ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 63: งบกลาง-กองทัพติดอันดับงบสูงเหมือนเดิม

17 ตุลาคม 2562 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีนัดพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ซึ่งเป็นการพิจารณาในวาระแรก หรือ ชั้นรับหลักการเป็นเวลา 3 วัน ซึ่งกฎหมายงบประมาณเป็นกฎหมายที่สำคัญของประเทศ เป็นกฎหมายที่กำหนดการใช้จ่ายของประเทศในการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ รวมถึงทำให้เห็นความชัดเจนในการใช้เงินงบประมาณของรัฐบาลว่าเป็นไปอย่างรอบคอบชัดเจนมากน้อยแค่ไหน 
โดยสาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าว คือ การจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานต่างๆ ตามยุทธศาสตร์ โดยงบที่ได้รับการจัดสรรสูงที่สุดคือ 'งบกลาง' อีกทั้งยังเป็นงบที่เพิ่มสูงขึ้นที่สุดในปีนี้ ด้านงบกระทรวงกลาโหมหรืองบของกองทัพยังติดอยู่ใน 5 อันดับที่ได้รับการจัดสรรเงินสูงสุด รวมถึงเป็นหน่วยงานที่ขอเงินเพิ่มมากที่สุดเป็นอันดับที่ 5 ด้วยเช่นกัน
ส.ส.-ส.ว. มีอำนาจพิจารณากฎหมาย แต่ประธานสภาและรัฐมนตรีไม่แน่
ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 143 กำหนดให้ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้พิจารณาก่อน โดยจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 105 วัน นับตั้งแต่วันที่ร่างกฎหมายมาถึงสภา ถ้าสภาผู้แทนฯ พิจารณาไม่แล้วเสร็จในเวลาที่กำหนดให้ถือว่าสภาผู้แทนฯ เห็นชอบกับร่างกฎหมายฉบับนั้น 
ทั้งนี้ ปัญหาสำคัญของการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ คือ สภาที่มีสภาพเสียงปริ่มน้ำ เนื่องจากระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ทำให้ไม่มีพรรคไหนครองเสียงข้างมากเด็ดขาด ทำให้โอกาสในการผ่านกฎหมายและคว่ำกฎหมายค่อนข้างสูสีกัน ทำให้การโหวตในครั้งนี้อาจจะต้องให้รัฐมนตรีที่ยังไม่ลาออกจากการเป็น ส.ส. อาจจะต้องเข้ามาร่วมโหวตด้วย ส่วนตำแหน่งประธานสภาถูกกำหนดในรัฐธรรมนูญให้วางตัวเป็นกลางจึงไม่สามารถออกเสียงได้ เว้นแต่คะแนนสูสีกัน
โดยสถานะของรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 จะแตกต่างจากรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ที่ระบุว่าเมื่อ ส.ส.มาเป็นรัฐมนตรีจะต้องลาออกจากส.ส.ภายใน 30 วัน หรือ รัฐธรรมนูญปี 2550 ที่อนุญาตให้ ส.ส.เป็นรัฐมนตรีได้โดยไม่ต้องลาออก แต่รัฐมนตรีจะลงมติในเรื่องที่ตนมีส่วนได้เสียไม่ได้ 
เมื่อสภาผู้แทนฯ พิจารณาเสร็จแล้ว วุฒิสภาจะเป็นผู้พิจารณาต่อเมื่อได้รับร่างกฎหมายแล้วต้องพิจารณาเห็นเสร็จภายใน 20 วัน โดยจะแก้ไขเพิ่มเติมใดๆ มิได้ ถ้าพ้นเวลาที่กำหนดให้ถือว่าวุฒิสภาเห็นชอบ หากวุฒิสภาไม่เห็นชอบ ให้สภาผู้แทนฯ ยกขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้ทันที หากมีเสียงยืนยันเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดในสภา ให้ถือว่าร่างกฎหมายได้รับการเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว
งบกลาง-กองทัพติดอันดับงบสูงเหมือนเดิม มหาดไทยของบเพิ่มสองหมื่นล้าน
จากการดูรายละเอียดในเอกสารงบประมาณ ปี 2563 พบว่า 5 อันดับที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณมากที่สุด คือ หนึ่ง งบกลาง 518,770 ล้านบาท สอง งบกระทรวศึกษาธิการ 368,660 ล้านบาท สาม งบกระทรวงมหาดไทย 353,007 ล้านบาท สี่ งบกระทรวงการคลัง 249,676 ล้านบาท และ ห้า งบกระทรวงกลาโหม 233,353 ล้านบาท
สำหรับงบประมาณปี 63 งบกลางมีวงเงินเพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 47,238 ล้านบาท จากการตรวจสอบ พบว่า เงินที่ถูกเพิ่มขึ้นคือ เงินในส่วน เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เพิ่มขึ้น 41,954 ล้านบาท แต่ในขณะเดียวกัน งบประมาณที่เป็นเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพิ่มขึ้นอีก 6000 ล้านบาท ซึ่งงบส่วนดังกล่าวเป็นงบที่ค่อนข้างอิสระในการใช้จ่าย แตกต่างจากงบอื่นๆ ที่ระบุการใช้จ่ายอย่างชัดเจน
ส่วนกระทรวงที่ 'ขอ' งบประมาณเพิ่มขึ้นสูงที่สุด ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย ขอเพิ่ม 25,264 ล้านบาท กระทรวงแรงงาน ขอเพิ่ม 8,284 ล้านบาท กระทรวงพัฒนาสังและความมั่นคงของมนุษย์ 7,938 ล้านบาท กระทรวงการคลัง 6,727 ล้านบาท และกระทรวงกลาโหม 6,226 ล้านบาท
อีกงบหนึ่งที่มีการเพิ่มขึ้นจากปีก่อนคือ งบที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้แก่ งบราชการในพระองค์ 7,685 ล้านบาท งบถวายความปลอดภัยจากกระทรวงกลาโหม 1,210 ล้านบาท งบถวายความปลอดภัยของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1,975 ล้านบาท งบอุดหนุนด้านการก่อสร้างและดูแลเขตพระราชฐานของกระทรวงมหาดไทย 2,378 ล้านบาท รวมเป็น 13,249 ล้านบาท 
งบประมาณคว่ำได้ให้ใช้งบปีก่อนไปพลาง ส่วนรัฐบาลไม่จำเป็นต้องลาออก
ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 141 งบประมาณรายจ่ายของแผ่นดินให้ทําเป็นพระราชบัญญัติ ถ้าพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณออกไม่ทันปีงบประมาณใหม่ ให้ใช้กฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณปีก่อนนั้นไปพลางก่อน หรือหมายความว่า ในกรณีที่ไม่ว่า 'ด้วยเหตุใดก็ตาม' ที่ทำให้งบประมาณไม่สามารถออกทัน ให้นำ พ.ร.บ.งบประมาณฯ ของปีก่อนหน้ามาใช้ไปพลางก่อนที่จะมีการบังคับใช้กฎหมายฉบับใหม่