ส.ว. พ้นจากตำแหน่งเป็นคนที่สอง เหลือ ส.ว. ปฏิบัติหน้าที่ 248 คน

26 กันยายน 2562 ศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ถึงกรณีที่ ชยุต สืบตระกูล สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุกห้าปี กรณีทุจริตการจัดซื้อที่ดินตาบอดของกรุงเทพมหานคร ซึ่งทำให้ชยุต ต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ว. และต้องทำการเรียกชื่อลำดับสำรองในบัญชีรายชื่อสำรอง ส.ว. ขึ้นมาแทนตำแหน่ง
 
ชยุต ถือว่าเป็น ส.ว. คนที่สองที่พ้นจากตำแหน่ง ส.ว.แต่งตั้ง ต่อจาก นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาล ค.ส.ช. และ ส.ว.แต่งตั้ง ได้ยื่นหนังสือลาออกกับประธานวุฒิสภา และมีผลตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา ทำให้ขณะนี้มี ส.ว. อยู่ในตำแหน่งทั้งหมด 248 คน จากทั้งหมด 250 คน เนื่องจากยังไม่มีการแต่งตั้งรายชื่อจากบัญชีสำรองขึ้นมาแทนที่
 
 
ชยุต สืบตระกูล พ้นจาก ส.ว. เพราะมี "ลักษณะต้องห้าม" ตามรัฐธรรมนูญ
 
26 กันยายน 2562 ศาลฎีกามีคำพิพากษา "ชยุต สืบตระกูล" ให้ต้องโทษจำคุกตามคำพิพากษาศาลฎีกา และถือว่าคดีนี้ถึงที่สุดแล้ว เนื่องจากศาลฎีกาเป็นศาลชั้นสุดท้ายในกระบวนการยุติธรรมไทย ซึ่งในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 111 (6) กำหนดให้สมาชิกภาพของ ส.ว. สิ้นสุดลงเมื่อ ต้องคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุก แม้จะมีการรอการลงโทษ เว้นแต่เป็นการรอการลงโทษ ในความผิดอันได้กระทําโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งคำพิพากษาของศาลฎีกา ที่ลงโทษจำคุกห้าปี ถือว่าเป็นคำพิพากษาที่ถึงที่สุดที่ให้จำคุกแล้ว จึงทำให้มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญและต้องพ้นสภาพการเป็น ส.ว.
 
อีกทั้งยังถือว่าขาดคุณสมบัติ และเข้าลักษณะต้องห้ามในการเป็น ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 ข. (1) ประกอบกับมาตรา 98 (6) ที่กำหนดว่า ส.ว. ต้องห้ามต้องคําพิพากษาให้จําคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล และ (10) เคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ หรือต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทําความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทําโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิด ฐานเป็นผู้ผลิต นําเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสํานักกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน 
 
สำหรับคดีนี้ เกิดขึ้นในช่วง 4 ธันวาคม 2538 – 16 กันยายน 2540  ขณะที่ ชยุต เป็นเลขานุการของ พิจิตต รัตตกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร ถูกกล่าวหาว่า ชยุต ถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจหน้าที่ให้กทม. จัดซื้อที่ดินเป็นที่จอดรถขยะ รถน้ำ และรถอื่นๆ ของ กทม. ย่านบางซื่อ ในราคา 270 ล้านบาท ซึ่งแพงเกินจริงกว่า 36 ล้านบาท และรับค่านายหน้าขายที่ดินเป็นเงิน 18 ล้านบาท จนกระทั่งศาลฎีกาตัดสินคดีในวันดังกล่าว
 
 
เตรียมแต่งตั้ง ส.ว. จากบัญชีสำรองแต่แยกตามที่มา 
 
ชยุต ถือว่าเป็น ส.ว. คนที่สองที่พ้นจากตำแหน่ง ส.ว.แต่งตั้ง ต่อจาก นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาล ค.ส.ช. และ ส.ว.แต่งตั้ง ได้ยื่นหนังสือลาออกกับประธานวุฒิสภา และมีผลตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา ทำให้ขณะนี้มี ส.ว. อยู่ในตำแหน่งทั้งหมด 248 คน จากทั้งหมด 250 คน เนื่องจากยังไม่มีการแต่งตั้งรายชื่อจากบัญชีสำรองขึ้นมาแทนที่
 
ในกรณีของ น.พ.ธีรเกียรติ  ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 269 (4) กำหนดให้ ถ้ามีตําแหน่ง ส.ว. ว่างลง ให้เลื่อนรายชื่อบุคคลตามลําดับในบัญชีสํารองที่คสช. จัดทำไว้ขึ้นมา โดยรายชื่อ ส.ว. สำรองลำดับที่ 1 คือ ดอน ปรมัตถ์วินัย แต่เนื่องจากดอนยังดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ทำให้มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญหากยังไม่ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี และหากไม่ลาออก ผู้ที่จะได้รับการเลื่อนลำดับขึ้นมาแทน ดอน คือ อภิชาติ โตดิลกเวชช์ อดีตอธิบดีกรมพัฒนาชุมชน ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการแต่งตั้งแต่อย่างใด
 
ในส่วนตำแหน่งของ ชยุต นั้น ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 269 (4) กำหนดไว้ว่าต้องให้ดูจากบัญชีสำรองที่ คสช. จัดทำแยกกันออกมาจากการสรรหาต่างกัน ซึ่ง ชยุต นั้นผ่านการสรรหาแบบการสรรหาตามสายอาชีพ จากสายอาชีพกฎหมาย ที่กำหนดให้มี ส.ว. จากการสรรหาจากแต่ละสายอาชีพจำนวน 50 คน หรือเรียกว่า แบบ 1 (ก) ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 269 (1) ซึ่งบัญชีรายชื่อ ส.ว. สำรองแบบ 1 (ก) คือบัญชีที่ประกาศเป็น ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 1/2562 เป็นรายชื่อสำรอง ที่มาจากการสรรหา ส.ว. ตามแบบ 1 (ก) ในรายชื่อตามบัญชีดังกล่าว สำรองอันดับ 1 ได้แก่ จัตุรงค์ เสริมสุข ทนายความ ผู้เคยสมัครคัดเลือกกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)