60% จากกว่า 3,000 คน ให้เอารัฐธรรมนูญปี 40 กลับมาใช้ ไม่ต้องร่างใหม่

การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องให้ทุกคนมีส่วนร่วม ช่วยกันคิด ช่วยกันออกความเห็น ยิ่งเป็นความต้องการจากคนจำนวนมาก ยิ่งมีโอกาสเป็นไปได้จริง ดังนั้น ในวันที่ 25 กันยายน 2562 ไอลอว์ได้ชวนประชาชนในโลกออนไลน์แสดงความคิดเห็นว่า ถ้าเกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้น ต้องการให้ใครมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผลปรากฎว่า 60% จากกว่า 3,000 คน ต้องการให้นำรัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาใช้แทนฉบับปัจจุบัน โดยไม่ต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
รัฐธรรมนูญปี 2560 ประชาชนไม่มีส่วนร่วม ร่างใหม่เอาไงดี
รัฐธรรมนูญปี 2560 ร่างขึ้นโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ทั้งคณะ ไม่ได้มีตัวแทนที่ประชาชนมอบอำนาจให้เข้าไปยกร่างขึ้น และยังกำหนดไว้ว่า หากต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะสามารถเสนอได้โดย บุคคลต่อไปนี้
– คณะรัฐมนตรี
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของ ส.ส. ทั้งหมด หรือ 100 จาก 500 คน
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภารวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกรัฐสภา หรือ 150 จาก 750 คน
- ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คนเข้าชื่อกัน
ซึ่งหากให้คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันเสนอแก้ไข ก็อาจจะเป็นข้อเสนอแนวทางเดียวกับ คสช. ถ้าหากให้ประชาชนเข้าชื่อกันเสนอก็อาจจะเป็นข้อเสนอของกลุ่มที่มีความคิดเห็นตรงกันกลุ่มนั้นๆ ถ้าหากเป็นสมาชิกรัฐสภาเสนอ ก็อาจจะเป็นข้อเสนอในแนวทางของพรรคการเมืองนั้นๆ ขณะเดียวกันการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ก็ยังสามารถออกแบบกระบวนการและองค์กรแบบอื่นๆ ขึ้นมาใหม่ก็ได้ เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้จริง
ถาม: จะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ใครมาร่างดี?
วันที่ 25 กันยายน 2562 ไอลอว์ชวนประชาชนในโลกออนไลน์ ช่วยกันคิดว่า  “ เมื่อจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ใครมาร่างดี??” โดยได้โพสต์ข้อความทำเป็นแบบสำรวจให้คนเข้ามาแสดงความคิดเห็น ซึ่งทดลองเสนอรูปแบบเลือกให้กัน ดังนี้
 
 
หนึ่ง ยังไม่ต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะอาจจะใช้กระบวนการมาก ใช้งบประมาณมาก และใช้เวลานาน เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงควรเร่งเอารัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาเป็นตัวตั้งต้น และเสนอแก้ไขให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เลย เนื่องจากเป็นรัฐธรรมนูญที่มีที่มาแบบมีส่วนร่วมมากที่สุด และมีเนื้อหาส่งเสริมประชาธิปไตยมากที่สุด >>> ใครเห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ กด Like
สอง จัดทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ โดยจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ขึ้นมาใหม่ มีที่มาตามโครงสร้างแบบ สสร. ของฉบับปี 2540 คือ มีตัวแทนจากการเลือกตั้งทางอ้อม 76 คน จาก 76 จังหวัด มาจากการให้ผู้สมัครคัดเลือกกันเองให้เหลือจังหวัดละ 10 คน และให้สมาชิกรัฐสภาคัดเหลือ 76 คน และตัวแทนนักวิชาการ มาจากการเสนอรายชื่อโดยสถาบันการศึกษา จำนวน 23 คน รวมแล้ว 99 คน >>> ใครเห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ กด Love
สาม  จัดทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ โดยจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ขึ้นมาใหม่ มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ให้ผู้สมัครเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญหาเสียงโดยตรงกับประชาชนว่า มีวิสัยทัศน์ต้องการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่เป็นอย่างไร และให้ประชาชนโหวตเลือก ส่วนระบบการเลือกตั้งนั้นต้องช่วยกันออกแบบต่อไป >>> ใครเห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ กด Haha
สี่ จัดทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ แต่ไม่ต้องจัดตั้งสภาขึ้นใหม่และไม่ต้องเลือกตัวแทนใหม่ เพราะปัจจุบันมีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นตัวแทนทำหน้าที่อยู่แล้ว อาจใช้กลไกตั้งกรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎรและใช้กลไกการลงมติตามปกติในการจัดทำและเสนอร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้ >>> ใครเห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ กด WOW
นอกจากนี้หากใครมีไอเดียอื่นๆ ที่จะจัดโครงสร้างในการออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนทุกกลุ่มได้ ก็ช่วยกันเสนอได้เลย
การ แก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องให้ทุกคนมีส่วนร่วม ช่วยกันคิด ช่วยกันออกความเห็นนะ
ตอบ:  60.1% จาก 3,166 คน เห็นควรให้เอารัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาใช้เลย 
หลังชวนให้ทุกคนร่วมกันตอบคำถามเป็นเวลา 48 ชั่วโมง พบว่า มีผู้เข้าร่วมกดอารมณ์ต่างๆ 3,166 คน แบ่งเป็น การตอบข้อ 1 กด Like 1,903 คน การตอบข้อ 2 กด Love 408 คน การตอบข้อ 3 กด Haha 792 คน การตอบข้อ 4 กด WOW 63 คน และมีคนร่วมกด Sad ซึ่งไม่ได้เป็นตัวเลือกอีก 5 คน คิดเป็นคำถามได้ดังนี้
60.1% เห็นด้วยกับข้อเสนอ ไม่ต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ให้เอาฉบับปี 2540 กลับมาใช้เลย
12.9% เห็นด้วยกับข้อเสนอ ให้จัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้น โดยเอาโครงสร้างแบบ สสร. ฉบับปี 2540
25% เห็นด้วยกับข้อเสนอ ให้จัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ มีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง
2% เห็นด้วยกับข้อเสนอ ให้ร่างใหม่โดยสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน
 
 
นอกจากนี้ยังมีผู้แสดงความคิดเห็น (คอมเม้นต์) ที่น่าสนใจอีกหลายความเห็น เช่น “ถ้าเลือกตั้งลุงแม่งก็เอาระบบแปลกๆมาใช้จนชนะอีก จะให้สรรหาก็ได้พวกมันอีก” “2540นี่ก็บกพร่องมากครับ ผิดหลักการเป็นกติกาสูงสุดของประเทศด้วย” “ในสภาพบ้านเมืองแบบนี้ไม่มีเวลาพอที่จะมาหารือกันเรื่องว่าจะเอาอย่างไรให้ยืดเยื้อครับ…สิ่งที่ดีที่สุดคือนำรัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาใช้ก่อนเฉพาะกาลแล้วจะแก้ไขหรือจะเปลี่ยนอย่างไรก็ค่อยคิดค่อยทำไป” ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นข้อถกเถียระหว่างตัวเลือกที่ 1 และ 3
และก็ยังมีความคิดเห็นประเด็นอื่นๆ อีก เช่น “ใช้เทคโนโลยี ร่างพร้อมกันกับประชาชนทั้งประเทศ แบบไม่มีตัวแทนตายตัว” “อะไรก็ได้ ขอแค่สามเงื่อนไข – อำนาจเป็นของปชช. ใครจะมีอำนาจสั่งการปชช.ไม่ได้ *ไม่ว่าใครก็ตาม* – ไม่ต้องยกเรื่องนิรโทษมาพูดกันอีก นักโทษทางการเมืองต้องไม่มีสิทธิ์รับอภัยโทษ – ผู้ทำรัฐประหารให้นับเป็นกบฎต้องรับโทษประหารทั้งคณะเท่านั้น ไม่มีลดหย่อนหรือ อภัยโทษ” เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ผลที่ได้จากการเปิดให้ทุกคนร่วมแสดงความคิดเห็นในครั้งนี้แสดงให้เห็นความต้องการของคนกลุ่มหนึ่งที่มีนัยยะสำคัญ แต่ไม่ใช่ข้อสรุปสุดท้าย เพราะยังมีคนอีกหลายกลุ่ม และมีประเด็นที่เกี่ยวข้องอีกหลายประเด็นที่ยังต้องร่วมกันแสดงคิดเห็นโดยคนจำนวนมากอีกต่อไปเรื่อยๆ เพื่อให้ได้ฉันทมติร่วม เป็นร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตจากผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นบางท่านว่า ผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นบางคนอาจจะกด Like เพียงเพราะชื่นชอบโพสต์นี้ ประเด็นคำถามนี้ มากกว่าอยากจะเลือกตอบในตัวเลือกข้อ 1 ก็เป็นได้ ซึ่งเป็นข้อจำกัดทำให้ผลที่ได้มายังอาจไม่ตรงกับความต้องการในใจของทุกคนอย่างแท้จริง
กิจกรรมที่เปิดให้ประชาชนร่วมกันแสดงความคิดเห็นต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ภายใต้รัฐบาล “คสช. 2” ภายใต้สภาผู้แทนราษฎรที่มีความหลากหลาย เพื่อมาแทนรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับที่ “คสช. 1” ตั้งคนมาร่างขึ้นเอง ยังคงต้องเดินหน้าต่อไปในคำถามอื่นๆ และรูปแบบอื่นๆ ซึ่งต้องการแรงสนับสนุนจากทุกคนเพื่อให้ได้ความคิดเห็นร่วมกันอย่างแท้จริง