สภาเห็นชอบ พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ ด้านอนาคตใหม่ค้าน กังวลใช้อำนาจเหมือน ม.44

วันนี้ (17 ตุลาคม 2562) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยวิสามัญ ครั้งที่ 1 เป็นพิเศษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ได้ลงคะแนนเพื่ออนุมัติ พระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพล และงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562 (พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ) ซึ่งผลการลงมติมีคะแนนเสียง เห็นชอบ 376 เสียง  ไม่เห็นชอบ 70 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง มีผู้เข้าร่วมประชุมสภาฯทั้งหมด 444 คน
ทั้งนี้ ในระหว่างการพิจารณา พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว ปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ได้อภิปรายไม่เห็นชอบการออก พ.ร.ก.ดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า ไม่เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่คณะรัฐมนตรีจะออก พ.ร.ก.ฉบับนี้ ซึ่งถือว่าไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 วรรคสอง หลักการออกพระราชกำหนด และเห็นว่าควรตรวจสอบการออกพระราชกำหนดของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เนื่องจากเมื่อเทียบกับรัฐบาลอื่นที่ผ่านมาแล้วรัฐบาลนี้ออกพระราชกำหนดถี่ที่สุดซึ่งสามเดือนที่ผ่านมาออกไปถึงสองฉบับ เกรงว่าจะเหมือนการใช้มาตรา 44 ในยุครัฐบาล คสช. จึงขอลงมติไม่เห็นชอบใน พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว
พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ ย้ายบางส่วนกองทัพเป็นของพระมหากษัตริย์
ในมาตรา 3 ของ พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ บังคับให้โอนบรรดาอัตรากำลังพล และงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์  ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมประกาศกำหนด ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการในพระองค์
ซึ่งทั้งสองกรมทหารนั้นมีความสำคัญ กล่าวคือ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หรือ (ร.1. ทม.รอ.) นั้นเป็นหน่วยทหารรักษาพระองค์ที่ตั้งขึ้นหน่วยแรกสุดของประเทศไทย มีหน้าที่ถวายความปลอดภัยและถวายพระเกียรติแด่พระมหากษัตริย์, สมเด็จพระราชินี, พระรัชทายาท, ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์อย่างใกล้ชิด ซึ่งมีภารกิจพิเศษในฐานะที่เป็นหน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ที่ 1 จึงมีภารกิจนอกเหนือไปจากหน่วยทหารราบอื่นด้วย กล่าวคือ การถวายความปลอดภัย และถวายพระเกียรติ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ, พระรัชทายาท, ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ โดยใกล้ชิด โดยหน้าที่ของหน่วยทหารตามภารกิจดังกล่าวคือ การรับเสด็จ การแซงเสด็จ การนำเสด็จ การตามเสด็จ และการรักษาการณ์
ในส่วนของกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หรือ ร.11 ทม.รอ. มีชื่อเรียกอย่างง่ายว่า "ราบ 11" ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยทหารรักษาพระองค์ แต่ กรมทหารราบ 11 มีชื่อเสียงในทางการเมืองเนื่องจาก เมื่อปี 2553 ถูกใช้เป็นสถานที่ตั้งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) รวมถึงเป็นที่พักและบัญชาการของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในเหตุการณ์การสลายชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง
รัฐธรรมนูญกำหนด พ.ร.ก.ออกได้ต้องเร่งด่วน ฉุกเฉิน
ในการออกพระราชกำหนดนั้น กำหนดไว้ใน มาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่า พระราชกำหนดนั้นจะออกได้ ในกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ
และในวรรคสองกำหนดว่าเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉิน ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้
ปัญหาสำคัญ คือ การออกพ.ร.ก. ฉบับนี้ ถือว่า "มีความจําเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้" ถึงขนาดต้องรีบออกเป็น พ.ร.ก. จริงหรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับการทำงานของรัฐสภาที่ก็สามารถออกกฎหมายได้ในเวลาเพียงสองวัน ก่อนหน้านี้ ส.ส. พรรคฝ่ายค้านเคยยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตรวจสอบแล้วว่า การออก พ.ร.ก. ฉบับเดือนสิงหาคมนั้นเป็นไปโดยถูกต้องตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 172 กำหนดไว้หรือไม่
รมช.กลาโหมฯ อ้าง พ.ร.ก. มีความเร่งด่วน การถวายความปลอดภัยต้องต่อเนื่อง
ในช่วงการเริ่มต้นก่อนการลงมติรับ พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ นั้น พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้เสนอ พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว โดยได้อ่านหมายเหตุท้าย พ.ร.ก. เป็นเหตุผลในการเสนอ พ.ร.ก. ต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยมีใจความโดยสรุปว่า การปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการถวายอารักขาและถวายพระเกียรติและการรักษาความปลอดภัยดังกล่าวจำเป็นต้องมีความพร้อมในทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดอัตรากำลังพลที่เหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรียบร้อย รวดเร็ว และเกิดความปลอดภัยสูงสุด สมควรโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ เพื่อสนับสนุนภารกิจของส่วนราชการในพระองค์ รวมทั้งให้การปฏิบัติภารกิจทั้งปวงตามพระราชอัธยาศัยและตามพระราชประเพณีเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์และเกิดความปลอดภัยสูงสุด จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ 
นอกจากนี้ ร.ม.ต.ช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ได้อภิปรายเพิ่มเติมด้วยว่า ในการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ของพระมหากษัตริย์นั้น จะต้องไม่มีข้อบกพร่องเด็ดขาด และต่อเนื่องสม่ำเสมอ มีความพร้อมทุกด้านตลอดเวลา เพื่อให้หน่วยรักษาพระองค์จัดตั้งขึ้นในวาระแรกได้เร็วที่สุด และให้สอดคล้องกับการบริหารจัดการงบประมาณในปี 2563 ทั้งงบกำลังพล งบการฝึก และเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในเรื่องทั้งหมดที่กล่าวมา ทั้งหมดนี้เป้าหมายที่ดำเนินการนั้นเพื่อถวายความปลอดภัย ถวายพระเกียรติ และถวายความปลอดภัยสูงสุด ต่อสถาบันที่เป็นที่เคารพรักของเราทุกคน จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่ไม่อาจเลี่ยงได้
พรรคอนาคตใหม่ไม่เห็นชอบ กังวลรัฐบาลใช้อำนาจเหมือน ม.44
ปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ และเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ได้อภิปรายเกี่ยวกับการ พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ โดยสรุปเป็นสองประเด็นว่า หนึ่ง ประเด็นการออก พ.ร.ก.ฉบับนี้ ตราขึ้นโดยไม่เป็นไปตามเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 ซึ่งการออก พ.ร.ก. ต้องเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งในการออก พ.ร.ก. ต้องเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนอย่างแท้จริง
อีกประเด็นหนึ่ง เป็นปัญหาในการใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีที่อาจจะขัดกับรัฐธรรมนูญ เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีอาจจะคุ้นชินในการใช้มาตรา 44 ขณะที่เป็น คสช. ที่ออกกฎหมายตามอำเภอใจ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ กำลังจะใช้อำนาจตามมาตรา 172 แทน และเห็นว่าสภาผู้แทนราษฎรต้องช่วยกันตรวจสอบการใช้อำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ และหยุดให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นข้อยกเว้นของรัฐธรรมนูญฉบับนี้
ปิยบุตรกล่าวปิดท้ายว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้ตราขึ้นโดยไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 และส่งผลกระทบต่อการปกครองในระบอบประขาธิปไตยอันทรงมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้แทนของราษฎร มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่สามารถลงมติอนุมัติพระราชกำหนดฉบับนี้ได้"
ส.ส.ประชาธิปัตย์ ชวนเห็นชอบ พ.ร.ก. เนื่องจากสถาบันพระมหากษัตริย์คือความมั่นคงประเทศ
พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายว่า ประเทศไทยไม่เหมือนกับประเทศอื่น เรามีประวัติศาสตร์ชาติ ความเป็นมาของชาติไม่เหมือนที่อื่น เรามีวันนี้ได้เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งของชนชาวไทย แต่ด้วยระบอบการปกครองของทั้งโลกเปลี่ยนแปลงไป ประเทศไทยจึงต้องเปลี่ยนพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างทุกวันนี้ ที่กล่างมาทั้งหมดเนื่องจากจะกล่าวว่า พระมหากษัตริย์คือความมั่นคงของประเทศ ซึ่งเราไม่สามารถแยกความมั่นคงของประเทศกับสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ อะไรที่กระทบสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็เท่ากับกระทบความมั่นคงของประเทศเช่นเดียวกับ เพราะฉะนั้นการถวายความปลอดภัยให้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงเปรียบเสมือนการถวายความปลอดภัยให้กับประเทศชาติ ทุกอย่างที่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศคือเรื่องฉุกเฉิน จำเป็น เร่งด่วน เช่นเดียวกับสถาบันพระมหากษัตริย์
เรื่องความจำเป็นเรื่องด่วน คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้ดุลพินิจพิจารณา ส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีหน้าที่รับรองว่า พ.ร.ก. จะเป็นกฎหมายหรือไม่ ส่วนตัวเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจำเป็น ฉุกเฉิน และเร่งด่วน และขอรับรอง พ.ร.ก ฉบับนี้
สภาผู้แทนราษฎรลงมติมีคะแนนเสียง 376 เห็นชอบ เสียง  ไม่เห็นชอบ 70 เสียง
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ลงคะแนนเพื่ออนุมัติ พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ ซึ่งผลการลงมติมีคะแนนเสียง 376 เห็นชอบ เสียง  ไม่เห็นชอบ 70 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง มีผู้เข้าร่วมประชุมสภาฯทั้งหมด 444 คน ส่งผลให้ พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ มีผลเป็นกฎหมาย และจะประกาศเป็นพระราชบัญญัติต่อไป