สรุปคำพิพากษา คดีไล่ชาวบ้านออกจากที่ทำกินชุมชุนบ่อแก้ว อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ

 

ข้อมูลพื้นฐาน
โจทก์ในคดีนี้ คือ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) มีอำนาจ ขัมภลิขิต เป็นรองผู้อำนวยการและเป็นผู้ดำเนินคดีนี้ 
จำเลยในคดีนี้ คือ ชาวบ้าน และเครือข่ายองค์กรที่ทำงานช่วยเหลือชาวบ้าน จำนวน 31 คน ระหว่างดำเนินคดีเสียชีวิตไปหนึ่งคน จึงเป็นบุตรของจำเลยเข้าเป็นจำเลยแทน และโจทก์ขอถอนฟ้องไปอีกหนึ่งคน
โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่ง ต่อศาลจังหวัดภูเขียว เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2552 ในข้อหาบุกรุก และละเมิด ขอให้ขับไล่จำเลยทั้ง 31 คน และบริวาร ออกจาพื้นที่สวนป่าคอนสาร ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาว ต.โนนคูณ, ห่วยยาง, ทุ่งพระ อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและต้นไม้ที่จำเลยปลูกไว้ และปรับสภาพพื้นที่สวนป่าให้กลับคืนสู่สภาพเดิม และห้ามจำเลยทั้งหมดเข้าเกี่ยวข้องในพื้นที่สวนป่าคอนสารอีก
ข้อต่อสู้ของโจทก์
  1. โจทก์มีฐานะเป็นองค์การของรัฐ จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ พ.ศ.2499 เมื่อผู้อำนวยการไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ จึงให้รองผู้อำนวยการรักษาการแทน ต่อมาเมื่อปี 2516 มีกฎกระทรงกำหนดให้ป่าภูซำผักหนาม เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ต่อมาปี 2521 โจทก์ได้ปลูกสวนป่าขึ้นในพื้นที่จำนวน 4,401 ไร่ ตามบันทึกข้อตกลงกับกรมป่าไม้
  2. หลังจากรับมอบสวนป่าแล้ว โจทก์ทยอยปลูกต้นยูคาลิปตัสเต็มพื้นที่ โจทก์มีหน้าที่ต้องดูแลรักษาพื้นที่ป่าให้คงความเป็นพื้นที่ของรัฐ เมื่อมีผู้บุกรุกเข้าครอบอครองโจทก์มีหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยปกติสวนป่าต้องมีการดำเนินการตามแผนในการบำรุงรักษาต้นไม้ กำจัดวัชพืช ใส่ปุ๋ยบำรุงดูแลรักษาต้นไม้ และการเข้าไปป้องกันไฟป่า
  3. เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2552 จำเลยทั้ง 31 คน รวมทั้งชาวบ้านประมาณื 200 คน บุกรุกเข้าพื้นที่สวนป่าคอนสาร โดยขนสัมภาระ ของใช้ และสิ่งปลูกสร้างชั่วคราว ได้แก่ เสาไม้ เสาปูน เต็นท์ผ้าใบ เข้ามาปลูกสร้างเป็นเพิงพัก มีการนำไม้กั้นเป็นด่านเข้าออกและปักป้ายชื่อชุมชนบ่อแก้ว ครอบครองเนื้อที่ 84 ไร่ ทำให้เจ้าหน้าที่ของโจทก์ไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ได้ กลุ่มชาวบ้านยังได้ถางไม้พื้นล่างและไม้ธรรมชาติตามแนวกันชนในเขตสวนป่าคอนสาร และนำพืชผลทางการเกษตรและพืชยืนต้นปลูกในระหว่างร่องแถวของต้นยูปคาลิปตัสที่โจทก์ปลูก ส่งผลให้ต้นยูปคาลิปตัสซึ่งเป็นไม้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบ ชะงักการเจริญเติบโต
  4. กลุ่มชาวบ้านแจ้งว่า สวนป่าคอนสารทับที่ดินทำกินของประชาชน ขอให้กันที่ดินทำเป็นโฉนดชุมชน 1,500 ไร่
  5. วันที่ 26 มิถุนายน 2552 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแจ้งว่า ไม่สามารถผ่อนผันให้ราษฎรได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายให้อำนาจ ให้โจทก์ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
ข้อต่อสู้ของจำเลย
  1. ชาวบ้านเข้าถือครองทำประโยชน์ที่ดินในบริเวณนั้น ตั้งแต่ปี 2496 โดยมีหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่ หลักฐานการแจ้งกาาครอบครอง และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ก่อนที่ทางราชการจะประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนามทับที่ดินของชาวบ้าน โดยจำเลยบางส่วนในคดีนี้เคยร้องคัดค้านการประกาศเขตป่าแล้ว ต่อมาโจทก์เข้าปลูกป่าในเขตสวนป่าคอนสารทับที่ของชาวบ้าน ขอให้กันที่ดินทำเป็นโฉนดให้แก่ชาวบ้าน 1,500 ไร่
  2. ที่ผ่านมาชาวบ้านได้ร้องเรียนต่อหน่วยงานของรัฐหลายแห่ง และจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหา โดยคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ตั้งขึ้นโดยนายอำเภอคอนสาร ได้ประชุมเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2548 แล้วมีมติให้ยกเลิกสวนป่าคอนสาร ด้านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ตรวจสอบพื้นที่แล้วรายงานผลว่า สวนป่าคอนสารทับที่ของชาวบ้าน จึงมีมติให้ยกเลิกสวนป่าคอนสาร และจัดสรรที่ให้กับชาวบ้าน ในการประชุมของสภาตำบลทุ่งพระ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2552 มีมติให้ยกเลิกสวนป่าคอนสาร 1,500 ไร่ ให้ออกเอกสารสิทธิแก่ชาวบ้าน
  3. ชาวบ้านร่วมกันชุมนุมในพื้นที่สวนป่าคอนสาร เพื่อรอคำตอบในการแก้ไขปัญหาและการออกโฉนดชุมชุน มีการปลูกสร้างเพิงพักขนาดเล็กตามช่องระหว่างแถวต้นไม้ ไม่ได้สร้างความเสียหายแก่ต้นไม้ของโจทก์ และไม่ได้ขัดขวางเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่จะเข้าไปดูแลบำรุงต้นไม้
  4. รัฐบาลมีมติคณะรัฐมนตรีให้ชะลอการดำเนินการ ผ่อนผันให้ชาวบ้านทำกินและอยู่อาศัยในที่ดินทำกินเดิมไปพลางก่อนในระหว่างกระบวนการแก้ไขปัญหาระหว่างเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย กับรัฐบาลและแจ้งให้หน่วยงานของรัฐชะลอการดำเนินการที่จะเป็นมูลเหตุให้เกิดความขัดแย้ง ส่วนเรื่องคดีความให้บรรเทาผลร้ายแก่เกษตรกร
  5. จำเลยที่ 11, 12, 20, 22, 23, 27, 28 เป็นองค์กรชาวบ้าน เป็นกรรมการของคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินของประเทศไทย เป็นทีมงานของคณะทำงานต่างๆ ที่เข้าไปในพื้นที่เพื่อทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหา
สรุปคำพิพากษาศาลฎีกา 

ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อม วินิจฉัยพอสรุปได้ดังนี้

  1. ข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า จำเลยกับพวกรวมประมาณ 200 คน ได้เข้าไปในสวนป่าคอนสาร และถือครอบครองที่ดินประมาณ 84 ไร่ อันเป็นที่ดินพิพาท ปลูกเพิงพักอาศัยกว่า 50 หลัง ได้นำพืชยืนต้นและพืชล้มลุกมาปลูกระหว่างต้นยูคาลิปตัสของโจทก์ และจัดตั้งเป็นชุมชน ชื่อชุมชนบ้านบ่อแก้ว
  2. จำเลยต่อสู้ว่า ชาวบ้านเข้าครอบครองทำประโยชน์ที่ดินพิพาทมาก่อนจะมีประกาศเขตป่าสงวน และได้ยื่นคำร้องแจ้งการครอบครองที่ดินต่อนายอำเภอคอนสารแล้ว โดยจำเลยที่ 24 มีสำเนาใบรับคำร้องเป็นหลักฐาน จำเลยที่ 6 มีสำนักแบบแจ้งการครอบครองที่ดินของบิดา ที่ได้รับการตกทอดมาเป็นหลักฐาน 
  3. ศาลเห็นว่า ...ป่าสงวนแห่งชาติ ..2507 มาตรา 12 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ บัญญัติว่า บุคคลใดอ้างว่า มีสิทธิหรือได้ทำประโยชน์อยู่ก่อนวันกำหนดเขตป่าสงวนแห่งชาติ ให้ยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อนายอำเภอหรือปลัดอำเภอภายใน 90 วัน ถ้าไม่ยื่นคำร้องให้ถือว่าสละสิทธิ โดยไม่ให้ใช้บังคับกับคนที่มีสิทธิอยู่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน เมื่อได้รับคำร้องแล้ว ตามมาตรา 13 จะมีคณะกรรมการพิจารณากำหนดค่าทดแทนให้ตามที่เห็นสมควร ถ้าหากผู้ร้องไม่พอใจในค่าทดแทนมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีได้ จากกฎหมายดังกล่าวจึงไม่ทำให้ผู้ร้องมีสิทธิครอบครองที่ดินแต่อย่างใด 
  4. พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมา มีเพียงพยานบุคคล ไม่มีหลักฐานการครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินมาแสดง แม้จำเลยที่ 4 มีหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่ หรือ ใบ ...5 จำเลยที่ 3, 5, 8, 15, 24, 29 มีหลักฐานการครอบครองทำประโยชน์เป็นใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ หรือ ใบ ...6 ซึ่งเอกสารใบเสียภาษี ไม่ใช่เอกสารที่แสดงการมีสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน และข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าชัดว่า เป็นที่ดินที่อยู่ในเขตพิาพท แม้จำเลยที่ 24 มีสำเนาใบรับคำร้องมาแสดง ก็ไม่ปรากฏชัดว่า เป็นคำร้องเรื่องใดที่จะแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 24 มีสิทธิในที่ดินก่อนประกาศเขตป่าสงวน  แม้จำเลยที่ 6 มีสำเนาแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน ..1 ของบิดาซึ่งได้รับมาเป็นมรดก แต่เลขที่ดินไม่ตรงกัน จึงฟังไม่ได้ว่า เป็นที่ดินแปลงเดียวกัน ข้ออ้างของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น
  5. แม้จะเคยมีมติคณะรัฐมนตรีผ่อนผันให้อยู่อาศัยในที่ดินพิพาทไปพลางก่อน และมีรายงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้ยกเลิกสวนป่าคอนสาร แต่มติคณะรัฐมนตรีไม่ใช่กฎหมาย เป็นเรื่องการสั่งการในนโยบายทั่วๆ ไป และเพียงให้แนวทางหน่วยงานของรัฐที่จะยอมผ่อนปรนให้แก่ราษฎรเท่านั้น ซึ่งไม่ตัดอำนาจฟ้องคดีของโจทก์ ส่วนมติของหน่วยงานต่างๆ ก็เป็นเพียงความเห็นเพื่อเสนอแนะให้ผู้มีอำนาจพิจารณาปฏิบัติตามและการที่ผู้มีอำนาจจะทำตามมติดังกล่าวและนำที่ดินไปจัดสรรให้ราษฎรทำกินได้หรือไม่ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเรื่องนั้นๆ เมื่อไม่มีการปฏิบัติตามและมีคำสั่งจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย จำเลยจึงไม่อาจอ้างสิทธิใดๆ ที่จะอยู่ในที่ดินพิพาทได้ 
  6. ที่ดินพิพาทยังคงเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งกรมป่าไม้ทำบันทึกมอบการดูแลรักษาและใช้ประโยชน์สวนป่าที่โจทก์ปลูกตามเงื่อนไขสัมปทานทำไม้ ให้กับบริษัท ไม้อัดไทย จำกัด จำเลยจึงไม่อาจเข้าไปรบกวนสิทธิของโจทก์ได้ 
  7. การที่จำเลยอ้างว่า การเข้าไปทำกินของจำเลยเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 85 เรื่องการกระจายถือครองที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชนนั้น เห็นว่า รัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุกำหนดแนวนโยบายด้านที่ดินของรัฐ มิใช่บทบัญญัติให้สิทธิแก่ประชาชนในการเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐต้องปฏิบัติ การดำเนินนโยบายกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมจะต้องมีกฎหมายออกมารองรับเสียก่อน แต่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการกระจายการถือครองที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชนออกมาใช้บังคับ จำเลยจึงไม่อาจอ้างรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 85 ได้
  8. การที่จำเลยเข้าไปอยู่ในที่ดินพิพาทซึ่งโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองดูแลรักษาและใช้ประโยชน์ จึงเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่ได้ ที่จำเลยบางคนอ้างว่า เป็นกลุ่มองค์กรชาวบ้านเข้าไปเพื่อเยี่ยมเยียนชาวบ้านนั้น เห็นว่า พยานโจทก์เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตรวจสอบข้อเท็จจริงจากรายงานและพบว่า จำเลยเข้าไปที่ดินพิพาทบ่อยเกินความจำเป็น และยังมีบทบาทเป็นผู้นำชุมชนด้วย พยานโจทก์ไม่ใช่พยานบอกเล่า และไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน เชื่อว่า เบิกความไปตามความจริง 
  9. พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีน้ำหนักมากกว่าจำเลย ตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไว้โดยละเอียดและชอบด้วยเหตุผลแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย พิพากษายืน