รู้แล้วว่า ‘บิลลี่’ ไม่ได้หาย แต่ ‘กฎหมาย’ ยังมีช่องโหว่ พ.ร.บ.ยังไม่โผล่สักที

ดีเอสไอ แถลงต่อสาธารณะว่า บิลลี่ได้เสียชีวิตแล้ว ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งใน 86 ราย ที่ถูกบังคับให้สูญหายในรอบ 28 ปี และแม้ว่าไทยจะเป็นภาคีในอนุสัญญาเรื่องคนหาย แต่ยังไม่มีการออกกฎหมายมาคุ้มครองและปกป้องสิทธิของประชาชน มีแต่เพียงร่างพ.ร.บ.ที่เสนอและตกไปเท่านั้น
'บิลลี่' หายเมื่อปี 2557 คนสุดท้ายที่พบ คือ หัวหน้าอุทยาน
บิลลี่ – พอละจี รักษ์จงเจริญ ชาวไทยชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เกิดที่หมู่บ้านบางกลอยบน เป็นหลานชายของ "ปู่คออี้" ผู้นำทางจิตวิญญาณของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอยบน บนผืนป่าแก่งกระจาน หรือ ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ใจแผ่นดิน” บิลลี่สามารถสื่อสารได้ทั้งภาษาไทยและภาษากะเหรี่ยง เป็นที่ไว้วางใจของชาวบ้านบริเวณนั้น และมีบทบาทในการนำกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงถึงการต่อสู้เพื่อเรียกคืนความเป็นธรรมแก่บ้านเกิดของตนเอง และวิถีดั้งเดิมของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง นอกจากนั้นเขายังเป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี อีกด้วย
            
เนื่องจากบิลลี่ สามารถเขียนและอ่านภาษาไทยได้ดีที่สุดในหมู่บ้านจึงเป็นพยานปากสำคัญในคดีที่ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยเป็นโจทก์ฟ้องต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2555 เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กรณีไล่รื้อและเผาทำลายทรัพย์สินชาวกะเหรี่ยง ในปี 2554 และขอสิทธิอาศัยในพื้นที่เดิมที่ตั้งรกรากมายาวนานร่วม 100 ปี บิลลี่มีนัดเบิกความต่อศาลปกครองในวันที่ 18 พฤษภาคม 2557 
ในขณะนั้น ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร เป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงที่เดิหน้าผลักดันให้รื้อถอน ทำลาย ทรัพย์สินของชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่บริเวณ 'ใจแผ่นดิน' ซึ่งอยู่ในเขตของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานที่เขารับผิดชอบ ในขณะเดียวกันบิลลี่มีหลักฐานทั้งภาพและวีดีโอบันทึกเหตุการณ์ชายสวมเสื้อเจ้าหน้าที่อุทยานกำลังตัดต้นไม้ภายในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
17 เมษายน 2557 บิลลี่ถูกควบคุมตัวขึ้นรถยนต์ โดยนายชัยวัฒน์ อ้างว่าเพื่อตักเตือนที่บิลลี่ครอบครองรังผึ้งและน้ำผึ้งป่า 5 ขวด ซึ่งผิดกฎหมาย ก่อนปล่อยตัวไปบริเวณแยกหนองมะค่า ชัยวัฒน์ เป็นพยานคนสุดท้ายที่ได้พบเห็นและพูดคุยกับบิลลี่  และนับแต่วันนั้นบิลลี่ก็ได้หายตัวไป
21 เมษายน 2557  มึนอ ภรรยาของบิลลี่ ชาวบ้าน และตัวแทนเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี และ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเพชรบุรี และหลังจากนั้นยังมีกระบวนการเรียกร้องความเป็นธรรมเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง มีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับบิลลี่หลายครั้ง มีการยื่นคำร้องต่อศาลเพชรบุรีให้สั่งให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติปล่อยตัวบิลลี่ แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด
จนเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2562 กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ฃออกมาแถลงว่า พบชิ้นส่วนกระดูก 2 ชิ้น ถังน้ำมัน 200 ลิตร 1 ถัง เหล็กเส้น 2 เส้น ถ่านไม้ 4 ชิ้นและเศษฝาถังน้ำมันและได้ส่งให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ตรวจพิสูจนพบว่า วัตถุชิ้นกระดูกเป็นกะโหลกศีรษะข้างซ้ายของมนุษย์ มีรอยไหม้สีน้ำตาล ร่วมกับรอยแตกร้าว และการหดตัวของกระดูกจากการถูกความร้อนที่อุณหภูมิประมาณ 200-300 องศาเซลเซียส และได้ตรวจพบสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอพบว่า ตรงกับมารดาของบิลลี่ จึงสรุปว่า บิลลี่ หรือ พอละจี รักษ์จงเจริญ ได้เสียชีวิตแล้วโดยไม่ทราบวิธีที่ทำให้ตายแต่นำมาเผาเพื่ออำพรางคดี  
นอกจากบิลลี่ ยังมีอีก 85 คนที่หาย 
ลักษณะของการ “อุ้มหาย” หรือการบังคับบุคคลให้สูญหาย (Enforced Disappearrance) คือ การกระทำที่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้องโดยใช้อำนาจรัฐ ในการจับกุม กักขัง หน่วงเหนี่ยว หรือลิดรอนเสรีภาพ แม้เจ้าหน้าที่รัฐจะปฏิเสธว่า เป็นผู้กระทำหรือไม่มีส่วนเกี่ยวข้องก็เป็นการกระทำที่เข้าลักษณะการบังคับบุคคลให้สูญหาย และผู้กระทำกับผู้ปฏิเสธไม่จำเป็นต้องเป็นบุคคลเดียวกัน
           
ที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี พ.ศ.2534 ถึงปี 2561 ข้อมูลจากคณะทำงานของสหประชาชาติ พบว่า ในประเทศไทยเคยเกิดเหตุการณ์ 'อุ้มหาย' ไม่ต่ำกว่า 85 กรณี ซึ่งบุคคลที่สูญหายจะเป็นบุคคลที่ต่อกรกับอำนาจรัฐเพื่อต่อสู้และเรียกร้องความเป็นธรรมในหลากหลายรูปแบบทั้ง การต่อสู้ทางอุดมการณ์ทางการเมือง การคอรัปชั่น การต่อสู้เพื่อกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ดินทำกิน ตัวอย่างเช่น
ทนง โพธิ์อ่าน อดีตประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทษไทยและเป็นผู้นำการเมือง ในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รสช. และหายตัวไปเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2534 บริเวณหน้าสหภาพฯขนส่งสินค้าออก
           
สมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ซึ่งว่าความให้แก่ผู้ต้องหาในคดีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้หายตัวไปตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2547           
           
กมล เหล่าโสภาพันธ์ สมาชิกเครือข่ายภาคประชาชนต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น ชาวอ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น หายตัวไปขณะที่อยู่บนโรงพักบ้านไผ่เมื่อกลางดึกวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2551
           
พ่อเด่น คำแหล้ ประธานโฉนดชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เป็นแกนนำในการเรียกร้องการปฏิรูปที่ดินชุมชน ได้หายตัวไปในป่าตั้งแต่ 16 เมษายน 2559
           
วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ (โกตี๋) นักจัดรายการวิทยุและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ลี้ภัยอยู่ในลาวได้หายตัวไปจากบ้านพักเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2560
           
สยาม ธีรวุฒิ บัณฑิตจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และอดีตสมาชิกกลุ่มประกายไฟที่ลี้ภัยทางการเมืองออกจากประเทศไทยหลังจากเกิดการรัฐประหารปี 2557 หายตัวไปจากประเทศเวียดนามเมื่อต้นปี 2562
กฎหมายมีช่องโหว่ ญาติของคนหายดำเนินคดีแทนไม่ได้
บุคคลที่สูญหายบางรายหายไปหลายปีและไม่พบศพ เมื่อญาติผู้เสียหายต้องการที่จะฟ้องคดีความอาญาต่อเจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากว่า ตามหลักเรื่อง 'ผู้เสียหาย' ของกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ต้องเป็นผู้เสียหายโดยตรงจึงจะฟ้องคดีได้ เว้นแต่ ผู้เสียหายนั้นถึงแก่ความตายหรือบาดเจ็บสาหัส ญาติของผู้เสียหายจึงจะสามารถฟ้องคดีแทนได้ 
อังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของสมชาย นีละไพจิตร ผู้ใช้เวลากว่า 15 ปีในการเรียกร้องความเป็นธรรม เคยกล่าวถึงกรณีปัญหาทางกฎหมายข้อนี้เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562 ในงาน “คนก็หาย กฎหมายก็ไม่มี” ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องในโอกาสวันผู้สูญหายสากล ไว้ว่า
“ศาลฎีกาตัดสินว่า ญาติไม่มีสิทธิในการเป็นผู้เสียหายในการฟ้องคดี เนื่องจากว่า ไม่ทราบว่าผู้เสียหายบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ต้องให้ทนายสมชายมาฟ้องเอง”
“แม้เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้มีคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบติดตามเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้สูญหาย โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน แต่ตนได้รับการร้องเรียนว่า เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมได้ไปพบครอบครัวและขอให้ถอนเรื่องร้องเรียนต่อสหประชาชาติ ครอบครัวผู้สูญหายเจ็บปวดมากพออยู่แล้วจากการที่ไม่ทราบชะตากรรมของคนในครอบครัว และขอกล่าวถึงกระทรวงยุติธรรมว่า อย่ากระทำการเช่นนี้อีก แม้ว่าอาจจะทำให้ตัวเลขผู้ถูกบังคับให้สูญหายลดลงแต่ความจริงบุคคลเหล่านั้นก็ยังไม่กลับมาอยู่กับครอบครัวอยู่ดี”
มีกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว แต่ไทยยังไม่ออก 'พ.ร.บ.อุ้มหายฯ'
นอกจากปัญหาในเรื่องของการฟ้องคดีที่เป็นมาตรการการเยียวยาความเสียหายเพื่อการอำนวยความยุติธรรมของญาติผู้เสียหายแล้ว ประเทศไทยได้ลงนามใน อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลจากการหายสาบสูญโดยการถูกบังคับ หรือ International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance (ICPPED) และสภา สนช. ได้ลงมติเพื่อเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาดังกล่าวเมื่อปี 2560 แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน ประเทศไทยก็ยังไม่ออกกฎหมายภายในเพื่อบังคับใช้ให้เป็นไปตามตามอนุสัญญานี้ 
ความคืบหน้าในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย มีให้เห็นบ้าง แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริงแม้ในยุคที่กฎหมายถูกผลักดันออกมามากมาย
เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2561 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ลงมติรับหลักการแห่ง ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอไว้พิจารณา แต่ สนช. ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ ก็หมดอายุไปและจัดการเลือกตั้งขึ้น ร่างกฎหมายจึงตกไป 
ในร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฉบับล่าสุด  ที่ได้เห็นในปี 2561  มีเนื้อหาที่เขียนรับรองสิทธิมนุษยชนของประชาชนตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ โดยกำหนดให้คดีอุ้มหายและคดีซ้อมทรมานต้องขึ้นศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบเพื่อการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน โดยใช้การพิจารณาคดีแบบไต่สวน คือ ศาลสามารถสืบหาพยานหลักฐานได้เพื่อที่ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยง่ายเพราะคดีอุ้มหายและซ้อมทรมานจะเป็นการพิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนซึ่งอาจจะแสวงหาพยานหลักฐานได้ยากกว่าเจ้าหน้าที่รัฐ
ในมาตรา 32 ของร่างดังกล่าว ได้บัญญัติไว้ถึงการรับผิดในฐานะผู้บังคับบัญชา ซึ่งจะต้องรับผิดร่วมกับบุคคลผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาโดยตรงของตน ซึ่งในประเด็นนี้ก็มีข้อสังเกตว่า ในร่างดังกล่าวกำหนดแต่เพียงว่า ผู้บังคับบัญชาที่จะต้องรับผิด จำกัดเฉพาะกรณีผู้บังคับบัญชาทราบว่าผู้ใต้บังคับบัญชาโดยตรงของตนกระทำความผิดเท่านั้น ไม่ได้กำหนดว่า ผู้บังคับบัญชาต้องเป็นผู้บังคับบัญชาซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบและมีอำนาจควบคุมกิจกรรมของผู้ใต้บังคับบัญชาที่เป็นเหตุให้เกิดการบังคับให้สูญหายนั้น 
           
ในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังได้บัญญัติไว้ในมาตรา 24 ให้พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวนหรือพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ คณะกรรมการ หรือ คณะอนุกรรมการหรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ หรือสามี ภริยา หรือญาติ ของผู้ที่ถูกกระทำทรมานหรือถูกกระทำให้สูญหายสามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งระงับการกระทำเช่นนั้นทันที ซึ่งมีขึ้นเพื่อแก้ปัญหาในกรณีที่คนถูก 'อุ้มหาย' แล้วไม่มีผู้เสียหายที่จะดำเนินคดีแทนได้
           
ตามมาตรา 21 ในกรณีที่มีการจับกุมบุคคลตามกฎหมายเจ้าหน้าที่มีหน้าที่ต้องบันทึกข้อมูลส่วนตัวที่สามารถใช้ระบุตัวบุคคลที่ถูกจำกัดเสรีภาพ ภาพถ่าย ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพร่างกายก่อนที่จะถูกจำกัดเสรีภาพและหลังจากการปล่อยตัวหากเจ้าหน้าที่ทำการปล่อยตัวแล้วให้ทำการบันทึกด้วยว่า มีผู้ใดมารับตัวหรือไม่ ซึ่งญาติมีสิทธิในการร้องขอต่อเจ้าหน้าที่ผู้จับกุมให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกจับกุมได้ ตามมาตรา 22 แต่เจ้าก็สามารถปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลได้ตามมาตรา 23 ซึ่งเป็นกรณีที่หากเปิดเผยข้อมูลไปแล้วอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวผู้ถูกจับกุมเองหรือละเมิดความเป็นส่วนตัวของบุคคล หรือเป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนคดีอาญา
จนกระทั่งวันนี้บิลลี่ได้สูญหายไป 5 ปีแล้วร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ยังคงเป็นร่างกฎหมายอยู่ และคงหวังได้เพียงว่า ในทางกฎหมายแล้ว ร่างพ.ร.บ.นี้คงจะได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาที่มาจากการเลือกตั้ง และผ่านออกมาเพื่อเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการคุ้มครองสิทธิของประชาชนตามได้ให้สัตยาบันไว้ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ ICPPED