บทบาทและสถานะ “ศาลรัฐธรรมนูญ” หลังการรัฐประหาร

ศาลรัฐธรรมนูญ ถือเป็นองค์กรและกลไกสำคัญในยามที่ประเทศต้องการตัดสินชี้ขาดทั้งในแง่ของการใช้อำนาจรัฐหรือความสับสนของการตีความกฎหมาย ซึ่งแน่นอนว่า ผลของการตัดสินย่อมส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนในสังคม ด้วยเหตุนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องมีหลักประกัน "ความเป็นอิสระ" ไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
หลังการรัฐประหาร คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้เข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และออกประกาศให้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มีอันต้องสิ้นสุดลง แต่ยังคงให้องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญยังคงทำหน้าที่ของตนต่อไป
ในปี 2558 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) สภาที่มาจากการแต่งตั้งของคสช. ได้รับหน้าที่ในการแต่งตั้งบุคคลไปดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระจากคสช. และถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่หลังการรัฐประหารที่มีการแทรกแซงกระบวนการแต่งตั้งองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ
ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามามีบทบาทสำคัญโดยเฉพาะประเด็นที่เป็นข้อขัดแย้งทางการเมือง ดังนี้
29 มิถุนายน 2559 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ มาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ปี 2559 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งที่มาตราดังกล่าวทำให้มีผู้ที่รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างโดยคสช. ต้องถูกดำเนินคดี
๐  28 กันยายน 2559 ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญตามผลการออกเสียงประชามติในคำถามพ่วงเพื่อให้วุฒิสภาเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยบุคคลนั้นไม่จำเป็นต้องมาจากรายชื่อที่พรรคการเมืองเป็นคนเสนอตามกฎหมายก็ได้
๐  20 เมษายน 2560 หัวหน้าคสช. ใช้ "มาตรา 44" ต่ออายุ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 5 คน ที่ครบวาระการดำรงตำแหน่ง
22 กุมภาพันธ์ 2561 ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องจากผู้ได้รับผลกระทบจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ขอให้วินิจฉัยว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 60 หรือไม่ โดยศาลระบุต้องใช้สิทธิทางศาลและผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน
9 มีนาคม 2561 ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาคำร้องกรณีที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่งความเห็นของสมาชิก สนช. ว่าขอให้วินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 185 บัญญัติว่าให้ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช.และกรรมการ ป.ป.ช.ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่ พ.ร.ป.นี้ใช้บังคับ ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนครบวาระตามกฎหมาย ป.ป.ช. เดิมนั้นขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ไม่ขัด
23 พฤษภาคม 2561 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. มาตรา 91,92,93,94,95 และ 96 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลใช้บังคับในวาระเริ่มแรก มีเนื้อหากำหนดให้การสรรหา ส.ว.มีการกำหนดจำนวนกลุ่มผู้สมัคร วิธีการสมัครและกระบวนการเลือก แตกต่างไปจากการได้มาซึ่งส.ว.ตามบททั่วไป ไม่มีข้อความขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
30 พฤษภาคม 2561 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในส่วนที่บัญญัติว่า ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งผู้ใด ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งและไม่ได้เเจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง หรือเเจ้งเหตุที่มอาจไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งแล้ว แต่เหตุนั้นมิใช่เหตุอันสมควร ผู้นั้นจะถูกจำกัดสิทธิ์ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองหรือผู้บริหารท้องถิ่นนั้นไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 
5 มิถุนายน 2561 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 53/2560 ที่ไปแก้ไข พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่พรรคการเมืองต้องยืนยันสมาชิกพรรคเดิมภายใน 30 วัน และให้มีสาขาและตัวแทนจังหวัดของพรรคหลังคสช. ปลดล็อค นั้น ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
29 สิงหาคม 2561 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องความเป็นรัฐมนตรีของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต้องสิ้นสุดลงหรือไม่ หลังคณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นตรวจสอบกรณีการถือครองหุ้นเกินจำนวนที่กำหนด แต่ว่าศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้อง คำชี้แจงของผู้ถูกร้อง และเอกสารประกอบแล้ว ในชั้นนี้ยังไม่ปรากฏมูลเหตุที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อส่วนรวมหรือการบริหารราชการแผ่นดินแต่ประการใด กรณียังไม่มีเหตุอันควรสงสัย ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อนตามบทบัญญัติดังกล่าว
7 กุมภาพันธ์ 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์สั่งยุบไทยรักษาชาติ เหตุกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จากการเสนอชื่อ 'ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ' อยู่ในบัญชีนายกรัฐมนตรีที่พรรคเป็นผู้เสนอ
24 เมษายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับวินิจฉัยสูตรคำนวน ส.ส.ปาร์ตี้สิสต์ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้ายการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 โดยระบุเป็นหน้าที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง
8 พฤษภาคม 2562 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.ป.ว่าด้ายการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 ว่าด้วย กำหนดวิธีคิด ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ว่าด้วยการคำนวณที่นั่ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ดังนั้น จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 
23 พฤษภาคม 2562 ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ 'ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ' หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ หยุดปฏิบัติหน้าที่ จากกรณีถือครองหุ้นใน บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เข้าลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ซึ่งเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ และไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย ปมแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ขัดกับกฎหมายหรือไม่ ชี้เป็นเพียงการออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กลั่นกรอง เสนอรายชื่อตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เป็นการออกกฎเกณฑ์ที่มีผลใช้บังคับ
26 มิถุนายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องกรณีที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นผ่าน ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคุณสมบัติ 41 ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลถือในหุ้นกิจการสื่อมวลชนไว้พิจารณา โดยมีมติรับคำร้องทั้งสิ้น 32 คนและส่งสำเนาให้ผู้ถูกร้องชี้แจงข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีมติให้ ส.ส. กลุ่มนี้หยุดปฎิบัติหน้าที่ จนกว่าจะมีคำวิจฉัย เหมือนกับกรณีของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ โดยระบุเหตุผลว่า จะต้องมีเหตุอันควรสงสัย แต่กรณีนี้ผู้ร้องไม่ได้ตั้งกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง คงมีเพียงเอกสารประกอบแบบคำร้องเท่านั้น
19 กรกฎาคม 2562 ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาปมพรรคอนาคตใหม่ ธนาธร ปิยบุตร และคณะกรรมการบริหารพรรค ใช้สิทธิหรือเสรีภาพล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพีระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จากกรณีสัญลักษณ์ของพรรคมีความเชื่อมโยงกับองค์กรลับ "อิลลูมินาติ" (Illuminati) ซึ่งนายณฐพร โตประยูร ผู้ร้องระบุว่ามีแนวคิดล้มล้างการปกครองระบบกษัตริย์
27 สิงหาคม 2562 ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ มีความผิดฐานถือหุ้นสัมปทานรัฐเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี กรณีถือครองหุ้นของบริษัทที่ได้รับสัปทานจากรัฐ ส่วนอดีตรัฐมนตรีในยุคคสช. อีก 3 คน ได้แก่ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล อดีต รมช.ศึกษาธิการ สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีต รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม  ไม่มีความผิด
11 กันยายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ ไม่รับคำร้องผู้ตรวจการแผ่นดินที่ขอให้วินิจฉัยกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นการกระทำทางการเมือง เป็นเรื่องของรัฐบาลกับพระมหากษัตริย์ ไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบในองค์กรใดตามรัฐธรรมนูญ
๐ 18 กันยายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้าคสช. และนายกฯ ไม่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ เรื่องเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ แม้ว่าศาลฎีกาจะเคยพิพากษาให้การฝ่าฝืนไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งคสช. เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานของรัฐ