คสช. 2 ใช้ พ.ร.ก.ตีเช็คเปล่า! เลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมสถาบันครอบครัวฯ ไม่มีกำหนด

ในสมัยที่ 2 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่กลายร่างมาเป็นคณะรัฐมนตรีประยุทธ์ 2/1 มีการใช้ พ.ร.ก.ครั้งแรก ชื่อว่า พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนา และคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 พ.ศ.2562 หรือ พ.ร.ก.ชะลอการบังคับใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมสถาบันครอบครัวฯ โดยอ้างเหตุความไม่พร้อมด้านกำลังคนและทรัพยากรว่า หากปล่อยให้กฎหมายบังคับใช้โดยไม่มีความพร้อมอาจจะก่อให้เกิดความเสียหาย อีกทั้งตัว พ.ร.ก. ยัง "ตีเช็คเปล่า" ให้รัฐบาลเป็นคนกำหนดช่วงเวลาในการบังคับใช้กฎหมายจากสภา 
อย่างไรก็ดี ประเด็นดังกล่าวทำให้สภานำโดยพรรคฝ่ายค้านเข้ามาตรวจสอบ โดยอ้างว่า เหตุในการออก พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าวไม่เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และได้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยเป็นที่เรียบร้อย
รัฐบาลออก พ.ร.ก. ชะลอการบังคับใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมสถาบันครอบครัวฯ อ้างเหตุรัฐบาลไม่พร้อม
26 สิงหาคม 2562 เว็ปไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนา และคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 พ.ศ.2562 ซึ่งถือว่าเป็นการใช้อำนาจทางบริหารในการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ครั้งแรกของรัฐบาลคสช. 2
โดยการออก พ.ร.ก. นั้นเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน สามารถออก พ.ร.ก. ได้เลย และจะมีผลเป็นกฎหมายโดยสมบูรณ์เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่หลังจากนั้นในการประชุมรัฐสภาในคราวถัดไป คณะรัฐมนตรีต้องเสนอ พ.ร.ก. ให้รัฐสภาอย่างไม่ชักช้า เพื่อให้รัฐสภาลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ พ.ร.ก. นั้นๆ โดยสมาชิกรัฐสภาต้องลงคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาทั้งหมด หากการลงคะแนนเสียงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดก็ถือว่าพระราชกำหนดนั้นผ่านการเห็นชอบจากสภา และให้ตรากฎหมายเป็นพระราชบัญญัติ และประกาศในราชกกิจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ โดยพระราชกำหนดนั้นมีศักดิ์ทางกฎหมายเทียบเท่ากับพระราชบัญญัติ
สำหรับสาระสำคัญของ พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว อยู่ในมาตรา มาตรา 3 ที่ให้ยกเลิกข้อความในมาตรา 2 ของ พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนา และคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 ที่ระบุไว้ว่า "พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป" และให้แก้เป็น "มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้จะใช้บังคับเมื่อใดให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา" หรือหมายความว่า ให้เปลี่ยนระยะเวลาบังคับใช้จาก 90 วัน หลังกฎหมายถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็น "ให้เวลาโดยอิสระ" กับรัฐบาลในการเลือกช่วงเวลาบังคับใช้ โดยหากรัฐบาลต้องการให้กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ให้ตราพระราชกฤษฎีกาออกมา 
โดยพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฏ) กำหนดไว้ใน มาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ว่า "พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอํานาจในการตราพระราชกฤษฎีกาโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย" ซึ่ง พ.ร.ฏ. หมายถึง บัญญัติแห่งกฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้น โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนดเพื่อใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน ตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี ซึ่งในทางปฏิบัติการที่จะออก พ.ร.ฏ. ต้องเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารออก และต้องมีกฎหมายให้อำนาจในการออกไม่ว่าจะเป็น รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ. หรือ พ.ร.ก. ซึ่งศักดิ์ทางกฎหมายของ พ.ร.ฎ. จะมีศักดิ์เป็นกฎหมายลูก มีศักดิ์ต่ำกว่า พ.ร.ก. และ พ.ร.บ. ซึ่งเป็นกฎหมายแม่ 
นอกจากนี้ ในมาตรา 4 ของ พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าวยังกำหนดให้กลับไปใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนา และคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2550 แทน 
ส่วนเหตุผลในการใช้ พ.ร.ก. ฉบับนี้ จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า มีอุปสรรคด้านความพร้อมด้านบุคลากรและขั้นตอนการปฏิบัติ เพราะหากมีการใช้บังคับตามกำหนดเวลาเดิมในขณะที่ยังไม่มีความพร้อมอาจเกิดผลร้ายต่อสังคมเป็นอย่างยิ่ง
รัฐธรรมนูญกำหนดให้ใช้ พ.ร.ก. ได้เพื่อความปลอดภัยประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ
ในการออกพระราชกำหนด รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 172 กำหนดว่า พระราชกำหนดนั้นจะออกได้ ในกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะ "รักษาความปลอดภัยของประเทศ" "ความปลอดภัยสาธารณะ" "ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ" หรือ "ป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ" และเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉิน ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ 
ฝ่ายค้านยื่นตรวจสอบ ความไม่พร้อมของรัฐบาลไม่ถือเป็นเหตุผลในการใช้ พ.ร.ก. 
หลังรัฐบาลออก พ.ร.ก. ชะลอการบังคับใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมสถาบันครอบครัวฯ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ฝ่ายค้านได้ร่วมเข้าชื่อกันเสนอต่อ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการตรา พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัวฯ เป็นไปตามเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญมาตรา 172 วรรคหนึ่ง ตามหลักการออก พ.ร.ก. หรือไม่ ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ 
โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2562 สุทิน คลังแสง ส.ส.จังหวัดมหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ประธานคณะกรรมการพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ได้รวบรวมรายชื่อ ส.ส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนทั้งหมด คือไม่ต่ำกว่า 100 รายชื่อ เพื่อยื่นเรื่องผ่านประธานสภาส่งศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัย พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าวว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่
วิษณุ ยืนยัน พ.ร.ก.ชอบด้วยกฎหมาย-ขู่ยุบสภาถ้า พ.ร.ก. ไม่ผ่าน
11 กันยายน 2562 วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในประเด็นการความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการออก พ.ร.ก. ว่า ในฐานะที่อยู่ในรัฐบาล และรัฐบาลเป็นผู้ออก พ.ร.ก.จึงเชื่อว่า สามารถทำได้เมื่อมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน หรือเป็นเรื่องรักษาความสงบปลอดภัยสาธารณะ หากศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องแล้วแจ้งมารัฐบาลก็ต้องชี้แจงไป รัฐบาลทราบว่าการออก พ.ร.ก.มีหลักเกณฑ์ และได้ออกมาหลายครั้งแล้ว และหากเข้าหลักเกณฑ์ก็ต้องออกเป็น พ.ร.ก.
ส่วนในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรออกมาคัดค้านการออก พ.ร.ก.ฉบับนี้ วิษณุ ยืนยันว่า การออก พ.ร.ก.ถือเป็นทางออก ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้วินิจฉัย โดยหากศาลวินิจฉัยว่ามีเหตุผล เรื่องก็จบ และจะเข้าสู่การโหวตในที่ประชุมสภาต่อไป อีกทั้งยังมองว่า ความพร้อมไม่พร้อมในการบังคับใช้พ.ร.บ.ฉบับปี 2562 ไม่ใช่ความผิดพลาดแต่หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่สามารถออก พ.ร.ก.ฉบับนี้ได้ ก็ถือว่ารัฐบาลทำไม่ถูก เช่นเดียวกับสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็มี พ.ร.ก.ไม่ผ่าน จนนำไปสู่การยุบสภา และลาออก ซึ่งยอมรับว่าเรื่องเล็กอาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้
ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง สภาตรวจสอบความชอบของ พ.ร.ก.
18 กันยายน 2562 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้แจ้งข่าวว่าศาลรัฐธรรมนูญ ได้พิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้อง และเอกสารประกอบคำร้อง ในประเด็นที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรยื่นคำร้องขอวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ของ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ส่งเสริมสถาบันครอบครัวฯ 
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ส.ส. ทั้งหมด 142 คน ถือว่าเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมด ได้ยื่นรายชื่อต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ส่งเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนวิธีการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 173 วรรคสอง แล้ว จึงมีคำสั่งรับคำร้องเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา
ซึ่งก่อนหน้านี้วันที่ 11 กันยายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งเรียกเอกสารเพิ่มเติมจากประธานสภาผู้ร้องเรื่องดังกล่าวเป็นที่น่าติดตามว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของ พ.ร.ก.ฉบับนี้อย่างไร