ปีแรกหลังเลือกตั้ง ถ้าทุจริตการเลือกตั้ง ต้องคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อใหม่

นับตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 เป็นต้นมา ดูเหมือนว่า ที่นั่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสภาจะยังไม่คงที่ เนื่องจากระบบเลือกตั้งแบบใหม่ที่เรียกว่า "จัดสรรปันส่วนผสม" ซึ่งใช้คะแนนเสียงจาก ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งเป็นฐานในการคำนวณที่นั่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ทำให้ทุกการเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับผลการเลือกตั้งของ ส.ส. แบบแบ่งเขตย่อมส่งผลต่อจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อไปด้วย
อย่างไรก็ดี พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 หรือ "พ.ร.ป.การเลือกตั้งฯ" ได้วางหลักเกณฑ์ไว้ว่า ถ้าภายในระยะหนึ่งปีหลังมีการเลือกตั้งทั่วไป หากมีการจัดเลือกตั้งใหม่ ให้มีการคำนวณที่นั่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อใหม่ ในกรณีที่การเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม แต่ถ้าเกินหนึ่งปีไปแล้วหากมีการเลือกตั้งใหม่ก็ไม่ต้องมีการคำนวณที่นั่ง ส.ส. ใหม่ หรือ ในกรณีอื่นๆ ที่มิใช่การทุจริตการเลือกตั้งก็ไม่จำเป็นต้องคำนวณที่นั่ง ส.ส. อีกเช่นกัน
กกต. แจกใบดำ 1 ใบ และเตรียมเลือกตั้งใหม่ 4 เขต
ข้อมูลเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2562 พบว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่อย่างน้อย 4 จังหวัด และการยื่นเรื่องต่อศาลฎีกาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งอีก 1 ราย โดยมีรายละเอียดดังนี้
๐ เลือกตั้งใหม่ จังหวัดนครปฐม เขต 5 เนื่องจาก จุมพิตา จันทรขจร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ลาออกเนื่องจากปัญหาสุขภาพ
๐ เลือกตั้งใหม่ จังหวัดกำแพงเพชร เขต 2 เนื่องจาก พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ถูกศาลพิพากษาจำคุก 4 ปี คดีล้มประชุมอาเซียน ซึ่งถือว่ามีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ
๐ เลือกตั้งใหม่ จังหวัดขอนแก่น เขต 7 เนื่องจาก นวัธ เตาะเจริญสุข ส.ส.พรรคเพื่อไทย ถูกศาลพิพากษาประหารชีวิต คดีจ้างวานฆ่า ซึ่งถือว่ามีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ
๐ เลือกตั้งใหม่ จังหวัดสมุทรปราการ เขต 5 เนื่องจาก กรุงศรีวิไล สุทินเผือก ส.ส.พลังประชารัฐ ที่ กกต.เตรียมให้ใบเหลือง เลือกตั้งใหม่ จากกรณีคนใกล้ชิดใส่ซองช่วยงานศพในช่วงเลือกตั้ง
๐ จังหวัดจันทบุรี เขต 2  ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ถูก กกต. ยื่นศาลฎีกาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง(ใบดำ)
ส.ส.ลาออก-ขาดคุณสมบัติ ให้เลือกตั้งใหม่แต่ไม่คำนวณที่นั่ง ส.ส. ใหม่
ตาม พ.ร.ป.การเลือกตั้งฯ มาตรา 131 วรรคสามระบุว่า "การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนตําแหน่งที่ว่างไม่ว่าด้วยเหตุใดภายหลังพ้นเวลาหนึ่งปีนับแต่วันเลือกตั้งทั่วไป มิให้มีผลกระทบกับการคํานวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละพรรคการเมืองจะพึงมีตามมาตรา 128"
หรือหมายความว่า ภายหลังพ้นเวลาหนึ่งปีนับแต่วันเลือกตั้งทั่วไป ถ้ามีตำแหน่ง ส.ส. แบบแบ่งเขตว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ไม่ส่งผลต่อการคํานวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละพรรคการเมืองจะพึงมี หรือ จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พรรคควรจะได้
ส่วนในพ.ร.ป.การเลือกตั้งฯ มาตรา 131 วรรคสี่ระบุว่า "ให้นําความในวรรคสามมาใช้บังคับแก่กรณีที่มีการเลือกตั้งแทนตําแหน่งที่ว่างด้วยเหตุอื่นใด นอกจากเหตุตามวรรคหนึ่งก่อนพ้นเวลาหนึ่งปีนับแต่วันเลือกตั้งทั่วไปด้วยโดยอนุโลม"
หรือหมายความว่า ภายในเวลาหนึ่งปีนับแต่วันเลือกตั้งทั่วไป หากมีการเลือกตั้งใหม่เพื่อแทนตำแหน่ง ส.ส. ที่หายไปซึ่งเป็นเหตุผลอื่น ไม่ใช่เหตุผลจากการทุจริตการเลือกตั้ง ก็ให้ถือว่าการเลือกตั้งนั้นไม่เป็นผลให้มีการคํานวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละพรรคการเมืองจะพึงมีอีก
ดังนั้น ในกรณีจังหวัดนครปฐม เขต 5 ที่ ส.ส. ลาออกหรือ กรณี ส.ส.จังหวัดกำแพงเพชร เขต 2ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ ให้ถือว่าต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ แต่การเลือกตั้งนั้นไม่จำเป็นต้องนำคะแนนจากผลการเลือกตั้งครั้งใหม่ไปคำนวณที่นั่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ
ส.ส. ทุจริตเลือกตั้ง ให้ลบคะแนนของผู้ทุจริตออกจากการคำนวณที่นั่ง ส.ส.
ตาม พ.ร.ป.การเลือกตั้งฯ มาตรา 131 วรรคหนึ่ง ระบุว่า "ภายในหนึ่งปีหลังจากวันเลือกตั้งอันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ถ้าต้องมีการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งใดขึ้นใหม่ เพราะเหตุที่การเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้คํานวณจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อใหม่ โดยมิให้นําคะแนนที่ได้รับจากการเลือกตั้งที่เป็นเหตุให้มีการเลือกตั้งใหม่มารวมคํานวณด้วย และให้นําวิธีการคํานวณตามมาตรา 129 และมาตรา 130 มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม"
หรือหมายความว่า ในกรณีที่มีการเลือกตั้งใหม่ภายในหนึ่งปีหลังการเลือกตั้งทั่วไป เหตุเพราะการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้มีการคำนวณที่นั่ง ส.ส. บัญชีรายชื่อใหม่ โดยมิให้นำคะแนนที่รับจากการเลือกตั้งนั้นมาคำนวณที่นั่ง ส.ส. และให้มีการคำนวณที่นั่ง ส.ส. ใหม่หลังมีผุ้ได้รับเลือกตั้งแทนในตำแหน่งที่ว่าง
ส่วนพ.ร.ป.การเลือกตั้งฯ มาตรา 131 วรรคสอง ระบุว่า "ภายในหนึ่งปีหลังจากวันเลือกตั้งอันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป หากปรากฏว่าผู้สมัครผู้ใดกระทําการอันถือว่าเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง และผู้นั้นไม่ได้รับการเลือกตั้ง หากมีการนําคะแนนที่ผู้สมัครผู้นั้นได้รับไปรวมคํานวณเพื่อจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อให้พรรคการเมืองที่ผู้นั้นสังกัดไปแล้วให้ดําเนินการคํานวณเพื่อหาจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองใหม่โดยมิให้นําคะแนนที่ผู้สมัครดังกล่าวได้รับไปรวมคํานวณด้วย และให้นําความในมาตรา 129 วรรคสี่และวรรคห้า มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม"
หรือหมายความว่า ในกรณีที่พบว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งทุจริตการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้รับเลือกเป็น ส.ส. ให้ตัดคะแนนเสียงที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนดังกล่าวได้ออก ไม่นำไปคำนวณที่นั่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ
ดังนั้น ในกรณีที่ กกต. ยื่นศาลฎีกาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัคร ส.ส. เขต 2 จันทบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ให้ถือว่าคะแนนการเลือกตั้งที่ผู้สมัคร ส.ส. รายดังกล่าวได้มาจะไม่ถูกนำไปคำนวณเพื่อหาจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ
ส่วนกรณีกรุงศรีวิไล สุทินเผือก ส.ส.พลังประชารัฐ ที่ กกต.เตรียมให้ใบเหลือง เลือกตั้งใหม่ จากกรณีคนใกล้ชิดใส่ซองช่วยงานศพในช่วงเลือกตั้งนั้น ก็ให้มีการเลือกตั้งใหม่และคะแนนที่ได้ก็จะถูกนำไปคำนวณที่นั่ง ส.ส. บัญชีรายชื่อต่อในอนาคต