกรัฐมนตรีถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจและมีการลงมติมากกว่าครึ่งหนึ่ง ให้คณะรัฐมนตรีทุกคนต้องพ้นไปจากตำแหน่งด้วย
แต่ต้องไม่ลืมว่า รัฐบาลปัจจุบันที่นำโดยพรรคพลังประชารัฐ มีกลไกอย่าง ส.ว. แต่งตั้งซึ่งเป็นเสียงข้างมากของรัฐสภาและทำให้รัฐบาลปัจจุบันมีโอกาสมากที่สุดในการจัดตั้งรัฐบาล ดังนั้น แม้จะมีการลงมติไม่ไว้วางใจ แกนนำรัฐบาลปัจจุบันก็ยังอาศัยพรรคการเมืองเสียงข้างน้อยของตนกลับมาตั้งรัฐบาลใหม่ได้ด้วยเสียงของ ส.ว. จนเสมือนว่า การลงมติไม่ไว้วางใจไม่สามารถเปลี่ยนแปลงผลในการจัดตั้งรัฐบาลได้
พรรคการเมืองเสนอ "เซ็ตซีโร่" ส.ว.แต่งตั้ง
หนึ่งในพรรคการเมืองที่มีข้อเสนอที่ชัดเจนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญและจัดการกับ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง คือ พรรคอนาคตใหม่ โดยพรรคได้จัดทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
หนึ่ง ให้ยกเลิกมาตรา 269 มาตรา 270 มาตรา 271 และมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 โดยมาตราที่ให้ยกเลิกนั้นเป็นมาตราที่ว่าด้วยการได้มาของ ส.ว. ที่มาจาก คสช.  รวมถึงอำนาจหน้าที่ของ ส.ว. เช่น อำนาจการเลือกนายกฯ อำนาจในการพิจารณากฎหมายปฏิรูปร่วมกับ ส.ส. และอำนาจในการเร่งรัดตรวจสอบรัฐบาล การยกเลิกมาตราดังกล่าว คือ การยกเลิกที่มา ส.ว. จากคสช. และอำนาจพิเศษที่ คสช. เพิ่มเข้ามา
สอง ให้ ส.ว. ที่ได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา 269 ปฏิบัติหน้าที่เป็น ส.ว. ต่อไปชั่วคราว จนกว่าจะมีการเลือก ส.ว. ชุดใหม่ที่มาตามมาตรา 109 หรือ ใช้วิธีการคัดเลือกกันเองภายในกลุ่มอาชีพของ ส.ว. จากทั้งหมด 20 กลุ่มอาชีพ ให้ได้ตัวแทนกลุ่มละ 10 คน ทำหน้าที่เป็น ส.ว. จำนวน 200 คน และมีอำนาจเฉพาะการกลั่นกรองกฎหมาย และการเห็นชอบบุคคลในองค์กรอิสระ
ภาคประชาชนเสนอยกเลิก ส.ว. ใช้สภาเดี่ยว
อีกหนึ่งข้อเสนอจากภาคประชาชน คือ ข้อเสนอยกเลิก ส.ว. ให้ใช้ระบบสภาเดี่ยวของกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า ที่นำโดย พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ‘ไอติม’ อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ โดยกลุ่มของเขามีข้อเสนอว่า ไม่จำเป็นต้องมี ส.ว. เนื่องจาก ในประวัติศาสตร์ประเทศไทยก็มีช่วงที่ใช้ระบบ “สภาเดี่ยว” หรือมีแต่สภาผู้แทนราษฎรของ ส.ส. เท่านั้น ในมุมของกระแสโลก ก็มีหลายประเทศมากขึ้นที่เปลี่ยนจากการใช้ระบบ “สภาคู่” ที่มีทั้ง ส.ส. และ ส.ว. มาเป็นระบบสภาเดี่ยว เพราะทำให้ประหยัดงบประมาณท่ีต้องใช้เป็นค่าใช้ตจ่ายและเงินเดือนของ ส.ว. และยังทำให้การออกกฎหมายเป็นไปได้อย่างรวดเร็วมากขึ้นอีกด้วย