แก้รัฐธรรมนูญ: รัฐธรรมนูญไทย 20 ฉบับ แก้สำเร็จมาแล้ว 22 ครั้ง

"การแก้ไขรัฐธรรมนูญ" เป็นหัวข้อที่ทุกคนพูดถึงกันอยู่ ณ ปัจจุบัน ทั้งจากฝ่ายรัฐบาลเองหรือฝ่ายค้าน พรรคการเมืองหลายพรรคก็ได้เริ่มรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญกันแล้ว ขณะที่ภาคประชาชนหลายกลุ่มก็เริ่มเคลื่อนไหวเรื่องนี้เช่นกัน แม้รัฐธรรมนูญปี 2560 จะถูกออกแบบให้แก้ไขยากกว่ารัฐธรรมนูญหลายฉบับที่ผ่านมา แต่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย
87 ปี ที่ผ่านมา หลังประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองและเริ่มใช้รัฐธรรนูญครั้งแรก รัฐธรรมนูญเคยถูกแก้ไขสำเร็จมาแล้ว 22 ครั้ง ต่างกรรมต่างวาระด้วยกัน โดยในยุคที่มีการเลือกตั้งแก้ไขรัฐธรรมนูญไป 10 ครั้งส่วนเรื่องที่แก้ไขหลายครั้งเป็นอันดับต้นๆ เช่น ระบบเลือกตั้ง ส.ส. อำนาจ ส.ว. และวิธีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นต้น
 
 
แก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จมาแล้วรวม 22 ครั้งในรอบ 87 ปี ที่ผ่านมา
รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่กำหนดกติกาการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม ประเทศไทยใช้รัฐธรรมนูญแบบลายลักษณ์อักษรที่เขียนกฎเกณฑ์ต่างๆ ไว้ชัดเจน ซึ่งสามารถถูกแก้ไขได้เพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของสังคมยุคนั้นๆ 
นับตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ถึงปัจจุบัน (ปี 2562) ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญไปแล้ว 20 ฉบับ ไม่ว่าจะเรียกว่า “รัฐธรรมนูญ”, “ธรรมนูญการปกครอง” หรือ “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครอง” ทั้งฉบับถาวรและชั่วคราว และมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาไม่น้อยกว่า 22 ครั้งแล้ว โดยเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมด 8 ฉบับ ด้วยกัน ดังนี้ 
 รัฐธรรมนูญปี 2540 แก้ไข 1 ครั้ง ได้แก่ การแก้ไขคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
 รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ปี 2557 แก้ไข 4 ครั้ง ได้แก่ การแก้ไขการทำประชามติ 2 ครั้ง, จำนวนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และพระราชอำนาจ ตามลำดับ
ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 จำนวน 2 ครั้ง ก่อนประกาศใช้ ได้แก่ การแก้ไขอำนาจ ส.ว. ตามคำถามพ่วงหลังประชามติผ่านแล้ว และการแก้ไขพระราชอำนาจตามข้อสังเกตพระราชทานหลังนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อลงพระปรมาภิไธย
วิธีเลือกตั้ง-ประธานรัฐสภา-สสร.- ส.ว. เรื่องยอดฮิตแก้รัฐธรรมนูญในอดีต
ในระยะเวลา 87 ปีที่ผ่านมา มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 22 ครั้ง แต่ละครั้งเปลี่ยนแปลงกติกาการเมืองให้เหมาะสมกับปัญหาบ้านเมืองที่พบเจออยู่ในยุคสมัยนั้นๆ ซึ่งประเด็นที่ถูกแก้ไขหลายครั้งเป็นอันดับต้นๆ ได้แก่ การเลือกตั้งสมาชิก ส.ส., การประชุมรัฐสภา, วิธีการร่างรัฐธรรมนูญ , ประเด็น ส.ว. และการทำประชามติ ดังนี้ 
 
 
การแก้ไขประเด็นการเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งหมด 4 ครั้ง ได้แก่ ในรัฐธรรมนูญปี 2475 แก้ไขให้ขยายเวลาดำรงตำแหน่ง ส.ส. ได้ ไม่เกิน 8 ครั้งละ 2 ปี เพราะสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นอุปสรรคการเลือกตั้ง,ในรัฐธรรมนูญปี 2490 แก้ไขระบบเลือกตั้งเป็นแบบรวมเขตจังหวัดและกำหนดคุณสมบัติ ส.ส.ให้อายุ 35 ปีขึ้นไป, ในรัฐธรรมนูญปี 2521 แก้ไขระบบเลือกตั้ง ส.ส. จากแบบรวมเขตเป็นแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และรัฐธรรมนูญปี 2550 แก้ไขระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วน 8 กลุ่มจังหวัดเป็นแบบบัญชีรายชื่อ บัญชีเดียวทั่วประเทศ 
การแก้ไขการประชุมรัฐสภา ทั้งหมด 3 ครั้ง ในรัฐธรรมนูญปี 2521 แก้ไขให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา ให้ประธานวุฒิสภาเป็นรองประธานรัฐสภา รวมทั้งให้ใช้ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนฯ ในการประชุมรัฐสภา และในรัฐธรรมนูญปี 2534 จำนวน 2 ครั้ง ครั้งแรกแก้ไขให้ประธานสภาผู้แทนฯ เป็นประธานรัฐสภา และครั้งที่สองแก้ไขให้รัฐสภาประชุมสามัญ 2 ครั้งต่อปี รวมทั้งให้การประชุมสามัญครั้งที่สองของรัฐสภาพิจารณาเรื่องต่างๆ ได้เหมือนครั้งแรก
การแก้ไขวิธีการร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งหมด 3 ครั้ง ในรัฐธรรมนูญปี 2490 จำนวน 2 ครั้ง ครั้งแรกแก้ไขกำหนดเวลาใช้และวิธีการการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร โดยให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ครั้งที่สองแก้ไขให้ สสร. มีเอกสิทธิ์และความคุ้มกันเหมือน ส.ส. และในรัฐธรรมนูญปี 2534 แก้ไขวิธีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยให้ตั้ง สสร. 
การแก้ไขประด็น ส.ว. ทั้งหมด 2 ครั้ง ในรัฐธรรมนูญปี 2517 แก้ไขให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง ส.ว. แทนประธานองคมนตรี และรัฐธรรมนูญปี 2534 แก้ไขยกเลิกอำนาจ ส.ว. ในการอภิปรายทั่วไปและการลงมติไม่ไว้วางใจ
การแก้ไขการทำประชามติ ทั้งหมด 2 ครั้ง ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ปี 2557 ครั้งที่ 1 แก้ไขให้มีประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และครั้งที่ 2 แก้ไขให้วิธีการนับเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิเท่านั้นแทนนับจากผู้มีสิทธิทั้งหมด
ยุคเลือกตั้งแก้ไขรัฐธรรมนูญถึง 10 ครั้ง
ประเทศไทยผ่านการรัฐประหารมาแล้ว 13 ครั้ง หลายครั้ง “ฉีก” หรือยกเลิกรัฐธรรมนูญเดิมทิ้ง แล้วร่างรัฐธรรมนูญใหม่มาใช้แทน แต่นี้ไม่ใช่วิธีเดียวในการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกติกาของบ้านเมือง ที่ผ่านมาในสมัยที่มีการเลือกตั้ง รัฐสภาก็สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญตามวิถีทางที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ได้แล้วถึง 10 ครั้ง 
การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาของประเทศไทย ทั้งหมด 22 ครั้ง แก้ไขในสมัยที่มีการเลือกตั้งถึง 10 ครั้ง ส่วนอีก 12 ครั้ง แก้ไขในสมัยที่ไม่มีการเลือกตั้ง ซึ่งแบ่งได้เป็น แก้ไข 5 ครั้ง หลังวิกฤตการณ์ทางการเมือง และ 7 ครั้ง หลังการรัฐประหาร 
 
 
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 10 ครั้ง ในสมัยการเลือกตั้ง ได้แก่ 
 3 ครั้ง ในสมัยการเลือกตั้งครั้งที่ 3 ของไทย หรือ การเลือกตั้ง 12 พฤศจิกายน 2481 ซึ่งมี ส.ส. 2 ประเภท ประเภทที่ 1 มาจากการเลือกตั้ง และประเภทที่ 2 รัฐบาลเป็นผู้แต่งตั้ง หลังการเลือกตั้งครั้งนี้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เป็นนายกรัฐมนตรี สมัยแรก (วาระ 16 ธันวาคม 2481 – 1 สิงหาคม 2488) และมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2475 ถึง 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 แก้ไขชื่อประเทศ จาก “สยาม” เป็น “ไทย” ครั้งที่ 2 แก้ไขบทเฉพาะกาลขยายเวลาการมี ส.ส. ประเภทที่ 2 จาก 10 ปี เป็น 20 ปี และครั้งที่ 3 แก้ไขให้ขยายเวลาดำรงตำแหน่ง ส.ส. ได้ไม่เกินครั้งละ 2 ปี
 1 ครั้ง ในสมัยการเลือกตั้งครั้งที่ 15 ของไทย หรือ การเลือกตั้ง 18 เมษายน 2526 ซึ่งเป็นยุค “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ที่ถึงแม้จะมี ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ ส.ว. แต่งตั้งมีอำนาจเท่า ส.ส. และนายกรัฐมตรีไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง ทำให้ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2 (วาระ 30 เมษายน 2526 – 4 สิงหาคม 2529) อย่างไรก็ดี ส.ส. ก็ร่วมกันเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2521 สำเร็จ 1 ครั้ง โดยแก้ไขระบบเลือกตั้ง ส.ส. จากแบบรวมเขตเป็นแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 
 1 ครั้ง ในสมัยการเลือกตั้งครั้งที่ 17 ของไทย หรือ การเลือกตั้ง 24 กรกฎาคม 2531 ซึ่ง พล. อ. ชาติชาย ชุณหวัณ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี (วาระ 4 สิงหาคม 2531 – 23 กุมภาพันธ์ 2534) และมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2521 จำนวน 1 ครั้ง โดยแก้ไขให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา ให้ประธานวุฒิสภาเป็นรองประธานรัฐสภา และให้ใช้ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนฯ ในการประชุมรัฐสภา
 2 ครั้ง ในสมัยการเลือกตั้งครั้งที่ 20 ของไทย หรือ การเลือกตั้ง 2 กรกฎาคม 2538 ซึ่ง บรรหาร ศิลปอาชา ได้เป็นนายกรัฐมนตรี (วาระ 13 กรกฎาคม 2538 – 27 กันยายน 2539) และมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2534 จำนวน 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในส่วนสำคัญเกือบทั้งฉบับ ไม่ว่าจะเป็นประเด็น ส.ส., ส.ว., ครม., และพรรคการเมือง เป็นต้น และครั้งที่ 2 แก้ไขวิธีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) และมีการออกเสียงประชามติ
 1 ครั้ง ในสมัยการเลือกตั้งครั้งที่ 23 ของไทย หรือ การเลือกตั้ง 6 กุมภาพันธ์ 2548 ซึ่ง ทักษิณ ชินวัตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรี สมัยที่สอง (วาระ 11 มีนาคม 2548 – 19 กันยายน 2549) และมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2540 จำนวน 1 ครั้ง โดยแก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช. ในส่วนตัวแทนพรรคการเมือง
 2 ครั้ง ในสมัยการเลือกตั้งครั้งที่ 25 ของไทย หรือ การเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 ซึ่งหลังเหตุการณ์สมัคร สุนทรเวช และสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปแล้ว ตามลำดับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เป็น นายกรัฐมนตรี (วาระ 17 ธันวาคม 2551 – 5 สิงหาคม 2554) และมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 2 ครั้ง ครั้งแรกแก้ไขระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วน 8 กลุ่มจังหวัดเป็นแบบบัญชีรายชื่อ บัญชีเดียวทั่วประเทศ ครั้งที่ 2 แก้ไขให้กำหนดประเภทและกรอบเจราในการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 12 ครั้งในสมัยที่ไม่มีการเลือกตั้ง แบ่งเป็น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 5 ครั้ง หลังวิกฤตการณ์ทางการเมือง ได้แก่ 
 1 ครั้ง หลัง 14 ตุลา หรือ หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 สัญญา ธรรมศักดิ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี (วาระ 14 ตุลาคม 2516 – 21 มกราคม 2518) และมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2517 จำนวน 1 ครั้ง โดยแก้ไขให้นายกรัฐมนตรีรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง ส.ว. แทนประธานองคมนตรี
 4 ครั้ง หลังพฤษภาทมิฬ หรือ หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 อานันท์ ปันยารชุน ได้เป็นนายกรัฐมนตรี (วาระ 10 มิถุนายน -22 กันยายน 2535) และมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2534 ถึง 4 ครั้ง ครั้งที่ 1 แก้ไขให้ประธานสภาผู้แทนฯ เป็นประธานรัฐสภา และแก้ไของค์ประกอบของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 2 แก้ไขให้รัฐสภาประชุมสามัญ 2 ครั้งต่อปี รวมทั้งให้การประชุมสามัญครั้งที่สองของรัฐสภาพิจารณาเรื่องต่างๆ ได้เหมือนครั้งแรก ครั้งที่ 3 แก้ไขยกเลิกอำนาจ ส.ว. ในการอภิปรายทั่วไปและการลงมติไม่ไว้วางใจ ครั้งที่ 4 แก้ไขให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. 
และ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 ครั้ง หลังการรัฐประหาร ได้แก่ 
 3 ครั้ง หลังการรัฐประหารปี 2490 หรือ หลังจอมพล ผิน ชุณหะวัน ทำการรัฐประหารในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ยึดอำนาจรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ แล้วประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ปี 2490 ได้ให้ ควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี  (มีการเลือกตั้ง 29 มกราคม 2491แต่มีผู้มาใช้สิทธิร้อยละ 26.54 เท่านั้น) มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ปี 2490 จำนวน 2 ครั้งในรัฐบาลควง อภัยวงศ์ ครั้งที่ 1 แก้ไขระบบเลือกตั้งเป็นแบบรวมเขตจังหวัดและกำหนดคุณสมบัติ ส.ส.ให้อายุ 35 ปีขึ้นไป ครั้งที่ 2 แก้ไขกำหนดเวลาใช้และวิธีการการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร โดยให้ตั้ง สสร. 
หลังจากนั้น คณะรัฐประหารได้ให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี (วาระ 8 เมษายน 2491 – 23 มีนาคม 2492) และมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีก 1 ครั้ง โดยแก้ไขให้ สสร. มีเอกสิทธิ์และความคุ้มกันเหมือน ส.ส.
 4 ครั้ง หลังการรัฐประหารปี 2557 หรือ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ทำการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ยึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แล้วประกาศใช้ รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ปี 2557 มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้รวม 4 ครั้ง ครั้งที่ 1 แก้ไขให้มีประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 2 แก้ไขการทำประชามติให้การนับเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิเท่านั้นแทนนับจากผู้มีสิทธิทั้งหมด ครั้งที่  3 แก้ไขเพิ่มจำนวนสมาชิกสนช. จากเดิมไม่เกิน 220 คน เป็นไม่เกิน 250 คน และ ครั้งที่ 4 แก้ไขพระราชอำนาจในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญตามพระราชทานข้อสังเกตและในการตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้ เมื่อไม่ประทับในราชอาณาจักร