3 พรรคฝ่ายค้านประสานเสียง ชูสสร. แก้รัฐธรรมนูญโดยประชาชน

วันที่ 5 ตุลาคม 2562  ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) จัดเสวนาเรื่องพรรคการเมืองกับการแก้รัฐธรรมนูญ ภายในงาน "สู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" เบื้องต้นครช. ได้ประสานงานติดต่อผู้เข้าร่วมเป็นตัวแทนฝ่ายรัฐบาล ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์และพรรคชาติไทยพัฒนา และตัวแทนฝ่ายค้าน ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่และพรรคประชาชาติ
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้มีเพียง สุทิน คลังแสง ตัวแทนพรรคเพื่อไทย, ทวี สอดส่อง ตัวแทนพรรคประชาชาติและปิยบุตร แสงกนกกุล ตัวแทนพรรคอนาคตใหม่มาร่วมเสวนาเท่านั้น เนื่องจากนิกร จำนง ตัวแทนพรรคชาติไทยพัฒนาแจ้งว่า ป่วยกระทันหันไม่สามารถมาร่วมงานเสวนานี้ได้ ขณะที่วิเชียร ชวลิต ตัวแทนจากพรรคพลังประชารัฐรับปากว่า จะมาร่วมงานแต่วันนี้ไม่สามารถติดต่อได้ ขณะที่ไม่สามารถประสานงานพรรคประชาธิปัตย์ให้ส่งตัวแทนได้ตั้งแต่แรก
ประชาชนต้องเป็นคนกลางร่วมแก้รัฐธรรมนูญ ย้ำหนทางอีกไกลอาจมี ‘ไอ้เบี้ยว’ ขึ้นกลางคัน
สุทิน คลังแสง ตัวแทนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า  “….เพื่อไทยมองอย่างไร เดิมคิดว่า มองไม่ต่างกันว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เป็นประชาธิปไตยเลยและเป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจ แต่ดูไปดูมามีปัญหามากกว่านั้นอีก คือนอกจากไม่เป็นประชาธิปไตยแล้ว ในตัวของเขาเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่มีความศักดิ์สิทธิ์แล้ว เมื่อก่อนมีการพูดว่า มีรัฐธรรมนูญฉบับหมาเมินตอนนี้ก็หมาเริ่มเมินอีกแล้ว ผมเริ่มเห็นว่า นอกจากไม่เป็นประชาธิปไตยแล้ว ไม่ศักดิ์สิทธิ์แล้ว ยังไม่สนใจที่จะปฏิบัติตามแล้ว มีหลายมาตราที่ผู้มีอำนาจไม่สนใจจะปฏิบัติตาม อย่างน้อยที่สุดคือหนึ่ง มาตรา 161 เรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณที่ไม่จำเป็นแล้ว ไม่มีความหมายแล้ว ตอนนี้คือ จะพูดอย่างไร ปฏิญาณตนอย่างไรก็ได้แล้ว
สอง การแถลงงบประมาณ จะชี้แจงแหล่งงบประมาณหรือไม่ก็ได้ ไม่มีใครทำอะไรเขาได้ และล่าสุดที่เกี่ยวข้องโดยตรงคือ การแถลงนโยบายซึ่งกฎหมายบังคับว่า เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลจะต้องแถลงต่อสภา บอกกับประชาชนว่า จะทำอะไรดังต่อไปนี้ แต่มีนโยบายที่เขียนไว้แต่ไม่สนใจจะทำ ซึ่งก็ไม่มีใครทำอะไรเขาได้ เช่นข้อ 12 ในนโยบายเร่งด่วนรัฐบาลเขียนและแถลงต่อสภาเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ แต่วันนี้นายกฯ บอกว่า ไม่มีนโยบายจะแก้ ยังไม่ถึงเวลาจะแก้ พูดง่ายๆว่า เขียนไว้แล้วก็ไม่ทำเสียอย่าง ฉะนั้น ผมคิดว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มันมีปัญหามากกว่าความไม่เป็นประชาธิปไตยคือ เป็นรัฐธรรมนูญที่ผู้มีอำนาจไม่ใส่ใจจะปฏิบัติตาม แล้วคอยดูเรื่องพ.ร.บ. งบประมาณฯ วันที่ 17 นี้ ผมยังคิดว่า พวกเราจะเห็นอีกหลายเรื่องที่รัฐบาลไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่
เมื่อสักครู่ท่านวิทยากรปาฐากถาไปว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ลองดูสิว่า เป็นกฎหมายสูงสุดหรือคู่มืออำนาจ ผมคิดว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นคู่มืออำนาจมากกว่า อันไหนที่มันจะทำให้อำนาจเขาอยู่เขาก็จะปฏิบัติ อันไหนที่กัดกร่อนอำนาจเขาก็ไม่ปฏิบัติ แล้วก็ทำอะไรไม่ได้ องค์กรอิสระไม่รับตีความเฉยๆ แล้วใครก็ทำอะไรไม่ได้ เมื่อสักครู่นักข่าวถามว่า เขาแถลงนโยบายแล้วว่า จะแก้รัฐธรรมนูญ ถ้าเขาไม่ทำกฎหมายทำอะไรเขาได้ไหม ผมบอกว่า ผมก็จะไปค้นหาวิธีทำเหมือนกันว่าจะทำอะไรกับเขาได้ ฉะนั้นมันจนปัญญาแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่อยู่ในฐานะที่เป็นกฎหมายสูงสุด แต่เป็นฐานะคู่มืออำนาจของรัฐบาล เลือกใช้อะไรที่คงอำนาจไว้
ต่อไปนี้เราจะทำอย่างไรกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพื่อไทยมีจุดยืนชัดเจนคือต้องแก้รัฐธรรมนูญ เจ็ดพรรคฝ่ายค้านเห็นร่วมแก้ แต่ประการสำคัญตอนนี้มันไม่ใช่ว่า แก้ไม่แก้ ทำอย่างไรถึงจะแก้ได้ เพราะเขาเขียนไว้ไม่ให้แก้ เรารู้แต่เราจะแก้ ด่านที่สำคัญคือ เราจะต้องได้เสียงเห็นชอบจากส.ส.ทุกพรรค ทุกคนด้วย ตอนนี้มีพรรคนับไม่ถ้วนแล้ว 500 มือยังไม่พอ ต้องได้ ส.ว.มาบวกสัก 84 มือ แล้วคิดดูว่า จะเป็นไปได้ไหม ปัญหาสำคัญของเราคือ เราจะแก้อย่างไร ทางแคบนิดเดียวคือ วันนี้แม้เราคิดว่า อยากแก้ตรงนั้นตรงนี้ ไม่สามารถจะคิดได้อย่างใจ คือคิดตรงกันว่าทำได้อย่างเดียวคือ ต้องหาคนกลางมาแก้ให้ ถ้าให้ ส.ส. แก้เองฝ่ายรัฐบาลฝ่ายค้านก็ไม่เห็นด้วยกัน ส.ว.ไม่เอาด้วยนี้ ฉะนั้นคนกลางที่จะมาแก้และเขาจะมีโอกาสที่จะยอม ต้องประชาชน และเราจะมีโอกาส เราเองจนปัญญาแล้วเรื่องส.ส.จะแก้เอง
วิธีการจะเอาประชาชนมาแก้ต้องทำอย่างไร เราก็คิดกันเจ็ดพรรคว่า เราต้องแก้มาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ และต้องมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เท่านั้น เมื่อมีสสร.แล้ว เราเชื่อว่า ทุกพรรคหรือส.ว.จะตระหนักว่า การแก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่ฝ่ายใครนะ ประชาชนเข้ามาแก้ หากคุณสวนกระแส หรือหักกับประชาชนก็เชิญหัก เราจึงจำเป็นจะต้องให้มีสสร.
วันนี้สิ่งที่เราทำไปแล้วคือ เราทำให้ในสภาทุกคนตระหนักก่อนว่า รัฐธรรมนูญเป็นปัญหา ถ้าฝ่ายหนึ่งบอกว่า ไม่ใช่ปัญหา เราบอกว่า ใช่ปัญหา อันนี้ก็จะยุ่งล่ะ แต่ถ้าเราสามารถให้เขาตระหนักว่า มันเป็นปัญหา วิธีการที่จะทำให้เขาตระหนักคือ เสนอเป็นญัตติเพื่อตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราเจ็ดพรรคฝ่ายค้าน ยื่นก่อนไปแล้วประมาณสองเดือนที่แล้วทำไมไม่รอพรรคอื่นเพราะเป็นเรื่องรอไม่ได้ เรายื่นแล้วเราวัดใจดูด้วยว่า พรรคอื่นมองว่า เป็นปัญหาไหม ถ้าเขามองก็จะยื่นญัตติร่วมกับเรา พอยื่นไปแล้วมีลักษณะก็เตะถ่วงญัตติออกไป 
เราก็พยายามใช้กลยุทธ์ขอเลื่อนขึ้นมา ปรากฏว่า เป็นนิมิตรหมายที่ดี พรรคประชาธิปัตย์มายื่นกับพวกเราด้วย เราก็ขอเลื่อนญัตติเลย วันที่จะเลื่อนก็มีตุกติกกันมาก แต่ท้ายที่สุดก็เป็นนิมิตรหมายอันดียิ่งกว่าคือ พลังประชารัฐก็ตามมา ชาติไทยพัฒนาก็ตามมา โดยรวมแล้วในสภาวันนั้นก็มีเสียงครบทุกพรรคการเมืองให้เลื่อนญัตติดังกล่าวมาเป็นวาระแรกในการประชุมครั้งถัดไป โดยสรุปเบื้องต้นคือ การที่เขามายื่นประกบเราแม้จะเต็มใจยกหรือไม่ก็แล้วแต่ถือว่า พรรคการเมืองแคร์ประชาชน ตระหนักบ้าง พอจะเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ เปิดสภามาเราจะดึงมาที่วิธีการแก้รัฐธรรมนูญและสสร.แต่หนทางจะยังอีกไกล จะมีไอ้เบี้ยวหรือไอบ้าเกิดขึ้นหรือไม่ ก็ต้องดูต่อไป แต่ทั้งหลายทั้งปวงพวกเราคิดว่า เราเองเจ็ดพรรคต้องพึ่งประชาชนเท่านั้น ในนามสสร. ….”
รัฐธรรมนูญฉบับที่ดียังไม่เกิด องค์กรนอกระบบมีอำนาจมากกว่าองค์กรที่มาจากประชาชน
ทวี สอดส่อง ตัวแทนพรรคประชาชาติกล่าวว่า “….เหตุที่ต้องแก้รัฐธรรมนูญเพราะคิดว่า วันนี้ประชาชนของประเทศไทยมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี เพราะบ้านเมืองมันยังไม่เป็นประชาธิปไตย เรามองว่า รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดเรายังไม่ได้ร่าง ซึ่งวันนี้จะมาชวนกันร่าง รัฐบาลที่ดีที่สุดมันยังไม่ได้เกิด ที่ต้องเรียนแบบนี้เพราะเราต้องทำประชาชนให้ดี มีอำนาจอธิปไตย ระบอบการปกครองประชาธิปไตยที่เป็นสากลจะทำให้ประชาชนมีความสุข เพราะทำให้มนุษย์หรือคนส่วนใหญ่ได้ระดมสติปัญญาในการหาทางออกให้แก่ประเทศ เป็นการกำหนดชะตาให้แก่เราเอง ตอนนี้สิ่งที่เราไม่ได้เป็นประชาธิปไตยเพราะคนทั้งประเทศไม่ได้มีส่วนในการกำหนดการพัฒนาความมั่นคงของตนเอง มันเป็นความมั่นคงของรัฐ เราจึงเห็นความเหลื่อมล้ำมากมาย มะเร็งร้ายคือการพัฒนาของคนที่มีอำนาจคือการแย่งชิงทรัพยากรจากประชาชน
ปัญหาคือว่า เรายังไม่มีรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด เราจะไปสู่รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด เราต้องยอมรับว่า รัฐธรรมนูญที่ร่างมาในยุคหลังเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ดี และเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเพราะปกติสถาบันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยคือ พรรคการเมือง แต่ปัจจุบันประเทศไทยมีการจัดตั้งสถาบันทางการเมืองขึ้นมาคือ กองทัพและระบบราชการ สถาบันการเมืองสองแบบที่พูดมาคือพรรคการเมืองและกองทัพฯ มีเป้าหมายเหมือนกันคือ ต้องการอำนาจ ตำแหน่งและผลประโยชน์ทางการเมือง แต่พรรคการเมืองเข้าสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้งและประชาชน กองทัพต้องการอำนาจโดยการฉีกรัฐธรรมนูญ โดยการยึดอำนาจเข้ามา 80 ปีที่ผ่านมาถ้าเราไปดูสถาบันทั้งสองแบบคือ พรรคการเมืองและกองทัพ เราจะเห็นว่า กองทัพอยู่ได้นานที่สุด สองหน่วยนี้เดินไปอย่างเป็นคู่อริกัน ที่สำคัญคือ พอมีการปฏิวัติในอดีตจะมีการร่างรัฐธรรมนูญมาร่างรัฐธรรมนูญ กองทัพจะใช้อาจารย์ ใช้ระบบราชการ และตอนหลังใช้ตุลาการในการร่างรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญ 2560 คือ ตัวอย่างคนที่มาโดยประชาชนมีอำนาจน้อยมาก แต่คนที่มีอำนาจนอกระบบ ที่ไม่ได้มาโดยรัฐธรรมนูญกลับมีอำนาจมาก สรุปคือ รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดยังไม่ได้ร่าง รัฐบาลที่ดีที่สุดก็ยังไม่เกิด  ทำอย่างไรจะให้คนทั้งประเทศเข้ามามีส่วนในการร่างรัฐธรรมนูญ…”
รัฐธรรมนูญแก้ยาก แต่ทำได้ หากมีเสียงประชาชนมากพอ เน้นทำงานคู่ขนานทั้งในและนอกสภา
ปิยบุตร แสงกนกกุล กล่าวว่า “….รัฐธรรมนูญคือกฎหมายที่เนื้อหาพูดถึงการออกแบบระบบการเมืองของรัฐๆหนึ่ง พูดถึงเรื่องการก่อตั้งสถาบันทางการเมืองต่างๆ มันพูดถึงเรื่องของอำนาจหน้าที่และความสัมพันธ์ของสถาบันการเมืองต่างๆ จะมีในลักษณะแบบใด ฉะนั้น รัฐธรรมนูญ เราจะเห็นว่า มีการเขียนรูปแบบของรัฐแบบใด รัฐสภาแบ่งเป็นกี่สภา มีคณะรัฐมนตรี แบ่งเป็นศาลกี่ศาล พวกนี้ทั้งหมดคือ การออกแบบระบบของรัฐๆหนึ่งในรัฐธรรมนูญ และอีกเรื่องหนึ่งที่จะพูดกันคือ พูดถึงเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนหรือสมาชิกในรัฐๆนั้นว่า คุณจะไม่ถูกรัฐล่วงละเมิดสิทธิของพวกคุณ เมื่อเนื้อหาสำคัญเช่นนี้มันเลยส่งผลต่อเนื่องต้องทำให้กฎหมายนี้หรือรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด การใช้อำนาจขององค์กรต่าง ๆมีอำนาจเพรารัฐธรรมนูญสร้างให้มี กำเนิดตัวขึ้นมา ดังนั้นการใช้อำนาจต่างๆ ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ประชาชนที่อยู่ในรัฐเกิดความอุ่นใจและรู้ตัวว่า องค์กรของรัฐทั้งหลายจะใช้อำนาจและมีข้อจำกัดที่ใด
รัฐธรรมนูญควรจะผลิตออกมาจากคนทั่วไปทั้งหมดทั่วประเทศมาร่วมกันทำ ดังนั้น เราจึงยืนยันว่า อำนาจต้องมาจากประชาชน ร่วมกันคิด ร่วมกันเขียน ร่วมกันตัดสินใจว่า จะเอาอย่างไรดีกับรัฐธรรมนูญที่จะใช้ด้วยกันทั้งประเทศ นัยนี้คือ รัฐธรรมนูญจึงเป็นผลผลิตของการสร้างฉันทามติออกมา สุดท้ายประเทศนี้จะปกครองแบบไหน มีองค์กรทางการเมืองใดบ้าง จะประกันสิทธิและเสรีภาพมากน้อยแค่ไหน ถ้ามีลักษณะแบบนี้ได้ รัฐธรรมนูญจะมีอายุยาวนาน เพราะมาจากการตัดสินใจร่วมกันของทุกคน
ปัญหาของประเทศไทย คือ รัฐธรรมนูญไทยเปลี่ยนบ่อย และวิธีการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญจนวันนี้ฉบับที่ 20 เปลี่ยนด้วยวิธีแบบอานารยชนทั้งสิ้น คือฉีกโดยมีคณะนายทหารกลุ่มหนึ่งเข็นรถถังเอาอาวุธออกมาและประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนรัฐธรรมนูญด้วยวิธีแบบนี้เป็นประจำ เราเปลี่ยนรัฐธรรมนูญด้วยวิธีแบบอารยชนเขาทำกันอยู่ประมาณสามครั้งเท่านั้น 24 มิถุนายน 2475 ไป 10 ธันวาคม 2475 และเปลี่ยนในปี 2589, 2534 และ 2540 
เราเปลี่ยนตามครรลองแค่สามครั้ง ส่วนที่เหลือฉีกหมด และองค์กรที่ฉีกมากที่สุดคือ กองทัพ ดังนั้นเวลานายพล ทหารบก นายกฯ ที่มาจากการยึดอำนาจเที่ยวบอกให้คนอื่นเคารพรัฐธรรมนูญจึงเป็นเรื่องตลกร้ายที่สุดในประเทศนี้ เพราะว่า คนที่มาเรียกร้องให้คนเคารพรัฐธรรมนูญ เคารพกฎหมายเป็นคนที่ละเมิดรัฐธรรมนูญคนแรก เป็นคนที่ฉีกรัฐธรรมนูญคนแรก แล้วมีความผิดฐานกบฏในราชอาณาจักร แต่ตัวเองนิรโทษกรรมให้ตัวเองแล้วลอยหน้าลอยตาเป็นนายกฯจนถึงทุกวันนี้ แล้วก็ยังมีหน้ามาบอกให้คนอื่นเคารพรัฐธรรมนูญเคารพกฎหมาย มันเลยกลับตาลปัตรที่สุด
ขณะเดียวกันนักวิชาการ นักการเมือง ภาคประชาชน จะเรียกร้องให้มีการแก้รัฐธรรมนูญตามกระบวนการ ไม่ได้มีปืน ไม่ได้มีรถถังจะไปฉีกได้หรอก แก้ตามกระบวนการที่พวกคุณออกแบบมานี้กลับโดนแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ และไม่ใช่ข้อหาธรรมดาแต่เป็นข้อหาความมั่นคง ยุยงปลุกปั่น บ่อนทำลายชาติบ้านเมือง โอโห มันเหลือเชื่อที่สุด ไม่มีอะไรกลับตาลปัตรได้ขนาดนี้แล้ว คนที่ฉีกรัฐธรรมนูญเที่ยวมาชี้หน้าด่าคนที่จะแก้รัฐธรรมนูญตามกระบวนการตามระบบ
ฉะนั้น รัฐธรรมนูญจะมีลักษณะที่ผมบอกว่า มีการออกแบบสถาบันการเมืองร่วมกันของคนในชาติ ประกันสิทธิเสรีภาพ เกิดฉันทามติร่วมกันของคนในชาติและผลิตออกมาเป็นรัฐธรรมนูญ เราลองย้อนดูว่า รัฐธรรมนูญสี่ฉบับหลังของประเทศไทยไม่มีคุณสมบัติแบบนี้อยู่เลยคือ รัฐธรรมนูญ 2549, 2550,2557 และ2560  ซึ่งมีลักษณะสองเรื่องใหญ่คือ เป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหาร ดังนั้นการขีดเขียนรัฐธรรมนูญจึงบงการโดยคนที่ยึดอำนาจ ออกแบบกระบวนการ ตั้งกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ ผลัดกันเกาหลังอยู่แบบนี้ และออกมาทำประชามติ โดยรวมคือมันถูกบงการโดยคนที่ยึดอำนาจ อำนาจอยู่ในมือของคณะรัฐประหาร
สอง รัฐธรรมนูญสี่ฉบับหลัง ผมเรียกอยู่เสมอว่า เป็นรัฐธรรมนูญของการแก้แค้นเอาคืน ยึดอำนาจเพื่อจะจัดการศัตรูทางการเมือง กลุ่มพลังทางการเมืองที่พวกคุณไม่ชอบ ทำไปแล้วรอบแรกไม่สำเร็จ มันกลับมาอีกแล้วเว้ย เอาอีกรอบนึงรัฐประหารซ่อม เนื้อหามันจึงมีวัตถุประสงค์คือ ลดทอนอำนาจของผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญลักษณะแก้แค้นเอาคืนแบบนี้ไม่มีทางสร้างฉันทามติให้คนในชาติ ความปรองดองให้กับคนในประเทศได้เลย มันเป็นรัฐธรรมนูญแบบตีหัวเข้าบ้าน 
พูดง่ายๆคือ วันนี้มีกำลังขนกันออกมายึด ต่อต้านก็ออกไปจับ เสร็จแล้วออกแบบกันเต็มที่ สืบทอดอำนาจมีองค์กรนั้นองค์กรนี้แล้วตัวเองก็มีพรรคการเมืองลงเลือกตั้ง และมีพรรคใหญ่ที่สุดในสภาชื่อพรรควุฒิสภา 250 คนออกแบบเป็นขั้นเป็นตอน คนไทยไม่ได้กินแกลบ ออกแบบมาแบบนี้ก็รู้อยู่ การแก้แค้นเอาคืนจะสร้างฉันทามติได้อย่างไร คนที่เขาไม่พอใจแต่ทำอะไรไม่ได้เพราะเอาอำนาจมายึด ยึดเสร็จเขียนรัฐธรรมนูญ เขียนเสร็จบอกว่า แก้ยากมาก 
คนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 กล้าหาญเรื่องการเขียนให้ยากแบบนี้คือคนที่เห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจที่สุด หนึ่ง คือยึดอำนาจจากปืน พอเขียนเสร็จแทนที่จะเปิดโอกาสให้แก้ไขตามขั้นตอน แต่คุณปิดประตูล็อคตายหมดเลย มันเหมือนพวกเราใช้ชีวิตปกติ แต่ลากเราเข้ามาอยู่ในห้องมืด ออกแบบไม่ให้เราหนี นี่คือตีหัวเข้าบ้านและจองจำคนไทยจำนวนมาก จึงเห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจที่สุด และคนเขียนไม่ได้เป็นอมตะวันหนึ่งต้องจากโลกนี้ตามธรรมชาติ แต่ทิ้งรัฐธรรมนูญแบบนี้ให้อนุชนคนรุ่นหลัง
กลายเป็นว่า ทุกอย่างกลับตาลปัตร ไม่มีคุณสมบัติเพียงพอเพื่อจะสร้างฉันทามิติให้คนในชาติ ตกลงแล้วเราต้องการประเทศอย่างไร สถาบันการเมืองการปกครอง ให้ทุกฝ่ายพอจะรับกันได้ แพ้ก็รับได้ ชนะก็ต้องถูกตรวจสอบ จะทำอย่างไรให้ทุกกลุ่มทุกฝ่ายอยู่กันได้ภายใต้รัฐธรรมนูญแบบนี้
ผมพูดมาทั้งหมดนี้เพื่อที่จะบอกว่า รัฐธรรมนูญสี่ฉบับหลังไม่ได้มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะสร้างฉันทามติร่วมกันของคนในชาติ ดังนั้นต้องเริ่มต้นกันใหม่ ต้องมานั่งพูดคุยกันจริงๆว่า ตกลงแล้วเราต้องการรูปแบบการเมืองการปกครอง รูปแบบสถาบันการเมือง รูปแบบการประกันสิทธิเสรีภาพ ออกแบบประเทศ ออกแบบระบบการเมืองการปกครองด้วยกันอย่างไรที่ให้ทุกฝ่ายพอจะรับกันได้ แม้วันหนึ่งแพ้การเลือกตั้งก็พอจะรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ แม้วันหนึ่งคุณเป็นรัฐบาลก็จะถูกตรวจสอบ จะทำอย่างไรให้คนทุกกลุ่มทุกฝ่ายอยู่กันได้อย่างสงบ
การแก้รัฐธรรมนูญแก้ยากจริงๆ แต่ต้องทำคู่ขนานในสภาเราก็ดันไป ในขณะเดียวกันทำงานกับภาคประชาชน ภาคประชาสังคมกับนักวิชาการก็ทำไป ช่วยกันผลักช่วยกันดัน ลองนึกย้อนไปในการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญ 2540 มันคล้ายๆกัน หลังจากเหตุการณพฤษภาคม 2535 เริ่มมีความคิดแบบไม่เอาอีกแล้วทหารมายึดอำนาจ ทหารมาฆ่าประชาชน ยุ่งกับการเมือง ต้องการรัฐบาลทีมีเสถียรภาพและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ ต้องการให้มีระบบองค์กรอิสระ เกิดฉันทามติแบบนั้นในช่วงปี 2540 
ทุกวันนี้อยากจะทำแบบเดิมต้องเริ่มต้น ตอนนั้นใช้เวลานานมาก รัฐบาลคุณชวนมีการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษา รัฐบาล บรรหารที่หาเสียงเอาไว้ว่า จะตั้งสสร. พอเป็นรัฐบาลก็รีบทำ มีตั้งคณะกรรมการศึกษา จนเกิดสสร.ในปี 2539 นักการเมืองจำนวนมากไม่เอา แต่เจอกระแสการกดดันจนสำเร็จ บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแก้ยากมากจริงๆ แต่ถ้าสังคมประชาชนทุกคนเอาด้วย ผมเชื่อว่า ส.ว.ก็ต้องเงี่ยหูฟัง ร่วมกันแสวงหาฉันทามติ ทำให้เป็นเรื่องของคนทุกคน ถ้าทำได้แบบนี้บทบัญญัติยากอย่างไรถึงเวลาก็จะแก้ได้เอง…”