แก้รัฐธรรมนูญ: พรรคการเมืองชูภาคประชาชนเป็นเจ้าของประเด็นรัฐธรรมนูญ

วันนี้ (30 กันยายน 2562) 13.00 น. คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ร่วมกับ 30 องค์กรประชาธิปไตย นักวิชาการ และตัวแทนของพรรคการเมือง จัดเวทีสาธารณะ (ครั้งที่ 2) เรื่อง "การปฏิรูปสังคม-เศรษฐกิจ-การเมืองไทย กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย" ณ ห้องเพทาย โรงแรมรัตนโกสินทร์ ถ.ราชดำเนิน กรุงเทพฯ
นักวิชาการชี้รัฐธรรมนูญปี 2560 จำกัดสิทธิและลดอำนาจประชาชน และอยากให้ประเด็นรัฐธรรมนูญเป็นเวทีให้ทุกฝ่ายมานั่งคุยกันสร้างดุลอำนาจที่สมดุลในสังคม ทางด้านนักการเมืองเสนอว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาปากท้องได้ แต่ถ้าไม่แก้จะนำไปสู่ความรุนแรงและการนองเลือด ส่วนภาคประชาชนจำต้องเป็นเจ้าของประเด็นและเร่งเคลื่อนไหวเพื่อสร้างแรงกดดันต่อสภา
การร่างรัฐธรรมนูญรอบนี้ไม่ง่ายเหมือนปี 40
พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธาน ครป. กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 มีอัตลักษณ์ “อนุรักษ์นิยม” จำกัดสิทธิเสรีภาพและลดอำนาจของประชาชนเมื่อเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 เป้าหมายหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ก็คือการเพิ่มสิทธิและขยายอำนาจให้กับประชาชน แต่รายละเอียดคงต้องการถกเถียงกัน
รัฐธรรมนูญสัมพันธ์กับการปฏิรูปทางการเมือง เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม รัฐธรรมนูญเป็นกลไกที่จัดสรรอำนาจทางการเมือง ประเทศที่จัดสรรโครงสร้างของอำนาจได้อย่างสมดุลก็เอื้อต่อการปฏิรูป แต่ถ้าประเทศใดจัดสรรอำนาจไม่สมดุลก็จะเกิดปัญหา
ถ้าเราทบทวนประวัติศาสตร์ของสังคมไทย หรือบทเรียนในอดีต บริบทสังคมปัจจุบันอาจมีความซับซ้อนต่างออกไปจากช่วงการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 มาก การต่อสู้ทางความคิดและเชิงอุดมการณ์ที่หลากหลายมากขึ้น และมีปรากฎการณ์ทางอุดมการณ์ที่เด่นชัดกว่าในอดีต
เมื่อช่วงปี 2540 พลังของการต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีน้อยมาก มีนักการเมืองกลุ่มอำนาจท้องถิ่นบางกลุ่มเท่านั้น ขณะที่ทั้งสังคม พรรคการเมือง ประชาชนจำนวนมากให้การสนับสนุน แต่ในวันนี้มีพลังที่เป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ด้วย
อย่างไรก็ตาม การที่สังคม “สวิง(swing)” เกินไป หรือสัญญาณต่างในสังคมๆ ก็แสดงดุลอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันในสังคม ซึ่งกลุ่มผู้มีอำนาจที่มีบทบาทในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็คงตระหนักและรับรู้พอสมควร 
ให้ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเวทีมานั่งคุยหาทางออกให้สังคม
“ในสายตาของผม ผมไม่อยากให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญกลายมาเป็นประเด็นการจุดฉนวนการนองเลือดอีกครั้งของสังคมไทย แต่จะอาศัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นประเด็นที่กลุ่มพลังต่างๆ ในสังคมจะต้องมานั่งคุย นั่งเจรจากันว่าจะต้องหาทางออกร่วมกันอย่างไรที่จะทำให้เกิดดุลอำนาจที่สมดุลกันมากขึ้น” พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต กล่าว
พิชาย กล่าวต่อไปว่า ตัวรัฐธรรมนูญเป็นกลไกหรือสถานการณ์ที่เอื้อหรือเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปก็ได้ รัฐธรรมนูญโดยตัวมันเองไม่สามารถทำให้เกิดการปฏิรูปได้ คือ ไม่ใช่ว่าเมื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วจะเกิดการปฏิรูปอย่างที่สังคมคาดหวัง เพราะกระบวนการปฏิรูปต้องดำเนินการต่อไปในสังคมอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี การมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยและให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้นสร้างเวทีการเอื้อต่อการปฏิรูป แต่ถ้าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีกรอบจำกัดก็เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูป เช่น รัฐธรรมนูญปัจจุบัน
ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม เช่น การจำกัดสิทธิการเลือกตั้ง “ถ้าในรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือ 2550 พวกเรามีสองเสียง หนึ่งเลือกพรรค อีกอันหนึ่งคือเลือกตัวบุคคลในพื้นที่ แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้เรามีเสียงเดียวแล้วก็ถูกยัดเยียดทั้งพรรคและตัวบุคคล ความอิสระในการเลือกถูกตัดไปครั้งนึง”
ในรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 มีความเป็นไปได้ว่าคนๆ หนึ่งที่ลงคะแนนเสียงอาจจะเลือกได้ทั้งพรรคและเลือกได้ทั้งคน แต่ในรัฐธรรมนูญปัจจุบันถ้าลงคะแนนเสียงแล้วเท่ากับเลือกทั้งพรรคและตัวบุคคลในทีเดียว เท่ากับว่าสิทธิก็ถูกจำกัดไป
ขณะที่ปัญหาการคำนวณคะแนนบัญชีรายชื่อก็ต้องแก้ไข ระบบการเลือกตั้งเช่นนี้สร้างความไร้สถียรภาพทางการเมือง ซึ่งประเด็นนี้เราพยายามแก้ไขกันมาตั้งแต่ก่อนรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งก่อนหน้านั้นการเมืองไทยไร้เสถียรภาพ แล้วก็ทำให้มีเสถียรภาพมากขึ้น และบางทีก็มากเกินไปก็พยายามลดลง ท้ายที่สุดปัจจุบันก็กลายเป็นอนาธิปไตยไปเลย
แนวทางปฏิรูป 3 ส่วน : เลือกตั้งท้องถิ่น ลดทุนผูกขาด ทุ่มงบโรงเรียนตำบล/อำเภอ
พิชาย กล่าวว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นถูกแขวนไว้ที่คณะรัฐมนตรี ไม่รู้ว่าเขาจะให้เลือกเมื่อไหร่ ซึ่งก็เห็นชัดเจนว่ารัฐบาลกลางไม่มีปัญญาในการแก้ปัญหาในท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น น้ำท่วมที่จังหวัดอุบลราชธานี และยิ่งประชาชนเสื่อมศรัทธาต่อรัฐบาล การแก้ปัญหายิ่งยากขึ้น
การกระจายอำนาจไม่จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญก็สามารถผลักดันได้ แต่ถ้ามีในรัฐธรรมนูญก็ต้องทำให้ก้าวหน้ากว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 ที่พยายามออกกฎหมายขั้นตอนการกระจายอำนาจแต่ก็ถูกส่วนกลางและนักการเมืองขัดขวาง ซึ่งนักการเมืองเองก็คงได้รับบทเรียนแล้วว่าเมื่อไม่ทำเกิดปัญหาในท้องถิ่นอย่างไรบ้าง
ปัญหานายทุนผูกขาด เรามีกฎหมายต่อต้านการผูกขาดก็ทำอะไรไม่ได้ บทเรียนในต่างประเทศชี้ว่า ทางออกคือผู้นำทางการเมืองต้องมีเจตจำนงต่อสู้กับทุนผูกขาดและผลักกฎหมายที่เข้มงวด ปัจจุบัน เราให้ประชาธิปไตยกับนายทุนผูกขาดมากเกินไป โดยให้เป็นกรรมการกำหนดนโยบายต่างๆ เช่น กรรมการยุทศาสตร์ชาติ เป็นต้น แต่ให้ประชาธิปไตยกับประชาชนน้อยเกินไป รัฐธรรมนูญควรบัญญัติให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมเป็นกรรมการเชิงนโยบายอย่างมีนัยยะสำคัญในการตัดสินใจ 
องค์กรอิสระเคยเป็นความหวังของสังคมไทยในการแก้ปัญหาความโปรงใสของการเลือกตั้งหรือปัญหาทุจริตคอรัปชั่น แต่ช่วงหลังถูกอำนาจพรรคการเมือง ไม่ก็กลุ่มข้าราชการครอบงำ ไม่มีภาคประชาชนเป็นตัวแทนแม้แต่น้อย ควรแก้ไขเปิดคุณสมบัติให้คนมีประสบการณ์ตรงเข้าไปทำงานได้มากขึ้น
ด้านสังคม ระบบการศึกษามีปัญหาสาหัส เพราะเอาแต่สร้างโรงเรียนชนชั้น ซึ่งวิธีคิดนี้ดำรงอยู่มานานแล้ว เช่น ในส่วนกลางก็โรงเรียนมหิดล ในระดับภูมิภาคก็มีโรงเรียนจุฬาภรณ์ แต่ในระดับตำบลและอำเภอได้งบประมาณน้อยมาก ซึ่งปัญหาการจัดสรรงบประมาณในกาปฏิรูปการศึกษาและสังคม
คสช. ตั้งองค์กรครอบงำอำนาจที่มาจากประชาชน
ธนาธร จึงรุงเรืองกิจ กล่าวว่า หลักการพื้นฐานของสังคมที่ควรจะเป็นคืออำนาจเป็นของประชาชน ซึ่งไม่อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในรัฐสมัยใหม่หรือทุกประเทศ อำนาจของประชาชนถูกแบบออกเป็นสามฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ และรัฐธรรมนญคือข้อตกลงของสังคมว่าจะจัดสรรรอำนาจ ดุลอำนาจและตรวจสอบอำนาจตรวจสอบสามฝ่ายนี้อย่างไร แต่ท้ายที่สุด ประชาชนเป็นผู้แต่งตั้งอำนาจเหล่านี้เข้ามา
ดังนั้น ในระบอบประชาธิปไตย หลักการที่ไม่ทำให้เกิดการเข่นฆ่ากันเพราะความแตกต่างกันทางความคิดก็คือ ผู้ปกครองมาจากการยินยอมของประชาชน (consent of the governed)  นี้คือระบบที่ดีที่สุดที่มนุษย์จะคิดค้นขึ้นมาได้
“เมื่อพูดถึงอย่างนี้แล้ว รัฐธรรมนูญปี 2560 สร้างองค์กรขึ้นมาครอบงำการแบ่งสามอำนาจนี้ไว้ เพื่อไม่ให้อำนาจของประชาชนถูกใช้บริหารจัดการภาครัฐได้อย่างจริงจัง” 
ในฝ่ายบริหาร องค์กรที่ถูกตั้งขึ้นมาก็ คือ “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ” มีอำนาจจชี้เป็นชี้ตายรัฐบาล ถ้ารัฐบาลใดทำนโยบายขัดกับยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการนี้สามารถส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ล้มรัฐบาลนั้นได้
และที่มาคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้แต่งตั้งเอง
ในฝ่ายนิติบัญญัติ ก็มีการแต่งตั้งวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คนโดยคสช. ขึ้นมา สังคมไทยต่อสู้มาอย่างยาวนานเพื่อให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้ง แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดึงอำนาจเหล่านี้กลับไปให้มีสภาล่างเป็นผู้แทนราษฎรและสภาบนของชนชั้นอนุรักษนิยมอยู่
ในฝ่ายตุลาการ รวมถึงองค์กรอิสระซึ่งมีอำนาจกึ่งตุลาการด้วย (semi-judical power) ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) องค์กรอิสระในรัฐธรรมนูญปี 2560 อิสระจากประชาชน โดยประชาชนไม่โอกาสไปตรวจสอบได้เลย แต่ คสช. ก็แต่งตั้งคนไปนั่งเป็นกรรมการในองค์กรเหล่านี้
อำนาจสามอำนาจซึ่งเป็นเสาหลักของรัฐสมัยใหม่ ในแง่นึงต้องมีประสิทธิภาพเพื่อให้ประเทศก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมีพลวัต แต่อีกนึงอำนาจเหล่านี้ก็ต้องถูกตรวจสอบถ่วงดุลอย่างเหมาะสม แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปให้อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งไปตั้งองค์กรเหนืออำนาจที่มาจากการเลือกตั้งในสามขาของการแบ่งแยกอำนาจ
การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นทางออกของปัญหาปากท้อง
ธนาธรชี้ว่าในสังคมตอนนี้ เวลาพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องเศรษฐกิจและความรุนแรงเป็นสองข้อถกเถียงใหญ่ เรื่องแรก เศรษฐกิจกับรัฐธรรมนูญ “ประชาชนจะอดตายอยู่แล้ว แก้ปัญหาปากท้องก่อนดีกว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ประโยคนี้จริงเพียงครึ่งเดียวคือประโยคแรกที่ว่าประชาชนจะอดตาย แต่ในประโยคหลังทั้งสองอย่างสามารถทำควบคู่ไปกันได้ ไม่จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง 
การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่ของรัฐสภาหรือฝ่ายนิติบัญญัติเป็นหลัก ส่วนการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ รัฐบาลหรือฝ่ายบริหารซึ่งมีงกลไกรัฐและงบประมาณอยู่ก็ทำได้ ชัดเจนว่าเพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเป็นไปไม่ได้ 
รัฐบาลนี้มีพรรคร่วมมากที่สุด 19 พรรคการเมืองในประวัติศาสตร์ไทย ปัจจุบันออกไป 2 เหลือ 17 พรรค พรรคการเมืองเหล่านี้ไม่มีเอกภาพทางอุดมการณ์ นโยบาย หรือความคิดใดๆ ในตอนร่างรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจได้ง่าย เขาออกแบบหวังให้พรรคการเมืองอ่อนแอ แต่สุดท้ายตัวเองกลับได้รับผลกระทบจากรัฐธรรมนูญที่ตัวเองร่างขึ้นเอง 
“ เมื่อรัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ ไม่มีประสิทธิภาพเช่นนี้แล้ว การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่สำคัญที่อาศัยความร่วมมือจากหลายกระทรวงเป็นไปไม่ได้เลย” 
ปัญหานำ้ท่วมเรื่องเดียวต้องใช้ความร่วมมือหลายกระทรวงอาจเป็น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพัฒนาสังคมฯฯลฯ ซึ่งแต่ละกระทรวงก็มีรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยจากต่างพรรคการเมืองกัน ถ้าไม่มีเอกภาพกันจะแก้ปัญหาได้อย่างไร
การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นทางรอดจากความรุนแรง
เรื่องที่สอง ความรุนแรงกับรัฐธรรมนูญ วาทกรรมของชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมต้องการหลอกให้ประชาชนเชื่อว่า “การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะนำไปสู่ความรุนแรง” ประชาชนจะได้ไม่มาร่วมมือกันรณรงค์แก้รัฐธรรมนูญ
“ทุกท่านครับ ผมเห็นต่าง ผมเห็นว่าประวัติศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นประเทศไทยหรือต่างประเทศพิสูจน์มาอย่างชัดเจนแล้วว่า ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั้นมีการต่อสู้ ที่ใดประชาชนถูกเหยียบย้ำนำ้ใจ ที่ใดไม่มีความเป็นธรรม ที่นั้นไม่มีสันติภาพ” 
“ดังนั้น การรังใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 ต่อไปต่างหากที่จะนำไปสู่ความรุนแรง และผมเชื่อว่าเรากำลังอยู่ในช่วงประวัติศาสตร์ที่เราจะมีโอกาส ถ้าเราทำงานร่วมกัน จะหลีกเลี่ยงความรุนแรงนั้นได้ ”
“ผมว่านี้คือวินาทีทางประวัติศาสตร์ที่เราต้องฉวยไว้ เพราะถ้าเราทำไม่สำเร็จ ผมนึกไม่ออกเลยว่าเราจะหลีกเลี่ยงการปะทะกันอย่างไร ถ้าเราปล่อยสายน้ำไหลไปตามธรรมชาติ” 
"การรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างสันติเป็นทางออกของประชาชน การรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่ทางเลือก แต่ทางออกทางเดียวที่เหลืออยู่ของสังคม”
รัฐธรรมนูญต้องสร้างกติกาที่ทุกคนยอมรับได้ รู้แพ้รู้ชนะ
ธนาธร กล่าวว่า วันนี้ (30 กันยายน) เป็นวันสำคัญของประเทศไทยอีกวันหนึ่ง เช้าวันนี้เมื่อ 13 ปีที่แล้ว นวมทอง ไพรวัลย์ ฆ่าตัวตาย (เพื่อประท้วงการรัฐประหารปี 2549) เราเรียนรู้หนึ่งอย่างคือถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญที่ทุกฝักทุกฝ่ายเห็นร่วมกันประเทศจะพังกันหมด
“ถ้ามานั่งคุยกันวันนี้ เราไม่ได้บอกว่าให้คุณเห็นเหมือนผม หรือผมเห็นเหมือนคุณ การทำให้คนทุกคนในสังคมมีความคิด อุดมการณ์ และนโยบายทางการเมืองแบบเดียวกันเป็นไปไม่ได้ เพราะขัดกับธรรมชาติของมนุษย์โดยธรรมชาติ” แต่จากประวัติศาสตร์ไทย เราไม่มีกฎกติกาที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่านี้คือกติกาในการต้องสู้แย่งชิงอำนาจของเรา”
“ผมมีความฝัน และผมต้องการอำนาจเพื่อให้ความฝันของผมเป็นจริง ผมต้องการที่จะปฏิรูประบบราชการ ยกเลิกระบบราชการรวมศูนย์ที่กรุงเทพ ผมต้องการปฏิรูปกองทัพ สร้างรัฐสวัสดิการ ลดความเหลื่อมล้ำ”
สิ่งที่สำคัญคือ กฎเกณฑ์ที่ทุกฝ่ายยอมรับกันได้ ถ้าแพ้ในเกมก็รณรงค์ตามกติกาต่อ แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่เป็นเช่นนั้น เป็นกติกาที่มีฝ่ายหนึ่งไม่มีวันแพ้ กติกาเช่นนี้ทำให้สังคมอยู่กันอย่างสันติไม่ได้
ปัญหารัฐธรรมไทย ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ศักดิ์สิทธิ์ อายุสั้น
สุทิน คลังแสง พูดถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญเกือบทุกๆฉบับว่าไม่เป็นประชาธิปไตย โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่ดึงอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ทั้งการศึกษาหรือการเมืองท้องถิ่น แต่ปัญหาใหญ่ที่ไม่ควรมองข้ามคือรัฐธรรมนูญไทยอายุสั้นเป็น “พืชล้มลุก” ทำมาดีขนาดไหนใช้ได้สักพักก็มีคนมาฉีกทิ้งอีก 
“ถ้าเราจะเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ ผมอยากฝากว่านอกจากทำให้เป็นประชาธิปไตยแล้ว เขียนอย่างไรให้มีภูมิต้านทานที่ไม่ให้ถูกฉีกทิ้งง่ายๆ ไม่ให้เป็นพืชล้มลุก แล้วเขียนอย่างไรให้ศักดิสิทธิ์ ผู้นำละเมิดรัฐธรรมนูญต้องไม่ลอยนวลลอยชายได้อย่างนี้” 
รัฐธรรมนูญไทยไม่ศักดิ์สิทธิ์ แล้ววันนี้เห็นสัญญาณชัดเจนเลยว่ามีแนวโน้มน่าเป็นห่วงจากกรณีนายกรัฐมนตรีไม่ยอมกล่าวว่าจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญในคำถวายสัตย์ปฏิญาณ ฉะนั้น เราต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้กับรัฐธรรมนูญเสียก่อน รัฐธรรมนูญที่จะเป็นทางออกให้กับประเทศได้ ประชาชนต้องมีส่วนร่วมและยอมรับมากที่สุด แต่ยังไม่พอ ต้องป้องกันไม่คนมาฉีกทิ้งไปอีก
ตั้งกมธ. “ศึกษา” รัฐธรรมนูญมัดคอทุกพรรคการมือง
สุทิน ระบุว่า แนวทางที่คุยกันใน 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอวิธีแก้ อันดับแรก เสนอญัตติตั้งกรรมาธิการวิสามัญ “ศึกษา” การไขแก้รัฐธรรมนูญก่อน แม้ว่าประเทศไทยจะมีความรู้ ความชำนาญ และประสบการณ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว 
“แต่ที่พวกผมยื่นให้ “ศึกษา” ก่อนเป็นกลยุทธ์ ให้พรรคทุกพรรคมายอมรับกันก่อนว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหาและเราจะร่วมกันแก้ซึ่งก็ประสบผลสำเร็จ แต่เป็นเพียงเบื้องต้น”
“เราก็ชิงนำก่อน ในที่สุดก็มีประชาธิปัตย์ยื่นตาม และในวันสุดท้ายเราก็วิ่งไม่รอเลย ก็มีพลังประชารัฐ และทุกพรรคก็มายื่นตามอีก แสดงว่าทุกพรรคจะยื่นแก้ไขด้วยกัน”
นี้เป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้น ยังไม่ถึงครึ่งทางด้วยซ้ำ ซึ่งเราก็ประสบผลสำเร็จในการเลื่อนญัตติขึ้นมาพิจารณาในการประชุมสภาสมัยหน้า ไม่ให้รัฐบาลมาเตะถ่วง ซึ่งหวังเพียงว่า “มัดคอทุกพรรคเข้าด้วยกัน” ให้ยอมรับว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหา พรรคใด “เบี้ยว” ไม่ยอมมาลงคะแนน ก็จะกลายเป็นผู้ต้องหาของสังคมแน่นอน 
หลังจากนี้ อาจจะตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แต่คงยังไม่ระบุประเด็นที่ต้องแก้เพราะอาจไปกระทบอำนาจของกลุ่มกลุ่มต่างและจะไม่ได้รับความร่วมมือ วันนี้จึงต้องยอมอดทนพูดเฉพาะประเด็นหลัก“หวานอมขมกลืน” พูดกว้างๆ ไปก่อนเพื่อหลอกล่อเขา แต่เมื่อประชาชน “สุกงอม” พร้อมแล้วก็พูดอีกจังหวะหนึ่งเลย เช่น “ตัดไปเลย ส.ว.” แต่ถ้าพูดตอนนี้ก็คง “แท้ง” เลย ไม่มีพรรคใดเอาด้วย
คำถามพ่วงประชามติรัฐธรรมนูญ: “ข้อ 2 จะยอมให้มีการรัฐประหารหรือไม่”
สุทิน กล่าวอีกว่า การทำประชามติ แต่ไม่ใช่ประชามติอย่างเดียวแล้วจะเป็นที่ยอมรับ ต้องทำในบริบทที่เสรีและมีส่วนร่วมของประชาชน 
“วันลงประชามติ ผมคิดพิสดารของผมคนเดียวนะ ถามไปเลย 2 ข้อ ข้อหนึ่ง รับไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ข้อสอง ต่อไปนี้ประเทศไทยจะยอมให้มีการรัฐประหารหรือไม่”
ถ้าผลการประชามติ ประชาชนไม่ยอมรับให้มีการรัฐประหาร รัฐธรรมนูญก็คงมีภูมิคุ้มกันเล็กๆ น้อยท้ายประชามติ เพราะการยึดอำนาจทุกครั้งชอบอ้างกันเหลือเกินว่าประชาชนอยากให้ปฏิวัติ 
สรุปว่า วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สภาก็เดินไปก็ผูกมัดพรรคการเมืองไป ภาคประชาชนก็จำเป็นยิ่ง ถ้าไม่ได้ภาคประชาชนช่วยในสภาอย่างเดียวไม่พอ และสุดท้ายนี้ ปัญหาเฉพาะตัวรัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ยากกว่าทุกฉบับ และเขาคงคิดวิธีเดียวถึงจะแก้ได้ก็คือต้องยึดอำนาจเท่านั้น คราวนี้จะมีทหารกุล่มใหม่เอามาเป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจ
พรรคฝ่ายค้านมีปัญหาคือไม่สนใจแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 รัฐธรรมนูญ
สมยศ พฤกษาเกษมสุข กล่าวว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านมีปัญหา 2 เรื่อง หนึ่ง วาทกรรมที่ทำให้ประเทศไทยก้าวหน้าไปไม่ได้ คือ การไม่แก้หมวด 1 บททั่วไป และ หมวด 2 พระมหากษัตริย์ของรัฐธรรมนูญ
เนื่องจากว่าหมวด 1 พูดถึงสิทธิเสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เกี่ยวพันกับปัญหาการรัฐประหาร ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาแรงงาน ฯลฯ หรือคำว่า “อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ไม่ได้ถูกบรรจุไว้หมวดที่ 1 คือแค่คำว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” นั้นไม่พอ ทำให้มี ส.ว. ที่ต่ออำนาจให้คสช. ต่อไป
จริงๆ รัฐธรรมนูญปี 2560 ก็ยังเปิดโอกาสให้แก้หมวด 1 และหมวด 2 แต่ต้องทำประชามติ แต่การที่พรรคฝ่ายค้าน “ล็อคคอตัวเอง” โดยไม่สนพูดถึงการแก้เรื่องนี้ ทำให้การขับเคลื่อนให้เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงและสมบูรณ์ไม่เต็มที่ แต่เข้าใจว่าเป็นข้อจำกัดของพรรคการเมือง
รัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดวิธีการแก้ให้ไปจบที่ประชามติ ถ้าพรรฝ่ายค้านจะเอาแค่ สสร. แต่ถ้าสสร. ฟังเสียงประชาชนแล้วตกลงว่าจะแก้องค์กรอิสระ ต้องทำประชามติหรือไม่ ฉะนั้น ตนจึงเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญมาหนึ่งฉบับให้มีรายละเอียดจัดเจนแล้วไปผลักดันที่ประชามติเลย
ขณะที่ ปัญหาการนองเลือดเป็นปัญหาของกองทัพ ไม่ใช่ปัญหาของประชาชน ฉะนั้น การที่เราจะลงถนน หรือการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นเรื่องที่ต้องพูดเวลาเมื่อต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ภาคประชาชนต้องช่วยพรรคการเมืองดันตั้งกมธ. แก้ไขรัฐธรรมนนูญู
“ความเป็นเจ้าของการรณรงค์ไม่ควรอยู่ที่เรา(พรรคการเมือง-ผู้เขียน) เราตระหนักตรงนี้ดี ที่ผ่านมาเป็นความตั้งใจของเราที่ไม่ขยับเร็วกว่านี้ แรงกว่านี้ และไกลกว่านี้ เพราะอยากให้ความเป็นเจ้าของอยู่ที่ภาคประชาสังคม นักวิชาการ นักนิติศาสตร์ นักรัฐศาสตร์ สื่อมวล สมาคมวิชาชีพต่างๆ อยู่ที่ประชาชน” ธนาธร กล่าว 
ธนาธร กล่าวว่า เรารู้ดีว่าถ้าปราศจากแรงสนับสนุนของประชาชนในวงกว้างทุกฝักทุกฝ่ายแล้วแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ เราจึงอยากให้ความเป็นเจ้าของ (ownership) อยู่ในมือประชาชนมากกว่าพรรคการเมือง ถ้ามีองค์กรเคลื่อนไหวเรื่องนี้มากพอ เราจะเป็นผู้เล่น (player) ให้ทุกกลุ่มได้ใช้ในการเคลื่อนไหวทั้งในและนอกสภาก็แล้วแต่ ขอให้บอกมา
ถัดไป คือ เรื่องงวดเวลา รัฐสภาจะให้หรือไม่ให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนี้แล้ว ซึ่งเหลือเวลาไม่มากแล้ว ภาคประชาสังคมต้องช่วยตรวจสอบพรรคร่วรัฐบาลทุกพรรค ไม่ให้พรรครัฐบาลชิง (hijack) ธงแก้รัฐธรรมนูญ และไม่ยอมแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับตามที่ภาคประชาชนแน่นอน
ถ้าปล่อยให้คณะกรรมาธิการชุดนี้ทำงานโดยไม่มีแรงกดดันจากภาคประชาชน จะเกิดการแก้เพียงบางรายมาตราที่รัฐบาลเห็นเป็นอุปสรรคในการทำงาน มาตราที่เขาเขียนไว้แต่ทำไม่ได้ เช่น กฎกติกาการเลือกตั้ง หรือ การถวายสัตย์  ฯลฯ ถ้าปล่อยให้ให้สภาผู้แทนราษฎรทำไปตามยถากรรม แล้วพรรครัฐบาลชิงแก้รายมาตราได้สำเร็จ เขาจะนำไปอ้างกับประชาชนได้อีกว่าได้แก้รัฐธรรมนูญแล้ว
4 ข้อเสนอ ครป. : เรียกร้องทุกพรรค/ทำคู่มือ/สร้างอาสา/เคลื่อนมวลชนพรรค
หลังการประชุม สมชาย หอมลออ ที่ปรึกษา ครป เสนอว่า กลุ่มภาคประชาสังคมต่างๆ จะร่วมกันดำเนินการ ดังนี้
หนึ่ง ทำ “หนังสือเรียกร้อง” กับพรรคการเมืองทุกพรรคและวุฒิสภา(ส.ว.) ให้ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
สอง ทำ “คู่มือในการรณรงค์” เรื่องรัฐธรรมนูญ สื่อสารว่าแก้ปัญหาปากท้องประชาชนทำได้โดยการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2560 และสร้างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยเน้นให้มีบทบัญญัติเพื่อส่งผลในการกระจายอำนาจ กระจายรายได้ กระจายที่ดิน ขจัดการผูกขาด สร้างความมั่งคงทางสังคม( Social Security) ความเสมอภาค ไม่เลือกปฎิบัติ สิทธิชุมชน สิทธิชนเผ่า ปฎิรูปกระบวนการยุติธรรม ปฎิรูปกองทัพโดยใช้ข้อความง่ายๆ และอาจจัดทำร่าง รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนด้วย
สาม สร้าง “แม่ไก่” หรือการอบรมอาสาสมัครในการรณรงค์ในหมู่ภาคประชาสังคม นักวิชาการ สื่อ รวมทั้งสื่อออนไลน์เพื่อเผยแพร่ สร้างพลัง และระดมพลังในการรณรงค์เรื่องรัฐธรรมนูญ
สี่ เสนอให้พรรคการเมืองเคลื่อนไหวต่อสมาชิกของพรรคหรือมวลชนของพรรคการเมือง เพื่อขับเคลื่อนให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่