ส.ว.แต่งตั้ง: ตำแหน่งอมตะถึงตายก็มีคนมาแทน

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ได้เพียงแต่แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน 250 คน ที่มีวาระ 5 ปี เท่านั้น แต่ยังได้แต่งตั้ง "ส.ว. สำรอง” ไว้อีกถึง 100 คน เผื่อไว้เมื่อมี “ส.ว. ตัวจริง" บางคนพ้นจากตำแหน่งไป 
โดยจะเลื่อนรายช่ือบุคคลจาก “บัญชีสำรอง ส.ว.” ขึ้นมาแทนที่โดยให้มีวาระการดำรงตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลือของ ส.ว. ที่พ้นจากตำแหน่งไป
รัฐธรรมนนูญกำหนดให้ คสช. จัดทำ “บัญชีสำรอง ส.ว.” ขึ้นมา 2 บัญชีๆ ละ 50 คน บัญชีหนึ่งเป็นรายชื่อสำรองสำหรับ “ส.ว. กลุ่มอาชีพ 50 คน” ที่คสช. แต่งตั้งขึ้นจากรายชื่อที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดให้กลุ่มอาชีพเลือกกันเอง และอีกบัญชีหนึ่งเป็นรายชื่อสำรองสำหรับ  “ส.ว. คณะสรรหา 194 คน” ซึ่งคสช. แต่งตั้งขึ้นจากรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหา ส.ว. คัดเลือกมาให้ ซึ่งคณะกรรมการนี้ คสช. เป็นคนแต่งตั้งขึ้นมาอีกทีหนึ่ง
คสช. แต่งตั้ง ส.ว. ตัวจริง 250 คนและตัวสำรอง 100 คน
รัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดในบทเฉพาะกาล มาตรา 269 ให้วาระแรกหรือ 5 ปีของรัฐสภาหลังการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้มี “ส.ว. ชุดพิเศษ” จำนวน 250 คน ที่ได้รับการแต่งตั้งโดย คสช. ในขั้นตอนสุดท้ายทั้งหมด ซึ่งแบ่งได้เป็นสามประเภท ได้แก่ หนึ่ง “ส.ว. กลุ่มอาชีพ" จำนวน 50 คน สอง “ส.ว. คณะสรรหา” 194 คน และ สาม “ส.ว.​ เหล่าทัพ” 6 คน โดยมีวิธีการได้มา ดังนี้ 
“ส.ว. กลุ่มอาชีพ” ระบุวิธีการได้มาใว้ในมาตรา 269 (1)(ก) โดยให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการจัดให้มีการเลือก ส.ว. โดยให้ผู้มีความรู้ประสบการณ์หลายด้าน กลุ่มวิชาชีพหรือกลุ่มผลประโยชน์เลือกกันเองให้ได้ 200 คน แล้วนำรายชื่อส่งให้ คสช. ก่อนวันเลือกตั้ง 15 วัน คสช.จะคัดเลือกให้ได้จำนวน 50 คน และให้มีรายชื่อสำรอง 50 คน
“ส.ว. คณะสรรหา” ระบุวิธีการได้มาใว้ในมาตรา 269 (1) (ข.) โดยให้ “คณะกรรมการสรรหา ส.ว.” ซึ่งคสช. แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ประสบการณ์ด้านต่างๆ เป็นกลางทางการเมืองจำนวน 9-12 คน คณะกรรมการสรรหา ส.ว. ทำหน้าที่สรรหาตัวแทนจากบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถจำนวนไม่เกิน 400 คน แล้วนำรายชื่อส่งให้ คสช. ก่อนวันเลือกตั้ง 15 วัน คสช.จะคัดเลือกให้ได้จำนวน 194 คน และให้มีรายชื่อสำรอง 50 คน
“ส.ว.​ เหล่าทัพ” ระบุวิธีการได้มาใว้ในมาตรา 269(1)(ค.) โดยให้ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้เป็น ส.ว. โดยตำแหน่งรวม 6 คน
นอกจากรัฐธรรมนูญจะกำหนดวิธีการได้มาซึ่ง ส.ว. สามประเภทรวม 250 คนแล้ว ยังกำหนดให้ต้องคัดเลือกรายชื่อสำรองจากบุคคลที่ได้รับสรรหามาแล้วมาจัดทำเป็น “บัญชีสำรอง ส.ว.”  จำนวน 2 บัญชีๆ ละ 50 คน บัญชีหนึ่งเป็นรายชื่อสำรองสำหรับ “ส.ว. กลุ่มอาชีพ” และอีกบัญชีหนึ่งเป็นรายชื่อสำรองสำหรับ “ส.ว. คณะสรรหา” ซึ่งต้องให้ทำให้แล้วเสร็จภายใน 3 วันนับตั้งแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎร (ส.ส.)
“บัญชีสำรอง ส.ว.” มีความสำคัญเนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 269 (4) กำหนดไว้ว่า ถ้ามีตำแหน่ง ส.ว. ที่ได้รับการแต่งตั้งและทำหน้าที่อยู่ หรือ “ส.ว. ตัวจริง” ว่างลง ให้เลื่อนรายชื่อบุคคตามลำดับในบัญชีสำรอง “ส.ว. ตัวสำรอง” ขึ้นทำหน้าที่แทนโดยให้ “ส.ว. ตัวสำรอง” ที่ได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าเท่าวาระของ ส.ว. ที่เหลืออยู่ โดยให้เลื่อนรายชื่อจากบัญชีสำรองที่จัดทำไว้สำหรับ ส.ว. แต่ละประเภท 
คสช. ใช้อำนาจพิเศษออกบัญชีสำรอง ส.ว. ฉบับแรกสำหรับ “ส.ว. กลุ่มอาชีพ”
ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 คสช. ได้ประกาศรายชื่อ ส.ว. 250 คน พร้อมกับประกาศรายชื่อสำรอง 50 คนหรือ “บัญชีสำรอง ส.ว” จำนวน 1 ฉบับ โดยบัญชีสำรองฉบับนี้ คสช. ออกเป็นประกาศ คสช. ฉบับที่ 1/2562 เรื่อง การกำหนดรายชื่อบุคคลสำรอง สำหรับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 
ประกาศ คสช. ฉบับดังกล่าวให้เหตุผลในการออกประกาศแต่เพียงว่าเพื่อให้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 296 และ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. มาตรา 98 และ 99 เป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่ไม่ได้แจ้งว่าเป็นรายชื่อสำรองของ “ส.ว. กลุ่มอาชีพ” หรือ  “ส.ว. คณะสรรหา” กันแน่ 
บัญชีสำรอง ส.ว. ฉบับนี้ แม้จะไม่มีการระบุว่ามาจากการสรรหาแบบใด แต่จากการติดตามกระบวนการสรรหา พบว่าทั้ง 50 รายชื่อนี้ เป็นรายชื่อที่อยู่ในกระบวนการสรรหา “ส.ว. กลุ่มอาชีพ” ที่ กกต. เป็นผู้ทำการจัดการให้มีการเลือกระหว่างกลุ่มอาชีพ แต่ในขั้นตอนสุดท้ายรายชื่อเหล่านี้ไม่ได้ถูกคสช. เลือกเป็น “ส.ว. ตัวจริง” เท่ากับว่ารายชื่อเหล่านี้เป็นบัญชีสำรอง ส.ว. ตามแบบมาตรา 269 (1)(ก) ซึ่งประกอบไปรายชื่อดังต่อไปนี้ ตามลำดับ
1. จัตุรงค์ เสริมสุข
2. กฤษฎา ให้วัฒนานุกูล
3. วรินทร์ เทียมจรัส
4. พัชรินทร์ ดีสวัสดิ์
5. พลอากาศเอก ณพฤษภ์ มัณฑะจิตร
6. มงคล สุขเจริญคณา
7. นฤมล โกวิน
8. แดน ปรีชา
9. รังสรรค์ หันสันเทียะ
10. พิชัย อุตมาภินันท์
11. ยุทธนา เกียรติดำเนินงาม
12. สุรจิต ชิรเวทย์
13. ภาณุพงษ์ เต็งวงษ์วัฒนะ
14. สุรชัย ปิตุเตชะ
15. สากล ภูลศิริกุล
16. เทอดศักดิ์ เจียมกิจวัฒนา
17. อำนวย แหยมยินดี
18. วัลลภ วัชรอำมาตย์
19. ณรงค์ ดวงจันทร์
20. กัณฐัศ กุลวานิช
21. บุญพา ลิมปะพันธุ์
22. สุภาภรณ์ นิรมาณการย์
23. ศิริชัย ปิติเจริญ
24. วิเชียร รุจิธำรงกุล
25. สุนทร วัฒนาพร
26. สวัสดิ์ กฤตรัชตนันต์
27. สุกฤษฎิ์ชวิศ สฤษฎ์คุณัชญ์
28. เมฆินทร์ เมธาวิกูล
29. ถาวร มงคลเคหา
30. องค์กร อมรสิรินันท์
31. เติมศักดิ์ บุญชื่น
32. ปรีชา เมืองพรหม
33. โกวิทย์ ทรงคุณ
34. ศักดิ์ตระกูล เลี้ยงประเสริฐ
35. วสวัตติ์ กฤษศิริธีรภาคย์
36. ดุสิต ลีลาภัทรพันธุ์
37. ชลธิชา ศรีสุข
38. ชาลี ตั้งจีรวงษ์
39. กิตติ โกสินสกุล
40. ประเสริฐ หวังรัตนปราณี
41. พลตรี พงษ์ศักดิ์ วงษ์สวรรค์
42. ยุพา วงศ์ไชย
43. โฉมยง ประทีปอุษานนท์ ทวีทรัพย์
44. พงศ์พันธ์ สินผดุง
45. ณัฏฐ์พัฒน์ ปัตตายะโก
46. เสรี ศุภราทิตย์
47. ภัสพลภ์ ชัยสุริยาทวิกูล
48. อรุณี ลิ้มมณี
49. พิเชฐ คูหาทอง
50. รุ่งศักดิ์ สันตินันตรักษ์
คสช. ใช้อำนาจพิเศษออกบัญชีสำรอง ส.ว. ฉบับที่สองสำหรับ  “ส.ว. คณะสรรหา”
ประมาณหนึ่งเดือนถัดมาจากการประกาศบัญชีสำรอง ส.ว. ฉบับแรก ในวันที่ 11 มิถุนายน 2562 คสช. ประกาศบัญชีสำรอง ส.ว. ฉบับที่สอง สำหรับ “ส.ว. คณะสรรหา” หรือบัญชีสำรอง ส.ว. ตามแบบมาตรา 269 (1)(ข) โดยออกเป็นประกาศคสช.  ฉบับที่ 2/2562 เรื่องประกาศรายชื่อบุคคลสำรอง สำหรับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกอบไปรายชื่อดังต่อไปนี้ ตามลำดับ
1. ดอน ปรมัตถ์วินัย
2. อภิชาติ โตดิลกเวชช์
3. ประสิทธิ์ ปทุมารักษ์
4. วิวัฒน์ ศัลยกำธร
5. วิชัย ทิตตภักดี
6. สุวัฒน์ จิราพันธุ์
7. พลเอก ชัยชาญ ช้างมงคล
8. พันตำรวจเอก จรุงวิทย์ ภุมมา
9. ลือชา การณ์เมือง
10. อนุสิษฐ คุณากร
11. พลเอก สมศักดิ์ นิลบรรเจิดกุล
12. ประพันธุ์ คูณมี
13. พลตำรวจโท อำนวย นิ่มมะโน
14. อนุพร อรุณรัตน์
15. พลเอก พหล สง่าเนตร
16. พลเรือเอก ประสาน สุขเกษตร
17. พลเอก สุนทร ขำคมกุล
18. เพิ่มพงษ์ เชาวลิต
19. โสภณ เมฆธน
20. พลตำรวจเอก ชิดชัย วรรณสถิตย์
21. สมชาย มีเสน
22. ถวิลวดี บุรีกุล
23. วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ
24. สร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์
25. อโณทัย ฤทธิปัญญาวงศ์
26. พลเอก ภาณุวัชร นาควงษม์
27. สุรชัย ภู่ประเสริฐ
28. พลเรือเอก อภิวัฒน์ ศรีวรรธนะ
29. พลเอก เอกชัย จันทร์ศรี
30. นพปฎล สุนทรนนท์
31. ภาณุวัฒน์ พันธุ์วิชาติกุล
32. พลตำรวจตรี พิสิษฐ์ เปาอินทร์
33. วันชัย ศารทูลทัต
34. เสาวณี สุวรรณชีพ
35. พลตรี อนุศิษฐ์ ศุภธนิต
36. ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน
37. พลเรือเอก ธนะกาญจน์ ใคร่ครวญ
38. สัญชัย จงวิศาล
39. พลเรือเอก จักรชัย ภู่เจริญยศ
40. นำชัย พรหมมีชัย
41. พลอากาศเอก เพิ่มเกียรติ ลวณะมาลย์
42. พลอากาศเอก ชนะ อยู่สถาพร
43. พลเอก องอาจ พงษ์ศักดิ์
44. พงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์
45. บุญเลิศ คชายุทธเดช
46. พิไลพรรณ สมบัติศิริ
47. ไชยา ยิ้มวิไล
48. ไพฑูรย์ รักษ์ประเทศ
49. ธวัชชัย ฟักอังกูร
50. บัณฑิตย์ เทวีทิวารักษ์
สองบัญชีสำรอง ส.ว. มีนายพลรวม 19 คน 
ในบัญชีสำรอง ส.ว. มีรายชื่อบุคคลที่มีชื่อเสียง เช่น ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และ พ.ต.อ.จรุงค์วิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. เป็นต้น และเมื่อรวมบัญชีสำรอง ส.ว. ทั้งสองฉบับ เท่ากับมีรายชื่อทั้งหมด 100 รายชื่อ พบว่า มีนายพลจากทั้งสี่เหล่าทัพถึง 19 คน แบ่งเป็นจากบัญชีสำรองสำหรับ “ส.ว. คณะสรรหา” 17 คน และจากบัญชีสำรองสำหรับ “ส.ว. กลุ่มอาชีพ” 2 คน ขณะที่สถิติของ "ส.ว. ตัวจริง” 250 คนนั้นมีนายทหารและตำรวจยศนายพลถึง 103 คน ซึ่งคิดเป็น 41.3 เปอร์เซ็นต์ หรือเกือบถึงครั้งหนึ่งของ ส.ว. ทั้งหมด
คสช. ประกาศบัญชีสำรอง ส.ว. หลังผลเลือกตั้งเกินสามวันขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่?
รัฐธรรมนูญ มาตรา 269 กำหนดให้คัดเลือกรายชื่อสำรอง ส.ว. ให้แล้วเสร็จภายในสามวันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 อย่างไรก็ดี คสช. ​ประกาศบัญชีสำรอง ส.ว. ฉบับแรก ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 หลังวันประกาศผลการเลือกตั้ง 6 วัน และประกาศบัญชีสำรอง ส.ว. ฉบับที่สองในวันที่ 11 มิถุนายน 2562 หลังวันประกาศผลการเลือกตั้ง 34 วัน โดย คสช. ใช้อำนาจพิเศษออกเป็นประกาศ คสช. ทั้งคู่
หลังการประกาศบัญชีสำรอง ส.ว. ฉบับแรก ในวันที่ 5 มิถุนายน 2562 ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นเรื่องกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ไต่สวนคสช. และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. จากการประกาศรายชื่อ ส.ว. สำรองไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2560 เพราะประกาศบัญชีสำรองส.ว. เพียงบัญชีเดียวยังขาดอีกบัญชีหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม เมื่อคสช. ประกาศบัญชีสำรอง ส.ว ฉบับที่สอง โดยออกเป็นประกาศ คสช.  ฉบับที่ 2/2562 นั้นก็อธิบายในประกาศว่าตามที่มีการแต่งตั้ง ส.ว. จำนวน 250 คนไปแล้วเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2562 ต่อมาในวันเดียวกัน คสช.  ได้กำหนดรายชื่อบุคคลสำรองสำหรับ “ส.ว. กลุ่มอาชีพ” จำนวน 50 คน และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 พร้อมทั้งได้กำหนดรายชื่อบุคคลสำรองสำหรับ “ส.ว. คณะสรรหา” อีกจำนวน 50 คน ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคมแล้ว และเลขาธิการคสช. ได้มีหนังสือต่อประธานวุฒิสภาแล้วเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2562 อีกทั้ง เพื่อให้การดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ในห้วงเวลาต่อไปมีความเรียบร้อย ตลอดจนเพื่อเป็นการรองรับการสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ของคสช. 
ใน 12 มิถุนายน 2562 วิษณุ เครืองาม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการประกาศรายชื่อสำรองล่าช้าว่า การจัดทำบัญชีสำรองนั้น คสช. ทำเสร็จสิ้นภายในสามวันตามกฎหมายกำหนดเหมือนกันทั้งสองบัญชี ส่วนบัญชีสำรองจากคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ที่ประกาศล่าช้าเนื่องจากขณะนั้นยังไม่มีประธาน ส.ว. เมื่อมีประธาน ส.ว. แล้วจึงได้ส่งรายชื่อสำรองให้ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไปหากมี ส.ว. พ้นจากหน้าที่ ก็สามารถเลื่อนบัญชีสำรองนี้ขึ้นมาใช้ได้เลย โดยชื่อบัญชีสำรองทั้งสองบัญชีจะไม่นำมาใช้ไขว้กัน