“ปฏิสังขรณ์ประเทศไทย” เริ่มที่แก้รัฐธรรมนูญ 2560 ต้องไม่ยอมจำนนต่อสิ่งที่ “วิปริตผิดเพี้ยน”

22 ตุลาคม 2562 ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) จัดงานเสวนาเรื่อง “ปฏิสังขรณ์ประเทศไทย” ซึ่งมีนักศึกษาและประชาชนมาร่วมรับฟ้องล้นห้องประชุมใหญ่ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยหัวข้อหลักในการพูดคุยเน้นที่ประเด็นความจำเป็นของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560
รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่เป็นทางออกของปัญหา ต้องอาศัยพลังสังคมกดดันเพื่อแก้ไข
อนุสรณ์ อุณโณ ประธานคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) กล่าวในหัวข้อ “สู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ว่า ประเทศไทยมีลักษณะเฉพาะทำให้พูดคำว่า “รัฐธรรมนูญ” เฉยๆ ไม่ได้ ต้องมีคำว่า “ฉบับประชาชน” ด้วย เพราะรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ของประเทศนี้ไม่ได้มาจากประชาชน มาจากคนที่ยึดอำนาจด้วยการทำรัฐประหารแล้วตั้งคนของตัวเองขึ้นมาร่าง แม้จะพยายามให้มีการทำประชามติ แต่ก็เสนอข้อมูลเพียงด้านเดียวและระดมสรรพกำลังทั้งทหารและ กอรมน. เพื่อให้รัฐธรรมนูญผ่านประชามติให้ได้
รัฐธรรมนูญ 2560 สะท้อนเจตจำนงของคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องการสถาปนาอำนาจของชนชั้นนำขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เช่น การเปลี่ยนสถานะของประชาชนผู้มีสิทธิมาเป็นผู้รอรับการอุปถัมภ์ โดยไม่มีหลักประกันว่า รัฐจะปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองได้ดีขนาดไหน และทำให้สถาบันทางการเมืองที่เป็นตัวแทนของประชาชนอ่อนแอ พรรคการเมืองต้องกลายเป็นพรรคขนาดกลางเต็มสภาและต้องสาละวนอยู่กับการต่อรองผลประโยชน์ระหว่างพรรค ขณะเดียวกันก็ให้องค์กรอิสระที่ไม่ได้มาจากประชาชนมีอำนาจเต็มที่ในการตรวจสอบคนที่ถูกประชาชนเลือกมา
นอกจากจะเขียนโดยมีเจตนาอย่าง “โจ๋งครึ่ม” ที่จะเพิ่มอำนาจให้ชนชั้นปกครองและจำกัดอำนาจประชาชนแล้ว หลักเกณฑ์ที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังถูกเอาไปใช้อย่างฉับไว ระหว่างการเลือกตั้งก็ได้สร้างประโยชน์ให้กับ “ร่างทรง” ของ คสช. ที่ปรากฎตัวภายใต้การตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ จำกัดการทำกิจกรรมหาเสียง ค้นบ้านของนักกิจกรรม ก่อให้เกิดบรรยากาศความหวาดกลัว จนกระทั่งการประกาศผลคะแนนที่ล่าช้า และไม่ประกาศผลคะแนนรายหน่วย โดยไม่มีคำอธิบายใดๆ จาก กกต. 
อนุสรณ์ กล่าวว่า ท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองกว่าทศวรรษ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เป็นทางออกของปัญหาเลย เพราะมันไม่มีสถานะเป็นกติกาสูงสุดที่มาจากความเห็นพ้องของคนในสังคม แต่เป็นเพียงเครื่องมือสืบทอดอำนาจให้คนเพียงแค่หยิบมือ ซึ่งความขัดแย้งจะไม่จำกัดเฉพาะคนที่เคยร่วมชุมนุมทางการเมืองมาก่อนแต่จะขยายไปสู่คนรุ่นใหม่ที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้มีส่วนร่วมกับความขัดแย้งต่างๆ มาด้วย ความขัดแย้งจึงจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อรัฐธรรมนูญนี้เขียนขึ้นมาเพื่อจะไม่ให้แก้ 
“ถ้าไม่ต้องฉีกด้วยรัฐประหาร ก็ต้องอาศัยพลังทางสังคมกดดัน เพื่อการเปลี่ยนผ่านสังคมอย่างสันติ ช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่ทุกคนต้องเข้ามาช่วยกันสร้างมติมหาชน เพื่อนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญให้ได้“ ประธาน ครช. กล่าว
ชนชั้นนำทำให้สิ่ง “วิปริตผิดเพี้ยน” กลายเป็นเรื่องปกติ
รศ.ดร.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มากกว่าคำว่า “ไม่ปกติ” แต่อยากใช้คำว่า “วิปริตผิดเพี้ยน” เราเห็น “ภาวะที่ไม่ปกติ” นี้มาตั้งแต่หลังการยึดอำนาจปี 2557 ซึ่งเป็นคำที่ คสช. ใช้อ้างเพื่อทำอะไรหลายอย่าง แต่หลังเลือกตั้งแล้วเราก็ยังอยู่กับความไม่ปกติซึ่งค่อยๆ เปลี่ยนรูปไป ระบบการเลือกตั้งที่มีอยู่ก็อธิบายได้ลำบากว่า จะเป็นธรรมได้อย่างไร
เราเห็นปรากฏการณ์ปัจจุบันที่ชนชั้นนำอยู่เหนือการเมือง อำนาจรัฐราชการขยายใหญ่โตขึ้นมาก และมีความรับผิดต่อประชาชนที่เบาบางลงเรื่อยๆ ตัวอย่างเช่น การเพิ่มปริมาณของทหารชั้นนายพลจาก 800 คน เป็น 1,400 คน ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ งบประมาณระหว่างด้านความมั่นคงกับสวัสดิการสังคมไม่สัมพันธ์กัน องค์กรอิสระได้ขึ้นเงินเดือนย้อนหลัง ขณะที่ไม่มีการบรรจุพยาบาลอัตราจ้าง ครูอัตราจ้าง ซึ่งเงินเดือนหมื่นกว่าบาท เพราะไม่มีงบประมาณ
สิ่งที่ชนชั้นนำพยายามทำ คือ ทำให้ภาวะวิปริตผิดเพี้ยนเป็นเรื่องปกติ โดยอาศัยคำอธิบายของคนมีความรู้ ความขัดแย้งทางการเมืองทั้งหลาย การจัดซื้ออาวุธ ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องปกติ และถ้าหากใครเห็นว่าไม่ปกติก็ถูกทำให้รู้จัก “ยอมจำนน” ทำให้คนรู้สึกว่า พยายามแค่ไหนก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้หรอก เลือกตั้งจะได้คะแนนถล่มทลายแค่ไหนก็ชนะไม่ได้
“สิ่งที่ชนชั้นนำพยายามทำ คือ สร้างวันพรุ่งนี้ที่มาจากอดีต ซึ่งเป็นอดีตที่บิดเบี้ยว มีแต่ภาพสงครามและการเสียดินแดน เราคงต้องเจออะไรที่พ่ายแพ้อีกมาก แต่เราก็สามารถประสบความสำเร็จได้ โดยไม่ต้องชนะก็ได้ อะไรที่คือภาวะวิปริตผิดเพี้ยนก็ต้องยืนยัน การรวมตัวกันของกลุ่มต่างๆ เพื่อแสดงสัญญาณของการไม่ยอมจำนนนั้นสำคัญ” สมชาย ให้ข้อคิดทิ้งท้าย 
ความสัมพันธ์ของคนกับรัฐกำลังเปลี่ยน คนรุ่นใหม่กำลังปฏิเสธระเบียบเก่า
ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เส้นทางที่รัฐภายใต้ คสช. กำลังเดินไป คือ การเปลี่ยนรูปแบบของประเทศไทยจากรัฐเสรีนิยม เป็นรัฐบรรษัทอำนาจนิยม หลังรัฐประหารในปี 2557 ได้ควบรวมอำนาจของกลุ่มทุน 26 กลุ่มเข้ารวมกับรัฐ คือ กลุ่มที่ทำงานในโครงการประชารัฐทั้งหมด ซึ่งเป็นวิธีคิดที่สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ลอกมาจากจีน เพื่อสร้างรัฐแบบใหม่ที่กลุ่มทุนสามารถใช้ทรัพยากรเพื่อทำให้ตัวเองเติบโตขึ้น โดยหวังว่า จะทำให้ตัวเลขจีดีพีโตขึ้น 
สิ่งที่เกิดขึ้น คือ กลุ่มทุนขยายตัวอย่างมากมาย ส่วนประชาชนข้างล่างรอไปก่อน รูปลักษณ์ของสังคมไทยข้างหน้าจะเปลี่ยนไปผ่านการเกิดขึ้นของโครงการอีอีซี ภาคตะวันออก โครงการสร้างเขื่อนต่างๆ ในภาคใต้ และโครงการสร้างโรงงานน้ำตาลในภาคอีสาน ซึ่งจะเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม โดยอาศัยยุทธศาสตร์ 20 ปี ช่วยค้ำยัน และอาศัยอำนาจของ กอ.รมน. ทำหน้าที่รักษาความมั่นคง โดยชนชั้นกลางบางส่วนอาจจะรู้สึกดีที่เราร่ำรวยแบบจีน แต่พวกเราทั้งหมดจะได้ประโยชน์แค่ส่วนเสี้ยวเล็กๆ ของบรรษัทขนาดใหญ่เท่านั้น 80% ของประชาชนไทย จะไม่ได้อะไร
ตอนนี้งบประมาณสำหรับการวิจัยในมหาวิทยาลัยถูกดึงกลับไป หากจะขอทุนวิจัยต้องสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งสนับสนุนทุนใหญ่ จึงทำให้มหาวิทยาลัยกำลังกลายเป็นโรงงานที่ทำงานสนับสนุนบรรษัททุน คนจนทั่วไปก็ได้รับการ “หยอดน้ำข้าวต้ม” บ้าง ครั้งละ 500-1000 บาท เป็นการโยนเศษเงินมาให้รู้สึกมีความสุขได้เป็นระยะๆ เพื่อให้ยอมรับสิ่งผิดปกตินี้ต่อไปได้ 
“คนแก่อย่างผม เดิมเมื่อคิดถึงความเปลี่ยนแปลง จะนึกถึง “สำนึกทางชนชั้น” แต่วันนี้ไม่ใช่ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็น “สำนึกของคนระหว่างรุ่น” สิ่งที่คนรุ่นใหม่ที่นั่งกันอยู่ที่นี่มี คือ การปฏิเสธระเบียบเก่า สิ่งที่ต้องทำคือคนรุ่นใหม่ต้องสร้างคอนเซปต์ใหม่ให้ชัดขึ้น เรากำลังเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่จะเปลี่ยนความสัมพันธ์ของคนกับรัฐอย่างสิ้นเชิง ถ้าไม่ช่วยประคับประคองไปจะทำให้เกิดความยากลำบากกับพี่น้องประชาชน 80%” อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ ฝากไว้ให้กับคนรุ่นนักศึกษาที่มาฟังกันเต็มห้อง
คนจนเพิ่มขึ้น คนชั้นกลางบนหันขวานิยมเผด็จการ
รศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในทางเศรษฐศาสตร์สิบปีที่ผ่านมา เราเรียกว่า The Lost Decade “ทศวรรษที่สาบสูญ” หรือสิบปีที่สูญเสียไปโดยไม่มีความก้าวหน้า ในอดีตเศรษฐกิจเราเคยโตได้ปีละ 9% แต่สิบปีที่ผ่านมาเราโตปีละ 3% ซึ่งผู้ใหญ่ตอนนี้โตมายุคเศรษฐกิจเติบโต แต่คนรุ่นใหม่ตอนนี้โตมาในยุคสมัยอีกแบบหนึ่ง 
ที่ผ่านมาเรายกระดับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงไม่สำเร็จ ทำให้เราสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ระบบราชการเราพัฒนาช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมาเรามีการลงทุนน้อยลงครึ่งหนึ่งจากภาครัฐและเอกชนเพราะไม่มั่นใจว่า ลงทุนแล้วจะแข่งขันกับใครได้หรือไม่ ปัจจุบันคนไทยขนเงินไปลงทุนต่างประเทศมากกว่าที่ต่างประเทศขนเงินมาลงทุนในประเทศไทย 
ตัวเลขล่าสุด สัดส่วนคนจนที่มีรายได้อยู่ใต้เส้นความยากจนเพิ่มขึ้นล้านกว่าคน เป็นครั้งแรกในรอบยี่สิบที่อัตราความยากจนสูงขึ้น ตั้งแต่ 2543 เป็นต้นมา ส่วนหนึ่งเพราะราคาพืชผลก็ตกต่ำต่อเนื่อง และความไม่เท่าเทียมขยายตัวสูง เกิดความขัดแย้งทางสังคมและการเมือง ในสถานการณ์นี้ชนชั้นกลางระดับบนถูกไล่กวดจากชนชั้นกลางระดับล่าง แต่ถูกทิ้งห่างจากชนชั้นสูง เมื่อไล่ตามคนข้างบนไม่ทันก็รู้สึกชีวิตไม่มั่นคง และหันไปนิยมเผด็จการในภาวะไม่ปกติ
“นี่เป็นประเด็นรากฐานของความขัดแย้งที่ร้าวลึก ต้องทำให้กลุ่มคนชั้นกลางบนรู้สึกว่า ประชาธิปไตยจะเป็นประโยชน์กับพวกเขาที่ไม่ทำให้พวกเขาแย่ลง ต้องใช้ประชาธิปไตยทำลายการผูกขาดของกลุ่มทุน ต้องชี้ให้เห็นว่าระบอบที่เขากำลังศรัทธานั้นเป็นโทษกับเขาด้วย” นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ชี้ถึงทางเดินในอนาคต
แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ก็ยังไม่จบ ต้องแก้ปัญหาทางการเมืองเพื่อเปิดทางไปสู่ปัญหาอื่น
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า เจ็ดวันที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่หดหู่มาก เพราะได้ออกไปหาเสียงที่จ.นครปฐม มีโอกาสได้ไปเคาะประตูคุยกับประชาชน สิ่งที่ได้ฟังมานั้นเป็นความเป็นจริงที่เจ็บปวด แล้วทุกวันตอนเย็นก็ต้องกลับมาศึกษาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีที่รัฐบาลเสนอ 
“ระหว่างที่ไปเจอประชาชนผมเจอคนๆ นึงขับรถกระบะมาเทียบข้างๆ เดินเข้ามาขอจับมือบอกว่า เป็นกำลังใจให้ ผมไม่ไหวแล้วผมจะตายอยู่แล้ว ไม่มีความหวังเหลือในชีวิตแล้ว และกำลังจะฆ่าตัวตายถ้าหากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง อีกครอบครัวนึงพอถามว่า ไม่ไปทำงานเหรอ ก็ร้องไห้โฮเลย เพราะปกติเป็นช่างก่อสร้างรับเหมารายวัน พอภาคก่อสร้างพังก็ไม่มีงานทำเลย ยังไม่รู้เลยว่า มื้อหน้าลูกจะกินอะไร นี่เป็นชีวิตของคนส่วนใหญ่ของประเทศ ห้าปีที่ผ่านมาน้อยครอบครัวมากที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” ธนาธร เล่า
ธนาธร กล่าวด้วยว่า เมื่อได้ศึกษาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ดูว่าจะทำให้ชีวิตของคนเหล่านี้ดีขึ้นได้อย่างไร ข้อสรุปที่เรามี คือ การใช้งบประมาณแบบนี้ไม่เห็นเลยว่า จะทำให้ชีวิตคนส่วนใหญ่ของประเทศดีขึ้นได้ เมื่อเห็นแล้วมันเจ็บปวด มันเจ็บใจ ทั้งที่เรารู้ว่า ประเทศไทยมีทรัพยากรเพียงพอที่จะทำให้ความเป็นอยู่ของคนดีขึ้นกว่านี้ได้ 
ธนาธรกล่าวถึงรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจุจบันว่า วันนี้ไม่มีองค์กรที่ชื่อว่า คสช. อยู่แล้วแต่ระบอบของ คสช. ยังอยู่กับเรา ในรูปแบบของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มาของอำนาจของเขา คือ กลุ่มทุน ระบอบราชการ และกฎหมายกับสถาบันตุลาการ ดังนั้น เขาจึงไม่ต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อประชาชนเพราะไม่ได้มาจากประชาชน และห้าปีที่ผ่านมาภายใต้ คสช. ก็ใช้งบประมาณไปตอบสนองระบบราชการที่ใหญ่เทอะทะ มีแต่ค่าจัดสัมมนา ค่าเดินทาง 
ถ้าจะปฏิสังขรณ์ประเทศไทย แน่นอนที่สุด คือ รัฐธรรมนูญ 2560 ต้องถูกแก้ไข แต่มากไปกว่านั้นต้องจัดการ “สามดี” คือ Demilitarization การลดอำนาจกองทัพไม่ให้มายุ่งกับการเมือง Decentralization การลดอำนาจศูนย์กลาง ลดอำนาจการตัดสินใจของกรุงเทพและให้อำนาจท้องถิ่นมากขึ้น Democratization การทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น มีแต่การทำสามดีเท่านั้นที่จะพาประเทศไปได้ เราจะจัดการเรื่องอื่นๆ เช่น การศึกษา สิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำ ไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้ทำเรื่องการเมืองให้ดีก่อน และถ้าจะทำสามดีให้เป็นจริงต้องเริ่มต้นที่รัฐธรรมนูญ
“การแก้ไขรัฐธรรมนูญจำเป็นเพื่อลดบทบาทของระบอบ คสช. ที่ยังอยู่กับเรา แต่ต่อให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ยังไม่ใช่จุดจบของการเดินทาง ซึ่งถ้าโชคดี อาจจะต้องใช้เวลาสักสิบปี ถ้าหากแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ดีได้แต่ลดบทบาทองทัพไม่ได้ ก็อาจจะย้อนกลับไปเหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 แล้วมีรัฐประหารใหม่ในปี 2549“
“แล้วอย่าฝากความหวังไว้ที่ใคร อย่าฝากความหวังไว้ที่ผม ถ้าอยากเห็นสังคมที่ดีกว่านี้ให้ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงด้วยมือของตัวเอง” ธนาธร ทิ้งท้าย